กยศ. สร้างโอกาสหรือทำลายโอกาสกันมากกว่าคะ?

ในประเทศที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากๆ
ปัญหาการเข้าถึงการศึกษาก็จะตามมาด้วย
และยิ่งขึ้นไปอีกสำหรับในประเทศที่รัฐไม่สามารถจัดการ
ให้การศึกษาทุกแห่งมีมาตรฐานได้เสมอกัน

กยศ. หรือกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาจึงมีขึ้นมา
เพื่อลดช่องว่างของโอกาสตรงนี้ลง
บางคนอาจนึกถึงคำว่าช่องว่างไม่ออก
จะลองอธิบายคร่าวๆนะคะ

เช่น A มีชีวิตเติบโตในเมือง มีฐานะดี
สอบติดมหาวิทยาลัยชื่อดังได้ไม่มีปัญหาทางการเงิน
ในขณะที่ B เติบโตในต่างจังหวัด ฐานะไม่ได้จนมาก
แต่ที่บ้านไม่สามารถซัพพอร์ตค่าเทอมรัฐได้
จะไปเข้าเอกชนก็แพง สุดท้ายก็ไม่ได้เรียนมหาลัย
จบได้แค่วุฒิ ม.6

ตรงนี้เราจะเริ่มเห็นแล้วค่ะว่าอนาคตของ A และ B นั้นจะแตกต่างกันอย่างไร
คนหนึ่งมีโอกาสไปแสวงหาความรู้และงานที่ดีกว่าได้
ในขณะที่ B โอกาสของเขาคือการทำงานระดับล่างแลกกับเงินเดือนไม่มาก
คุณคงพอเดาคุณภาพชีวิตพวกเขาต่อไปได้นะคะ

นี่คือช่องว่างทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้คนเรามีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างไม่เท่าเทียม

ครั้นจะไปพึงใบบุญเศรษฐีให้มอบทุน ก็ดูจะไม่ครบคนจำนวนเป็นล้านคน
หลายคนก็รู้สึกถูกลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยลงไปเมื่อต้องไปขอเงินใคร
หน้าที่การสร้างโอกาสเข้าถึงการศึกษา (หรือทรัพยากรพื้นฐาน)
จึงกลายเป็นหน้าที่ของ...รัฐบาล แทน

นั่นจึงเกิดกองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา หรือกยศ. ขึ้นมา

การกู้ยืมเงินกยศ. จะมีเงินให้สองส่วน คือ ค่าเทอม และค่าครองชีพ
ค่าเทอมนั้นจะจ่ายตรงให้กับทางมหาวิทยาลัย
ค่าครองชีพนั้นจะโอนเข้าบัญชีนักศึกษาตกเดือนละประมาณสองพันกว่าบาท

แต่หากเราลองคิดดีๆ จะพบว่านอกจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแล้ว
ประเทศไทยยังเหลื่อมล้ำด้านมาตรฐานการศึกษา
ซึ่งส่งผลไปสู่ความเหลื่อมล้ำในการหางานทำเพื่อมีชีวิตที่ดีกว่าด้วย

เด็กจากต่างจังหวัดจำนวนมากจึงมุ่งมาแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในกรุงเทพหรือเมืองใหญ่

ไม่กี่ปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยดังกลางเมืองแห่งหนึ่ง
ขึ้นค่าเทอมประมาณ 3,000 บาท ทุกคณะ
ทำให้คณะทางสายวิทย์ค่าเทอมขยับไปเกิน 20,000 บาท/เทอม
คณะสายสังคมขยับไปแตะ 18,000 บาท/เทอม
นี่ยังไม่นับค่าใช้จ่ายประจำวัน

ในขณะที่ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่มีรายได้กันปีละกี่แสนบาทกัน?

