รีวิวอัลบั้มฉลองการกลับมาของ Coldplay: Viva la Vida or Death and All His Friends สดุดีแด่ชีวิตและความตาย


(หมายเหตุ: คะแนนที่ให้กับความชอบส่วนตัวอาจจะสวนทางกัน เพราะให้คะแนนตามพัฒนาการทางดนตรี จึงไม่นำมาปะปนกับความชอบ)

ผมยังจำได้ถึงโฆษณา iPod + iTunes ปี 2551 ของ Apple ที่มีเพลงประกอบเป็นท่อนฮุคติดหูจาก Coldplay แม้ขณะนั้นจะยังไม่ใช่แฟนเดนตายของวงควอเต็ตกลุ่มนี้ แต่ผมก็ตกหลุมรักแทร็ค Viva la Vida อย่างถอนตัวไม่ขึ้น สองอัลบั้มแรกของวงจัดเป็นงานคลาสสิคไปแล้ว แม้ชุดที่สามจะแผ่วลงไปบ้าง แต่ก็ยังอยูในเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนชุดนี้ต้องนับว่ามีความเป็น Coldplay น้อยที่สุด อดคิดไม่ได้ว่าถ้าลุง Brian Eno ไม่ยื่นมือเข้ามาโปรดิวซ์ให้แล้ว ทิศทางของอัลบั้มคงจะฉีกไปอีกแบบเป็นแน่แท้

นี่เป็นคอนเซปต์อัลบั้มชุดแรกของวงที่ทำออกมาได้ทะเยอทะยานที่สุด การทำเพลงเปี่ยมไปด้วยความกล้าได้กล้าเสีย แม้จะลักลั่นไปบ้าง แต่ก็หาได้สุดโต่งจนต้องปีนกะไดฟังไม่ ในแง่ของความเป็นออริจินอล อาจเทียบไม่ได้กับงานอย่าง OK Computer ก็จริง แต่ความสร้างสรรค์อย่างไม่หยุดยั้งและการไม่ยึดติดกับสูตรความสำเร็จเดิม ๆ ก็เพียงพอที่จะทำให้ Coldplay ทิ้งห่างจากวง post-britpop ในยุคเดียวกันได้แล้ว ทั้ง 10 แทร็คห่อหุ้มไว้ภายใต้คอนเซปต์ “Life and Death” ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมถึงชีวิต ความตาย การเมือง ศาสนา และความรัก

จากปกอัลบั้ม เราจะเห็น Reference ถึงงานศิลปะสองชิ้นด้วยกันคือ
1. ภาพวาด “Liberty Leading the People” ของศิลปินชาวฝรั่งเศส เออแฌน เดอลาครัวซ์ (Eugène Delacroix) ที่ใช้เป็นปกอาร์ตเวิร์ค และ
2. ชื่อ “Viva la Vida” ซึ่งเป็นชื่อภาพวาดของฟรีดา คาห์โล (Frida Kahlo)

เหตุผลที่คริส มาร์ตินเลือกเอาชื่อภาพวาดของเธอมาใช้ เพราะได้รับแรงบันดาลใจมาจากความอาจหาญตรงไปตรงมาในงานของเธอ

แตงโมสีสันสดใสที่สลักคำโปรยสดุดีชีวิตไว้กลางภาพเปรียบเสมือนการเฉลิมฉลองให้กับชีวิต แม้จะประสบปัญหาและความโศกศัลย์ แต่ก็ยังควรค่าแก่การปลงอาลัยให้กับชีวิตที่ผ่านมา หากมองย้อนกลับไปถึงวาระสุดท้ายของชีวิตที่เธอต้องทนทุกข์กับความเจ็บป่วย การใส่ข้อความสลักว่า “Viva la Vida” เพื่อสดุดีให้กับชีวิตจึงนับเป็นการมองโลกในแง่ดีเฮือกสุดท้ายก่อนที่เธอจะจากไปโดยทิ้งอนุทินไว้ว่า “The exit is joyful, and I hope never to return.”
...



