อริยวสสูตร : ตรัสให้สงบระงับการแสวงหาพรหมจรรย์ --- การแสวงหาพรหมจรรย์(พฺรหฺมจริเยสนา) เป็นไฉน ?

ขอกราบไหว้พระรัตนตรัยด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง

----------------------

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖
อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต



อริยวสสูตรที่ ๒
(บางส่วน)


                              [๒๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่นิคมของชาวกุรุ ชื่อกัมมาสธรรม ในแคว้นกุรุ
                              ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว
                              พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
                              ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่อยู่แห่งพระอริยะ ที่พระอริยะอยู่แล้วก็ดี กำลังอยู่ก็ดี จักอยู่ก็ดี ๑๐ ประการนี้
                              ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ

                              ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละองค์ ๕ ได้แล้ว ๑
                              ประกอบด้วยองค์ ๖ ๑
                              รักษาแต่อย่างเดียว ๑
                              มีธรรมเป็นที่พักพิง ๔ ประการ ๑
                              มีปัจเจกสัจจะบรรเทาได้แล้ว ๑
                              มีการแสวงหาอันสละแล้วด้วยดี ๑
                              มีความดำริไม่ขุ่นมัว ๑
                              มีกายสังขารอันสงบระงับแล้ว ๑
                              มีจิตหลุดพ้นแล้วด้วยดี ๑
                              มีปัญญาอันหลุดพ้นแล้วด้วยดี ๑ ฯ
                              ...   ...   ...   ...

                              ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีการแสวงหาอันสละได้แล้วด้วยดีอย่างไร
                              ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละการแสวงหากามได้แล้ว
                              เป็นผู้ละการแสวงหาภพได้แล้ว
                              เป็นผู้สงบระงับการแสวงหาพรหมจรรย์ได้แล้ว
                              ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีการแสวงหาอันสละได้แล้วด้วยดีอย่างนี้แล ฯ
                              ...   ...   ...   ...



เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔  บรรทัดที่ ๗๖๘ - ๘๔๒.  หน้าที่  ๓๔ - ๓๗.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=24&A=768&Z=842&pagebreak=0
อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=24&siri=20
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=20
ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย ได้ที่ :-
[20] http://budsir.mahidol.ac.th/cgi-bin/Budsir.cgi/SearchItem?mode=1&valume=24&item=20&Roman=0






-----------------


ความหมายของคำว่า พรหมจรรย์

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

(๑) พรหมจรรย์ ความหมายตามศัพท์คือ “จริยะอันประเสริฐ”, “การครองชีวิตประเสริฐ”
(๒) ตามที่เข้าใจกันทั่วไป หมายถึงความประพฤติเว้นเมถุน หรือการครองชีวิตดังเช่นการบวชที่ละเว้นเมถุน กล่าวคือไม่ร่วมประเวณีเป็นหลักสำคัญ และตั้งหน้าขัดเกลาจิตให้บริสุทธิ์
(๓) “พรหมจรรย์” เป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกหลักคำสอนของพระองค์เมื่อทรงเริ่มประกาศพระศาสนา พรหมจรรย์จึงหมายถึงตัวพระพุทธศาสนาทั้งหมดนั่นเอง
คัดบางส่วนจากบาลีวันละคำ
โดยนาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย


^
^
^
พรหมจรรย์ มีความหมายดีงาม ทำไมตรัสให้สงบระงับการแสวงหาพรหมจรรย์ ?


ศึกษา พระอภิธรรมปิฎก (และอรรถกถา) เพิ่มเติม ดังนี้

-----------------------------

พระไตรปิฏก เล่มที่ ๓๕  พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๒
วิภังคปกรณ์


             [๙๓๖] เอสนา ๓ เป็นไฉน
             กาเมสนา ภเวสนา พรหมจริเยสนา
             บรรดาเอสนา ๓ นั้น กาเมสนา เป็นไฉน
             ความพอใจในกาม ฯลฯ ความหมกมุ่นในกาม อันใด นี้เรียกว่ากาเมสนา

             ภเวสนา เป็นไฉน
             ความพอใจในภพ ฯลฯ ความหมกมุ่นในภพ อันใด นี้เรียกว่าภเวสนา

             พรหมจริเยสนา เป็นไฉน
             ความเห็นว่าโลกเที่ยง หรือความเห็นว่าโลกไม่เที่ยง ฯลฯ
             สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายจะเกิดอีกก็หามิได้ จะไม่เกิดอีกก็หามิได้ ดังนี้
             ทิฏฐิ ความเห็นไปข้างทิฏฐิ ฯลฯ
             การถือเอาโดยวิปลาส อันใด มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่า พรหมจริเยสนา

             บรรดาเอสนา ๓ นั้น กาเมสนา เป็นไฉน
             ความกำหนัดในกาม กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันเป็นอกุศล ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับความกำหนัดในกามนั้น
             นี้เรียกว่า กาเมสนา

             ภเวสนา เป็นไฉน
             ความกำหนัดในภพ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันเป็นอกุศล ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับความกำหนัดในภพนั้น นี้เรียกว่า ภเวสนา

             ความเห็นว่าโลกมีที่สุด กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันเป็นอกุศล ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับความเห็นว่าโลกมีที่สุดนั้น
             นี้เรียกว่า พรหมจริเยสนา

             เหล่านี้เรียกว่า เอสนา ๓





-------------------

อรรถกถา

เอสนาสูตรที่ ๑
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=298&p=1

               บทว่า พฺรหฺมจริเยสนา ได้แก่ การแสวงหาพรหมจรรย์กล่าวคือมิจฉาทิฏฐิ.     

