I Hate You I Love You : ซีรีส์ที่เล่นกับความคลุมเครือและความสงสัย



I Hate You I Love You
EP.1 Nana
บทความโดย DkPipe และ มาร์ตี้ แม็คฟลาย


สร้างกระแสโด่งดังเพียงชั่วข้ามคืน สำหรับซีรีส์ I Hate You I Love You ที่ออนแอร์ในคืนวันเสาร์และสร้างกระแสพูดถึงเรื่องราวต่าง ๆของหนังกันอย่างครึกโครมโดยเฉพาะในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่โดยมากก็จะพูดถึงเรื่องราวที่ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน และปมปริศนาต่าง ๆที่ซีรีส์ทิ้งไว้ให้ขบคิดและพูดถึงกันในเวลาต่อมา บทความนี่จะหลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องราวหรือการคาดเดาเรื่องล่วงหน้าต่าง ๆ แต่จะพูดถึงความน่าสนใจในเชิงภาพยนตร์ซีรีส์กัน


การกลับมาที่ไม่ธรรมดา (อีกครั้ง) ของ ทรงยศ สุขมากอนันต์
ในปี พ.ศ. 2556 ได้มีซีรีส์ที่เป็นกระแส Talk of The Town อีกเรื่องคือ Hormones วัยว้าวุ่น ที่กำกับโดย ทรงยศ สุขมากอนันต์ ที่เป็นเรื่องราวของกลุ่มวัยรุ่นมัธยมในรั้วโรงเรียน ที่ต่างก็ได้เจอเรื่องราวต่าง ๆของปัญหาวัยรุ่น ที่เนื้อหานั้นครอบคลุมถึงทั้งเรื่องของสถาบันครอบครัวและสังคม ส่งผลให้ซีรีส์เรื่องนี้โด่งดังสุดขีดใยช่วงเวลานั้นที่ไม่ใช่แค่หมู่วัยรุ่นอย่างเดียวเท่านั้น ผู้ปกครองร่วมถึงผู้ใหญ่ ก็ดูด้วยเช่นกัน นอกจากเนื้อเรื่องแล้ว หากมองในแง่ของเฉพาะตัวซีรีส์และผลกระทบหลังจากนั้น ซีรีส์เรื่องนี้ถือเป็นจุดเริ่มวงการซีรีส์ไทยก็ว่าได้ ทั้งรูปแบบและวิธีการเล่าเรื่อง ในช่วงเวลานั้นถือว่าเป็นการเปิดโลกกับชาวไทยในวงกว้างให้ซึบซับและเรียนรู้รูปแบบซีรีส์ที่จะตามมาอีกมากในอนาคต ในซีซั่นต่อมา ทรงยศ ได้ถอยออกมาเป็นโปรดิวเซอร์และให้ ปิง เกรียงไกร วชิรธรรมพร รับช่วงต่อในตำแหน่งผู้กำกับแทน แต่จากที่เห็น ทรงยศได้เป็นผู้ริเริ่มแนวทางของซีรีส์ใหม่แล้ว

ในตอนนี้กับซีรีส์ I Hate You I Love You ทรงยศกลับมาสร้างอะไรที่ไม่ธรรมดาอีกครั้ง คือการสร้างซีรีส์แนว Suspect , Thriller ที่หากเป็นซีรีส์ของประเทศอเมริกานั้นเราสามารถหาชมกันได้จนตาแฉะ แต่เรายังไม่เคยเห็นมาก่อนในซีรีส์ไทยหรือแม้แต่ละครไทย ที่มีโทนซีรีส์ในรูปแบบ หม่น และ น่าสงสัยตลอดเวลาแบบนี้ อีกทั้งยังเป็นการเล่าเรื่องในรูปแบบมุมมองบุคคลที่ต่างกันไปในแต่ละตอน ซึ่งยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน


บทซีรีส์
จริง ๆแล้ว ซีรีส์ทุกเรื่องในโลก ส่วนสำคัญที่สุดคือบทซีรีส์ ที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของเรื่อง รวมถึงการเริ่มและจบในแต่ล่ะตอนที่ถูกวางแผนเอาไว้แล้วตั้งแต่แรก สำหรับซีรีส์เรื่องนี้ปรากฏชื่อผู้เขียนสี่คน คือ ทรงยศ, วรรณแวว (หงษ์วิวัฒน์), นฤเบศ (กูโน) และ เกรียงไกร (ซึ่งทั้งสี่คนผ่านงานเขียนบทซีรีส์ Hormones มาแล้วทั้งสิ้น) ความดีงามของบทคือ
-    ความกล้า ความกล้าในการใส่เรื่องราวที่ชวนช็อค ที่ชวนให้คนดูตกใจและเกิดการขบคิดเรื่องราวต่อไปและเรื่องราวก่อนหน้าทันที (สำหรับคนที่ชมไปแล้วคงรู้จากฉากใด) ความดีของมันคือความกล้าที่จะทำร้ายคนดูในทางอ้อม เพื่อผลที่ดีกว่าในการสร้างอารมณ์ร่วมของคนดู และแสดงให้เห็นถึงความ “เก๋าเกม” ของทีมเขียนบทอยู่พอสมควรด้วยความมั่นใจว่าหลังจากนี้ยังมีเรื่องอีกมากที่น่าสนใจมากพอ และใส่เรื่องราวอันน่าตกใจนี้ จะไม่เป็นการทำร้ายซีรีส์ตัวเองในภายหลัง

-       รูปแบบการเล่าเรื่องในมุมมองแต่ละบุคคล วิธีการแบบนี้จริง ๆเคยเห็นมาบ้างแล้วในหนังต่างประเทศ เช่น ถ้าทางหนังตลาดหน่อยก็เป็น Vantage Point หรือ หนังญี่ปุ่นขึ้นหิ้งอย่าง Confession ที่เป็นรูปแบบที่น่าสนใจและถือว่าใส่เข้ามาได้เหมาะสมกับเรื่องที่ซีรีส์กำลังจะเล่าเป็นอย่างมาก นั้นเป็นเพราะคนดูได้เข้าไปดู เห็นความรู้สึกนึกคิดในแต่ละตัวละครที่ไม่เหมือนกัน และเราจะได้รู้ เห็น หรือแม้แต่เข้าใจตัวละครนั้น ๆได้อย่างชาญฉลาดอีกด้วย

-    การใส่คำถาม ความคลุมเครือโยนให้คนดูรู้สึกตลอดเวลา ส่วนในเรื่องคำถามจะค่อย ๆถูกโยนมาทีละคำถาม ทีละฉาก ๆ เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์เรา พอสงสัยก็อยากรู้คำตอบ ทีนี้ก็จะชวนให้ต้องดูต่อ แต่คำถามในเรื่องนี้มันเย้ายวนพอให้เราคิดและอยากรอเฉลย กับซีรีส์บางเรื่องดูแล้วเกิดคำถามเหมือนกัน แต่หากว่าไม่สามารถทำให้เรารู้สึกอยากรู้คำตอบก็จบ และเรื่องนี้มันดูชักชวนให้คนดูตัดสิน (หรือมนุษย์เป็นสัตว์ที่ชอบตัดสินอยู่แล้ว คนทำอาจจะไม่ได้ตั้งใจ) ว่าใครดี ใครไม่ดี อย่างใน EP.1 คนผิดต้องเป็นซอลแน่ ๆ ถ้ามองจากมุมมองนานะ แต่สังคมเรามันมองได้หลายมุม และควรมองให้หลาย ๆมุมด้วย เรามักจะเห็นการตัดสินปัญหาในคอมเมนต์ใต้คลิปหรือข่าวอะไรสักอย่างในโซเชียล ว่านี่ผิด ทั้งที่เราเห็นคลิปเหตุการณ์จากแค่มุมมองเดียวคือคนถ่าย ทั้งที่เรื่องมันมีมากกว่านั้น ซีรีส์เรื่องนี้เหมือนมันกำลังสะท้อนอะไรแบบนี้ออกมากระทำกับคนดู คือชวนให้ตัดสิน และค่อย ๆปล่อยมุมมองของคนอื่น ๆออกมาทีละคน ค่อยๆทำให้เรารู้สึกโง่ที่รีบไปตัดสินก่อน


