ถ้าหากว่านวนิยายเรื่อง "ชายแพศยา" ของ ว.วินิจฉัยกุล ถูกนำมาทำเป็นละคร

‘#ชายแพศยา’ กับ มายาแห่งบุรุษเพศ และ มายาแห่งค่านิยม
อนุวรรณวิจารณ์  

จนกระทั่งเมื่อสองสามวันมานี้ ได้รับแรงสะกิดจากนักอ่านท่านหนึ่ง ที่ใช้ชื่อในเฟสบุ๊กว่า Killmas Femas

เมื่อเอ่ยถึงนามปากกา “ว.วินิจฉัยกุล” ย่อมเป็นที่ทราบกันดีในกลุ่มนักอ่านนวนิยายแนวสัจนิยมสะท้อนชีวิต ว่านามปากกานี้ย่อมไม่ทำให้ผิดหวังอย่างแน่นอน

“ชายแพศยา” คือผลงานลำดับล่าสุดของนักเขียนชั้นครูนามอุโฆษเจ้าของนามปากกาดังกล่าว นวนิยายเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นตอนๆในนิตยสารพลอยแกมเพชร โดยเริ่มต้นบทที่ ๑ ในปักษ์แรกของเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เพิ่งดำเนินเรื่องราวมาถึงตอนอวสาน และได้รับการรวมเล่มโดยสำนักพิมพ์ศรีสารา เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ในงานสัปดาห์แห่งชาติฯ ที่ผ่านมา

เนื้อเรื่องคร่าวๆกล่าวถึง อรยานี แม่หม้ายลูกสองที่ “ยังไม่มีร่องรอยสักนิดว่าหมายเลขห้าสิบกำลังมาเดินเลาะอยู่ริมรั้ว คนไม่รู้จักอาจนึกว่าตัวเลขไม่ถึง ๔๐ ด้วยซ้ำ” (น.๗) เธอตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยโดยความพร้อมใจของพ่อแม่ เพื่อมาแต่งงานกับภาคินนักธุรกิจหนุ่มใหญ่ที่มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของวิม เพื่อนชายในมหาวิทยาลัยที่เข้ามาจีบเธอเมื่อแรกพบ แต่เมื่อเห็นว่าครั้นจะสานสัมพันธ์ ก็คงเป็นได้แค่เพื่อน ไม่อาจจะเป็นไปได้มากกว่านี้ เพราะอรยานียังมีลักษณะเป็นผู้หญิงหัวเก่าที่อยู่ในโอวาทของพ่อแม่ เชื่อฟังและเป็นเด็กดีไปเสียทุกกระเบียดนิ้ว จะเข้าถึงตัวก็ยาก เมื่อเห็นเป็นดังนั้นหนุ่มกะล่อนสาวไม่ขาดมืออย่างวิม จึงจำต้องละความพยายามและถอยห่างออกไป ...ซึ่งเป็นมุมมองที่ต่างจากภาคินโดยสิ้นเชิง

“แกมันชอบผู้หญิงแรดๆ ฉันไม่เห็นจะดีตรงไหน มันวิ่งมานอนกับเราง่ายๆ มันก็ไปนอนกับคนอื่นง่ายๆเช่นกัน”
เมื่อหนุ่มน้อยมองตื้นๆเพียงว่า อะไรยากก็ไม่เอาดีกว่า ภาคินกลับรู้จักรอจังหวะ รอเวลาที่จะค่อยเหนี่ยวกิ่งลงมาได้ เพราะจะลิ้มรสชาติผลไม้หายากชนิดนี้  (ซึ่งอรยานี)สาวน้อยก็ไม่ได้เฉลียวใจ เพราะชายวัยสามสิบ(อย่างภาคิน) ในสายตาหล่อนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นเพื่อนของพ่อมากกว่าเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันอย่างวิม (น.๒๑)
เขาค่อยๆคืบไปทีละขั้นอย่างไม่รีบร้อน วางตัวเป็นพี่ชายคนโตกับน้องสาวคนเล็ก ...เป็นสะพานสร้างความใกล้ชิดมากกว่าผู้ชายคนอื่นๆ...วิธีกันหนุ่มอื่นๆออกไปก็แนบเนียนพอใช้ คือวางตัวเป็นที่ปรึกษาให้หล่อนสารพัดเรื่อง ตั้งแต่เรื่องเรียนไปจนถึงเรื่องหัวใจ เพราะเขารู้ว่าในวัยนี้ เขาไม่อาจไปร่วมกลุ่มเฮฮากับหล่อนได้อย่างเพื่อนวัยเดียวกัน แต่เพื่อนพวกนั้นก็ไม่สามารถเป็นที่ปรับทุกข์ปรับร้อนของหล่อนได้อย่างที่เขาเป็น (น.๒๓-๒๔)