.    
    
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต
ปฐมวรรค เอสนาสูตรที่ ๑
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=232&p=1

               อรรถกถาปฐมเอสนาสูตร              
               ในปฐมเอสนาสูตรที่ ๕ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               การแสวงหา คือการเสาะหา ได้แก่การค้นหา ชื่อว่า เอสนา. เพื่อจะทรงแสดงการแสวงหาเหล่านั้น โดยจำแนกออกไป จึงตรัสคำมีอาทิว่า กาเมสนา.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาเมสนา คือการแสวงหากามหรือการแสวงหากล่าวคือกาม ชื่อว่ากาเมสนา.
               สมดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า บรรดาเอสนา (การแสวงหา) เหล่านั้น กาเมสนาเป็นไฉน คือ ความพอใจในกาม ความกำหนัดในกาม ความเพลิดเพลินในกาม ความสิเนหาในกาม ความกระวนกระวายในกาม ความสยบในกาม การหยั่งลงสู่กาม ในกามทั้งหลาย นี้เราตถาคตเรียกว่า กาเมสนา.๑-
               เพราะฉะนั้น กามราคะ พึงทราบว่าเป็นกามเอสนา แม้ในภเวสนา (การแสวงหาภพ) ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า บรรดาเอสนาเหล่านั้น ภเวสนาเป็นไฉน ความพอใจในภพ ฯลฯ การหยั่งลงสู่ภพในภพทั้งหลาย อันใด นี้เราตถาคตเรียกว่า ภวเอสนา.๑-
               เพราะฉะนั้น ความกำหนัดในการแสวงหาภพ คือความปรารถนารูปภพและอรูปภพ พึงทราบว่าเป็น ภวเอสนา.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๙๓๖

               การแสวงหาพรหมจรรย์ ชื่อว่า พรหมจริยเอสนา เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า บรรดาเอสนาเหล่านั้น พรหมจริยเอสนา เป็นไฉน ทิฏฐิ ทิฏฐิคตะ รกชัฏคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนามคือทิฏฐิ ความดิ้นรนคือทิฏฐิ สังโยชน์คือทิฏฐิ การถือเอา การรับ การยึดมั่น การลูบคลำ ทางที่ผิด คัลลองที่ผิด ความเห็นผิด ลัทธิ การยึดถือ การแสวงหาที่ผิด ชนิดนี้ใด ว่า
                         ๑. โลกเที่ยง
                         ๒. โลกไม่เที่ยง
                         ๓. โลกมีที่สุด
                         ๔. โลกไม่มีที่สุด
                         ๕. ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น
                         ๖. ชีพเป็นอย่างหนึ่ง สรีระเป็นอย่างหนึ่ง
                         ๗. สัตว์หลังจากตายแล้ว ยังมี
                         ๘. สัตว์หลังจากตายแล้ว ไม่มี
                         ๙. สัตว์หลังจากตายแล้ว มีบ้าง ไม่มีบ้าง
                         ๑๐. สัตว์หลังจากตายแล้ว มีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่
               นี้เราตถาคตเรียกว่า พรหมจริยเอสนา เพราะฉะนั้น การแสวงหาพรหมจรรย์ที่สมมติกันว่าเป็นทิฏฐิ พึงทราบว่า ได้แก่การแสวงหาทิฏฐิพรหมจรรย์ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงราคะและทิฏฐิว่าเป็นเอสนา.
               ก็ไม่ใช่เพียงราคะและทิฏฐิอย่างเดียวที่ทรงแสดงว่าเป็นเอสนา แม้กรรมที่ตั้งอยู่ในที่เดียวกันกับราคะและทิฏฐินั้น ก็ทรงแสดงว่าเป็นเอสนา
               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า
               บรรดาเอสนาเหล่านั้น กามเอสนาคืออะไร? คือ กามราคะ (และ) กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่เป็นอกุศล ตั้งอยู่ในที่อันเดียวกันกับกามราคะ นี้เราตถาคตเรียกว่า กามเอสนา.
               บรรดาเอสนาเหล่านั้น ภวเอสนาคืออะไร? คือ ภวราคะและกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่เป็นอกุศล ตั้งอยู่ในที่อันเดียวกันกับภวราคะนั้น นี้เราตถาคตเรียกว่า ภวเอสนา.
               บรรดาเอสนาเหล่านั้น พรหมจริเยสนาคืออะไร? คือ อันตคาหิกทิฏฐิ (และ) กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่เป็นอกุศล ตั้งอยู่ในที่อันเดียวกับอันตคาหิกทิฏฐินั้น นี้เราตถาคตเรียกว่า พรหมจริเยสนา.๒-
               พึงทราบเอสนา ๓ เหล่านี้ดังพรรณนามานี้.
____________________________
๒- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๙๓๖

               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาทั้งหลายต่อไปนี้
               ธรรมทั้งหลายที่มีอวิชชาเป็นต้น และตัณหาที่เป็นเหตุแห่งการเกิดขึ้นแห่งเอสนา ชื่อว่าสมภโว ในคำว่า สมฺภวํ นี้อธิบายว่า ได้แก่สมุทัย.
               บทว่า ยตฺถ เจตา นิรุชฺฌนฺติ ความว่า พรหมจริยเอสนาย่อมดับไปด้วยปฐมมรรค กามเอสนาย่อมดับไปด้วยอนาคามิมรรค ภวเอสนาย่อมดับไปด้วยอรหัตมรรค.
               พึงทราบตามที่พรรณนามานี้
               บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

               จบอรรถกถาปฐมเอสนาสูตรที่ ๕
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่