ก-ฮ ชอบเสนอสรรพสำเนียงเสียงไทย

เลิกพูดกันทีว่าบาลีไม่ใช่ภาษา !

---------------------------------

ได้อ่านข้อความที่ญาติมิตรบางท่านปรารภเป็นทำนองว่า “บาลีไม่ใช่ภาษา” ทีแรกก็เข้าใจว่าพูดเพื่อความครึกครื้น แต่อ่านไปอ่านมา รู้สึกว่าจะพูดด้วยความเข้าใจเช่นนั้นจริงๆ-คือเข้าใจว่า บาลีไม่ใช่ภาษา เอาจริงๆ

ก็เลยคิดว่า น่าจะต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้กันอีกที

“ทำความเข้าใจเรื่องนี้กันอีกที” แปลว่าได้เคยมีคนพูดเรื่องนี้กันมาแล้ว

ผมจำได้ว่า นานมาแล้วเคยมีการอภิปรายที่ไหนสักแห่ง จะเป็นเพราะสงสัยอะไรกันขึ้นมาก็ไม่ทราบ จึงพูดกันว่า บาลีเป็นภาษาหรือไม่

ดูเหมือนจะมีการยกงานวิจัยของฝรั่งหรือของนักวิชาการที่ไหนสักคนมาอ้างกันว่า บาลีไม่ใช่ภาษา

เขาใช้อะไรเป็นเกณฑ์พิจารณาก็ลืมไปแล้ว แต่ฟังกันแล้วก็มีคนเห็นด้วยอยู่เหมือนกัน

แล้วก็เลยมีคนจำเอามาพูดกันต่อมาว่า บาลีไม่ใช่ภาษา

-----------------

เบื้องต้นนี้มาจำกัดความกันก่อนว่า “บาลี” ที่จะพูดกันนี้หมายถึงอะไร

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า -

บาลี :

1. “ภาษาอันรักษาไว้ซึ่งพุทธพจน์”, ภาษาที่ใช้ทรงจำและจารึกรักษาพุทธพจน์แต่เดิมมา อันเป็นหลักในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ถือกันว่าได้แก่ภาษามคธ

2. พระพุทธวจนะ ซึ่งพระสังคีติกาจารย์รวบรวมไว้ คือ พระธรรมวินัยที่พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ประชุมกันรวบรวมจัดสรรให้เป็นหมวดหมู่ในคราวปฐมสังคายนา และรักษาไว้ด้วยภาษาบาลี สืบต่อกันมาในรูปที่เรียกว่าพระไตรปิฎก อันเป็นคัมภีร์พระพุทธศาสนาต้นเดิม ที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนาเถรวาท, พุทธพจน์, ข้อความที่มาในพระไตรปิฎก;

ในการศึกษาพระพุทธศาสนา มีประเพณีที่ปฏิบัติกันมาในเมืองไทย ให้แยกคำว่า “บาลี” ในความหมาย ๒ อย่างนี้ ด้วยการเรียกให้ต่างกัน คือ ถ้าหมายถึงบาลีในความหมายที่ 1. ให้ใช้คำว่า ภาษาบาลี (หรือ ศัพท์บาลี คำบาลี หรือบาลี) แต่ถ้าหมายถึงบาลีในความหมายที่ 2. ให้ใช้คำว่า พระบาลี

----------------

“บาลี” ที่จะพูดกันต่อไปนี้ หมายถึง “บาลี” ตามความหมายในข้อ 1 ข้างต้นนั้น
..........

ต่อไปก็มาดูกันว่า คำว่า “ภาษา” หมายถึงอะไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

ภาษา :

ถ้อยคำที่ใช้พูดหรือเขียนเพื่อสื่อความของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ภาษาไทย ภาษาจีน หรือเพื่อสื่อความเฉพาะวงการ เช่น ภาษาราชการ ภาษากฎหมาย ภาษาธรรม; เสียง ตัวหนังสือ หรือกิริยาอาการที่สื่อความได้ เช่น ภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษาท่าทาง ภาษามือ; (โบ) คนหรือชาติที่พูดภาษานั้น ๆ เช่น มอญ ลาว ทะวาย นุ่งห่มและแต่งตัวตามภาษา. (พงศ. ร. ๓); (คอม) กลุ่มของชุดอักขระ สัญนิยม และกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อสั่งงานคอมพิวเตอร์ เช่น ภาษาซี ภาษาจาวา; โดยปริยายหมายความว่าสาระ, เรื่องราว, เนื้อความที่เข้าใจกัน, เช่น ตกใจจนพูดไม่เป็นภาษา เขียนไม่เป็นภาษา ทำงานไม่เป็นภาษา.