เห็นชั้นเชิงความแพศยาขั้นปฐมของภาคินหรือยังครับ? พอสูสีกันได้ไหมกับพี่ขุนไกรของน้องดาวเรืองใน “#สายโลหิต”

อรยานีมีลูกสาวกับภาคิน ๒ คน คือ “เพชรร้อย” ลูกสาวคนโตผู้ให้ความสำคัญกับพ่อมากกว่าแม่เสมอมา เพราะคิดว่าแม่ไม่สามารถพึ่งพาหรือช่วยแก้ปัญหาให้ได้ เพราะแม้กระทั่งหลังจากที่ภาคินตายไป อรยานีก็ไม่สามารถเป็นเสาหลักของครอบครัวได้ เวลามีปัญหาอะไรเพชรร้อยจึงเลือกที่จะวิ่งเข้าหาวิมผู้มีศักดิ์เป็นอาแทนเป็นประจำ ส่วน “พลอยรุ้ง” ลูกสาวคนเล็กก็มีบุคลิกที่ต่างจากพี่สาวโดยสิ้นเชิง ในขณะที่เพชรร้อยเป็นผู้หญิงที่เป็น ‘ผู้หญิง’คล้ายๆแม่ แต่พลอยรุ้งกลับดูห้าวหาญ ทโมนไปในทางผู้ชายมากกว่า ก่อนที่ภาคินจะเสียชีวิต เขาได้ยกบ้านที่อยู่ให้เพชรร้อยลูกคนโต และยกธุรกิจให้พลอยรุ้งลูกสาวคนเล็ก

ในวันที่สามีตาย อรยานีรู้สึกเหมือนเป็นอิสระจากพันธะทั้งหลายทั้งปวงที่ผูกมัดหล่อนไว้ เธอได้พบกับ “ดร.ภูเมฆ” เพื่อนสมัยเรียนที่กลับมาพบกันอีกครั้งในงานเลี้ยงรุ่น “ไท”หนุ่มใหญ่ซึ่งเป็นญาติทางภรรยาเก่าของวิม และท่าทีของวิมที่เริ่มเปลี่ยนไปหลังจากที่ภาคินลูกพี่ลูกน้องของเขาถึงแก่กรรม ในขณะที่เพชรร้อยลูกสาวคนโตก็กำลังผิดหวังจาก “ภูมิใจ” ชายคนรักที่ไปทำผู้หญิงท้อง หล่อนจึงเริ่มหาที่ยึดเหนี่ยวใหม่จาก “ทัชชา” ผู้ชายผู้มีที่ไปที่มาลึกลับซึ่งเข้าหาเธอด้วยวัตถุประสงค์บางอย่าง ส่วนพลอยรุ้งลูกสาวคนเล็กก็กำลังสับสนในความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับ “ณพงศ์” เพื่อนร่วมงานที่ ‘รู้ใจและรู้ทัน’ กันตลอด

“ชายแพศยา” ไม่เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนที่นิยมนวนิยายแนวพาฝัน ทว่าหากใครเป็นคนที่ชอบนวนิยายแนวสัจนิยมแบบ ว.วินิจฉัยกุล แล้วล่ะก็ ชายแพศยา จัดเป็นผลงานชิ้นเอกอีกชิ้นหนึ่งที่ผู้อ่านไม่สมควรจะพลาดด้วยประการทั้งปวง เพราะทั้งบุคลิกของตัวละครที่ไม่ขาวไม่ดำ ทว่ามีสีเทาเกือบทุกตัว และพัฒนาการของตัวละครที่น่าติดตามไปตลอดจนจบเรื่อง ย่อมทำให้นวนิยายที่มีความหนาเกือบ ๘๐๐ หน้าเล่มนี้ กลายเป็นนวนิยายที่วางไม่ลงไปโดยไม่รู้ตัว

