สุดท้ายแล้วเขาจัดการกับหลุม Macondo 252 (MC252) อย่างไร (Deepwater Horizon)



ผมก็พาพวกเราเที่ยวมาเรื่อย ตั้งแต่ 5 เรื่องที่ควรรู้ก่อนดูหนัง แนะนำให้รู้จัก well control ไป 4 ตอน ตามมาด้วย สาเหตุแห่งหายนะในครั้งนี้ ลากยาวมาจนถึงตอนนี้ น่าจะเป็นตอนสุดท้ายก่อนหนังเข้าฉายล่ะ ตอนนี้จะเล่าให้ฟังว่า 83 วัน หลังจาก Deepwater Horizon จมลงสู่ก้นทะเล เกิดอะไรขึ้นกับหลุม Macondo 252 (MC252) บ้าง

เนื้อหาส่วนนี้ผมจะอ้างอิงจากรายงานนี้นะครับ  Center for Catastrophic Risk Management (CCRM) – Final report (4.96 MB 126 หน้า)

1. ส่งเรือดำน้ำควบคุมจากระยะไกล (ROV – Remote Operated Vehicle ผมว่าเรียกง่ายๆว่าหุ่นยนต์ล่ะกัน) ลงไปปิดชุดอุปกรณ์ควบคุมความดัน (BOP – Blow Out Preventer) ที่ปากหลุม ซึ่งปิดได้ แต่ไม่สนิทเนื่องจากก้านเจาะตรงที่คาอยู่ปากหลุมไม่อยู่ตรงกลางพอดี (off center) คือ ใบมีดที่ใช้ตัดปิดหลุม (shear ram) เนี้ย ถูกออกแบบมาให้ตัดก้านเจาะตอนที่ก้านเจาะอยู่ตรงกลางหลุม

ข้างล่างนี้เป็น VDO clip ของ BOP ของ Deepwater Horizon ที่กู้เอาขึ้นมา จากภาพเห็นได้ชัดว่าใบมีดนั้นตัดก้านเจาะ แต่ไม่ขาด

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


2. ปิดปลายด้านหนึ่งของก้านเจาะที่นอนอยู่ที่ก้นทะเล ความพยายามนี้สำเร็จ

ข้อต่อๆไปนี้จะพูดถึงคำว่า marine riser หรือ บางทีก็เผลอเรียก riser เฉยๆก็ให้เข้าใจว่าเป็นอุปกรณ์ชิ้นเดียวกัน มันที่ท่อเหล็กเป็นท่อนๆคล้ายๆท่อกรุ เอามาต่อๆกันจาก ชุดอุปกรณ์ควบคุมความดัน (BOP – Blow Out Preventer) ที่ปากหลุม ที่อยู่ก้นทะเล ต่อๆกันขึ้นไปจนถึง แท่นเจาะฯที่ลอยอยู่ผิวน้ำ เพื่อที่จะเป็นทางให้น้ำโคลนที่ปั๊มผ่านก้านเจาะไหลย้อนกลับขึ้นไปบนแท่นเจาะฯได้



ที่มา – www.drillingcontractor.org

จากรูปจะเห็นว่า ถ้าไม่มี marine riser น้ำโคลนที่ปั๊มผ่านก้านเจาะก็จะไหลเปรอะไปหมดที่ก้นทะเล (ก้านเจาะก็อยู่ใน marine riser นี้ด้วยเหมือนกัน)



ที่มา – BP

สภาพ marine riser ของ Deepwater Horizon ก็อารมณ์ประมาณแอนนิมชั่นรูปข้างบนนี่แหละครับ … อะ หลังจากรู้จัก marine riser คร่าวๆไปแล้ว เรามาดูข้อต่อไปว่าเขาได้พยายามทำอะไรต่อไปบ้าง

