จากกระทู้"อริยมรรคมีองค์๘นั้น องค์ใดที่เป็นการปฎิบัติวิปัสสนาครับ?"พอรู้แล้วครับว่าองค์ใด

องค์นั้นคือ  "สัมมาสมาธิ" ครับ
จากการประมวลทุก คคห.ในกระทู้ก่อนจากท่านผู้รู้ทุกๆท่าน(ขอกราบขอบพระคุณทุกท่านที่กรุณาให้ความรู้ครับ)และประกอบการค้นคว้าเพิ่มเติมโดยอาศัยทุก คคห.เป็นบรรทัดฐานครับ ก่อนอื่นมาพิจารณาสมาธิสูตรดังนี้ครับ
......สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป
เพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบันมีอยู่ ๑ สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มาก
แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะมีอยู่ ๑ สมาธิภาวอันบุคคล
เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะมีอยู่ ๑ สมาธิภาวนา
อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะมีอยู่ ๑......
  ทุกอันย่อมเป็นสัมมาสมาธิหมดครับ ในอริยมรรค๘นั้นแบ่งเป็นโลกียมรรคและโลกุตตระมรรค ดังพระสูตรนี้ครับ
....ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฐิเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เรากล่าวสัมมาทิฐิเป็น ๒ อย่าง คือ สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ(โลกียะ) เป็นส่วนแห่งบุญ
ให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑ สัมมาทิฐิของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ
เป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ......(ยกตัวอย่างสัมมาทิฎฐิ  สัมมาอื่นก็เช่นกัน)...
ทีนี้ลองดูพระสูตรที่ว่าถึงสัมมาสมาธิฝ่ายโลกุตตระครับ
....พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมา-
สมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล
เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ....
นี่คือสัมมาสมาธิที่เป็นฌาน๑-๔อันเป็นมรรคสมังคีเป็นโลกุตตระฌานฝ่ายโลกุตตระ
   ทีนี้สัมมาสมาธิที่ยังเเป็นสาสว(ฝ่ายโลกียะ)นั้น ท่านไม่ได้กล่าวถึงผมวิเคราะห์เอาว่าควรจะเป็นสมาธิภาวนาเพื่อความสิ้นอาสวะเพื่อจะขึ้นอริยมรรค๘แบบโลกุตตระมรรคดังสมาธิสูตรข้อสุดท้ายนี้ครับ        
.......สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้น
อาสวะเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีปรกติพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความ
เสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ว่า รูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้
ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นดังนี้ ความ
ดับแห่งเวทนาเป็นดังนี้ สัญญาเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาเป็นดังนี้
ความดับแห่งสัญญาเป็นดังนี้ สังขารเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสังขารเป็นดังนี้
ความดับแห่งสังขารเป็นดังนี้ วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นดังนี้
ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันบุคคล
เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ......
นี้เป็นสมาธิแบบลักขณูปณิฌานครับมีการพิจารณาเกิดดับเป็นวิปัสสนาในตัวเพื่อตัดสังโยชน์ครับ
ขอท่านผู้รู้ได้โปรดพิจารณาและชี้แนะด้วย จะเป็นพระคุณยิ่งครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่