“...เพิ่งรู้ว่า ความรู้สึกโดดๆอย่างเดียวเต็มหัวใจ ไม่ว่าจะเป็น...รักคือรัก เกลียดก็คือเกลียด โกรธก็คือโกรธ นั้นมีได้ก็เมื่อเจ้าตัวยังเป็นเด็กน้อยไม่ประสีประสาต่อโลกเท่านั้น
เมื่อโลกหันด้านที่ซับซ้อนมาให้เห็น คว่ำโลกใบเดิมลงไป ความรู้สึกง่ายๆตรงไปตรงมาอย่างเดิมก็ดับหาย มีแต่อารมณ์ซับซ้อนหลายอย่างจู่โจมเข้ามายึดเนื้อที่ ทั้งรัก ทั้งชัง ทั้งโกรธ ทั้งเสียใจ ปะปนจนแยกไม่ออก ไม่สามารถลบอารมณ์ใดออกไปได้ มันแห่กันเข้ามาครอบงำอยู่ทุกอารมณ์เท่าเทียมกัน
เพิ่งรู้อีกเช่นกันว่า คนเราสามารถจะทั้งรักทั้งเกลียดใครอีกคนหนึ่งได้พร้อมกัน รักจนไม่อาจทิ้งเขาไปได้ แต่ก็เกลียดจนไม่อาจทนให้เขาสัมผัสได้อย่างเมื่อก่อน…”

ว.วินิจฉัยกุล เขียน “ชายแพศยา” ออกมาได้ ‘เรียลลิสติก’เหมือนจริงมาก จนยากจะเชื่อว่า อรยานี เป็นเพียงตัวละครที่ ว.วินิจฉัยกุล สร้างขึ้นมา ไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง เพราะเวลาอ่าน เราจะรู้สึกเหมือนนั่งอ่านชีวประวัติของใครซักคนที่เข้มข้นอย่างไรอย่างนั้น และความเข้มข้นของเนื้อเรื่องที่ว่านั้น ก็ไม่ได้มีแค่ความสนุก ความบันเทิงอย่างเดียว เพราะผู้เขียนได้สอดแทรกทั้งปัญหาครอบครัว ปัญหาความรักของคนหนุ่มสาว จนเลยไปถึงความรักของหญิงวัยเกือบห้าสิบปีผสมผสานกันลงไปด้วยอย่างลงตัว

ตัวละครสำคัญใน “ชายแพศยา” มีไม่มาก หากไม่นับอรยานี หญิงสาววัยกลางคนสามีเพิ่งจะเสียชีวิตไป และลูกสาวทั้งสองคนคือ เพชรร้อย และ พลอยรุ้งแล้ว ตัวละครที่น่าสนใจในนวนิยายเรื่องนี้ก็คือ บรรดา “ผู้ชาย” ทั้งหลาย ที่ต่างคนต่างมีเล่ห์เหลี่ยมแพรวแพรวไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น ภาคิน ภูเมฆ วิม ทัชชา ณพงศ์ ภูมิใจ และ ไท ที่ล้วนเข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิตของทั้งสามคนแม่ลูก

วิม คือชายหนุ่มวัยแตะห้าสิบ น้องชายของภาคิน เพื่อนชายของอรยานี ที่ยังดูมีเสน่ห์อยู่เสมอจนเหมือนว่าทวยเทพจะหลงลืมหยิบยื่นความชราให้แก่เขา ถึงแม้กาลเวลาจะพาร่างกายเขามาไกลแล้วก็ตาม

“...เขาร้องเพลงเก่ง ทำกิจกรรมเก่ง พูดเก่ง ยิ้มเก่ง ทำกิจกรรมเก่ง เก่งไปเสียทุกอย่างรอบตัว  จนมีคนออกปากว่า ...ไอ้วิม ชาตินี้มันจะเกิดมารู้จักขาดอะไรอย่างผู้อย่างคนเค้ามั่งมั้ยว่ะ”  (น.๖๖)

จนกระทั่งอรยานีถึงขั้นต้องห้ามปรามเมื่อเห็นว่าวิมสนิทสนมกับเพชรร้อยผู้เป็นบุตรสาวมากเกินไป ทั้งๆที่ทั้งสองคนก็มีลำดับญาติเป็นอากับหลาน และวิมเองก็เห็นเพชรร้อยมาตั้งแต่แบเบาะ

“ลูกฉันโตเป็นสาวเกินกว่าเธอจะมากอดมาจูบตามใจชอบ นี่แหละเรียกว่าไม่เหมาะสม”
“ฟังนะอร ผมอุ้มเพชรมาตั้งแต่คลอดออกมาได้วันเดียว ผมเห็นเพชรคว่ำ คืบ คลาน ตั้งไข่ จนไปโรงเรียนอนุบาล ผมอุ้มผมจูงไปเที่ยวนับไม่ถ้วน ...พี่คินไม่เคยว่าสักครั้ง”  (น.๙๓)

