เงินน่ะมีมั้ย! ส่งลูกติวเข้าแพทย์ ครึ่งแสนพ่อแม่จ่ายไหวอ่ะเปล่า


        "สลดนักเรียนสาว ม.5 น้อยใจแม่ไม่มีเงินให้ติวสอบเข้าแพทย์ผูกคอดับ" กลายเป็นพาดหัวข่าวชวนสลดใจไปทั้งประเทศเมื่อเด็กคนหนึ่งตั้งใจแน่วแน่อยากจะเข้าเรียนคณะแพทย์ แต่ด้วยค่าติวที่แพงมหาโหดกว่าครึ่งแสน ลำพังผู้เป็นแม่ที่เป็นแค่พนักงานกินเงินเดือนจึงมีไม่เงินให้ลูกสาวไปติวแพทย์ นำไปสู่ข้อความโพสต์เฟซบุ๊กเชิงน้อยใจ "ทำไมแม่ไม่เคยเข้าใจ" ก่อนตัดสินใจคิดสั้นผูกคอตายในเวลาต่อมา...
       
       เพราะเป็น "เด็ก" จึงเจ็บปวด
       
       ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพเด็กแข่งกันเรียนพิเศษแบบเอาเป็นเอาตายยังคงมีอยู่ และฉายภาพซ้ำๆ ตอกย้ำความเครียดของเด็กๆ ในแต่ละปีเมื่อเข้าสู่เทศกาลรับนิสิต/นักศึกษาใหม่ โดยเฉพาะการสอบคัดเลือก และการลุ้นผลที่ยิ่งกว่าลุ้นรางวัลล็อตเตอรี่ หรือจับใบดำใบแดงเสียอีก
       
       แน่นอนว่า คงไม่มีใครอยากเห็นภาพตัวเองเดินคอตก ผิดหวัง น้ำตาไหลในวันประกาศผลสอบเข้ามหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับเด็กสาว ม.5 รายนี้ที่มุ่งมั่นตั้งใจอยากจะเข้าเรียนคณะแพทย์ แต่ด้วยการเรียนการสอนในชั้นเรียนที่บางครั้งอาจไม่เพียงพอกับการสอบ การขอเงินแม่ไปติวเข้มในสถาบันกวดวิชาคือทางเลือกที่พอจะสานฝันการเข้าเรียนของเธอได้ แต่เมื่อผู้เป็นแม่ไม่มีกำลังทรัพย์มากพอ เพราะต้องใช้เงินกว่าครึ่งแสน คงไม่มีใครคาดคิดว่าเธอจะทำลายอนาคตตัวเองด้วยผูกคอตายประชดชีวิตแบบนี้
       
       แม้เบื้องต้นเจ้าหน้าที่คาดว่า สาเหตุน่าจะมาจากปัญหาเรื่องส่วนตัว และไม่มีทางออกก่อนที่จะตัดสินใจคิดสั้นใช้เชือกผูกคอตนเองเพื่อจบปัญหาดังกล่าว แต่คงต้องหาสาเหตุการตายอย่างละเอียดอีกครั้ง และล่าสุดได้ส่งไปที่สถาบันนิติเวช เพื่อหาสาเหตุการตายที่เกิดขึ้นแล้ว
       
       อย่างไรก็ดี เหตุสลดในครั้งนี้ นอกจากจะสร้างความสะเทือนใจพ่อแม่คนไทยแล้ว ยังชวนอึ้งถึงคำให้สัมภาษณ์ของผู้เป็นแม่ที่เปิดเผยถึงตัวเลขค่าเรียนที่ลูกสาวขอไปติวเพื่อเตรียมสอบเข้าคณะแพทย์ โดยตามข่าวระบุว่า ต้องเสียค่าติวกว่า 5 หมื่นบาทเลยทีเดียว ซึ่งทำให้ใครหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า เป็นไปได้จริงหรือ
       
       ด้วยข้อสงสัยดังกล่าว ทีมข่าวผู้จัดการออนไลน์ Live ได้สอบถาม และตรวจสอบคอร์สเรียนกวดวิชาเพื่อติวเข้ามหาวิทยาลัยต่อเด็ก 1 คน โดยเฉพาะรายวิชาที่ใช้ในการสอบแพทย์ ซึ่งพบตัวเลขที่น่าตกใจ แถมบางแห่งยังคิดค่าเรียนเป็นบทๆ บทละ 600-700 บาท ซึ่งกว่าจะจบบทก็คงต้องจ่ายกันมากโขทีเดียว
       
