ปัจจัยต่างๆ สำหรับการเลือกใช้อินเทอร์เน็ตสำหรับองค์กรหรือบริษัท

สวัสดีครับ
พอดีช่วงที่ผ่านมากำลังเขียนเรื่อง MPLS กับ Carrier Ethernet 2.0 แต่บังเอิญมีหลายท่านสอบถามเข้ามาเรื่องการทำ Link ระหว่าง HQ กับสาขา ว่าใช้แบบไหนดีระหว่าง Leased Circuit , FTTx Fixed IP หรือ Wireless P2P, P2MP ดีมั้ย ผมก็เลยขออนุญาตให้ข้อมูลเบื้องต้นไว้เพื่อประกอบการตัดสินใจกันก่อนครับ

การเลือกว่าองค์กรหรือบริษัทของเราควรใช้อินเทอร์เน็ตแบบใดจึงจะเหมาะสม ทั้งในด้านงบประมาณและประสิทธิภาพนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักๆ ดังนี้ครับ

1. ลักษณะและประเภทการใช้งาน
2. พื้นที่และข้อจำกัดในการเลือกใช้บริการ


1. ลักษณะและประเภทการใช้งาน

การใช้งานอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันต้องการความเร็วมากกว่าก่อนมาก เนื่องจาก software หรือ application ต่างๆ ต้องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนที่ส่งข้อมูลแบบ Intranet หรือผ่านแค่วง LAN รวมไปถึงการทำ conference ก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้น แม้แต่งานในส่วนของ Back Office ที่เคยเป็นระบบปิดก็เริ่มมีความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นด้วยเช่นกัน อีกทั้งราคาแบนด์วิดธ์ต่อ Mbps เริ่มถูกลง ทำให้บริษัทขนาด SMEs สามารถตัดสินใจในการเลือกใช้อินเทอร์เน็ตได้มากขึ้นด้วย เนื่องจาก software หรือ application หลายๆ ตัวก็ไม่ต้องพึ่งพาการใช้ server ภายในองค์กรเหมือนเมื่อก่อน เช่นพวก Outlook, MS Office หรือแม้กระทั่งโปรแกรมบัญชีหลายๆ ตัวก็หันมาใช้ cloud app. กันมากขึ้น ความต้องการใช้ Public IP หรือ Static IP ก็ลดลงไป ดังนั้นการจะเลือกใช้อินเทอร์เน็ตประเภทใดจึงจะคุ้มค่าและได้ประสิทธิภาพสูงสุดจึงเป็นเรื่องที่องค์กรหรือบริษัทหลายๆ แห่งต้องทำการพิจารณา หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานภายในองค์กรด้วยเช่นกันครับ

2. พื้นที่และข้อจำกัดในการเลือกใช้บริการ
หากองค์กรหรือบริษัทที่มีพื้นที่หรืออาคารเป็นของตนเอง ย่อมสะดวกในการเลือกใช้บริการอินเทอร์เน็ตได้หลากหลายรูปแบบ รวมถึงการติดตั้ง Wireless ด้วยเช่นกัน ต่างจากออฟฟิศเช่าที่มีข้อจำกัดของประเภทการให้บริการรวมไปถึงราคาค่าบริการด้วย ซึ่งมักจะพบในออฟฟิศเช่าที่เป็นอาคารสูงต่างๆ ทั่วไป ดังนั้นบริษัทเหล่านั้นจึงต้องพิจารณาความคุ้มค่าในการใช้บริการอินเทร์เน็ตด้วยเช่นกัน
***สำหรับกระทู้นี้ผมขออนุญาตข้ามออฟฟิศเช่าตามอาคารสูงไปก่อนนะครับ เพราะมีข้อจำกัดเรื่องการให้บริการภายในอาคารค่อนข้างเยอะ แต่ทั้งนี้ Service ประเภทต่างๆ ก็จะเหมือนๆ หรือคล้ายๆ กันขึ้นอยู่กับแต่ละอาคาร

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจเลือกใช้อินเทอร์เน็ตแบบต่างๆ

การตัดสินใจเลือกใช้บริการอินเทอร์เน็ตสำหรับองค์กรหรือบริษัท จะมีปัจจัยหลักๆ ที่เป็นตัวแปรดังนี้:
-    Software หรือ Application รวมถึง Service และ Server ต่างๆ ที่ใช้งานในองค์กร
-    จำนวน User ภายในองค์กรหรือบริษัท
-    ลักษณะและประเภทการใช้งานอินเทอร์เน็ต

ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการคำนวณ ทั้งในส่วนของ Bandwidth รวม ประเภทของอินเทอร์เน็ต งบประมาณของบริษัท ดังนั้นผมจะแยกแต่ละปัจจัยออกมาดังนี้ครับ  

ส่วนของ Software และ Application รวมถึง Service และ Server ต่างๆ ที่ใช้งานในองค์กร