“...ฉันบอกแต่ว่าไม่สมควร เพชรเป็นสาวเต็มตัว เธอเองก็ยังไม่ใช่คนแก่เหมือนเพื่อนๆรุ่นเดียวกัน ถ้างั้นฉันอาจจะพอไว้ใจได้” (น.๙๗)

วิมชอบทำตัวเหมือนเด็กๆ คิดแบบเด็กๆ ตลกเฮฮา แต่ในบทจะจริงจัง เขาก็วางตัวได้ดีสมกับอายุของเขา เป็นตัวละครที่ผมชอบมากเป็นส่วนตัว ด้วยความกะล่อนและความเฮฮาของเขา บวกกับความปากร้ายจิกกัดกับตัวละครอื่นๆที่ทำให้ผมอมยิ้มออกมาได้เสมอ และที่สำคัญที่สุด ตัวละคร “วิม” นี่เอง ที่ช่วยกะเทาะความแพศยาของผู้ชายคนอื่นๆออกมาได้ ด้วยความแพศยาส่วนตัวของเขา

ชายแพศยา เป็นนวนิยายที่นำเสนอภาพแนวคิดทั้งสังคมไทยสมัยเก่า ที่ยังถือว่าผู้ชายเป็นข้าวเปลือก เป็นทุกอย่างของผู้หญิง หรือตามลักษณะที่เรียกกันว่าเป็นสังคมปิตาธิปไตย ดังจะเห็นได้จากการยอมลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อแต่งงานกับภาคินของตัวละครเอก คือ อรยานี หรือการที่อรยานีทนเก็บปากเก็บคำตลอดมาหลังจากที่รู้ว่าภาคินมีผู้หญิงคนอื่น
“ผู้หญิงไม่เหมือนผู้ชาย ผู้ชายมีผู้หญิงกี่คนก็ได้ ร่างกายมันไม่สึกหรอ แต่ผู้หญิง ถ้าผ่านร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ ร่างกายมันจะโทรมเร็ว มันก็เหมือนคนขับรถ กับรถยนต์ ขับมาก ยิ่งเก่งมาก แต่รถวิ่งมากก็โทรมมาก"

“ไม่อยากเรียนก็ลาออก มาแต่งกับพี่ ปริญญาไม่จำเป็นสำหรับอรอยู่แล้ว พี่ไม่อยากรออีกตั้งสองปี” (น.๒๕)

“ผู้ชายเก่ง มีเสน่ห์ มีพลัง มักเป็นคนเชื่อมั่นในตัวเอง จนนำไปสู่ความหลงตัว ส่วนใหญ่จึงกลายเป็นคนเจ้าชู้ พลังที่เขามีมันเหลือเผือเกินกว่าผู้หญิงคนเดียวจะสนองได้ ต้องมีผู้หญิงจำนวนมากๆมารองรับความเชื่อมั่น แต่นั่นมันคือเซ็กส์ ไม่เกี่ยวกับความผูกพันที่เขามีต่อคุณและลูก เซ็กส์เป็นของหวานหลังอาหาร ไม่ใช่อาหารจานหลัก ผู้ชายแบบนี้ไม่ค่อยคิดจะหย่ากับเมียอยู่แล้ว”

แต่ในขณะเดียวกัน ชายแพศยา ก็ได้พยายามนำเสนอภาพของสังคมสมัยใหม่ ที่ผู้หญิงไม่จำเป็นต้อง ‘ขาดผู้ชายไม่ได้’ อีกต่อไป โดยนำเสนอสื่อผ่านพัฒนาการทางความคิดของอรยานี ซึ่งเป็นตัวละครเอกของเรื่องในบทท้ายๆของเรื่อง
"...ผู้ชายมันไม่เห็นค่าของเรา เราจะไปเห็นค่าของมันทำไม มีแต่จะขาดทุนทางอารมณ์ มากเข้าก็ถึงขั้นล้มละลายทางใจ...ผมก็ไม่รู้ว่าใครเอาความคิดยัดใส่สมองหลานผม ว่าเกิดมาชาติหนึ่งไม่แต่งงานไม่ได้ มันเหมือนเสียชาติเกิดหรืออะไรงั้น ถ้ามีแล้วไม่ดี อย่ามีเสียดีกว่า...”