..........

สรุปเฉพาะส่วนที่ประสงค์ ได้ความว่า ภาษา คือ -

1. ถ้อยคำที่ใช้พูดหรือเขียนเพื่อสื่อความของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ภาษาไทย ภาษาจีน หรือเพื่อสื่อความเฉพาะวงการ เช่น ภาษาราชการ ภาษากฎหมาย ภาษาธรรม

2. เสียง ตัวหนังสือ หรือกิริยาอาการที่สื่อความได้ เช่น ภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษาท่าทาง ภาษามือ.

สรุปสั้นลงไปอีก ภาษาก็คือ -

1. ถ้อยคำที่ใช้พูดหรือเขียน
2. เสียง ตัวหนังสือ หรือกิริยาอาการ

----------------

ทีนี้ “บาลี” ที่มีผู้เข้าใจว่า “ไม่ใช่ภาษา” หมายถึงอะไร

ก็หมายถึง “ภาษาอันรักษาไว้ซึ่งพุทธพจน์”, ภาษาที่ใช้ทรงจำและจารึกรักษาพุทธพจน์แต่เดิมมา อันเป็นหลักในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ถือกันว่าได้แก่ภาษามคธ (ตามความหมายข้างต้น)

ถ้าจะให้ยกตัวอย่างก็อย่างเช่นข้อความว่า -

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

นี่คือภาษาบาลี

อันที่จริง ข้อความที่บอกความหมายของคำว่า “บาลี” ที่ยกมาให้ดูข้างต้นโน้นท่านก็ใช้คำเรียกว่า “ภาษา” มองเห็นๆ อยู่ แล้วทำไมจึงยังคิดอยู่ว่า บาลีไม่ใช่ภาษา

ถามว่า บาลีคืออะไร
ตอบว่า บาลีคือ ภาษา ...

แต่กลับมีคนบอกว่า บาลีไม่ใช่ภาษา

คิดได้ไง?

ที่พูดกันว่า “บาลีไม่ใช่ภาษา” นั้น ฝรั่งจะว่าอย่างไร หรือนักวิชาการคนไหนจะว่าอย่างไร โปรดไปศึกษาเหตุผลกันเอง

แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ข้อความที่เป็นภาษาบาลี ไม่ว่าจะเป็นข้อความในคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา หรือเป็นข้อความที่พูดที่เขียนขึ้นใหม่ก็ตาม มีลักษณะของความเป็น “ภาษา” ที่สมบูรณ์ คือเมื่อเปล่งเป็นเสียงก็ตาม เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม คนที่รู้หลักของภาษานั้นตรงกันก็จะสามารถเข้าใจเรื่องราวได้ตรงกัน

ใครได้ยินเสียงว่า ซิด-ดาว (sit down) ถ้ารู้ความหมายของเสียงนี้ก็จะนั่งลง

ใครได้ยินเสียงว่า นิ-สี-ทะ ถ้ารู้ความหมายของเสียงนี้ก็จะนั่งลงเช่นกัน

ซิด-ดาว (sit down) เป็นภาษาอังกฤษ
นิ-สี-ทะ (นิสีท อักษรโรมันเขียนว่า nisīda) เป็นภาษาบาลี

ถ้า sit down เป็นภาษาได้
“นิสีท” ก็ต้องเป็นภาษาได้ด้วยเช่นกัน

แล้วทำไมจึงยังจะพูดว่า บาลีไม่ใช่ภาษา

ถ้าจะบอกว่า บาลีไม่ใช่ภาษา เพราะไม่มีชาติไหนในโลกใช้พูดกันแล้ว

ก็คงต้องไปเขียนบทนิยามกันใหม่แล้วว่า ภาษาที่จะเรียกได้ว่า “ไม่ใช่ภาษา” นั้นจะต้องมีลักษณะอย่างไร

แต่ยืนยันได้ว่า บาลีเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันได้ในชีวิตประจำวัน

ลองเอาคนที่รู้ภาษาบาลีมาขังรวมกัน บังคับไม่ให้พูดภาษาอื่นเลย ให้พูดแต่บาลีเท่านั้น ก็จะยังคงสื่อสารกันได้สบายๆ

ผมยังคิดเล่นๆ ว่า กองทัพไทยน่าจะใช้ภาษาบาลีเป็นรหัส (code) ในทางยุทธการ

รับรองได้ว่า เราเปิด operation จนเสร็จภารกิจเปิดตูดไปถึงไหนๆ แล้ว ฝ่ายตรงข้ามยังเถียงกันไม่เสร็จว่าจะถอดรหัสอย่างไรดี