- Software และ Application ที่ใช้งานทั้งหมด มีความต้องการ Bandwidth รวมเท่าไหร่  ให้ Traffic Monitor เพื่อดูค่าเฉลี่ย Throughput ที่ได้ออกมา โดยอาจคำนวณเฉพาะในวง LAN ภายในก่อนก็ได้จะได้ไม่กระทบการทำงานหลัก
- มี Server หรืออุปกรณ์ตัวใดต้องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอด 24/7 หรือไม่ ถ้ามีใช้ Bandwidth เท่าไหร่ (เอาค่าเฉลี่ยเป็น Throughput เช่นกัน) เชื่อมต่อกับ Server หรือ Workstation ของสาขา หรือให้ User ตามสาขาเชื่อมมาที่ Server กลาง/Server เชื่อมกับ Co-Location ด้วยหรือไม่ หรือใช้ Virtual Private Server (Cloud)
- มีการทำ VPN ด้วยหรือไม่ ถ้ามีการทำ VPN ใช้ Bandwidth เท่าไหร่  
- มีการทำ QoS ด้วยหรือไม่ ทั้งในส่วนของ VIP User หรือ Software หรือ Application บางตัวที่ต้องให้ Priority ก่อน
- หากบริษัทมีสาขา มีการกำหนดการสิทธิ์ในการออกอินเทอร์เน็ตหรือไม่ อย่างไร กำหนด Policy ให้ User มาออกอินเทอร์เน็ตที่ HQ อย่างเดียว หรือสามารถออกเองได้จากสาขาเลย จำกัด Bandwidth / User หรือไม่

ลักษณะและประเภทการใช้งานอินเทอร์เน็ต

การใช้งานอินเทอร์เน็ตในองค์กรหรือบริษัทแบ่งออกเป็นสองแบบหลักๆ คือ
1.    ใช้งานเฉพาะในเวลางาน
2.    ใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง

บางบริษัทต้องการใช้อินเทอร์เน็ตเฉพาะในเวลางาน เลิกงานต่างคนต่างกลับบ้านก็ไม่ได้ใช้แล้ว แต่บางบริษัทก็จะต้องมีการเชื่อมต่อ 24 ชั่วโมง เช่นบริษัทที่ต้อง Upload งานไปต่างประเทศ ซึ่งมักหลีกเลี่ยงช่วงเวลาทำงานเพื่อไม่ให้กระทบการทำงานระหว่างวัน หรือ Server บริษัทที่ต้องส่งข้อมูลไปไว้ที่ Co-Location หรือ Hosting ที่ฝากไว้ แม้กระทั่งการให้ User ทำการ Remote เข้ามายังบริษัทเพื่อทำงานเป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบในการเลือกใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วยเช่นกัน
เมื่อได้ข้อมูลตามที่ผมแนะนำแล้วลองเอามาดูนะครับว่าเราต้องใช้วงจรไหนหรือการเชื่อมต่อแบบใด ถึงจะเหมาะสมที่สุด

- เชื่อมต่อด้วย Fiber Optic (Layer 2, 3) ทั้ง HQ และสาขา
- เชื่อมต่อด้วย Fiber Optic ที่ HQ ส่วนปลายทางเป็น xDSL, FTTx หรือ Leased Line สายทองแดงอื่นๆ ที่ไม่ต้องการความเร็วสูง
- FTTx แบบ Fixed IP หรือ VDSL Fixed IP
- เชื่อมต่อด้วย Wireless P2P หรือ P2MP

รายละเอียดเปรียบเทียบการเชื่อมต่อแบบต่างๆ  

การเชื่อมต่อแบบ Fiber Optic ทั้ง HQ และสาขา

เหมาะกับองค์กรหรือบริษัทที่ต้องการใช้ Bandwidth มากกว่า 10Mbps (Throughput) ต้องการใช้ Public IP มากกว่า 1 IP สำหรับ Server หรืออุปกรณ์บางประเภท รวมถึงการออกแบบให้ User สามารถออกอินเทอร์เน็ตได้ทั้งในส่วน HQ และสาขา โดยอาจตั้ง policy ให้มาออกอินเทอร์เน็ตที่ HQ ที่เดียวเพื่อประหยัดงบประมาณพวก Firewall, Antivirus, Server, etc. และใช้งาน VPN ควบคู่ รวมถึงพวก Conference ต่างๆ มี Software หรือ Application ทำงานตลอดเวลา และต้องการเชื่อมต่อระหว่าง Server ของบริษัทกับ Hosting หรือ Co-Location ตลอด 24 ชั่วโมง

ในส่วนการขอเช่าบริการจาก ISP แนะนำว่าควรใช้เป็น Link แบบ Layer 2 ถ้างบประมาณเพียงพอ (ซึ่งจริงๆ ก็ราคาพอๆ กัน) เพื่อความสะดวกในการวิเคราะห์ปัญหาหากเกิด Downtime ซึ่งสามารถสอบถามจาก ISP ได้

