เรื่องน่ารู้ก่อนซื้อทีวีใหม่

ทีวีในตลาดบ้านเราตอนนี้มามากมายหลากหลายยี่ห้อให้เลือกซื้อ บางครั้งเวลาเราเดินเข้าไปในแผนกโทรทัศน์ เราอาจจะเห็นบ้ายโฆษณาติดไว้บนทีวีว่า รุ่นนี้เป็น LED TV รุ่นนี้เป็น Smart TV รุ่นนี้รองรับ Digital TV etc. อย่างไรก็ตาม ในกระทู้นี้เราจะมาโฟกัสกันที่เรื่องของจอภาพกัน
ก่อนอื่น ก่อนที่เราจะเลือกซื้อทีวีได้ตรงตามความต้องการของเรา เราจะต้องรู้ก่อนว่ามันทำงานยังไงและจอประเภทไหนอยู่ในหมวดหมู่ไหนบ้าง มิเช่นนั้น เราอาจเป็นเหยื่อของโฆษณาการตลาดได้
ก่อนสิ่งอื่นใดเลย เรามารู้จัก keyword ของจอแต่ละประเภทกัน
1. LCD โดยทั่วไปจะหมายถึง Twisted Nematic Liquid Crystal Display สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในวิกิพีเดีย (eng)
2. IPS หรือ PLS (แซมซัง) เป็นเทคโนโลยีที่ต่อยอดมาจาก LCD ทำให้สีที่มองจากมุมมองด้านข้างผิดเพี้ยนน้อยลง
3. Quantum Dot เป็นเทคโนโลยีของแสงส่องสว่างหลังจอภาพ ให้ส่องมาเป็นแสงสีเลย แล้วใช้ LCD ควบคุมความดำของพิกเซล
4. OLED เป็นเทคโนโลยีจอภาพชนิดเดียวในปัจจุบันที่ไม่มีการใช้ liquid crystal ในการทำให้เกิดภาพ
นอกนั้น ถ้าไม่ใช่ฟังก์ชั่นเสริมของทีวีก็จะเป็นชื่อทางการตลาดซะส่วนใหญ่
มาเริ่มกันที่ LED TV ก่อนละกัน ยุคนี้ ใกล้จะปี 2017 ละ หลายคนอาจมองว่า LCD TV คงจะเก่าไปแล้ว เพราะส่วนใหญ่ ทีวีที่ทำตลาดด้วยชื่อ LCD ตอนนี้หลักพันกลางๆมีให้เห็นเยอะแยะมาก ทั้งจอเล็กจอใหญ่ แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆแล้ว LED TV รุ่นใหม่ๆก็ยังมีส่วนประกอบของ LCD อยู่ ทีวีรุ่นใหม่ๆจำนวนน้อยมากที่จะไม่พบส่วนประกอบนี้ ชื่อของมันคือ Liquid Crystal (ลิกควิดคริสตัล) หรือเรียกแบบไทยๆว่า "ผลึกเหลว" ถูกคิดค้นมานานมากแล้วตั้งแต่ช่วง 1970s (แต่มันไม่สำคัญกับการเลือกซื้อทีวี เพราะฉะนั้นขอข้ามประวัติของมันนะครับ) ชื่อของ LCD ก็มาจากเจ้าตัวนี้แหละ มันเป็นสารที่ไวต่อกระแสไฟฟ้า โดยเมื่อมันได้รับกระแสไฟฟ้า มันจะจัดเรียงโมเลกุลของตัวมันเองใหม่ (ใครที่สนใจวิธีการทำงานเบื้องลึกของมันสามารถไปหาดูได้ในยูทูป) และเจ้าตัวนี้เองที่อยู่เบื้องหลังการกระพริบของ pixel (พิกเซล) ซึ่งแต่ละภาพนั้น จะประกอบไปด้วยพิกเซลจำนวนนับล้าน และเมื่อพิกเซลเกิดการกระพริบ ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนตำแหน่งของจุดบนภาพ ทำให้เกิดภาพเคลื่อนไหว หนึ่งการเคลื่อนไหวเรียกว่า