เศรษฐกิจพอเพียง หลังแบงค์พัน โดย Ms.Many เเม่มณี



จะ จากไป ใจไทย ยากทนไหว   
จด จำได้ พ่อเป็นหลัก เป็นรากฐาน
จำ ว่าพ่อ พาไทยผ่าน วิกฤตการณ์  
ทำ ให้ผ่าน ภัยพ้น ทุกข์บรรเทา
ตาม ส่งพ่อ แต่ไม่อาจ ข้ามภพฟาก  
คำ พ่อฝาก เก็บไว้ คลายโง่เขลา
สอน ชีวิต จำและทำ กับตัวเรา   
พ่อ จะเฝ้า ดูอยู่ คู่ชาติไทย



“เศรษฐกิจพอเพียง”
เศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง
พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
credit: หลังธนบัตรใบละ 1,000 บาท เเบบที่ 15


     แม่มณีนับว่าเป็นความ Contrast อันสวยงามอย่างยิ่ง ที่มีการอัญเชิญพระราชดำรัสนี้มาไว้บนธนบัตรใบละ 1,000 บาท ธนบัตรที่มูลค่ามากที่สุดของประเทศ อาจมีใครพยายามจะบอกเราว่า “ความร่ำรวย” กับ “ความพอเพียง” ไม่ได้เป็นศัตรูอยู่คนละฟาก แต่อาจเป็นสิ่งเดียวกันเพียงแต่มองจากคนละด้าน
     หลายครั้งที่แม่มณีมักพูดเล่นติดตลกว่าตัวเองเป็น “สายพอเพียง” เพื่อหาคำพูดสวยๆ เวลาที่ตัวเองไม่มีอัฐจะซื้อของราคาแพง แต่เมื่อถึงวันที่เรา “อกตรม อมโศก” พร้อมกันทั้งประเทศ ต้องยอมรับว่าเรา “ทราบ” และ “ซึ้ง” กับพระราชดำรัสของพระองค์ท่านมากกว่าที่เคยเป็นมา ทำให้ได้มาคิดว่า คำว่า “พอเพียง” มีความหมายกว้างขวางไม่ได้ตื้นเขินอย่างที่แม่มณีเคยเข้าใจ
ในฐานะ คนเมือง เฟื่องนคร ผ่อนหลายสิ่ง หนี้บาน งานเยอะ แม่มณีเคยคิดว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ดูจะใกล้เคียงกับประชากรส่วนใหญ่ในประเทศที่เป็นเกษตรกรมากกว่าคนเมืองอย่างเราๆ  ที่จะให้ใช้เงินเพียงพอพ้นๆ ไปในแต่ละเดือนก็ไม่ใช่ว่าจะง่าย ในช่วงเวลามืดมนทั่วประเทศนี้ แม่มณีเลยขอใช้เวลาพิจารณาตัวเองว่าในฐานะคนเมือง เราเดินตามรอยพ่อ “พอเพียง” อย่างไรได้บ้าง อาจไม่ยิ่งใหญ่ ไม่ได้ทำเพื่อสังคม แต่ก็ทำให้ไม่จมกับความเศร้าจนเกินไป

     1.  บริหารทรัพยากร ในหลวงสอนให้วางแผนทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดของเกษตรกร นั่นก็คือ “ที่ดินทำกิน” ไม่ใช่เพื่อรายได้สูงสุดในระยะสั้น แต่ให้สามารถ “อุ้มชูตัวเองได้” ยอมแบ่งที่ดินมาขุดบ่อน้ำตั้ง 1 ใน 3 (30%) เพื่อเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน คนเมืองสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกอย่างเรา ทรัพยากรจำกัดของเราที่สำคัญคืออะไร แม่มณีคิดออกสองอย่างใหญ่ๆ คือ “เวลา” และ “เงิน” ทรัพยากรอัน “สำคัญยิ่ง” และ “มีจำกัด” ถ้าเป็นอัฐ นี่ต้องใช้คำว่า “จำกัดจำเขี่ย” แต่มันหมดสมัยจะมาตะแบงว่า “เงินไม่พอใช้ ธุระอะไรมาวางแผน” อย่างน้อยการวางแผนก็ทำให้เรารู้ว่ามีรายได้น้อยเกินไป ต้องหารายได้เพิ่มเป็นแน่แท้ ถ้าจะแก้ก็ต้องเริ่มจากยอมรับความจริง ส่วน “เวลา” ของเรานั้นยิ่งกว่า แม่มณีนั้นบริหารได้อย่างบ้าคลั่ง วันๆ นั่งเล่นแต่มือถือ ไม่ได้ใกล้กับการทำให้พึ่งพาตัวเองได้เลยสักนิด T_T

