* * * * ริโอะ ลูกชาวนา ตอนที่ 1 * * * *



ตั้งชื่อตัวเองว่า “ริโอะ” ทั้งที่ไม่ได้มีเชื้อวงศ์วานว่านเครืออะไรกับญี่ปุ่นหรอกนะคะ ก็แค่นึกสนุกและอยากเสียดสีสังคมเล็กๆ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า จริงๆแล้วไม่ว่าจะเป็นใคร จะยากดีมีจน ชาวไร่ ชาวนา บ้านนอกหรือในเมือง ล้วนแล้วแต่ใฝ่หาความพัฒนาก้าวหน้าไปสู่สิ่งที่คิดว่าศิวิไลซ์กว่าทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่การตั้งชื่อให้ตัวเองในโลกโซเชียลก็ตาม มันคือความพอใจเล็กๆที่สามรถทำได้ง่าย ทำได้ทันที


[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

2-3 วันมานี้ พอได้มีเวลาว่างเข้ามาติดตามอ่านกระทู้ในห้องราชฯ พอดีเจอเรื่องข้าวราคาตกต่ำเป็นกระแส Talk of Rachdamnern และได้อ่านความเห็นที่หลากหลายของเพื่อนสมาชิก ทั้งแนวคิดที่มีผลทางบวกและทางลบต่อชาวนา ฝ่ายหนึ่งสงสารเห็นใจ เข้าใจชาวนา สนับสนุนให้รัฐบาลช่วยเหลือ เพราะสำนึกในบุญคุณที่ชาวนาปลูกข้าว (อาหารหลัก) ให้ได้รับประทาน แต่ก็มีอีกฝ่ายหนึ่ง มีแนวคิดที่ว่า ชาวนาหรือเกษตรกรไทย คือ ภาระของชาติ เพราะคอยแต่จะรอให้ภาครัฐช่วยเหลืออยู่ร่ำไป ทั้งๆที่อาชีพอื่นก็มีที่ขาดทุนเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่เคยที่จะเรียกร้อง เดินขบวน ก่อม็อบ เหมือนชาวเกษตรกร


คุณทวดของริโอะ เป็นขุนนางคนสุดท้ายของยุค (นี่คือเรื่องจริงไม่อิงนิยาย) ดังนั้น เมื่อมีศักดินาเป็น “ท่านขุน” แน่นอนว่า คุณทวดของริโอะ ต้องมีที่นาหลายร้อยไร่ ดังนั้น จึงอย่าแปลกใจว่า ริโอะ เป็นลูกชาวนาจริงๆหรือ ? ทำนาเป็นหรือเปล่า ? รู้เรื่องชาวนาดีแค่ไหน ?
แม้ริโอะจะทำนาไม่เป็น แต่ริโอะ รู้เรื่องการทำนาดีแน่นอน


[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

การทำนาในอดีตจนถึงปัจจุบันนั้น ทำยากมากๆ มีปัจจัยที่เป็นตัวแปรทั้งควบคุมได้และไม่ได้หลายอย่างที่ทำให้ชาวนา “ขาดทุน” มาตลอด
การทำนาในอดีตนั้นต้องใช้แรงงานคนและสัตว์เป็นต้นทุนอันดับแรก ครอบครัวไหนมีลูกหลายคน มีสัตว์เลี้ยงใช้งานอย่างวัวควายช้างม้ามาก และสามารถฝึกฝนได้ ก็ประหยัดต้นทุนด้านกำลังทรัพย์ไปได้มากกว่าคนอื่น แต่ถ้าครอบครัวไหนไม่มี หรือ มีน้อย ก็ขาดทุนมากขึ้น เพราะต้องไปเช่าหรือจ้างจากคนอื่นมาทำ เพราะการทำนานั้น ปัจจัยอย่างหนึ่งของการทำนาคือ เรื่องของดินฟ้าอากาศ ซึ่งควบคุมได้ยาก หากเมื่อถึงเวลาปักดำ หรือแม้กระทั่งเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต ใครที่ล่าช้าไม่ทันฟ้าทันฝน ผลผลิตที่ได้ก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย



การทำนาปี จะเริ่มขึ้นเมื่อปลายเดือนเมษายนหลังสงกรานต์ไปแล้ว การไถดะเพื่อเตรียมดิน พลิกดินที่แน่นแข็งขึ้นมาตากแดดร้อนจัดเพื่อฆ่าเชื้อโรค และให้หญ้าหรือวัชพืชแห้งเหี่ยวตายไปเป็นปุ๋ย ลองคิดดูว่า อากาศร้อนในเดือนเมษา พฤษภา มันทารุณขนาดไหน แต่ก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำก็เท่ากับว่า ไม่ได้เตรียมดินไว้ พอถึงเวลาที่ต้องไถดินเพื่อเตรียมหว่านข้าว หรือปักดำ ก็เท่ากับว่า นาผืนนั้นมีเชื้อโรคมากกว่าคนอื่น มีปุ๋ยอินทรีย์น้อยกว่าคนอื่น

