[เกร็ดประวัติศาสตร์]การกอบกู้ศาสนาของกษัตริย์ไทย หลังจากกรุงศรีอยุธยาและวัดวา ถูกเผา

    สืบเนื่องจาก จขกท ได้ติดตาม ละครสายโลหิต พบความสะเทือนใจกับฉากกรุงศรีอยุธยาถูกเผา  
วัดวาอาราม พระพุทธรูป ถูกเผาไปสิ้น  รู้สึกสะเทือนใจ จึงหาข้อมูลการกอบกู้ศาสนามาฝากทุกท่านๆนะคะ  
เพื่อระลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษ กษัตริย์ไทย ที่ทรงเหนื่อยพระวรกาย กว่าจะทำนุงบำรุงประเทศชาติและศาสนาให้ผ่านมาได้


ขอสรุปเหตุการณ์สำคัญๆ ใน ช่วงกรุงแตก ไปจนถึง ช่วง  กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่1  ค่ะ


         เมื่อคราวที่กรุงศรีอยุธยาต้องประสบความพินาศครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2310 นั้น
พระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรไทยได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนัก
ชนิดที่ไม่เคยประสบกันมาในกาลก่อน วัดวาอาราม พระพุทธรูป พระสถูปเจดีย์ ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ
ตลอดจนพระไตรปิฎก พระธรรมคัมภีร์ต่างๆ ต้องวิบัติสูญเสียไปด้วยน้ำมือของข้าศึกเป็นจำนวนมากมายก่ายกอง
พระสงฆ์องค์เจ้าถูกฆ่า ถูกข้าศึกกวาดต้อนจับเอาไปเป็นเชลย เป็นจำนวนมิใช่น้อย ที่เหลืออยู่ก็ต้องซัดเซพเนจร
กระจัดกระจายหลบซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆ เป็นที่น่าเอน็จอนาถใจยิ่งนัก

           สมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพนฯ ในรัชกาลที่ 1 ได้พรรณนาถึงความพินาศครั้งใหญ่ของพระนครศรีอยุธยาในคราวนั้น ไว้ในเรื่อง “ สังคีติยวงศ์ พงศาวดารเรื่องสังคายนาพระธรรมวินัย ” เป็นเอกสารที่มีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์เป็นอันมาก
เพราะท่านผู้แต่งได้เกิดทันรู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง จึงขอนำคำแปล ( ท่านแต่งไว้เป็นภาษามคธ ) บางตอนมาลงไว้เป็นหลักฐานดังต่อไปนี้  






กา ร กู้ พ ร ะ ศ า ส นาข อ ง พ ร ะ เ จ้ า ต า ก สิ น ม ห า ร า ช

• ความเสื่อมโทรมของพระพุทธศาสนา
พระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทยจากพม่าด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวและความเสียสละอย่างสูง    หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาได้พ่ายแพ่แก่พม่าอย่างยับเยินและสูญสิ้นอิสรภาพ เมื่อ พ.ศ. 2310
พระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงใช้พระเวลาเพียง 7 เดือนในการกู้เอกราชของชาติ ได้ขจัดทัพพม่าซึ่งตั้งรักษาการอยู่ ณ ค่ายโพธิ์สามต้น แขวงกรุงศรีอยุธยา    ให้แตกพ่ายหนีออกไปนอกราชอาณาจักร

เป็นสมัยของการกู้ชาติกู้แผ่นดิน
เป็นสมัยที่ พระเจ้าตากสินมหาราช ต้องทรงเหน็ดเหนื่อยตรากตรำคร่ำเคร่งอยู่กับการรบทัพจับศึกตลอดเวลา
แม้พระเจ้าตากสินมหาราช  จะทรงกรำศึกสงครามเกือบตลอดรัชสมัย  แต่พระองค์ก็ทรงเอาพระทัยใส่ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
ด้วยพระราชศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง

พระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงพระราชดำรัส เมื่อครั้งที่ทรงยกทัพไปปราบเมืองพุทไธมาศ เมื่อ พ.ศ.2314  มีข้อความดังนี้


   พระราชปรารถและน้ำพระทัยของ พระเจ้าตากสินมหาราช  ที่จารึกในศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี วัดอรุณราชวราราม

•ทรงจัดระเบียบสังฆมณฑล

หลังจากที่ พระเจ้าตากสินมหาราช ได้สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว   ก็ทรงโปรดให้ดำเนินการจัดระเบียบสังฆมณฑลทันที ใน พ.ศ. 2311
ทั้งนี้ก็โดยทรงพระราชดำริว่า
พระสงฆ์ของเราในขณะนั้น ยังบกพร่องในเรื่องศีลวินัยอยู่เป็นอันมาก
เพราะบ้านแตกสาแหรกขาด ปราศจากพระราชาคณะและพระเถระผู้ใหญ่
ซึ่งทรงคุณธรรมและความรู้ สำหรับที่จะคอยมาดูแลว่ากล่าวสั่งสอนให้ประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามพระวินัย


ทรงได้ทรงรับสั่งให้ออกสืบเสาะหาพระสงฆ์ที่ทรงคุณธรรมจากทุกหนทุกแห่ง   แล้วนิมนต์ให้มาประชุมพร้อมกัน ณ วัดบางว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม ในปัจจุบัน)  แล้วเลือกตั้งพระเถระที่ทรงคุณธรรมและแก่พรรษาอายุ   ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช เพื่อให้เป็นใหญ่ดูแลการพระศาสนาในสังฆมณฑลต่อไปแล้วโปรดให้นิมนต์ไปประจำอยู่ตามอารามต่างในกรุงธนบุรี   ทำหน้าที่บังคับบัญชาสั่งสอนว่ากล่าวทั้งในฝ่ายคันธธุระ   และวิปัสสนาธุระแก่พระภิกษุสามเณรทั้งปวง   เพื่อให้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่มหาชน   และเพื่อให้พระพุทธศาสนา    ได้กลับบริสุทธิ์ผุดผ่องคืนกลับเข้าสู่สภาพเดิมต่อไป

การปกครองสงฆ์ในสมัยกรุงธนบุรี   จึงได้พ้นจากภาวะจราจลระส่ำระสาย  เริ่มเข้ารูปเป็นระเบียบเรียบร้อยนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

• พระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะสงฆ์

เมื่อ พระเจ้าตากสินมหาราช  ทรงโปรดให้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม  เป็นการใหญ่ในปี พ.ศ. 2311
เมื่องานได้เสร็จสิ้นลงแล้วพระองค์ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่คณะสงฆ์
ขอให้พระสงฆ์ยึดมั่นอยู่ในพระธรรมวินัย
อย่าให้พระพุทธศาสนาต้องเศร้าหมอง  
ขัดข้องประการใดจะทรงรับเป็นพระราชธุระจัดหาให้โดยเต็มที่

พระราชดำรัสตอนหนึ่งมีข้อความว่า


• ทรงชำระพระสงฆ์เมืองเหนือ  (พ.ศ. 2313)

เมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่สองในปี พ.ศ.2310 นั้น ได้มีชุมนุมๆ หนึ่งตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่ทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ ชุมนุมนี้มีสิ่งที่แปลกพิเศษกว่าชุมนุมอื่นทั้งหมดอยู่ประการหนึ่ง ก็คือมีพระสงฆ์เป็นหัวหน้าและบรรดาแม่ทัพนายกองก็ล้วนแต่เป็นพระสงฆ์องค์เจ้า ซึ่งเราเรียกชุมนุมนี้กันว่า “ ชุมนุมเจ้าพระฝาง ”

พระสงฆ์เหล่านี้พากันกระทำสิ่งที่ชั่วช้าลากมก ผิดพระวินัยบัญญัติ เป็นที่น่าสังเวชสลดใจอย่างยิ่ง ฉะนั้น เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปราบชุมนุมนี้ได้เมื่อปี พ.ศ.2313 แล้ว จึงโปรดให้ดำเนินการชำระสอบสวนสงฆ์ในเมืองพระฝางนี้ทันที

