ไทยบันเทิง TPBS รายงานพิเศษ: รายได้จริงของนักวาดการ์ตูนญี่ปุ่น

การ์ตูนญี่ปุ่นถูกสร้างเป็นหนังแอนิเมชั่นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผลตอบแทนที่นักวาดการ์ตูนมังงะได้รับกลับไม่เพิ่มขึ้น นอกจากไม่ได้ส่วนแบ่งจากการฉายแล้ว รายได้หลักจากการขายหนังสือการ์ตูน ยังถูกบั่นทอนจากธุรกิจร้านการ์ตูนคาเฟ่และตลาดการ์ตูนมือสอง ซึ่งไม่สร้างรายได้ให้กับสำนักพิมพ์และศิลปินนักวาดแต่อย่างใด...




กรณีตัวอย่าง แอนิเมชั่น Gintama ที่ออกฉายไปเมื่อ 3 ปีก่อน มีแผนเตรียมออกฉายช่วงต้นปีหน้าในรูปแบบไลฟ์ แอ็คชั่น แสดงถึงความนิยมของการ์ตูนแก๊กสุดดังแห่งยุคเป็นอย่างดี แต่การถูกดัดแปลงสู่จอใหญ่อย่างต่อเนื่องไม่ได้ทำให้เจ้าของผลงานต้นฉบับมีรายได้เพิ่มตามไปด้วย
"ฮิเดอากิ โซราจิ" ผู้วาดการ์ตูน Gintama เปิดใจกับนักอ่านว่า ไม่ว่าแฟนๆ จะมาดูหนังการ์ตูนของเขามากแค่ไหน รายได้ส่วนนั้นก็ไม่เคยตกมาถึงตัวผู้ประพันธ์แม้แต่น้อย เขาได้รับเพียงค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นเงินน้อยนิดมากเมื่อเทียบกับรายได้บ็อกซ์ออฟฟิศซึ่งส่วนใหญ่ตกเป็นของบริษัทผู้สร้างและสำนักพิมพ์

...ดังนั้นการออกหนังสือการ์ตูนเล่มยังคงเป็นรายได้หลักสำหรับนักวาดการ์ตูนญี่ปุ่น ส่วนการฉายหนังการ์ตูนนั้นไม่ต่างจากการประชาสัมพันธ์ให้การ์ตูนเป็นที่รู้จักมากขึ้นเท่านั้น

โดยรายได้ของนักวาดการ์ตูนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มาจาก...
- ค่าต้นฉบับผลงานที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร และค่าลิขสิทธิ์จากฉบับรวมเล่ม
- การวาดการ์ตูนทั่วไปจะได้รับค่าต้นฉบับหน้าละประมาณ 3,500 บาท
- นักเขียนการ์ตูนชื่อดังอาจได้รับค่าจ้างสูงกว่าหน้าละ 10,000 บาท
- เมื่อมีการรวมเล่มการ์ตูน จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ประมาณ 1 ใน 10 จากราคาหน้าปก
.
ผลสำรวจของซีเอ็นเอ็นพบว่า ในปี 2009 มีการ์ตูนรวมเล่มจำหน่ายในญี่ปุ่น 5,300 เรื่อง โดย 100 เล่มที่ติดอันดับขายดี สามารถทำเงินให้กับนักวาดเฉลี่ยปีละกว่า 20 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากยอดขายการ์ตูนเล่มที่เหลืออีกราว 5,200 เล่มซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับความนิยมรองลงมา ทำเงินให้นักวาดเพียงปีละ 9 แสนบาท ซึ่งน้อยกว่าเงินเดือนของพนักงานออฟฟิศในญี่ปุ่น ที่มีรายได้เฉลี่ยปีละ 1 ล้าน 3 แสนบาท

ด้วยธุรกิจที่ส่งเสริมให้แฟนการ์ตูนในญี่ปุ่นได้อ่านการ์ตูนหลายช่องทาง ทั้งร้านมังงะ คาเฟ่ที่คิดค่าอ่านการ์ตูนเป็นรายชั่วโมง ร้านเช่าหนังสือการ์ตูน และธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมอย่างการขายการ์ตูนมือสอง ทั้งที่จำหน่ายในร้านค้าและทางออนไลน์ ช่องทางในการเข้าถึงการ์ตูนที่มีมากขึ้น กลับกลายเป็นการลดทอนรายได้ของนักเขียนการ์ตูน เพราะมีเพียงธุรกิจร้านเช่าการ์ตูนเท่านั้นที่ส่งรายได้กลับมายังนักเขียน โดยพวกเขาไม่เคยได้รับส่วนแบ่งจากการขายการ์ตูนมือสองหรือการอ่านการ์ตูนในร้านมังงะคาเฟ่
.
มีความพยายามเสนอระบบการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์จากการขายการ์ตูนมือสอง แต่ความยุ่งยากทำให้แนวคิดดังกล่าวยังไม่เป็นรูปธรรม หนึ่งในวิธีที่สำนักพิมพ์ใช้แก้ปัญหาคือการหันมาจำหน่ายการ์ตูนในรูปแบบดิจิตอล ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาการนำการ์ตูนเล่มไปขายต่อได้ในอนาคต
.
ซึ่งการหันมาจำหน่ายการ์ตูนในรูปแบบดิจิตอล เพื่อแก้ปัญหาการถูกการ์ตูนมือสองแย่งรายได้ อาจเป็นการเร่งให้การตีพิมพ์การ์ตูนเล่มหายไปจากตลาดเร็วขึ้นก็เป็นได้

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
https://fb.com/ArtandCultureThaiPBS/videos/1382379071772312/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่