กทม.เริ่มเอาจริงแล้ว !!! ไล่มอเตอร์ไซค์ คืนทางเท้าให้ปชช

กทม. ฮึดเตรียมเคาะวันดีเดย์ จับปรับ-ยึดรถ-ส่งฟ้องศาล มอเตอร์ไซค์ที่มีพฤติกรรมชอนไชบนทางเท้าจนเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนคนเดินเท้าบ่อยครั้ง แต่ระหว่างรอต้องโหมประชาสัมพันธ์เรียก“จิตสำนึก”คืนทางเท้าให้ประชาชน



ชีวิตคนกรุงเทพฯ แสนจะวุ่นวาย นึกว่าท้องถนนรถราขวักไขว่ เดินข้ามถนนเสี่ยงอันตรายสุดๆ ต้องใช้สะพานลอยเดินข้าม หากไม่มีสะพานลอยก็ต้องมองซ้ายมองขวาจนแน่ใจว่าเดินข้ามทางม้าลายได้อย่างปลอดภัยแล้วต้องรีบเดินชิดทางเท้าไม่ให้รถบนท้องถนนเฉี่ยวชน...

ที่ไหนได้...จู่ๆ “มอเตอร์ไซค์” มักง่ายดันพรวดพลาดขึ้นมาขับขี่บนฟุตบาท ขนาดอยู่บนพื้นที่ส่วนตัวของคนเดินเท้า แต่ชีวิตยังแขวนไว้บนเส้นด้าย...!!

ก่อนหน้านี้เห็นผู้บริหารกทม. หลายสมัย ออกนโยบายจัดระเบียบคืนทางเท้าให้ประชาชนเพื่อความปลอดภัย ทั้งจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย และกวดขันรถจักรยานยนต์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “มอเตอร์ไซค์” บางคนพาลเรียก “แมงกะไซค์” ด้วยความฉุน!! พฤติกรรมที่ชอนไชทุกที่ กระทั่งบนทางเท้า เริ่มจากเบาะๆ เบาๆ ก่อน นั่นคือ การประชาสัมพันธ์ให้ทราบข้อมูล

ตามด้วยการตักเตือนจนไปถึงปรับเงิน เนื่องจากการจอดรถหรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อน บนทางเท้า เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 17 (2) ผู้ฝ่าฝืนต้องระวาง โทษปรับไม่เกิน 5พันบาท



แต่ทำได้แค่ไฟไหม้ฟาง นั่นก็คือวูบวาบแล้วก็เงียบหายไป ไม่เอาจริงเอาจัง อาจด้วยกำลังเจ้าหน้าที่มีไม่พอ ต้องมีภารกิจอื่นๆ ด้วย จะให้มายืนเฝ้าจับปรับ “มอเตอร์ไซค์” อย่างเดียวก็คงไม่ได้ จน “แมงกะไชค์” เอ้ย...!! “มอเตอร์ไซค์” กลับขึ้นมาเบียดเบียนทางเท้าเช่นเดิม เนื่องจากไม่มีจิตสำนัก มักง่าย เห็นแก่ตัว ไร้ระเบียบวินัย และอาจเห็นว่าขับขี่บนทางเท้าสะดวกรวดเร็วกว่าบนท้องถนนที่ยวดยานหนาแน่น

อีกทั้งถนนหลายสายทำทางจักรยานบนทางเท้าหรือไม่ก็ทำทางลาดให้นักปั่น ทำให้ “มอเตอร์ไซค์” ใช้ทางเท้าได้สะดวกสบาย จนเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนคนเดินเท้าอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะถนนสุขุมวิท ทั้งคนไทยทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติเคราะห์ร้ายเลือดตกยางออก

สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ กทม.โทร.1555 ที่ระบุว่าได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผู้ขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า โดยถนนที่มีการร้องเรียนว่ามีรถจักรยานยนต์ขึ้นไปวิ่งมากสุดเรียงตามลำดับ คือ ถนนสุขุมวิท ถนนลาดพร้าว ถนนพระรามที่ 4 และถนนจรัญสนิทวงศ์