-----------------

เท่าที่จับกระแสเสียงได้ ดูเหมือนคนที่พูดว่า “บาลีไม่ใช่ภาษา” จะอ้างเหตุผลว่า เพราะบาลีไม่มีตัวอักษรเป็นของตัวเอง

เขาว่า ถ้าให้เขียนภาษาบาลีด้วยตัวอักษรของตัวเอง บาลีก็เขียนไม่ได้

เพราะฉะนั้น บาลีจึงไม่ใช่ภาษา – เขาสรุป

คงต้องปูพื้นกันใหม่

ขอให้ทำความเข้าใจว่า ในเรื่องนี้มีคำที่ควรเข้าใจอยู่ ๒ คำ คือ ลายลักษณ์ และ อักษร หรือจะพูดรวมกันก็ได้ว่า “ลายลักษณ์อักษร”

“ลายลักษณ์” เป็นเครื่องหมายสำหรับถ่ายทอดความหมาย
“อักษร” เป็นเครื่องมือสำหรับถ่ายทอดเสียง

ทั้งลายลักษณ์ อักษร รวมทั้งกิริยาท่าทางเป็นต้น เป็นช่องทางหรือวิธีสื่อสารของมนุษย์

สมมุติว่ามีเสียงคำไทยเปล่งออกมาว่า บ-ว-ก (โปรดนึกว่าเป็นเสียง)

ถ้าเขียนลงไปเป็น + นี่คือใช้ลายลักษณ์แทนความหมายของเสียงนั้น

ถ้าเขียนเป็นอักษรไทยว่า “บวก” นี่คือใช้อักษรแทนเสียง

ใครที่รู้ความหมายของลายลักษณ์อักษรนี้ก็จะเข้าใจได้ว่าสื่อความว่าอย่างไร

ภาษาต่างๆ ที่มนุษย์ใช้สื่อสารกันในโลกนี้ บางภาษามีอักษรสำหรับถ่ายทอดเสียง บางภาษาไม่มีอักษร นี่เป็นความจริงที่รู้กันดีทั่วโลก

ถ้าจะตั้งเกณฑ์ว่า “ภาษาที่ไม่มีอักษรเป็นของตัวเอง ไม่ใช่ภาษา”

ภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่ภาษา เพราะไม่มีอักษรเป็นของตัวเอง แต่ยืมอักษรของโรมันมาใช้

ในวงการศึกษาภาษาบาลี เป็นที่ตกลงยอมรับกันว่า ชาติไหนเรียนภาษาบาลี ก็ใช้อักษรของชาตินั้นหรือใช้อักษรที่คนในสังคมนั้นตกลงกันเขียนภาษาบาลี

มีใครยังไม่ทราบบ้างว่า ในเมืองไทยของเรานี้แต่เดิมใช้อักษรขอมเขียนภาษาบาลี ดังจะเห็นได้ว่า ใบลานที่จารึกคัมภีร์บาลีของเก่านั้นแทบทั้งหมดจารึกเป็นอักษรขอม

แต่เป็นภาษาบาลี

ผมเข้าใจว่าน่าจะยังมีคนอีกเป็นอันมากที่เข้าใจ “ภาษา” กับ “อักษร” สับสนกัน คือไปเข้าใจว่า อักษรคือภาษา

ตรงนี้ขอเชิญดูภาพประกอบหน่อยนะครับ อาจช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น

ภาพแรก เขียนเป็นอักษรไทย

ภาพที่สอง เขียนเป็นอักษรโรมัน (ที่เราเรียกกันจนผิดกำลังจะกลายเป็นถูกว่า-อังกฤษ)

ภาพที่สาม เขียนเป็นอักษรขอม

อ่านว่า นะ-โม เหมือนกันทั้งสามภาพ

แต่คำในภาพทั้งสามนั้น ไม่ใช่ภาษาไทย
ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ
และไม่ใช่ภาษาขอม

แต่เป็นภาษาบาลี

นโม เป็นภาษาบาลี ใครๆ ก็รู้

-----------------

สุภาพสตรีท่านหนึ่งเล่าให้เพื่อนฟังว่า ไปเที่ยววัดระฆัง แล้วพระที่วัดให้พระคาถาชินบัญชรมาฉบับหนึ่ง “เขียนเป็นภาษาขอม”

แต่เมื่อดูพระคาถาชินบัญชรที่ท่านว่า “เขียนเป็นภาษาขอม” นั้นแล้วก็ได้เห็นว่า พระคาถาชินบัญชรฉบับนั้นก็คือ “ภาษาบาลี” นั่นเอง แต่เขียนเป็น “อักษรขอม”