       ติวแพทย์ครึ่งแสน! ราคามหาโหด


ภาพจากแฟ้มข่าว

        "กวดวิชาละ 5 พัน 7 วิชาหลัก (คณิต ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ภาษาไทย อังกฤษ สังคม) ก็ 3.5 หมื่น แล้วครับ ยังไม่นับคอร์สติวตะลุยโจทย์เข้าแพทย์อีกซัก 2-3 คอร์ส รวมๆ แล้วก็น่าจะ 5 หมื่นนั้นแหละครับ ลูกผมติว ม.ปลาย ธรรมดาๆ ช่วงปิดเทอมแค่ 2-3 วิชาก็ซัดไปกว่า 2 หมื่นแล้วครับ"
       
       เป็นข้อมูลที่คุณพ่อท่านหนึ่งได้ให้เอาไว้ ซึ่งเผยให้เห็นตัวเลขอันน่าตกใจ แถมยังหนักใจแทนคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องทำงานอย่างหนักเพื่อหาเงินให้ลูกไปติวเข้มในราคามหาโหด ยิ่งถ้าเป็นสายแพทย์ หรือสายวิทยาศาสตร์ด้วยแล้ว คงต้องหาเงินตาเหลือกกันเลยทีเดียว
       
       แม้เด็กบางคนจะซื้อคอร์สติวแค่เพียงบางวิชา แต่ถ้าลองคิดเล่นๆ อย่างคณะแพทย์ หากซื้อคอร์สติวเข้มในสถาบันกวดวิชาชื่อดังในรายวิชาต่างๆ ที่จำเป็นต้องสอบในการเข้าคณะดังกล่าว คือ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคมศึกษา และวิชาเฉพาะ รวมๆ แล้วต้องใช้เงินค่อนข้างสูงมาก
       
       ยกตัวอย่าง สถาบันกวดวิชาด้านคณิตศาสตร์ชื่อดังแห่งหนึ่ง แค่ราคาคอร์สคณิตศาสตร์สำหรับสอบ Admission Entrance 4.0 ระบบใหม่เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ปี 2560 ครอบคลุมเนื้อหาเรื่อง เซต, ตรรกศาสตร์, เมตริกซ์, ระบบจำนวนจริง และทฤษฎีจำนวนจริง ก็ฟันเงินเฉียด 10,000 บาทแล้ว แม้จะลดราคาลงแล้วก็ตาม

        
       ขณะที่สถาบันกวดวิชาด้านเคมีชื่อดัง ราคาคอร์สสำหรับเข้ามหาวิทยาลัย อัตราค่าเรียนอยู่ที่ 6,500 บาท อย่างไรก็ดีมีการแนะนำด้วยว่า ควรลงเรียนในคอร์สปรับพื้นฐานก่อนเคมีก่อนเพื่อให้มีพื้นฐานเพียงพอ และได้ผลเป็นไปตามคาดหวังในการเรียนคอร์สเข้ามหาวิทยาลัย โดยมีอัตราค่าเรียนอยู่ที่ 2,600 บาท นอกจากนั้นหากใครอยากฝึกทักษะในการวิเคราะห์ข้อสอบก็อาจต้องลงคอร์ส และจ่ายเพิ่มอีก 2,600 บาท
       
       ส่วนสถาบันกวดวิชาที่มีชื่อเสียงในด้านฟิสิกส์ แค่คอร์สเข้ามหาวิทยาลัยก็เกือบๆ 15,000 บาทแล้ว ถ้าเป็นคอร์สเฉพาะ GAT เชื่องโยงและความถนัดทางแพทย์ อัตราค่าเรียนอยู่ที่เกือบๆ 5,000 บาท ซึ่งราคาพอๆ กันกับคอรส์ตะลุยโจทย์คณิตศาสตร์เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย อัตราค่าเรียนอยู่ที่ 5,500 บาท เช่นเดียวกับรายวิชาชีววิทยา สังคมศึกษา ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ อัตราค่าเรียนอยู่ที่ประมาณ 2,000-5,000 บาท
       
