บทสัมภาษณ์ "คุณอภิศิลป์ ตรุงกานนท์" จาก ประชาชาติธุรกิจ : 20 ปี "พันทิปดอตคอม" "เปลี่ยนก่อนโดนบังคับให้เปลี่ยน"


คุณสมบัติอย่างหนึ่งของทั้งเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เหมือนกัน คือ "เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว" จึงไม่ง่ายที่เว็บไซต์หนึ่งจะยืนหยัดคงอยู่ด้วยยอดผู้เข้าชมหลักแสนหลักล้านคนมากว่า 20 ปี แต่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมาคือวันครบรอบ 20 ปี ppantip.com เว็บบอร์ดเปิดตัวตั้งแต่ยุคอินเทอร์เน็ตเพิ่งเข้ามาในไทย พาคุยกับ "อภิศิลป์ ตรุงกานนท์"ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีเว็บไซต์พันทิป

- 20 ปีอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

สมัยนี้เล่นได้ทุกที่ทุกเวลา เพราะมือถือเราต่ออินเทอร์เน็ตได้แล้ว เมื่อก่อนจะต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เท่านั้น ต้องลุ้นว่าโมเด็มจะต่อติดหรือไม่ ทำให้สมัยนี้คนออนไลน์เยอะขึ้น เสพคอนเทนต์บนออนไลน์เยอะกว่าเมื่อก่อนเลยทำให้ผู้ใช้พันทิปเยอะขึ้น จากที่สมาร์ทโฟนยังไม่เป็นที่นิยม 3G-4G ยังไม่บูมขนาดนี้ คนเข้าเว็บไม่ถึงล้านคน แต่ตอนนี้มีคนเข้าพันทิปราว 4.2 ล้านคนและมาจากมือถือถึง 66%

- ต้องแข่งกับเฟซบุ๊ก

เราเหมือนพื้นที่ให้คนมาแชร์ความรู้กัน มีคำตอบให้กับคำถาม แต่เฟซบุ๊กหรือโซเชียลอื่น ๆ คนเข้าไปคืออยากไปคุยกับเพื่อน ไม่ได้ไปหาคำตอบ ซึ่งในพันทิปก็จะเป็นคำตอบที่หลากหลายมาก

- ถ้าหาคำตอบใช้กูเกิลก็ได้

เราก็จะพัฒนาเสิร์ชเอ็นจิ้นให้ดีขึ้นอีก เพื่อให้ค้นกระทู้ในพันทิปได้ดีขึ้น และยังมีความเป็นคอมมิวนิตี้วิชั่นของเราจากนี้พันทิปจะเป็นเว็บไซต์ที่มีคำตอบที่น่าเชื่อถือให้กับทุกคำถามของคนไทย เพิ่มคำถามที่ดี เพิ่มคำตอบที่ดี เพิ่มช่องทางเข้าถึงพันทิปให้มากขึ้น ด้วยจุดแข็งคือฐานข้อมูลความรู้คำตอบที่ใหญ่มาก ซึ่งสะสมมากว่า 20 ปี

จากนี้จะทยอยเปิดตัว 4 ฟังก์ชั่นใหม่ ได้แก่ Expert Account ที่จะเชิญผู้เชี่ยวชาญมาตอบคำถาม ตรงนี้ไม่ต้องใช้เงินลงทุนอะไรมาก คาดว่าสิ้นปีจะเปิดตัวได้ Ask Me Anything กระตุ้นให้คนตั้งคำถามแล้วเราจะไปเชิญบุคคลที่คนอยากถามมานั่งตอบทุกข้อสงสัย นี่ก็ไม่ต้องลงทุนมากเช่นกัน น่าจะไม่เกินไตรมาส 1 ปีหน้าจะได้เห็น Machine Learning จะเป็นระบบที่จะเรียนรู้ว่าแต่ละคนสนใจกระทู้แบบไหนเพื่อที่จะฟีดกระทู้แบบนั้นให้เขาอ่านได้ น่าจะลงทุนหลักล้านบาทใช้เวลาพัฒนาระบบอีกราว 1-2 ปีก่อนจะเปิดใช้ ส่วน Chat Bot จะเป็นระบบเสิร์ชที่จะทำให้คนใช้งานโซเชียลค้นหาข้อมูล แล้วเราส่งกระทู้พันทิปไปให้ได้ ตรงนี้ก็ลงทุนหลักล้านบาทน่าจะได้เห็นราวปลายปีนี้