     2.  ดูแลตัวเองให้ได้ทุกสถานการณ์ อุ้มชูตัวเองได้ ต้องได้ทุกเมื่อ ไม่ใช่วันนี้อุ้มชูตัวเองได้ วันไหนฉุกเฉินกลับไปยืมเงินแม่มาช่วยอุ้มชู มันก็คงจะไม่ใช่ว่าพอเพียง การจัดการความเสี่ยงก็เป็นเรื่องที่สำคัญ

     3.  ประหยัดซะบ้าง คนเมืองรายจ่ายมากมาย หลายอย่างก็ลดได้ แต่เราไม่ตั้งใจมากพอ กินข้าวนอกบ้านหนึ่งมื้อใช้อัฐมากกว่าทำกับข้าวกินเองทั้งวัน ปลูกผักกินเองบ้างได้ทั้งประหยัดตังค์​ทั้งปลอดสารพิษ ลองเช็คเฟสตัวเองบ้าง บางทีก็อาจจะได้คิดว่าชีวิตมีรายจ่ายไร้สาระเยอะเกินไปจริง ๆ

     4.  แทบจะไม่เหลือทิ้ง ชาวบ้านทำเกษตรแบบพอเพียง ปลูกผัก ผักเหลือให้ไก่ ขี้ไก่ให้ปลา หมุนไปหมุนมาแทบจะไม่เหลือทิ้ง คนเมืองอย่างเราถ้าคิดจริง ๆ ทิ้งซะเป็นส่วนใหญ่ กลับมาเช็คบ้านใหม่ว่าอะไรวนใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าได้ จะได้ไม่ต้องเสียไปไร้ค่า

     5.  ถ้าต้องสร้างรายจ่ายระยะยาว ก็ควรจะสร้างรายได้ระยะยาวบ้าง ชาวเมืองอย่างเราสร้างหนี้กันง่ายดายเพราะเรามี “เครดิต” ความน่าเชื่อถือทางการเงินบางทีก็เป็นมิตรกับ “หนี้สิน” แต่จะให้ไม่มีหนี้ พอมีพอกิน บางครั้งก็ยากในสังคมเมือง ซื้อบ้านซื้อรถกว่าจะปลดหนี้หมดก็เกือบเกษียณ ถ้างั๊นเราลองเพิ่มรายได้ระยะยาวดูบ้าง การลงทุนหลายๆ อย่างสร้างรายได้ระยะยาวจนถึงเกษียณเหมือนกัน ลองดูบ้างให้รายได้จากการลงทุนวิ่งตามหนี้สินเหมือนเต่ากับกระต่าย รายได้อาจวิ่งไม่ไวแต่ความสม่ำเสมอจะทำให้สุดท้ายถึงเส้นชัยเหมือนกัน เดี๋ยวนี้แค่หลักพันก็ซื้อกองทุนรวมได้แล้ว

แล้วเศรษฐกิจพอเพียง ในแบบที่คุณท่านๆ นำมาใช้ เป็นอย่างไรกันบ้าง ลองนำมาใช้แล้วเราก็จะรู้ว่า “คำสอนของพ่อ” ไม่เคยไปไหน ถ้าเรา “จดจำ” และ “ทำตาม” ในหลวงก็จะยังคงอยู่ในใจเราเสมอ โชคดีแค่ไหนที่เราคนไทย เคยมี และ จะมีพระองค์ท่านเป็นหลักในการใช้ชีวิตตลอดไป
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่