-----------------

ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายที่สุดก็คือชื่อคน

อย่างชื่อผม ถ้าเขียนว่า

ทองย้อย แสงสินชัย

แล้วถามว่า นี่เป็นภาษาอะไร
จะมีคนบอกทันทีว่า ภาษาไทย

แต่ถ้าเขียนว่า

Thongyoi Sangsinchai

แล้วถามว่า นี่เป็นภาษาอะไร
ก็จะมีคนบอกทันทีว่า ภาษาอังกฤษ

เห็นหรือยังว่าเริ่มสับสนแล้ว

ความจริงก็คือ Thongyoi Sangsinchai ก็ยังเป็นภาษาไทยอยู่นั่นเอง

เพียงแต่ว่าเขียนเป็นอักษรอังกฤษ

แต่ถ้าจะเรียกให้ถูกจริงๆ ต้องพูดว่า เขียนเป็นอักษรโรมัน เพราะตัวอักษรแบบนี้เป็นของชาติโรมัน แล้วอังกฤษยืมเอาไปใช้ จนนานเข้าเราก็เลยเรียกกันผิดๆ ว่า ภาษาอังกฤษ

แล้วก็ที่เรียกในบรรทัดบนนั่นว่า “ภาษาอังกฤษ” ก็ผิดสองชั้น
ผิดชั้นแรก นั่นเป็น “โรมัน” ไม่ใช่ “อังกฤษ”
ผิดชั้นสอง นั่นเป็น “อักษร” ไม่ใช่ “ภาษา”

ถ้าผมพูดออกมาเป็นเสียงว่า “ทองย้อย” (กรุณานึกว่า “ทองย้อย” ที่ท่านเพิ่งอ่านไปนั่นคือเสียงนะครับ) แล้วให้เขียนเป็นอักษรไทย

ก็ต้องเขียนว่า “ทองย้อย”

ถ้าให้เขียนเป็นอักษรโรมัน ก็ต้องเขียนว่า “Thongyoi”

แต่ทั้ง “ทองย้อย” และ “Thongyoi” เป็น “ภาษาไทย” ทั้งคู่

แต่โปรดเข้าใจว่า ที่ “ทองย้อย” เป็นภาษาไทยนั้น ไม่ใช่เพราะเขียนเป็นอักษรไทย แต่เพราะเสียงที่เปล่งออกมาว่า “ทองย้อย” นั้นมีความหมายในภาษาไทย

ถ้ายังงงอยู่ ก็ดูคำนี้ – กู๊ด มอร์นิ่ง

ถามว่า เป็นภาษาอะไร
ต้องตอบว่าเป็นภาษาอังกฤษ

อ้าว! ก็เขียนเป็นอักษรไทย ทำไมจึงเป็นภาษาอังกฤษเล่า?

พอจะตามทันหรือยังครับว่า “อักษร” กับ “ภาษา” ต่างกันอย่างไร

เรื่องเขียนชื่อนี่ คนไทยพูดผิด-ผมคิดว่า-แทบจะทั้งประเทศไปแล้ว

ลองเหลือบดูบรรดาชื่อของญาติมิตรทั้งหลายที่ปรากฏในเฟซบุ๊กดูก็ได้ ใครเขียนชื่อเป็นอักษรโรมัน เราก็จะพูดกันว่า

“เขียนเป็นภาษาอังกฤษ”

ทั้งๆ ที่ชื่อนั้นเป็นภาษาไทยอยู่แท้ๆ ซ้ำยังเขียนเป็นอักษรโรมันอีกต่างหาก

แต่เราก็พูดกันได้เต็มปากเต็มคำว่า “เขียนเป็นภาษาอังกฤษ” !!

ผมเชื่อว่า การเขียนชื่อเป็นอักษรโรมัน แต่เรียกกันว่า “เขียนเป็นภาษาอังกฤษ” นี้ ในที่สุดจะกลายเป็นคำพูดที่ถูกต้อง หรือผิดจนถูกไปอีกคำหนึ่ง

-------------------

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“บาลี : (คำนาม) ภาษาที่ใช้เป็นหลักในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท; คัมภีร์พระไตรปิฎก, พุทธพจน์, เรียกว่า พระบาลี. (ป., ส. ปาลิ).”

ท่านบอกอยู่โต้งๆ ว่า “บาลี ... (คือ) ภาษา ...”

แต่ก็ยังมีคนหลับตาพูดอยู่นั่นแหละว่า-บาลีไม่ใช่ภาษา!

คนไทยนี่แปลก -

ยึดมั่นในสิ่งที่ตนเข้าใจ ว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้อง
แทนที่จะแสวงหาความรู้ที่ถูกต้องในสิ่งที่ตนเข้าใจ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๓๐ กันยายน ๒๕๕๙
๑๕:๒๖
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่