1. Life in Technicolor (★★★★)
แทร็คเปิดอัลบั้มที่ทางวงแต่งร่วมกับ Jon Hopkins ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโปรดิวเซอร์ที่มาช่วยผนึกกำลังกับไบรอัน อีโนในการสร้างสรรค์ซาวนด์ใหม่ ๆ ให้กับชุดนี้ เมโลดี้จังหวะเนิบนาบที่ลอยฟุ้งเป็นอินโทรเปิดนำ ตามด้วยเสียงเครื่องสายจากขิม “ซันตูร์” (Santoor) พร้อมการเคาะจังหวะสอดประสานในท่วงทำนองแบบบาโรกป็อป ฟังมาถึงตรงชักไม่แน่ใจแล้วว่านี่ใช่ Coldplay แน่หรือ จากนั้นก็มีเสียงกีตาร์บรรเลงขานรับ โดยค่อย ๆ ไต่ระดับไปสู่ความพีคในช่วงวินาทีสุดท้ายที่ผองเพื่อนในวงประโคมดนตรีใส่คนฟังอย่างบ้าคลั่ง พร้อมเสียงคอรัสที่ให้ความรู้สึกฮึกเหิมอยู่ในที ฟังทีแรก รู้สึกเหมือนวงตั้งใจจะบอกกับเราว่า จากนี้ไปทุกอย่างจะแตกต่างจากที่เคยฟังมาล่ะนะ

เนื้อร้องเดิมนั้นพูดถึงสงครามที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยให้ภาพของผู้คนที่ซ่อนตัวเงียบอยู่ในที่หลบภัย คอยเงี่ยหูฟังวิทยุรายงานสงครามสลับกับเสียงหวูดที่ดังแหวกอากาศ แต่หากตัดเนื้อร้องออก ผมกลับรู้สึกได้ถึงความหวังในชีวิต เหมือนผู้ลี้ภัยที่เริ่มเห็นแสงสว่างรำไรในความขมุกขมัวของเงามืด ชีวิต!!! หากมีลมหายใจ ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป!!! ส่วนตัวแล้ว แทร็คนี้ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง “Life Is Beautiful” (1997) อย่างไรชอบกล

*เกร็ดเล็กน้อย
อันที่จริงแล้ว นี่ไม่ใช่ความต้องการเดิมของวงที่จะให้แทร็คนี้มีแต่ดนตรีบรรเลงล้วน ๆ เนื่องจากเวอร์ชันแรกที่อัดเสร็จแล้วมีเนื้อร้องตามขนบของเพลงทั่วไป (เนื้อร้อง+ทำนอง) แต่หลังจากนำแทร็คทั้งหมดมาเรียงร้อยกันเป็นอัลบั้ม วงกลับพบว่าเวอร์ชันนี้ทำให้ภาพรวมของอัลบั้มไม่เป็นเอกภาพ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ฟังดูดีทีเดียว ถ้าผมไม่เผลอไปเห็นบทสัมภาษณ์ของนักร้องนำกับ MTV ซะก่อน คริส มาร์ตินอธิบายสาเหตุที่แทร็คนี้มีแต่ดนตรีบรรเลงว่า
1) อยากให้มีเพลงที่เอาไว้ใช้เป็นริงโทนดี ๆ บ้าง เราก็เลยตัดเนื้อร้องออก
2) ไม่อยากให้มีแต่เนื้อร้องทั้งอัลบั้ม นี่ก็อัลบั้มที่สี่แล้ว คนฟังก็น่าจะเอียนเสียงนักร้องบ้างล่ะ คุณว่าไหม (เหตุผลอะไรของแกวะ ตาคริส)

สรุปคือ ก็เขาอยากตัดอ่ะนะ
...



2. Cemeteries of London (★★★★★)
กาย เบอร์รี่แมน มือเบสสุดหล่อของวงเล่าถึงความรู้สึกที่มีต่อ Cemeteries Of London กับ Entertainment Weekly ว่า “ตอนที่นึกถึงเพลงนี้ในหัว ผมเห็นภาพของลอนดอนในปี 1850, บรรยากาศที่ชื้นไปด้วยฝน และเหล่าสุภาพบุรุษในหมวกทรงสูง”