ล่าสุด พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของ กทม. สำนักเทศกิจได้หยิบยกปัญหาความไม่ปลอดภัยของคนเดินเท้า โดยสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนมีการร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตลอดปีที่ผ่านมากทม. โดยสำนักงานเขตต่างๆ ได้จับกุมและดำเนินคดีผู้กระทำผิดขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าได้ 9,514 ราย จำนวนค่าปรับ 7,228,760 บาทก็ตาม




พร้อมกันนี้ สำนักเทศกิจได้นำเสนอแนวทางปฏิบัติเพื่อให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ดังนี้ 1. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ ว่าการจอดรถหรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อน บนทางเท้า ผิดกฎหมาย มีโทษปรับสูงถึง 5 พันบาท 2. ให้สำนักงานเขตสอดส่องและกวดขัน ไม่ให้มีการจอดรถหรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อนบนทางเท้า โดยเคร่งครัด

3. กรณีพบมีผู้จอดรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อน บนทางเท้าแต่ไม่พบตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ให้เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายไปเก็บไว้ที่สำนักงานเขต โดยให้ลงบันทึกประจำวัน ณ สน. ท้องที่ไว้เป็นหลักฐาน เมื่อผู้กระทำความผิดมาขอรับคืน ให้สำนักงานเขตเปรียบเทียบปรับ ถ้าไม่ยินยอมหรือยินยอมแล้วแต่ไม่ชำระค่าปรับภายใน 15 วันให้ดำเนินคดีเพื่อฟ้องร้องต่อไป

และ 4. กรณีพบผู้จอดหรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อน บนทางเท้าและพบตัวผู้กระทำความผิด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตักเตือน ถ้าไม่เชื่อฟังให้จับกุมและสั่งให้เคลื่อนย้ายให้พ้นทางเท้า ถ้าผู้กระทำความผิดยินยอมปฏิบัติตามก็ให้คดีเป็นอันเลิกกัน แต่หากไม่ปฏิบัติตามก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจนำตัวไปยัง สำนักงานเขตหรือสถานที่เปรียบเทียบปรับพร้อมของกลางให้สำนักงานเขตดำเนินการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิด ถ้าไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบหรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระค่าปรับภายใน 15 วัน ให้ดำเนินคดี เพื่อฟ้องร้องต่อไป



ส่วนวันเวลาที่จะเริ่มดำเนินการนั้น พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่าฯกทม. ระบุว่า “ขอตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการให้ชัดเจนเนื่องจากเกี่ยวข้องกับความเดือดร้อนของประชาชน โดยให้มีผู้แทนจากสำนักงานกฎหมายและคดี ร่วมเป็นคณะทำงานด้วย แต่เบื้องต้นให้เน้นการประชาสัมพันธ์ ทั้งการรณรงค์ การติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ รวมถึงการใช้รถประชาสัมพันธ์ จากนั้นจึงใช้กฎหมายบังคับ ต้องมีมาตรการกับทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ฝ่าฝืนด้วย”

เอาเป็นว่า ต้องรอคณะทำงานเคาะวันดีเดย์ใช้มาตรการจับปรับและยึดรถกรณีไม่พบผู้กระทำความผิด ซึ่งเมื่อเรียกตัวมาแจ้งข้อกล่าวหาให้ชำระค่าปรับภายใน 15 วันแล้ว หากยังดื้อแพ่งก็ต้องส่งฟ้องศาลเพื่อรับโทษหนักให้เข็ดหลาบ แต่ระหว่างนี้ กทม.จะเร่งตีปี๊บโหมประชาสัมพันธ์กันไปก่อน

ทั้งพี่วิน ทั้งคุณมอเตอร์ไซค์ เรียกจิตสำนึกด่วน !! รีบคืนทางเท้าให้คนเดิน...ก่อนถูกไล่!!

เครดิต เดลินิวส์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่