ศ.กาญจนา กาญจนสุต ผู้กำเนิดอินเทอร์เน็ตไทยรับรางวัล “โพสเทล เซอร์วิส อวอร์ด”

ศ.กาญจนา กาญจนสุต มารดาแห่งอินเทอร์เน็ตประเทศไทยรับรางวัล “โพสเทล เซอร์วิส อวอร์ด” สำหรับปี 2559 (ที่สร้างคุณประโยชน์ในด้านการสื่อสารข้อมูลอย่างโดดเด่นและเป็นที่ประจักษ์)



เมื่อเวลา 17:40 น. ตามเวลาท้องถิ่นของสาธารณรัฐเกาหลี วันที่ 16 พฤศจิกายน ที่ โรงแรมคอนราด กรุงโซล นายกองซาโล คามาริลโล (Mr.Gonzalo Camarillo) ประธานกรรมาธิการ ประชาคมอินเทอร์เน็ตสากล ได้ขึ้นประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัล “โพสเทล เซอร์วิส อวอร์ด” สำหรับปี 2559 ภายในงาน ประชุมคณะทำงานด้านวิศวกรรมอินเทอร์เน็ตครั้งที่ 97 ทางประชาคมอินเทอร์เน็ตสากล (Internet Society: ISOC) โดยผู้ได้รับการเลือกจากคณะกรรมการพิจารณา คือ ศ. กาญจนา กาญจนสุต รองประธานมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THNICF) จากนั้นนายคามาริลโลได้มอบรางวัลลูกแก้วคริสตัลให้แก่ ศ.กาญจนา ต่อหน้าสักขีพยานซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารข้อมูลจากทั่วโลกที่เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ ศ. .กาญจนา ในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย และการสร้างสรรผลงานต่อแวดวงอินเทอร์เน็ตอันเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสากลมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 ทศวรรษของการอุทิศตน

ทั้งนี้ ศ.กาญจนา เป็นผู้แรกที่นำอินเทอร์เน็ตมายังประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ.2529 โดยการสร้างการเชื่อมต่อทางอีเมลระหว่างสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซียกับภายนอกประเทศ และได้ขยายวงกว้างรองรับการใช้งานอีเมลออกไปยังสถาบันการศึกษาและองค์กรอื่น ๆ จนกระทั่งอินเทอร์เน็ตมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศในปัจจุบัน ศ.กาญจนา ได้ก่อตั้งหน่วยงานหลายหน่วยงานที่ขับเคลื่อนการเติบโตของอินเทอร์เน็ตในประเทศและภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THNIC) ที่ดูแลบริหารโดเมน .th และ .ไทย มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 ห้องปฏิบัติการอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาและวิจัย (intERLab) ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (AIT) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในด้านวิศวกรรมอินเทอร์เน็ตให้กับภูมิภาค และศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่เป็นกลางแห่งแรกของประเทศไทย (BKNIX) เป็นต้น ศ.กาญจนา ถูกเรียกในวงการอินเทอร์เน็ตว่า มารดาแห่งอินเทอร์เน็ตไทย

ศ.กาญจนา ให้สัมภาษณ์ ภายหลังได้รับรางวัลว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกให้รับรางวัลอันทรงค่านี้ ซึ่งรางวัลดังกล่าวมีความหมายกับตนเองมาก
“ดิฉันรู้จักชื่อ ดร.โพสเทล เป็นครั้งแรกเมื่อ 30 ปีที่แล้วผ่านเพื่อนของดิฉันที่ช่วยดิฉันเชื่อมต่อให้เกิดอีเมลครั้งแรกจากประเทศไทย นั่นคือโรเบิร์ต เอลซ์ ที่หลายท่านในที่นี้คงจะรู้จัก ซึ่งหลังจากนั้นดิฉันไม่เคยหยุดงานด้านพัฒนาอินเทอร์เน็ต มันเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่สำหรับดิฉันซึ่งมีเหล่าสมาชิก IETF หลายท่านที่พร้อมยื่นมือให้ความช่วยเหลือมาโดยตลอด ดิฉันขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ และขอขอบคุณประชาคมอินเทอร์เน็ตสากลสำหรับรางวัลและการยอมในครั้งนี้ ดิฉันมั่นใจอย่างยิ่งว่าผู้คนที่ได้ให้ความช่วยเหลือดิฉันจะร่วมรับรางวัลนี้ ขอบคุณค่ะ” ศ.กาญจนากล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรางวัล โจนาธาน บี โพสเทล เซอร์วิส อวอร์ด (Jonathan B. Postel Service Award) หรือ โพสเทล เซอร์วิส อวอร์ด จัดตั้งขึ้นโดยประชาคมอินเทอร์เน็ตสากล (Internet Society) เพื่อมอบให้แก่ผู้ที่สร้างคุณประโยชน์ในด้านการสื่อสารข้อมูลอย่างโดดเด่นและเป็นที่ประจักษ์ โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างผลงานทางด้านเทคนิคอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม การสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาคม และความเป็นผู้นำ โดยรางวัลนี้เริ่มมีการมอบให้แก่ผู้ที่ได้รับการคัดสรรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมาและมอบเพียงปีละ 1 รางวัลเท่านั้น ทั้งนี้ ชื่อรางวัล โพสเทล เซอร์วิส อวอร์ด ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้กับ ดร.โจนาธาน โพสเทล หรือ Jon Postel หนึ่งในสามของผู้คิดค้นอินเทอร์เน็ตให้กับโลกใบนี้ และดูแลบริหารประชาคมอินเทอร์เน็ตมาตลอด 30 ปีที่อยู่ในสายอาชีพด้านระบบเครือข่าย อีกหนึ่งคุณูปการที่สำคัญของ ดร.โพสเทล คือเป็นผู้เขียน RFC ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานทางด้านเทคนิคของอินเทอร์เน็ตเป็นคนแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ถึง พ.ศ. 2541 รวมถึงเป็นผู้บริหารอาพาเน็ต (APANET) ประธานคนแรกของไออานา (IANA: Internet Assigned Number Authority) และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งคณะกรรมการด้านสถาปัตยกรรมอินเทอร์เน็ต (Internet Architecture Board) อีกด้วย

สำหรับประชาคมอินเทอร์เน็ตสากล ประชาคมอินเทอร์เน็ตสากล (Internet Society) เป็นองค์กรอิสระที่เป็นศูนย์รวมหลักของข้อมูลเชิงลึกด้านอินเทอร์เน็ต เป็นแหล่งรวมผู้นำทางความคิดจากทั่วโลก และเป็นองค์กรแม่ของคณะทำงานด้านวิศวกรรมอินเทอร์เน็ต (IETF) นอกจากนี้ด้วยวิสัยทัศน์ที่อยู่บนหลักการและพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีที่มั่นคง ประชาคมอินเทอร์เน็ตสากลสนับสนุนและเปิดกว้างให้มีการพูดคุยร่วมกันระหว่าง กลุ่มผู้ใช้งาน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และองค์กรอื่น ๆ ในด้าน นโยบายอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยี และการพัฒนาไปสู่อนาคต การที่ประชาคมอินเทอร์เน็ตสากลทำงานร่วมกันกับกลุ่มสมาชิกและสาขา (Chapter) ทั่วโลก ทำให้สามารถขับเคลื่อนให้เกิดวิวัฒนาการและความเติบโตของอินเทอร์เน็ตสำหรับทุกคนได้อย่างต่อเนื่อง เว็บไซต์: internetsociety.org

http://www.matichon.co.th/news/362940
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่