จากแทร็คแรกที่ทำให้เรารู้สึกถึงความหวังของการมีชีวิต แทนที่จะสานต่ออารมณ์ดังกล่าว แทร็คนี้ก็หักมุมหัวทิ่มด้วยการถีบคนฟังไปสู่วังวนแห่งความอึมครึมด้วยโทนที่จัดว่าดาร์กที่สุดที่วงเคยทำ สิ่งที่ผุดขึ้นมาในหัวตอนฟัง คือ ภาพของยุโรปยุคกลาง การล่าแม่มด และบ้านผีสิง นอกจากนี้ เมโลดี้ทำนองหลอกหลอนที่ให้บรรยากาศของความไม่น่าไว้วางใจ เสียงที่คริสจงใจร้องในโทนต่ำ บวกการลีดกีตาร์ของจอห์นนี่ที่กระชากอารมณ์อยู่เป็นพัก ๆ และการปรบมือเป็นจังหวะฟลาเมงโก (Flamenco) แบบสเปน ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นราวกับวิ่งหนีผีในหนังเรื่องบ้านผีปอบยังไงยังงั้น

We’d go underneath the arches where the witches are in there saying, There are ghost towns in the ocean… เนื้อเพลงออกแนวนิทานพื้นบ้านที่พูดถึงภูตผีปีศาจที่สิงสถิตอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งตรงนี้ คริสเคยบอกกับ The Sun ว่าแทร็คนี้เกี่ยวข้องกับการจับแม่มดหรือคนที่ถูกสงสัยว่าเป็นแม่มดไปถ่วงน้ำ อันเป็นวิธีการทดสอบแม่มดและพ่อมดในยุคกลางที่โด่งดัง มีผู้ได้รับเคราะห์หรือถูกทรมานจากการกล่าวหาเช่นนี้จำนวนมาก ทำให้อดนำมาเปรียบเทียบกับบ้านเมืองเราในยุคปัจจุบันไม่ได้ เพราะประเด็นหลัก ๆ ของเพลงนี้อาจเป็น “การถูกกล่าวหาในสิ่งที่ตนมิได้กระทำ / การถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นในสิ่งที่ตนมิได้เป็น”

I see God come in my garden, but I don’t know what he said,
For my heart, it wasn’t open…


ผมชอบท่อนนี้เป็นการส่วนตัว ถ้าฟังโดยเชื่อมโยงกับบริบททางศาสนา จะนึกถึงภาพของพระอานนท์ที่ไม่เข้าใจพระดำรัสของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งที่พระองค์ตรัสบอกว่า “อานนท์ เพราะอบรมอิทธิบาทสี่มาอย่างดีแล้ว ทำจนแจ่มแจ้งแล้วอย่างเรานี้ ถ้าปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ถึงหนึ่งกัปป์ (หนึ่งร้อยยี่สิบปี) ก็สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้” (ความนัย คือ พระพุทธองค์ประสงค์จะปลงพระชนมายุสังขาร หากพระอานนท์ต้องการให้พระองค์อยู่ต่อ ก็จงอาราธนาให้อยู่ต่อเสีย แต่ตอนนั้นพระอานนท์ถูกความวิตกกังวลและความโศกเศร้าบดบังปัญญา จึงมองไม่เห็นความนัยนี้) หรือนักบุญปีเตอร์ที่ค้านดำรัสของพระเยซู ตอนที่พระองค์บอกว่า ท่านจะปฏิเสธเราถึงสามครั้ง

สำหรับผมแล้ว “God” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง พระเจ้า เพียงอย่างเดียว แต่อาจหมายถึง คุรุ พุทธะ หรือนักปราชญ์ก็ได้ เหมือนกับว่าบางครั้งเราได้รับคำแนะนำจากผู้รู้ แต่เรากลับไม่เข้าใจความนัยของถ้อยคำนั้นอย่างถ่องแท้ ซึ่งอาจเป็นเพราะตอนนั้นเรายังโง่เขลาหรือมืดบอดจากอวิชชาหรืออารมณ์ความรู้สึกบางอย่าง
...