- ความรู้ผิด ๆ-ข่าวลือจะสกัดอย่างไร

เมื่อคนเข้ามาอ่านเข้ามาตอบเยอะ ๆ มันจะบาลานซ์กันเอง มีการโต้แย้งถกเถียงกัน แล้วคนเดี๋ยวนี้ เขาเอ๊ะ ! มากขึ้น คือตั้งข้อสังเกต สงสัย ไม่ใช่เชื่อไปซะหมด ตรงนี้เป็นพัฒนาการของคนใช้อินเทอร์เน็ตที่เห็นชัดขึ้น

ส่วนเรื่องข่าวลือ หรือการปั่นหุ้น เราก็มีทีมคอยมอนิเตอร์อยู่ตลอด รวมถึงประสานกับ ก.ล.ต.อยู่ด้วย ถ้ากระทู้ไหนหมิ่นเหม่เราก็เอาออก พวกหมิ่นประมาทการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลก็เหมือนกัน มีทีมมอนิเตอร์ 10 คนทำงานกันหนักขึ้น คอยดูเกือบตลอด 24 ชั่วโมง เพราะเรากังวลเรื่อง Cyber-bullying การล่าแม่มด คือถ้ามีการเอาข้อมูลส่วนตัวมาเปิดเผยเราจะลบทันที แล้วก็จะคอยมอนิเตอร์ในกระทู้ที่คนอ่านเยอะ ดูในประเด็นที่เซนซิทีฟมาก ๆ อย่างเคสหุ้นตกเมื่อวันก่อน แล้วยังมีซอฟต์แวร์คอยตรวจจับพวกคำหยาบ และก็มีสมาชิกคอยแจ้งมา หน้าที่ของทีมดูแลกระทู้ คือ ขจัดสิ่งกีดขวางการมีส่วนร่วมของสมาชิก การดูแลบรรยากาศของคอมมิวนิตี้

- ให้ความสำคัญกับบรรยากาศ

ใช่ ทุกครั้งที่จะพัฒนาอะไรจะคิดถึงจุดนี้ก่อน อย่างการที่ยังไม่เพิ่มตำแหน่งโฆษณาในเว็บก็เพราะเรื่องนี้ หรือเมื่อ 5 ปีก่อนที่ปรับปรุงใหญ่ โจทย์หลักคือต้องยึดสีเดิม อาจจะปรับโค้ดสีบ้าง แต่ต้องปรับในระดับที่สมาชิกต้องไม่บ่น เพื่อฟีลลิ่งในการใช้งาน

- มีปัญหาคดีความเยอะ

มีเยอะขึ้น เป็นแนวคอมเพลนแบรนด์สินค้า-บริการ ซึ่งเราจะพยายามให้แบรนด์เข้ามาตอบกระทู้มากกว่าจะลบ ถ้าแบรนด์มีปัญหา ก็จะถามไปยังคนตั้งกระทู้เพื่อดูว่ามีตัวตนจริงไหมและพร้อมจะไปต่อไหม ถ้าเขายืนยันมีหลักฐานชัดเจนเราก็พร้อมจะไปด้วยกัน แต่ส่วนใหญ่ก็จะไกล่เกลี่ยกันได้ มีไปถึงขั้นศาลจริง ๆ ไม่กี่คดี ยังอยู่ในโควตา 3 คดีต่อปีที่คุณวันฉัตร (ผู้ก่อตั้งเว็บ) เคยบอกไว้

- ภาพลักษณ์ด้านการเมืองหายไปเยอะ

ด้วยสถานการณ์สมาชิกเขารู้เองว่า อะไรคุยได้คุยไม่ได้ เราเองก็คอยมอนิเตอร์บรรยากาศด้วยส่วนหนึ่ง แต่ยืนยันว่า ตอนรัฐประหารไม่ได้มีคำสั่งปิดพันทิป แต่เราปิดตัวเองเพื่อไม่ให้เป็นช่องทางนัดคนออกไปตาย

- เว็บรุ่นเดียวกันล้มหายตายจาก-ถูกซื้อ

ถ้ามองในตัวบริษัทก็คือ ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ยังไปได้ มีคุณค่ากับคน ก็ไม่มีเหตุผลที่เราจะปิดมัน นอกจากเราจะเจ๊งเสียก่อน แล้วเหตุผลที่ไม่ขายเว็บ แม้จะมีคนมาขอซื้อ เพราะมองว่าพันทิปเป็นซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งที่เก็บความรู้ข้อมูลเอาไว้ หัวใจของพันทิปคือความรู้ของคนไทยที่เข้ามาตอบหรือตั้งกระทู้ การจะไปขายความรู้คนอื่นก็รู้สึกแปลก ๆ