       อย่างไรก็ดี จากการสำรวจในครั้งนี้ สถาบันกวดวิชาบางแห่ง นอกจากพยายามสร้างติวเตอร์ซุป'ตาร์ให้เด็กติดแล้ว ยังคิดค่าเรียนเป็นบทๆ บทละ 600-700 บาท ซึ่งลองคิดดูว่า หนังสือ 1 เล่มไม่ได้มีแค่ 1-2 บท รวมๆ แล้วพ่อแม่ต้องเตรียมเงินเบื้องต้นรายวิชาละเกือบๆ 10,000 บาทเลยทีเดียว
       
       เห็นค่าติวในแต่ละรายวิชาแบบนี้แล้ว เชื่อว่าพ่อแม่หลายคนคงนั่งกุมขมับ แม้บางคนจะพอมีกำลังทรัพย์เพียงพอในการทุ่มเพื่อความฝันของลูก แต่ใครอีกหลายคนคงต้องคิดหนัก และสามารถจ่ายเท่าที่จะมีกำลังส่ง ซึ่งเรื่องแบบนี้คงต้องคุยกับลูกดีๆ และช่วยกันทางออกในข้อจำกัดที่ไม่เหมือนกันในแต่ละครอบครัว
       
       เรียนแพทย์ไม่ใช่สูตรสำเร็จของชีวิต


        อีกหนึ่งเรื่องที่จะมองข้ามไม่ได้เลยก็คือ "ความหวังของพ่อแม่" แม้พ่อแม่หลายคนจะให้อิสระในการคิด และใช้ชีวิต แต่ก็มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ต้องเรียนตามการคาดหวังของพ่อแม่ และกลัวว่าจะสร้างความผิดหวังให้แก่พ่อแม่ ซึ่งเป็นการกดดัน และทรมานความรู้สึกของเด็กจนนำไปสู่ความเครียดได้ โดยเฉพาะครอบครัวที่ต้องการให้ลูกเป็นแพทย์ก็พยายามเคี้ยวเข็ญให้ลูกเรียนกวดวิชา ด้วยการไปลงสมัครให้ลูกในโรงเรียนกวดวิชาชื่อดังต่าง ๆ หรือบังคับให้ลูกอ่านหนังสือ
       
       เรื่องนี้ รศ.นพ.ศิริไชย หงส์สงวนศรี จิตแพทย์ เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี เคยให้สัมภาษณ์ผ่านผู้จัดการออนไลน์ในประเด็นคล้ายๆ กันไว้อย่างน่าสนใจ และสามารถนำมาสรุปทิ้งท้ายได้เป็นอย่างดี
       
       "การสอบเข้าเรียนแพทย์ ไม่ใช่สูตรสำเร็จของชีวิต บางคนเข้ามาแล้วเรียนไปไม่ไหว เกิดความกดดัน ไม่พูด ไม่คุย เกิดภาวะซึมเศร้า ในที่สุดก็ฆ่าตัวตายก็มีให้เห็นในโรงเรียนแพทย์หลายแห่ง" นอกจากนั้นยังเผยด้วยว่า "การสอบเป็นแค่พี้นฐานของชีวิต ไม่ได้แปลว่า ชีวิตเราสำเร็จหรือไม่ สำเร็จ และอาชีพไม่ได้สำคัญเฉพาะ แพทย์ วิศวะ สถาปนิก ทุกอาชีพ มีความสำคัญและทุกอาชีพมีประโยชน์ และช่วยเหลือผู้อื่นได้ทั้งนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือเด็กจะต้องรู้จักปรับตัวให้ได้" นี่คือสิ่งที่จิตแพทย์ เด็กและวัยรุ่นท่านนี้อยากฝากไปถึงพ่อแม่ทุกๆ คน
       
       ดังนั้นหากคุณเป็นพ่อแม่ที่เลือกไม่ได้ และยังต้องวนเวียนอยู่ในระบบการศึกษาเดิมๆ ลองเปลี่ยนจาก "ความรักบนความคาดหวัง" มาเป็น "ความรักบนความเข้าใจในธรรมชาติของเด็ก" เหมือนที่พ่อแม่หลายๆ คนกำลังทำอยู่ น่าจะเป็นหนทางให้พ่อแม่ และลูกมีความสุขสู่การใช้ชีวิตที่มีความหมายต่อไป

ข่าวจาก : MGR Online
http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000115274

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่