3. Lost! (★★★★)
Just because I’m losing, Doesn’t mean I’m lost
ถึงจะเพลี่ยงพล้ำ แต่ไม่พ่ายแพ้


ประโยคด้านบนมีที่มาจากตอนที่วงอยู่ในช่วงหดหู่หลังจากจบทัวร์คอนเสิร์ตอัลบั้มที่แล้ว คริสรู้สึกว่าประโยคนี้มันโดน และเริ่มแต่งต่อยอดจากท่อนนั้นจนกลายมาเป็นแทร็คนี้ อินโทรเกริ่นนำด้วยเมโลดี้ที่เพิ่มความโดดเด่นด้วยริฟฟ์ออร์แกน ประสานกับกรูฟของกลองที่ช่วยเสริมความหนักเบาและสัดส่วนอารมณ์ของเพลงได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ เสียงปรบมือคลอเป็นจังหวะก็ช่วยแต่งแต้มเมโลดี้ให้มีสีสันยิ่งขึ้นไปอีก แต่กระนั้น พระเอกตัวจริงของแทร็คนี้กลับเป็นท่อนโซโล่กีตาร์ช่วงกลางเพลงที่เร่งเร้าอารมณ์ให้รู้สึกคึกคัก กระปรี้ประเปร่า ทำให้นี่เป็นหนึ่งในเพลงที่ดีที่สุดของ Coldplay เลยทีเดียว

เนื้อเพลงพูดถึงความสูญเสีย ความพ่ายแพ้ และความสิ้นหวังด้วยโทนที่สดใสราวกับจะปลงตกกับตัวเองว่าชีวิตมันก็แค่นี้ จังหวะที่คึกคักทำให้รู้สึกถึงความหวังอยู่กลาย ๆ อันเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งที่มักพบเห็นในงานเพลงยุคหลัง ๆ ของ Coldplay พวกเขาชอบที่จะเล่าเรื่องเศร้าด้วยโทนสุข บรรเทาเรื่องราวที่เลวร้ายด้วยการมองโลกในแง่ดี เนื้อร้องสามารถตีความได้กว้างมากจนรู้สึกว่ามันเอาไปเชื่อมโยงกับอะไรก็ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับกระแสสังคมภายนอกหรือการต่อต้านความกดดันภายใน

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ Coldplay ปล่อยออกมาอีกเวอร์ชันหนึ่งคือ “Lost+” ที่ฟีเจอร์ริ่งกับ Jay-z ผมก็สะดุดกับท่อนแร็พที่ว่า “If you succeed, prepare to be crucified” ซึ่งก่อนหน้าท่อนนี้ เขาได้เอ่ยถึงชื่อบุคคลสำคัญจำนวนหนึ่งที่ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์บางอย่างแล้วพบกับจุดจบที่ไม่ดี (ถูกสังหาร) เช่น มาร์ติน ลูเธอร์ คิง (Martin Luther King Jr), มัลคอล์ม เอ็กซ์ (Malcolm X), ซีซาร์ (Caesar) หรือแม้กระทั่งพระเยซู (Jesus) แล้วประโยคหนึ่งก็ดังปึ่งเข้ามาในหัว “จงทําดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน” ซึ่งท่อนแร็พทั้งท่อนนั้นทำให้ตัวเพลงเชื่อมโยงกับการเมืองทันที เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมมีส่วนหล่อหลอมและสร้างบุคคลเหล่านี้ขึ้นมา เพราะหากสังคมไม่เหลื่อมล้ำหรือเลวร้าย พวกเขาคงไม่ลุกขึ้นยืนหยัดเพื่ออนาคตที่ดีกว่า และแม้พวกเขาจะถูกปลิดชีพก่อนที่จะพบกับความสำเร็จ แต่นั่นก็เป็นเพียงความเพลียงพล้ำ หาใช่ความพ่ายแพ้ เพราะคนสิ้น แต่อุดมการณ์ยัง และมันได้ถูกส่งไม้ต่อไปยังคนรุ่นหลังที่จะมาสานต่อให้ลุล่วง

*เกร็ดเล็กน้อย
เพลงนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตอนที่วงฟังแทร็ค “Sing” อัลบั้ม Leisure (1991) ของ Blur

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

ซึ่งหากฟังดี ๆ จะพบว่าท่อนอินโทรของทั้งสองเพลงมีความคล้ายคลึงกันพอสมควร และนั่นก็นำมาซึ่งคำอธิบายถึงวิธีการแต่งเพลงของวงที่คริส มาร์ตินเปิดเผยว่า บ่อยครั้งที่พวกเราฟังเพลงอะไรสักอย่างแล้วรู้สึกว่า เพลงนี้เจ๋งว่ะ ทำไมเราถึงไม่มีเพลงแบบนี้บ้าง เราอาศัยแรงบันดาลใจจากจุดนี้นี่แหละเขียนเพลงขึ้นมา

(มีต่อ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่