“ผู้หญิงที่ถือคติเสียทองเท่าหัว ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร มันหมดยุคไปนานแล้วจ้า ยุคนี้ถือหลักจ่ายทองเท่าหัว ใครอยากได้ผัวเอาไป กะอีกอย่างคือ ไม่มีทองเท่าหัวก็อย่าเป็นผัวกันอีกเลย” (น.๖๙๑)

“ฉันไม่อยากมีพันธะ ...ฉันอยากเป็นอิสระ ...อยากอยู่กับตัวเอง อยากมีความสุขที่ไม่ขึ้นกับใคร...”
“พอเถอะอร...อรยังไม่แก่ ยังสาว ยังสวยควรสดชื่นกับความรักไปได้อีกนาน ...เรื่องอะไรจะมัวหลอกตัวเองว่าเป็นสุขกับชีวิตแม่ม่าย ทั้งๆจริงๆก็เหงา กลางคืนไม่มีคนนอนเคียงข้าง ไม่มีใครกอด ไม่มีใครบอกรัก ไม่มีคนแคร์เวลาป่วย หรือทุกข์ใจขึ้นมาก็ไม่มีคนปลอบ”
“ฉันมีคนนอนเคียงข้างมาแล้ว หลายสิบปี ไม่เคยพ้นคำว่าเหงากับทุกข์ได้เลย ..ฉันไม่ต้องการเสี่ยง มีเธอเป็นเพื่อนสนิท เท่านี้พอแล้วสำหรับฉัน เราจะพบกันได้เสมอ จะกินข้าว ดูทีวี หรือนัดไปเที่ยวเมืองนอกกันอย่างที่ทำนี่ ฉันก็ไม่ขัดข้อง” (น.๗๑๔-๗๑๕)

โดยส่วนตัวแล้ว ผมถือว่า ชายแพศยา เป็นการนำเสนอแนวคิดสองแนวคิดในการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ผ่านบทสนทนาคล้ายกับการสนทนาของปราชญ์แห่งยุคอย่างเพลโต กับ อริสโตเติล ผ่านการให้นิยามความหมายที่ละเมียดละไมและกระทบใจตามแบบฉบับของ ว.วินิจฉัยกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี ๒๕๔๗

“เพราะความชอบ มันคงทนกว่าความรักไง” ชายหนุ่มสรุปตอนท้าย ด้วยเสียงแน่ใจ
“มันต่างกันยังไง คำว่า ‘ชอบ’ มันเบาหวิวมาก คนเราชอบอะไรได้รอบตัว ชอบดูหนัง ชอบเดินทาง ชอบกินเหล้า จนไม่มีความหมาย แต่เราจะรักเฉพาะบางอย่างที่มันพิเศษจริงๆ รึนายว่าไม่จริง”
“ถ้านายชอบอะไร เลิกยากนะ แต่ถ้านายรัก มีเรื่องผิดใจกันนิดเดียวก็เลิกได้แล้ว”

“ชายแพศยา” เป็นนวนิยายที่สมควรอ่านไปตลอดจนจบถึงหน้าสุดท้าย เพราะนอกจากจะกะเทาะ ‘ชายข้าวเปลือก’ออกมาให้เห็นถึงแก่นแล้ว ยังกะเทาะเปลือกชีวิตที่คนเรามักหลงติดอยู่กับค่านิยมเดิมๆมานานแสนนานอีกด้วย
นานพอๆกับภาษิตโบราณสำนวนหนึ่งที่บอกว่า “ผู้หญิงมีมายาห้าร้อยเล่มเกวียน ผู้ชายมีมายาสามสิบสองกล” ซึ่งทุกวันนี้หาผู้รู้ความหมายจริงๆยากเต็มที
ตอนนี้ผมก็กำลังศึกษาค้นคว้าอยู่เหมือนกันว่า ระหว่างผู้หญิง........ฯลฯ




ความจริงแล้วรายละเอียดมีมากกว่านั้น ในทางเฟชของ ว.วินิจฉัยกุล

แต่เนื่องจากเนื้อหาในโพสยาวมาก  เนื้อหาในพันทิปมีจำกัด

จขกท.คิดว่าช่องเกิดใหม่ในยุคทีวีดิจิตอลเหมาะที่จะทำละครแนวนี้มากกว่า เพราะส่วนใหญ่ตัวเอกหญิงและชายอายุ 40-50 ปี
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่