หลังจากที่ได้จับบรรดาแม่ทัพนายกองสึกออกเป็นคฤหัสถ์ เอาตัวเข้าเครื่องจองจำพันธนาการและส่งตัวลงมาขังไว้ในคุกที่กรุงธนบุรีแล้ว ก็โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์เมืองเหนือทั้งปวงในเมืองนั้นมาประชุมพร้อมกันหน้าพระที่นั่ง พร้อมทั้งขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารและพลเรือน แล้วทรงมีพระราชดำรัสว่า

“ พระสงฆ์บรรดาอยู่ฝ่ายเหนือนี้ เป็นพรรคพวกอ้ายเรือนพระฝางทั้งสิ้น ย่อมถืออาวุธและปืนรบศึก ฆ่าคนปล้นเอาทรัพย์สิ่งของ และกินสุราเมรัย ส้องเสพอนาจารด้วยสีกา ต้องจตุปาราชิกาบัติต่างๆ ขาดจากสิกขาบทในพระพุทธศาสนา ล้วนลามก จะละไว้ให้คงอยู่ในสมณเพศฉะนี้มิได้ ”

ต่อจากนั้น ก็มีรับสั่งให้บรรดาพระสงฆ์เหล่านั้น ที่ได้ละเมิดล่วงเกินพระวินัยบัญญัติด้วยประการต่างๆ รับสารภาพผิดเสีย แล้วจะโปรดให้สึกออกมารับราชการ ถ้าหากไม่รับจะต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์กันตามกรรมวิธีที่เคยใช้กันมาแต่โบราณ คือให้ดำน้ำทนต่อหน้าพระที่นั่ง โดยประกอบพิธีกรรมขึ้นตามประเพณี แม้ชนะก็จะได้โปรดให้ตั้งเป็นอธิการ และพระครู พระราชาคณะ ตามสมควรแก่คุณธรรมความรู้ความสามารถ แต่ถ้าแพ้จะต้องถูกลงอาญา ถ้าเสมอจะพระราชทานผ้าไตรให้บวชใหม่ แล้วก็โปรดให้ตั้งพิธีกรรมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของพระสงฆ์ในเมืองฝาง ด้วยการดำน้ำทนขึ้น บรรดาพระสงฆ์ซึ่งแพ้คดีในครั้งนั้น ได้ถูกลงโทษไปตามควรแก่โทษานุโทษ ผ้าไตรที่พระสงฆ์พวกแพ้ต้องจับสึกได้โปรดให้เผาทำเป็นสมุก เอาไปทาพระมหาธาตุเจดีย์เมืองสวางคบุรี

• ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในหัวเมืองฝ่ายเหนือ
เมื่อเสร็จสิ้นการชำระคณะสงฆ์ให้บริสุทธิ์แล้ว ก็โปรดให้เย็บผ้าสบงจีวรให้ครบ 1,000 ไตร เพื่อบวชพระสงฆ์ใหม่ขึ้นไว้ตามหัวเมืองฝ่ายเหนือ แล้วโปรดให้ราชบุรุษลงมาอาราธนาพระราชาคณะ กับพระสงฆ์อันดับจากกรุงธนบุรีรวม 50 รูป ขึ้นไปบวชพระสงฆ์ไว้ตามหัวเมืองเหนือครั้งนั้นทุกๆ เมือง จากนั้นก็โปรดให้บรรดาพระราชาคณะเหล่านั้นอยู่ประจำ ทำหน้าที่ดูแลสั่งสอนพระสงฆ์ฝ่ายเหนือตามพระอารามในเมืองต่างๆ สืบ
การพระศาสนาในหัวเมืองฝ่ายเหนือครั้งนั้น ก็กลับคืนเข้าสู่ภาวะปรกติตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา




• การบูรณะและปฏิสังขรณ์วัดที่สำคัญ

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ได้ทรงพระราชศรัทธาว่าจ้างบรรดาข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ให้ช่วยกันสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร การเปรียญ และเสนาสนะกุฏีสงฆ์ รวมหลายพระอารามด้วยกัน เป็นจำนวนกว่า 200 หลัง สิ้นพระราชทรัพย์ไปเป็นอันมาก ในปีหลังๆ ต่อมา ก็ยังได้โปรดให้สถาปนาและบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ อีกหลายต่อหลายครั้งด้วยกัน