กยศ. จึงเป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยลดช่องว่างโอกาสทางการศึกษาแก่คนไทย

แต่เมื่อปีก่อน กยศ. ก็ออกนโยบายที่เรียกว่าสิ้นคิดที่สุดที่จะทำได้
นั่นคือ การกำหนดให้ผู้กู้ต้องทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ

WTF!! ดิฉันอุทานมาอย่างหัวเสีย

คนคิดนี่ลืมเจตนารมณ์ไปแล้วหรือว่ากองทุนนี้เกิดขึ้นมาเพื่ออะไร?
มันเสมือนสวัสดิการของรัฐเพื่อช่วยเหลือคนในประเทศ
ไม่ใช่สัญญาซื้อขายทาสใช้แรงงาน

คุณลองมองความจริงเป็นสิคะว่า
นักศึกษาจำนวนไม่น้อยต้องไปทำงาน Part time นอกเวลาเรียน
แล้วยังต้องเจียดเวลาไปเก็บชั่วโมงพวกนี้อีกหรือ?
การเรียนในมหาวิทยาลัยก็ไม่ใช่เรื่องเบาอยู่แล้วนะคะ
พอเขาการเรียนแย่ก็โดนประนามอีก

ไม่ว่าอย่างไรก็ตามนโยบายนี้ขัดกับเจตนารมณ์
ซึ่งมันเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมอย่างไม่มีเงื่อนไข!

และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ก็ได้ผ่านกฎหมายกยศ.ฉบับใหม่ออกมา
มีรายละเอียดแบบย่อตามรูปภาพ



(อ่านข้อมูลเต็มๆได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4355)

ดิฉันจะสรุปข้อกังวลของดิฉัน ดังนี้

1. นายจ้างหักเงินเดือนผู้กู้ กยศ.
- ดิฉันเข้าใจว่ามีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาคนเบี้ยวหนี้ไม่ยอมจ่าย (ซึ่งมีทั้งพวกมีแต่ไม่จ่ายและคนไม่มีจริงๆ)
แต่สิ่งที่หน้ากังวลคือเวลาปฏิบัติจริงจะเป็นการเพิ่มความทุกข์ยากให้กับผู้กู้หรือไม่?
ไม่รู้ว่าคนออกกฎหมายเคยได้สัมผัสชีวิตเด็กจบใหม่หรือทำงานมาสักระยะหรือไม่ว่า
จำนวนไม่น้อยเลยได้เงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท ส่วนใหญ่ก็ 12,000 บาท
บางคนครอบครัวมีภาระ ค่าครองชีพแบบไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตที่ดีตกเดือนละเท่าไหร่
บางคนโอกาสจะได้กินข้าวดีๆสัปดาห์ละมื้อ สังสรรค์แบบที่ชนชั้นกลางจะทำได้เดือนละครั้งยังไม่มี
หนี้ของภาครัฐควรถูกบังคับให้จ่ายเป็นด่านสุดท้าย ไม่ใช่ด่านแรกค่ะ

ทางแก้ ดิฉันอยากเสนอให้นำไปรวมกับเครดิตบูโรมากกว่าค่ะ
หรือหาทางที่ประนีประนอมกว่านี้ เช่นใครยินยอมให้นายจ้างหักก็ได้
ใครที่ไม่พร้อมก็เปิดโอกาสให้ใช้วิธีอื่นหรือประนีประนอมไปค่ะ

2. การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไม่มีขอบเขต
- กฎหมายที่ดีคือกฎหมายที่เขียนให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐอย่างรัดกุม
เข้มงวด และไม่พร่ำเพรื่อ เพราะรัฐไม่มีทางคุมเจ้าหน้าที่รัฐ
ได้อย่าง 100% หากให้อำนาจที่ไม่มีขอบเขต
นั่นย่อมเกิดความผิดพลาดหรือการฉ้อฉลหรือการลุแก่อำนาจได้
ครั้นจะผลักภาระให้ประชาชนเป็นผู้ฟ้องเมื่อเสียหายไปแล้ว
ก็ดูไม่คุ้มค่าค่ะ