พอเข้าสู่กลางเดือนมิถุนายน ชาวนาก็เริ่มไถแปร เป็นการไถครั้งที่ 2 เพื่อเตรียมปักดำ ช่วงนี้หญ้าที่ไถหงายรากตากแดดไว้เมื่อคราวไถแปรจะเน่าเปื่อยกลายเป็นปุ๋ย ดินที่ไถไว้คราวก่อนก็เริ่มอ่อนและร่วนซุย ชาวนาเตรียมหว่านกล้าไว้ในแปลง ต้นกล้าจะมีอายุราวๆ 30 – 35 วัน จะเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการนำไปปักดำ ถ้าอ่อนหรือแก่ไปกว่านี้ ผลผลิตที่ได้ก็จะลดลง ก็เปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิตทั้งหลายนั่นแหละ คือ อยู่ในช่วงที่เจริญพันธุ์ ดังนั้น ถ้าช่วงนี้ฝนไม่ตกหรือทิ้งช่วงไป ต้นกล้าที่ได้ก็จะไม่สมบูรณ์ หรือหนักเข้าอาจตายไป ชาวนาก็ขาดทุนอีกนั่นแหละ และหากเกิดเหตุการณ์ที่ตรงกันข้ามคือ ฝนตกหนัก น้ำท่วม ก็ยิ่งแย่ไปใหญ่ คือ ขาดทุนเลยโดยไม่ต้องรออะไร



พอมาถึงช่วงเดือนกรกฏา และ สิงหา เป็นช่วงที่ชาวนาจะปักดำ การทำนาปี การปักดำนาต้องอยู่ในช่วง 2 เดือนนี้จะดีที่สุด หรืออย่างช้าต้องไม่เกินต้นเดือนกันยา ไม่เกินวันที่ 7 ถ้าหลังจากนี้ อย่าทำเลยขาดทุนตั้งแต่ไก่ยังไม่ตื่นค่ะ เพราะอะไร เพราะช่วง 2 เดือนนี้จะเป็นช่วงกลางของฤดูฝน ทำให้นามีน้ำเพียงพอหล่อเลี้ยงต้นข้าวและแสงแดดกำลังเหมาะสำหรับการสังเคราะห์แสงของต้นข้าว อากาศก็ไม่ร้อนจัดเกินไปเนื่องจากมีความชื้นที่เพียงพอ ต้นข้าวจะเจริญงอกงามดี

หลังจากดำนาเสร็จช่วงเดือน กันยา ตุลา เป็นช่วงที่ต้นข้าวจะแตกกอและตั้งท้องออกรวง ช่วงนี้น้ำสำหรับหล่อเลี้ยงต้นข้าวต้องมีอย่างเพียงพอ เพราะข้าวเป็นพืชที่ชอบน้ำ ขณะเดียวกัน ข้าวก็มีศัตรูมากมาย ทั้งปูนา หอยเชอรี่ ตั๊กแตน เพลี้ย ที่คอยรบกวน ชาวนาต้องหมั่นดูแลรักษาต้นข้าวในนา การกำจัดศัตรูข้าวพวกนี้ คือต้นทุนทั้งนั้น

ริโอะเคยเห็นนาแปลงหนึ่งของชาวบ้าน ถูกหอยเชอรี่ลงกินภายในไม่กี่วันแทบไม่เหลือตอ ถึงแม้เจ้าของนาจะลงเก็บมาฆ่าทิ้งมากมายก็ไม่ทัน เพราะมันแพร่พันธุ์เร็วมาก น่าสงสารเจ้าของนาเป็นที่สุด สิ่งที่ลงทุนลงแรงไว้ หายวับไปในชั่วข้ามคืน

ช่วงกลางเดือน พฤศจิกา เป็นช่วงที่ข้าวออกรวงและสังเคราะห์สารอาหารมาเก็บไว้ในเมล็ด พอถึงธันวา เป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ช่วงเก็บเกี่ยวนี้ก็เหมือนกัน ต้องทำให้ทันเวลา หากปล่อยให้ข้าวแก่จัดจนเกินไป ลมหนาวพัดแรงต้นข้าวล้ม เมล็ดข้าวร่วง หรือเมล็ดข้าวจะแข็ง เวลาตากแห้งและนำไปสีเป็นข้าวสาร ก็จะแตกหัก กลายเป็นข้าวเกรดต่ำด้อยคุณภาพ แต่หากรีบเก็บเกี่ยวในขณะที่ข้าวยังแก่ไม่เต็มที่ ก็จะกลายเป็นข้าวลีบ มีความชื้นสูง ขายไม่ได้ราคาอีกเหมือนเดิม



ศัตรูข้าวตัวสำคัญช่วงระยะเก็บเกี่ยวนี้คือ นก เมื่อตอนกลางเดือนตุลาที่ริโอะกลับบ้าน เห็นคุณป้าคนหนึ่งมานั่งร้องไห้ปรับทุกข์กับพ่อ ถามไปถามมาได้ข่าวว่า ข้าวที่คุณป้าแกลงไว้ครึ่งทุ่งเป็นข้าวเบา (ข้าวเบาคือข้าวที่ออกรวงและสุกเร็วกว่าฤดูกาลปกติ) ถูกนกกระจอกนาฝูงใหญ่มากๆ มาลงกินเสียหายหมด แม้จะหาวิธีไล่ยังไงก็ต้านไม่ไหว แกก็เลยต้องปล่อยทิ้งไปอย่างน่าเสียดายและเสียใจ คุณป้าแกบอกว่า