• การส่งเสริมการศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎก
ทรงพระราชดำริว่า พระพุทธศาสนาจักดำรงคงอยู่ตลอดไปชั่วกาลนานได้นั้น ก็ด้วยพระภิกษุสามเณรเอาใจใส่ศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สังฆการีธรรมการทำสารบัญชีสำรวจดูว่าพระสงฆ์องค์ใดบ้าง ที่บอกเล่าเรียนพระไตรปิฎกได้มาก ก็ทรงถวายไตรจีวรชนิดฝ้ายเทศเนื้อละเอียดให้เป็นพิเศษ แล้วพระราชทานจตุปัจจัยแก่พระภิกษุสามเณร ตามเกณฑ์ที่เล่าเรียนได้มากและน้อย ทั้งนี้ ได้ทรงริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นรัชกาลเช่นกัน

• การรวบรวมพระไตรปิฎก
พระองค์ได้ทรงเอาพระทัยใส่สืบเสาะหาต้นฉบับพระไตรปิฎก ตามบรรดาหัวเมืองต่างๆ ที่ยังหลงเหลือรอดพ้นจากการทำลายของข้าศึกในครั้งนั้น แล้วนำมาคัดลอกจำลองไว้ เพื่อสร้างเป็นพระไตรปิฎกฉบับหลวงสำหรับพระนครต่อไป เช่น เมื่อคราวที่เสด็จลงไปปราบชุมนุมเจ้านครในปี พ.ศ.2312 นั้น ตอนเสด็จกลับก็โปรดให้ยืมคัมภีร์พระไตรปิฎก จากเมืองนครศรีธรรมราช บรรทุกเรือขนเข้ามาคัดลอกในกรุงธนบุรี และในคราวที่เสด็จขึ้นไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝางที่เมืองอุตรดิตถ์เมื่อปี พ.ศ.2313 นั้น ก็โปรดให้นำพระไตรปิฎกจากเมืองนั้นลงมา เพื่อใช้สอบทานกับต้นฉบับที่ได้มาจากเมืองนครศรีธรรมราชนั้น

แต่ในการสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตามนัยที่กล่าวมานี้ยังมิทันที่จะสำเร็จเรียบร้อยบริบูรณ์สมดังพระราชประสงค์ ก็มีเหตุทำให้ต้องสิ้นรัชกาลลงเสียก่อน

อย่างไรก็ดี การที่ได้ทรงนำต้นฉบับพระไตรปิฎกมาคัดลอกรวบรวมไว้ ณ กรุงธนบุรี ได้เป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงในการสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งได้จัดทำกันขึ้นในสมัยต่อมา

พระราชปรารถและน้ำพระทัยของ พระเจ้าตากสินมหาราช
ที่จารึกในศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี วัดอรุณราชวราราม
และในพระวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดอินทาราม ธนบุรี มีข้อความดังนี้



พระพุทธศาสนา กรุงสมัยรัตนโกสินทร์
•    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.  2325 ต่อจากพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงย้ายเมืองจากธนบุรี มาตั้งราชธานีใหม่ เรียกชื่อว่า "กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์" ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดต่าง ๆเช่นสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดสระเกศ และวัดพระเชตุพน ฯ เป็นต้น ทรงโปรดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๙  ณ วัดมหาธาตุ ได้มีการสอนพระปริยัติธรรมในพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนตามวังเจ้านายและบ้านเรือนของข้าราชการผู้ใหญ่ ทรงตรากฎหมายคณะสงฆ์ขึ้น เพื่อจัดระเบียบการปกครองของสงฆ์ให้เรียบร้อย ทรงจัดให้มีการสอบพระปริยัติธรรมทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสถาปนาพระสังฆราช (ศรี) เป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ.  2352

สมเด็จพระสังฆราชศรีจึงเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 2 ของกรุงธนบุรี
ต่อมาก็ยังได้รับสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์แรก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 1 อีกด้วย  

  สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช 2 แผ่นดิน)

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่