นอกจากนี้ ก่อนขอใช้บริการควรให้ข้อมูลกับ ISP เกี่ยวกับ Software หรือ Firewall รวมถึง VPN หรือ Policy ต่างๆ ที่ใช้งานหรือกำหนดอยู่ด้วยเพื่อทางเจ้าหน้าที่ของ ISP อาจมีคำแนะนำที่เหมาะสมกับบริษัทของเรา รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ IT ของบริษัทเองควรศึกษารายละเอียดต่างๆ ของ Router ที่ ISP นำมาติดตั้งด้วย เพื่อจะสามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพของวงจรที่เช่ามา
การใช้งานประเภทนี้ ค่าบริการจะสูงที่สุดเมื่อเทียบกับการขอใช้บริการแบบอื่น เนื่องจากวงจรทุกเส้นจะมี SLA หรือการรับประกันคุณภาพ รวมถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆ จะได้รับบริการก่อน (ส่วนใหญ่ SLA หรือ Uptime จะไม่น้อยกว่า 99.9%) และมีการให้ส่วนลดหรือคืนเงินหาก ISP ไม่สามารถให้บริการได้ตามที่กำหนดไว้

ข้อจำกัด
เนื่องจากวงจรเชื่อมต่อแต่ละวงจรมีราคาค่อนข้างสูง อาจไม่สามารถทำการเชื่อมต่อแบบ Star Network หรือ Mesh Network ได้ หรืออาจไม่สามารถทำ Aggregate Link หรือ Fail Over ได้เนื่องจากงบประมาณจำกัด จึงควรพิจารณางบประมาณให้เหมาะสมก่อนตัดสินใจ

ภาพการเชื่อมต่อแบบ MPLS-to-HQ Multisite ทั้งในและต่างประเทศออกอินเทอร์เน็ตเฉพาะ HQ

***รูปนี้ผมวาดไว้เมื่อเกือบสิบปีแล้วนะครับ จะเห็นว่า bandwidth ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากสมัยนั้น MPLS กับ IG ราคาสูงมาก

ภาพตัวการเชื่อมต่อแบบ VPN Tunnel


ภาพตัวอย่างการเชื่อมต่อเน็ตเวิร์คแบบต่างๆ ท้ัง LAN และ WAN


การเชื่อมต่อแบบ HQ เป็น Fiber Optic ปลายทางเป็นวงจร FTTx, xDSL, Leased Line สายทองแดงหรือลิงค์ขนาดเล็ก ที่ไม่ต้องการความเร็วสูง

การเชื่อมต่อแบบนี้จะประหยัดงบประมาณในภาพรวม เหมาะกับบริษัทที่มีสาขาย่อยเป็นหน้าร้าน เช่นร้านสะดวกซื้อต่างๆ โรงแรมที่มีหลายสาขาทั่วประเทศเป็นต้น เนื่องจาก Software หรือ Application ของบริษัทมีความต้องการปริมาณ Bandwidth ในการใช้งานไม่มาก และทำการรับ-ส่งเฉพาะข้อมูลภายในองค์กรเท่านั้น ไม่เน้นออกอินเทอร์เน็ตที่สาขา เป็นต้น โดยอาจมีโปรแกรมจำพวก POS หรือ ERP ใช้งานเท่านั้น

ข้อดีของการเชื่อมต่อแบบนี้คือ หากวงจรหลักที่ HQ เกิด Down หรือขัดข้อง และมีการออกแบบวงจรเชื่อมต่อแบบ Star Network หรือ Mesh Network สาขาแต่ละสาขาอาจยังสามารถติดต่อกันได้ในขณะเกิดปัญหา เนื่องจากไม่ต้องเชื่อมมายัง HQ เพื่อ Route ไปยังอีกสาขาหนึ่ง และสามารถลด Traffic ของ HQ ได้ในกรณีที่สาขาต้องการรับ-ส่งข้อมูลระหว่างกันในปริมาณไม่มากนัก จะได้ไม่เป็นภาระ Load Traffic ที่ HQ

ข้อเสียคือ หากเลือกใช้งานแบบ FTTx หรือ xDSL ที่สาขาแล้วมีปัญหาวงจรล่ม การแก้ไขอาจใช้เวลามากกว่าวงจรแบบ Leased Line
โดยส่วนใหญ่ที่เคยพบ การติดตั้งอินเทอร์เน็ตตามสาขาอาจมีวงจร FTTx หรือ xDSL จำนวน 2 วงจรแล้วทำ Aggregate หรือ Fail Over เพื่อให้สามารถทำ Backup Link ได้โดยใช้งบประมาณต่ำ นอกจากนั้นยังสามารถให้สาขาออกอินเทอร์เน็ตได้เอง โดยไม่ต้องมาใช้ Bandwidth จาก HQ (แล้วแต่การกำหนด policy ของแต่ละบริษัท)

ภาพการเชื่อมต่อแบบ Leased Circuit ที่ HQ และปลายทางเป็น FTTx หรือ xDSL (Point-to-Multipoint)


.....ต่อด้านล่าง "การเชื่อมต่อแบบ FTTx Fixed IP หรือ VDSL Fixed IP" และ "การเชื่อมต่อด้วย Wireless แบบ P2P หรือ P2MP "
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่