“จะให้ป้าไปหาซื้อตาข่ายที่ไหนถึงจะคลุมถึงท้องฟ้าได้ นกมันมีปีกแต่เราไม่มีจะทำยังไง ที่ลงข้าวดอ (ข้าวเบา)ไว้ ก็หวังว่าจะรีบเกี่ยวใช้หนี้ ธกส. เพื่อจะได้กู้ยืมมาใหม่ ลืมคิดไปว่าข้าวดอ มันออกก่อนเพื่อน นกมันมีแหล่งอาหารใหญ่ของมันอยู่ที่เดียว มันก็รุมมาลงอยู่นี่กันหมด เวรกรรมแท้ กะไว้จะใช้หนี้เค้าเพื่อจะลดหนี้ได้บ้างกลับต้องมาเป็นหนี้เพิ่มอีก”

พูดจบคุณป้าแกก็เช็ดน้ำตาป้อยๆ ริโอะก็ได้แต่สงสารและสะเทือนใจไปกับแก ทุกๆวันที่เจอแกผ่านหน้าบ้านไปนา ริโอะก็เคยเห็นแต่รอยยิ้มที่มีความหวังไปกับข้าวในนาที่กำลังสุกปลั่ง ... แต่มาวันนี้ ความหวังนั้นก็สลายไปอย่างรวดเร็ว ..

เห็นมั๊ยคะว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะส่งผลให้ข้าวเจริญงอกงามได้ผลผลิตดีนั้นคือ ธรรมชาติล้วนๆ ซึ่งคงไม่มีชาวนาคนไหนไปสั่งฟ้าให้ร่ม สั่งฝนให้ตก สั่งแดดให้ส่อง สั่งลมให้พัดได้ จริงไหม ?

กระทู้หน้าริโอะจะมาคุยเรื่อง ปุ๋ย ปัญหาเรื่องชาวนากับปุ๋ย

โปรดติดตาม  ริโอะ ลูกชาวนา ตอน 2 ในกระทู้หน้านะคะ

แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 5
เข้ามาปูเสื่อหาความรู้จากริโอะจัง ยอดเยี่ยมไปเลยจ้านู๋นิด โอปป้าโอปป้าโอปป้า

ดีใจที่ได้อ่าน  ได้สัมผัสประสบการณ์ตรงจากลูกหลานชาวนา ภูมิใจจริงๆ มีน้องสาวทั้งสวยทั้งเก่ง ที่สำคัญคือจิตใจดี

โห แค่เริ่มเตรียมดินช่วงเดือนเมษาก็รู้สึกสงสารชาวนาแล้ว กว่าจะได้ข้าวที่เรากินกันนี่ ต้องผ่านหลายขั้นตอนจริงๆ

ประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งโลก สมควรได้รับการยกย่องเป็นครัวของโลก
ประชาชนสมควรกินดีอยู่ดีโดยเฉพาะชาวนา ผู้ปลูกข้าวให้ทุกคนได้กิน

แล้วทำไมชาวนาถึงยากจน ทำไมต้องขายที่ ทำไมต้องไปรับจ้างเขาทำนา
ทำไมต้องมีโอกาสเข้าถึงสวัสดิการหรือการช่วยเหลือน้อยกว่าอาชีพอื่นๆ
หากขาดคอมพิวเตอร์ ขาดโทรศัพท์มือถืออยู่ได้กี่วัน แล้วขาดอาหารอยู่ได้กี่วัน
ทำไมคนที่มีความสำคัญที่สุดถึงได้รับโอกาสน้อยที่สุด

ส่วนหนึ่งเพราะที่ผ่านๆ มาไม่มีใครให้ความสำคัญกับชาวนา ไม่มีใครภูมิใจยกย่องชาวนา มักจะดูถูกด้วยซ้ำ  
ระบบและตลาดค้าข้าวถูกผูกขาดหรือควบคุมโดยนายทุน ก็หวังว่าคงได้เวลาที่เราต้องเปลี่ยนมุมมอง
และมาช่วยกันขับเคลื่อนให้ชาวนาได้มีโอกาส ได้ยกระดับคุณภาพชีวิต และข้าวไทยก็ได้เพิ่มมูลค่า


พี่ฮารุเคยได้แต่ไปสัมภาษณ์ชาวนา และตรวจวัดคุณภาพดินที่ทำนา
เรื่องปุ๋ยนี่เป็นสาเหตุหนึ่งของหลายๆ ปัญหาส่งผลกันไปเป็นลูกโซ่เลย

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

จะรออ่านกระทู้ดีๆ จากริโอะจังตอนต่อๆ ไปนะ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  รัฐบาล การ์ตูนการเมือง
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่