ซึ่งอันนี้เปิดทางให้เข้าถึงข้อมูลอะไรก็ได้แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืม

ทาง iLaw ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่านี่เป็นการให้อำนาจหน่วยงานรัฐ
เข้าถึงข้อมูลแบบที่ไม่เคยให้หน่วยงานใดมาก่อน


- ทางแก้ ดิฉันคิดว่าควรจะระบุให้ชัดเจนไปเลยว่า
ข้อมูลส่วนใดที่เข้าถึงได้ และนำไปใช้ได้เฉพาะอะไรบ้าง
และใช้ได้กับกรณีไหน

สิ่งที่ประชาชนควรตระหนักคือ การไว้ใจที่ควรไม่ไว้ใจที่สุดคืออำนาจในมือเจ้าหน้าที่รัฐค่ะ

3. ดอกเบี้ยที่มีเพดานสูงสุด 7.5%
- จากเดิมดอกเบี้ย 1% แต่ปรับเป็นให้ดอกเบี้ยสูงสุดที่เป็นได้คือ 7.5%
ปัญหาข้อนี้ไม่ต่างจากข้อ 2 ค่ะคือการที่กฎหมายเปิดช่องทางให้กระทำได้

- ทางแก้ ควรกลับไปใช้ดอกเบี้ยแบบเดิม

4. ผู้ค้ำประกัน และผู้เรียนในสาขาที่ขาดแคลน
- เรื่องผู้ค้ำประกันมันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับที่ทุกคนที่จะหาได้ค่ะ
และต่อไปต่อให้คุณไม่ลำบากก็กู้กยศได้
ปัญหาคือการลำดับชั้นจะเกิดตามมาหรือไม่?

เช่น ให้ความสำคัญกับสาขาที่ตลาดขาดแคลนมาก่อนสาขาอื่น
ทั้งๆที่ขอบเขตคำว่าขาดแคลนนั้นกว้างเกินไป

โดยรวมแล้วข้อความเหล่านี้ขัดกับเจตนารมณ์ของกยศทั้งสิ้น

บางคนอาจบอกว่ามีเงื่อนไขเยอะๆแบบนี้ก็ดีแล้วจะได้กรองพวกจำเป็นจริงๆ
- น่าผิดหวังนะคะ เรามีบุคลากรรัฐจำนวนมากแต่คิดการแก้ปัญหาได้แค่นี้
มันอาจจะคัดกรองคนจำเป็นได้สำเร็จก็จริง
ความเลวร้ายกว่าคือมันได้เพิ่มความลำบากให้กับคนที่จำเป็นไปด้วยไงคะ

ดิฉันคิดว่าประเทศไทยเราเข้าสู่ความเป็นรัฐราชการเต็มตัวและเป็นหนักยิ่งขึ้น
นั่นคือเราเป็นรัฐที่พร้อมอุ้มข้าราชการทุกอย่าง แต่ตรงกันข้ามกับคนชายขอบ
กฎหมายที่ผ่านสภาก็ไม่มีตัวแทนประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้อง
มีแค่ความเห็นของคนกลุ่มหนึ่ง ที่โหวตให้ผ่านโดนคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
ขาดการไตร่ตรองปัญหาที่แท้จริง

รัฐราชการรวมถึงคนชนชั้นกลางขึ้นไปกำลังมองว่า
คนจน + คนชนชั้นกลางล่าง เป็นภาระ
และเลือกจะผลักภาระให้พวกเขาไปเลย

เห็นได้ชัดตั้งแต่ประเด็น 30 บาท และ กยศ.
ที่ทำให้ภาพว่าประเทศเรากำลังจะล้มละลายเพราะคนที่ใช้สวัสดิการพวกนี้
(ทั้งๆที่ปัญหาประเทศเราคือการบริหารจัดการงบประมาณ)
เลยคิดจะตัดและผลักภาระให้พวกเขาแทน
เช่น ให้ร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล, ขึ้นดอกเบี้ย กยศ. สร้างเงื่อนไขใหม่ ฯลฯ