การกำกับอารมณ์ของซีรีส์
ซีรีส์แนวนี้การกำกับและการคุมโทนเรื่องสำคัญเป็นอันดับต่อมา ในเมื่อเป็นซีรีส์ที่ต้องเล่นกับความคลุมเครือและความสงสัยกับคนดูตลอดเวลา การกำกับจึงต้องแตกต่างจากซีรีส์ที่เล่าเรื่องปกติ ทั้งจังหวะ และรายละเอียดต่าง ๆในฉากนั้น ๆ (ที่เห็นว่าไม่มีอะไร อาจเป็นส่วนสำคัญใน EP ของคนอื่นหรือเปล่า?) ดังนั้นไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ ผู้กำกับต้องแม่นในการกำกับคนดูพอสมควร กำกับเพื่อให้คล้อยตามและให้เดินตามทางที่เราโรยแป้งขนมปังล่อคนดูมา ก่อนที่จะหลอกทีหลัง และด้วยอารมณ์ภาพรวมของซีรีส์ที่ดูหม่นและดูน่าสงสัยตลอดเวลานั้น ทั้งหมดขึ้นอยู่การฝีมือการกำกับทั้งหมด


การแสดง สื่ออะไร หรือไม่ ?
แม้แต่การแสดง ที่อาจสื่อความหมายให้คนดูคิดเดาทางไปก่อน เช่น ฉากในสระว่ายน้ำในการแสดงของฝน ศนันธฉัตร รู้สึกว่า ดูแข็งและตลก แปลก ๆ เหมือนเสแสร้งทำให้นานะที่กำลังมองอยู่เข้าใจอะไรผิด ? อาจเป็นการจงใจของผู้กำกับก็ได้ (เพราะเรื่องนี้มันชวนให้คนดูตัดสิน) ส่วนการแสดงของปันปัน สุทัตตา ในฉากที่อยู่กับโจ กลับรู้สึกได้ถึงความเป็นธรรมชาติที่สุด เพราะพออยู่กับกลุ่มเพื่อนหรือซอล จะรู้สึกนานะเล่นหูเล่นตาท่าทางเหมือนดูละครหลังข่าวไปทันที ดังนั้นเราสามารถคิดต่อและตีความหมายอะไรได้บ้างหรือไม่ คงต้องติดตามตอนต่อไป และไม่ว่าทั้งหมดที่เขียนเป็นความตั้งใจหรือไม่ แต่มันทำให้อย่างน้อยก็มีคนคิดและตีความอะไรเล็ก ๆน้อย ๆแบบนี้ไปเรียบร้อยแล้ว

ในตอนนี้ยังเหลืออีก 4 ตอนให้เราได้รอชมกัน ว่าตัวละครอื่น ๆที่เราเห็น ไปทำวีรกรรมอะไรไว้ ซึ่งคงยังอีกอะไรอีกมาก ที่เรายังไม่รู้ (เพราะเราไม่เห็น)  หรือเห็นแล้ว (แต่มองข้ามไป) เมื่อเป็นการเล่นกับความสงสัยและความไม่รู้ มันจึงชวนให้อยากรู้ว่าสุดท้ายแล้ว “ใจคน” จะลึกสักแค่ไหน


ของคุณภาพจาก FB Fanpage : hateloveseries และ นาดาว บางกอก

หากอ่านแล้วชอบ ติดตามบทความจากหนัง ซีรีส์ ได้ที่เพจ https://www.facebook.com/thelastseatsontheleft/ นะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่