- ไม่เคยขาดทุนเลย

3 ปีแรกไม่มีรายได้เลย จนยุคดอตคอมบูมถึงเริ่มขายโฆษณาได้ จากนั้นก็ไม่เคยขาดทุนเลย เราโตแบบออร์แกนิกและคอนเซอร์เวทีฟ คือจะไม่ใช้เงินเกินตัว ไม่มีการขายหุ้น ไม่มีการกู้ เพื่อจะเอาเงินทุนเข้ามา ไม่มีแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

ถ้าเป็นช่วงที่ดาวน์ที่สุด คงเป็นช่วงปีที่ 15 ก็ไม่อยากเรียกว่าดาวน์ แต่เป็นช่วงที่เฟซบุ๊กเฟื่องฟู แล้วพันทิปก็ไม่มีอะไรใหม่มาสิบกว่าปี ทำให้เริ่มหมดเสน่ห์ เลยเริ่มปรับเป็นพันทิป 3G ก็มีชีวิตชีวาฟื้นกลับขึ้นมา รับกับยุคสมาร์ทโฟนพอดี และได้รื้ออินฟราสตรักเจอร์ให้รับข้อมูลได้มากขึ้นด้วย

รายได้ปี 2558 อยู่ที่ 115 ล้านบาท เพิ่มจาก 5 ปีก่อน 44% โดยรายได้หลักราว 90% มาจากโฆษณา มาจากห้องรัชดา โต๊ะเครื่องแป้ง ห้องบลูแพลนเน็ตเป็นหลัก แต่จะเริ่มมีรายได้ใหม่ อย่างการจัดกิจกรรมจาก Advertorial ที่แบรนด์จะให้พันทิปรีวิวสินค้าให้ จากระบบ API ที่จะเปิดให้แบรนด์ปลั๊กอินระบบเพื่อดูว่าแบรนด์ตัวเองกำลังถูกพูดถึงอย่างไร ส่วนปีนี้ก็คงเท่า ๆ เดิม เพิ่มขึ้นได้ 1-2% ก็เก่งแล้วด้วยภาวะเศรษฐกิจ

- จะมีอะไรใหม่ ๆ จากนี้

มีเว็บใหม่ ยังบอกชื่อไม่ได้ แต่จะเป็นโมเดลหารายได้ให้กับนักเขียน ต่อยอดจาก Bloggang ที่มีอยู่ เชื่อว่าคนไทยพร้อมจะจ่ายเงินเพื่ออ่านคอนเทนต์ที่มีคุณค่าและกำลังมองว่าจะเปิดห้องใหม่ในพันทิปสำหรับผู้สูงวัยให้สมาชิกกลุ่มที่โตมากับเรา

แต่ที่สำคัญและตั้งใจไว้ว่าจะต้องเร่งให้ได้ข้อสรุปภายในกลางปีหน้า คือการปรับโครงสร้างองค์กรภายในของพันทิปเอง คือโครงสร้างเดิมไม่ได้มีปัญหาอะไร พนักงานเรา 90 กว่าคนแฮปปี้ดี เทิร์นโอเวอร์ต่ำมาก แต่เมื่อเราอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ทุกอย่างหมุนเร็วเปลี่ยนเร็ว ถ้าเราไม่ปรับโครงสร้างให้เอื้อต่อการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เราก็อาจจะตายได้ไม่ช้า ทุกวันนี้สตาร์ตอัพก็เกิดขึ้นมากมาย ไอเดียที่จะคิดหานวัตกรรมที่จะตอบคำถามให้กับมนุษยชาติได้ ผมว่ามันเจ๋งนะ ท้าทายที่จะทำ

ฉะนั้น เราต้องตั้งคำถามตัวเองว่าจะฆ่าพันทิปยังไง ก่อนที่คนอื่นจะมาฆ่าเรา ในปีหน้าผมก็ต้องมีของใหม่มาฆ่าตัวเองไปเรื่อย ๆ (หัวเราะ)

- พันทิปภายใต้คุณวันฉัตร-อภิศิลป์ต่างกันอย่างไร

โดยแก่นแนวคิดเหมือนกัน มีเป้าหมายให้พันทิปเป็นที่แชร์ความรู้เหมือนกัน แต่อาจจะต่างกันตรงที่ผมจะกล้าได้กล้าเสีย อยากจะลองสิ่งใหม่ ๆ เยอะขึ้น กล้าที่จะผิดเยอะขึ้น

บทสัมภาษณ์จาก : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1476652170
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่