สายโลหิต ละครดีแต่ต้องดูอย่างไตร่ตรอง

เป็นประสบการณ์ส่วนตัวนะครับ ไม่ได้ต้องการโจมตีละคร เพราะผมก็ติดตามดูอยู่ทุกคืน ชอบมาตั้งแต่เด็ก แต่เพียงเพราะว่าเคยรู้สึกนึกคิดแบบนี้มาก่อน และคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี จึงอยากมาแชร์ความคิดเห็นกับทุกท่าน

แม้ว่าเรื่องสายโลหิตจะส่งเสริมความรักชาติ ความสมานสามัคคี ซึ่งก็เป็นข้อดีอย่างหนึ่ง แต่ในอีกมุมหนึ่ง หากดูโดยปราศจากการศึกษาประวัติศาสตร์เพิ่มเติม ก็เป็นอันตรายต่อตัวเราที่จะค่อย ๆ สร้างความรู้สึกด้านลบกับประเทศเพื่อนบ้านเราได้ เนื่องด้วยบางฉากบางตอนมีการต่อสู้กันของไทย-พม่า แต่เพราะละคร หรือภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ส่วนใหญ่เป็นการถ่ายทอดทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิด ในมิติและมุมมองของเจ้าของบทประพันธ์เพียงมิติเดียว ซึ่งอาจก่อให้เกิดความรู้สึกเกลียดชัง คับแค้น หรือสับสนในประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างมาก

เมื่อคราวที่ผมดูตอนออกอากาศครั้งแรก เป็นสมัยเด็กประถม บอกตามตรงผมเกลียดพม่าเข้าไส้ อะไรที่เป็นพม่าผมเกลียดหมด มันมีบางฉากบางตอน ที่บทกำหนดให้อีกฝ่ายแสดงการกระทำที่ดูเป็นผู้ร้ายชั่วช้าต่อคนไทย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยุคนั้น ถือเป็นเรื่องปกติ ถือเป็นธรรมเนียมทางการสงครามของประเทศแถบนี้ ซึ่งรวมถึงกรุงศรีฯ เองด้วย ไม่ว่าจะเป็นธรรมเนียมการเผาบ้านเมืองให้ราบคาบ การริบทรัพย์จับเชลย การทารุณกรรมเชลยศึก

การนำเสนอในบางฉากบางตอน หากเราดูโดยปราศจากข้อมูล (เช่นผมในตอนนั้น) หรือมีเพียงข้อมูลแหล่งเดียว นอกจากจะก่อให้เกิดความรู้สึกเกลียดชัง คับแค้นแล้ว ยังทำให้เรามอง และจดจำประวัติศาสตร์แค่เพียงด้านเดียว ยกตัวอย่างเรื่องการยกทัพเข้าตีกรุงศรีฯ ของพม่า บางตำรา บางเอกสารกล่าวว่า พม่ายกมาถึงชานพระนคร เพราะเหตุเห็นว่ากองทัพจากกรุงศรีฯ ที่ยกไปป้องกันมะริด ตะนาวศรีอ่อนแอ (ขณะนั้น มะริด ตะนาวศรี เป็นของกรุงศรีฯ) หลังจากยึดมะริด ตะนาวศรีได้ จึงลองรุกไล่เข้ามา และเข้ามาถึงชานพระนครได้โดยไม่ตั้งใจ แต่อีกเอกสารหนึ่งก็นำเสนอว่า พม่าเตรียมการตีกรุงศรีฯ มาเป็นอย่างดีมีแบบแผน มียุทธศาสตร์รัดกุม เนื่องมาจากต้องการกำจัดคู่แข่งทางสังคม วัฒนธรรม และการค้าทางทะเลกับต่างชาติ

หรืออย่างการบอกเล่าสาเหตุความอ่อนแอของกรุงศรีฯ บางเอกสารก็นำเสนอเฉพาะในมุมความอ่อนแอของพระมหากษัตริย์ ขุนนาง ที่มีความแตกแยก เหลวแหลกเพียงอย่างเดียว แต่บางเอกสารก็นำเสนอในมิติใหม่เพิ่มเติม เช่น การเข้ามาของชาวต่างชาติในกรุงศรีฯ ที่ค่อยๆ มีเพิ่มมากขึ้น สะสมมาเรื่อยๆ ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง ทำให้คนไทยหันไปเข้ารีตกับฝรั่ง ก่อให้เกิดเป็นปัญหาการสักเลก และเกณฑ์ไพร่พลในยามเกิดศึกสงคราม

หรือแม้แต่เรื่องการทรยศของพระยาพลเทพที่มีอยู่ในฉากหนึ่งของสายโลหิต หรือละครประวัติศาสตร์ปลายกรุงศรีฯ เรื่องอื่น ๆ บางเอกสารก็นำเสนอข้อมูลว่า เป็นพวกพม่ารามัญที่อาศัยอยุ่ในกรุงศรีฯ เป็นผู้เปิดประตูเมือง (ตอนนั้นผมเกลียดพระยาคนนี้มาก ตอนนี้เริ่มเห็นใจ ไม่รู้จริงเท็จ ได้แต่ปลง)

กว่าจะได้เข้าใจ และทำใจเป็นกลางได้แบบนี้ ว่าทุกอย่างมันมีหลายมิติ มีหลายมุมมองให้ศึกษา (สมัยนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ต) ก็จนสมัยมัธยมที่ไปค้นคว้า อ่านหนังสือประวัติศาสตร์ หรือบทความที่มีนักวิชาการนำเสนอในหลากหลายมิติที่มากขึ้น ความรู้สึกเกลียดพม่าถึงได้คลายไป (แต่ก็ยังมีฝังอยู่ในใจบ้าง เพราะเสียดายกรุงศรีฯ)

ที่กล่าวมา ไม่ใช่เฉพาะเรื่องสายโลหิต แต่ละคร ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ไทย เราดูเพื่อเก็บสิ่งดี สิ่งเตือนใจ ข้อคิด ข้อคำนึง เป็นเครื่องเตือนใจให้เราไม่ลืมรากเหง้า ไม่ลืมความเสียสละของบรรพบุรุษ แต่อย่าเก็บมาเป็นอารมณ์ ความรู้สึกเกลียดชัง หากมีข้อสงสัย แคลงใจ ควรค้นคว้าเพิ่มเติม อย่าปักใจเชื่อข้อมูลด้านเดียว ศึกษาในหลายๆ มุมของประวัติศาสตร์ (แต่ไม่ควรเอาความรู้สึกคนสมัยนี้ไปตัดสิน หรือเทียบเคียงกับความรู้สึก และการกระทำของผู้คนสมัยนั้น เพราะเราอยู่คนละยุค คนละบริบท คนละวัฒนธรรม คนละความเชื่อกัน) จะทำให้เราไม่หลงไปกับละครจนเกินพอดีเช่นที่ผมเคยเป็นมา (แต่สมัยนี้คงไม่มีแล้ว เพราะสืบค้นข้อมูลกันได้ง่าย)
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ละครโทรทัศน์ สายโลหิต
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่