refresh โดยการเคลื่อนไหวนับเป็นครั้งต่อวินาทีเฟรมต่อวินาที (fps: frame per second) หรือเรียกว่าเฮิร์ตซ์ (Hz: Hertz) ก็ได้ โดยยิ่งค่า refresh rate มากเท่าไหร่ การเคลื่อนไหวก็ยิ่งเป็นธรรมชาติมากเท่านั้น นั่นแหละ คือพื้นฐานการแสดงผลภาพบนจอ แต่ลำพังตัว ผลึกเหลวเองไม่สามารถแสดงผลภาพได้สว่างนัก เพราะด้านบนของมันยังมีฟิล์มสีเคลือบอยู่อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งฟิล์มสีพวกนี้มีหน้าที่ทำให้ภาพมีสีสันขึ้นมา ดังนั้น ในยุคของ LCD จึงมีการวางหลอดฟลูออเรสเซนต์ หรือภาษาชาวบ้านคือ หลอดไฟ ไว้หลังจอภาพ ซึ่ง LED TV ก็ใช้เทคนิคนี้เหมือนกัน แต่เปลี่ยนจากหลอดฟลูออเรสเซนต์เป็นหลอด LED จึงทำให้ตัวเครื่องทีวี LED บางกว่า LCD เล็กน้อย (จริงๆตัว circuit board ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับความหนาเหมือนกันนะ) ผมมั่นใจว่าหลายคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจมีคำถามว่า แล้วจอ LED ที่ราคามันต่างกันลิบลับขนาดนั้น มันเหมือนกันไหม? แน่นอนว่าจอ LED ก็มีหลายประเภทอีกเช่นกัน ถ้าจะให้ตอบว่ามันเหมือนกันไหม ก็ต้องดูที่ข้างใน ที่วิธีการทำงานของมัน ซึ่งนอกจากที่พูดถึงไปแล้ว ก็ยังมีจอ LED อีกอย่างต่ำ 2 ประเภท ซึ่งในกระทู้นี้ผมจะไม่พูดถึงเยอะกว่า 3 ประเภท (เพราะจริงๆคือผมเหนื่อย 55555)
อันแรก ชื่ออาจดูแฟนซีนิดนึง แต่จริงๆแล้วราคามันไม่ได้แพงกว่าประเภทแรกมากเท่าไหร่ มันคือ Quantum Dots Display มันเกิดมาเพื่อคนที่ชอบจอสีสันสดใส ในงบที่ไม่สูงมากนัก เพราะวิธีการที่มันทำให้เกิดภาพ จะแตกต่างจากจอ LED ปกติเล็กน้อย คือแทนที่จะใช้ฟิล์มสีกับหลอด LED สีขาว จอ Quantum Dots ใช้ LED สีฟ้าเพื่อให้แสงสว่างจากหลังจอภาพ จากนั้นเคลือบนาโนคริสตัลของสารเรืองแสงฟลูออเรสเซนต์เข้าไปบนพื้นผิวของตัว LED ซึ่งขนาดโมเลกุลของสาร มีผลต่อสีที่จะเกิดขึ้นบนจอภาพ ซึ่งวิธีนี้จะให้สีสันที่สดใสกว่าจอภาพทั่วไปและยากต่อการเกิด burn in (ปรากฏการณ์ที่จอภาพเกิดรอยของภาพที่แสดงค้างไว้เป็นเวลานาน)
อันสุดท้าย เป็นจอ LED ที่เป็นที่ฮือฮากันมาก นั่นคือ โอแอลอีดี OLED (ฝรั่งเรียกโอเหล็ด) OLED ย่อมาจาก Organic Light Emitting Diode ซึ่งแตกต่างจากทั้ง 2 แบบแรกอย่างสิ้นเชิง เพราะมันไม่ได้ใช้ผลึกเหลวเลย แต่มันมีราคาสูงมาก เพราะคุณสมบัติของมันที่เหนือกว่าทั้ง 2 ชนิดแรก คือ เมื่อมันแสดงผลพิกเซลสีดำ สิ่งที่มันทำคือตัดการจ่ายไฟไปยังพิกเซลนั้น ทำให้ลดการใช้พลังงานในการแสดงผลสีดำลงและทำให้ได้พิกเซลสีดำที่ดำสนิท ที่มันทำอย่างนั้นได้ก็เพราะแต่ละพิกเซลนั้นประกอบไปด้วยหลอด LED สีแดง, หลอด LED สีเขียว, หลอด LED สีน้ำเงิน... แค่นี้แหละ ดูไม่ยุ่งยากเลย แต่สิ่งที่ยุ่งยากคือการผลิตให้แต่ละซับพิกเซล (subpixel: โดยทั่วไป หนึ่งพิกเซลประกอบไปด้วย 3 ซับพิกเซล ที่มีสีแดง เขียว และน้ำเงิน) มีทรานซิสเตอร์เพื่อ (ตามที่ผมเข้าใจ) เป็นการบัฟเฟอร์ให้แต่ละซับพิกเซลรู้ว่าต่อไปควรจะกระพริบตอนไหน และจะสว่างเท่าไหร่ ทำให้ภาพที่ออกมามีความลื่นไหลเป็นธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เทคโนโลยี OLED จะถูกใช้ในทีวีจอใหญ่ความคมชัดสูง เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของผู้ผลิต
และเมื่อพูดถึงภาพความคมชัดสูง ก็คงจะยากที่จะไม่พูดถึงเทคโนโลยี Ultra High Definition หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า UHD หรือสั้นกว่านั้นอีกคือ 4K
อันที่จริง 4K กับ UHD ถึงจะความละเอียดใกล้เคียงกันแต่ก็ไม่ใช่ตัวเดียวกัน โดย UHD จะให้ภาพขนาด 3840x2160 พิกเซล ในอัตราส่วน 16:9 ในขณะที่ 4K จะให้ภาพขนาด 4096x2160 พิกเซลในอัตราส่วน 17:9 แต่ปัจจุบันทีวีส่วนใหญ่ก็โฆษณาว่าเป็น 4K ทั้งๆที่จริงๆคือ UHD จนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
แล้ว UHD/4K หรือ 2160p ดีกว่า Full HD หรือ 1080p ตรงไหน คำตอบคือ สำหรับคนที่ชอบดูทีวีขนาดใหญ่กว่า 45" ในระยะห่างต่ำกว่า 3 เมตร จะสังเกตเห็นความคมชัดที่เพิ่มขึ้นได้ดีที่สุด พูดง่ายๆคือเหมาะสำหรับคนชอบวางทีวีจอใหญ่ไว้ในที่แคบๆเพื่อการดูทีวีแบบเต็มตานั่นแหละ

ส่วนการจะซื้อรุ่นไหนก็อยู่ที่สไตล์การใช้งาน เช่นถ้าอยากได้จอคมๆก็มองหาคำว่า UHD เข้าไว้ ถ้าชอบสีสันสดใสก็ OLED แต่ถ้าอยากได้คมสีสวยราคาไม่โหดร้าย ก็มองหา Quantum Dots โดยผู้ผลิตอาจทำตลาดในชื่อ SUHD เนื่องจากอาจจะอยากให้เป็นเทคโนโลยีตัวเด่นของเขาเลยไม่ใส่มาในรุ่น Full HD ก็เป็นได้...

ในกระทู้นี้ผมอาจไม่ได้พูดถึงทุกหัวข้อ หากมีอะไรสงสัยก็แสดงความคิดเห็นกันไว้นะครับ ผมจะพยายามเข้ามาตอบ
หวังว่ากระทู้นี้จะมีประโยชน์สำหรับทั้งผู้ที่กำลังมองหาทีวีใหม่ ผู้ที่ซื้อทีวีใหม่ไปแล้ว ผู้ที่สงสัยว่ามันทำงานยังไง รวมถึงผู้ที่ผ่านไปมาทุกๆท่านไม่มากก็น้อยครับ
หัวเราะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่