อย่างที่บอกมันไม่ใช่แค่คนจน แต่ยังมีคนชนชั้นกลางจำนวนมากที่ไม่ได้มีเงินก้อน
พอจะจ่ายอะไรพวกนี้ได้(ดิฉันขอเรียกว่าคนชายขอบ)
หรือแม้แต่คนที่มีเหลือกินเหลือใช้ก็ไม่รู้ว่าวันข้างหน้า
อาจจะต้องใช้สวัสดิการพวกนี้หรือเปล่า?

นอกจากเราจะผลักภาระให้คนชายขอบแล้ว
เรายังทำให้พวกเขารู้สึกถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุยษ์ลง
อย่างสามสิบบาทก็สนับสนุนให้ร่วมจ่าย ใครไม่มีก็ไปขอประชาสงเคราะห์เอา(แม้ความคิดนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นก็ตาม)
เช่นกัน เราทำให้คนกู้ยืม กยศ รู้สึกว่าพวกเขาเป็นหนี้บุญคุณกองทุน
ต้องออกไปบำเพ็ญประโยชน์ ต้องถูกล้วงข้อมูลทุกอย่าง

สังคมเรากำลังปฎิบัติกับคนชายขอบอย่างไพร่ทาส

ทั้งๆที่สวัสดิการเหล่านี้คือสิ่งที่ประชาชนคนไทยทุกคนควรได้
มันเป็นความผิดของรัฐที่ทำให้พวกเขาเกิดมาในสังคม
ที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ เต็มไปด้วยโครงสร้างสังคมที่ไม่ยุติธรรม
มันเป็นความรับผิดชอบของรัฐเต็มๆที่จะต้องหาทางลดช่องว่างนี้ลงไป


แต่รัฐนี้กลับทำให้พวกเขารู้สึกด้อยค่า
เป็นหนี้บุญคุณรัฐ มันไม่ถูกต้องเลยค่ะ

มันจะมีกี่คนสักกี่ % ในประเทศไทยที่อยากใช้สวัสดิการพวกนี้
คนส่วนใหญ่ก็ดิ้นรนขยันอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าทั้งนั้นค่ะ
ถ้ารัฐเราสร้างสวัสดิการลดช่องว่างให้พวกเขาได้
เราก็จะได้ประชาชนที่มีคุณภาพชีวิตดี
ได้เงินภาษีเพิ่มจากพวกเขา
มันก็ล้วนตอบแทนกลับมาหารัฐอยู่ดี

นี่เป็นความรู้สึกความคิดดิฉันต่อปัญหาเชิงโครงสร้างสังคม
ที่ยิ่งถลำลึกขึ้น มันน่าหดหู่ด้วยที่ผู้คนในสังคมส่วนหนึ่ง
ช่วยกันซ้ำเติมปัญหานี้

สุดท้ายกลับมาที่ กยศ คนที่มีแต่ไม่ยอมจ่าย เบี้ยวหนี้
รัฐก็ควรหาทางจัดการที่ดีกว่านี้ ที่ไม่ต้องเบียดเบียน
สร้างความลำบากให้กับผู้กู้ทุกคน

กยศ ต้องมีขึ้นเพื่อคนทุกคน เพื่อลดปัญหาช่องว่าง
เพื่อให้โอกาสทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาได้อย่างไม่มีเงื่อนไข
ใครอยากเรียนต้องได้เรียน ต้องสร้างโอกาสให้ทุกคน
ไม่ใช่ทำลายโอกาส!

นี่คือความสำคัญ เมื่อทุกคนได้โอกาส ประเทศชาติเราก็จะพัฒนา
โดยที่ไม่ต้องทิ้งคนจำนวนมากไว้ข้างหลัง

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่