3. พยายามเอากล่องเหล็กไปครอบน้ำมันที่รั่วจาก marine riser ที่นอนอยู่ที่ก้นทะเล แล้วจะปั๊มเอาน้ำมันกี่เก็บได้ขึ้นไปบนเรือที่ลอยอยู่ข้างบน ความพยายามนี้ล้มเหลว



ที่มา – http://farm5.static.flickr.com



ที่มา – http://media.nola.com/2010_gulf_oil_spill

จากรูปจะเห็นว่า marine riser ถูกแรงดันน้ำทะเลบีบี้แบน ก้านเจาะก็คาอยู่ในนั้น

4. เอาท่อไปเสียบกับ marine riser ที่นอนอยู่ที่ก้นทะเล แล้วกะว่าให้น้ำมันไหลจาก marine riser  เข้ามาในท่อที่เอาไปเสียบ ความพยายามนี้ประสบความสำเร็จแค่บางส่วน คือน้ำมันบางส่วนก็เข้าไปในท่อใหม่ที่เอาไปเสียบ บางส่วนก็ยังรั่วออกสู่ทะเล

5. ตัด marine riser และ ก้านเจาะ ที่บี้แบนนั่นออกแล้วเอาชุดความคุมสวมปิด ความพยายามนี้ประสบความสำเร็จแค่บางส่วน น้ำมันก็ยังไหลออกสู่ทะเลอยู่ดี

6. ปั๊มน้ำโคลนหนักผ่านทาง ชุดอุปกรณ์ควบคุมความดัน (BOP – Blow Out Preventer) ที่มีก้านเจาะคาอยู่ ความพยายามนี้ไม่ประสบความสำเร็จ แบบว่าคงยาก เพราะก้านเจาะมันคาอยู่อย่างนั้น แต่เข้าใจอารมณ์นะครับว่า ตอนนั้น อะไรทำได้ก็ต้องพยายามกันสุดฤทธิ์สุดเดช แม้จะเห็นว่าโอกาสสำเร็จน้อย แต่ก็ต้องทำ

7. ถอด marine riser ออกไปแล้วเอา ชุดอุปกรณ์ควบคุมความดัน (BOP – Blow Out Preventer) ชุดใหม่ลงไปสวมแล้วปิด BOP ตัวใหม่ด้านบน

อธิบายยาก ดูคลิปล่ะกันครับ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ




ที่มา – https://phoenixrisingfromthegulf.files.wordpress.com

ดูใกล้ๆ จะเห็นว่ามี เลข 11 และ ดาว 11 ดวง นั่นคือจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้



ที่มา – http://gcaptain.com/maritime/blog/wp-content/

8. พอติด BOP ตัวใหม่แล้วคราวนี้ก็ง่ายขึ้น ปั๊มน้ำโคลนหหนักลงไปดันน้ำมันที่พุ่งขึ้นมาให้กลับลงไปกลางๆหลุม ลดความดันปากหลุมลงไปได้บ้าง ความพยายามนี้ประสบความสำเร็จ

9. ปั๊มซีเมนต์ตามน้ำโคลนหนักลงไป คราวนี้กะปิดตายเลย แต่ก็มีรั่วออกมาได้เล็กๆ ดังนั้นก็ถือว่าความพยายามนี้ประสบความสำเร็จบางส่วน

10. ขุดหลุมอีก 2 หลุม เราเรียกหลุมประเภทนี้ว่า relief well กะให้ไปชนหลุม MC252 ที่ความลึก 18000 ฟุต (ก็เหนือชั้นหินกักเก็บนั่นแหละ) แล้วปั๊มซีเมนต์อุดมันตรงนั้นเลย

วิธีนี้ไม่ใช่วิธีใหม่อะไร เราทำกันมาหลายสิบปีแล้ว ถามว่า ลึกขนาดนั้น เราขุดแม่นขนาดให้ไปชนหลุมเดิมได้เลยหรือ แหม … ขนาดเรายิงจรวดไปชนจรวดกลางอากาศ (air defense system) จรวดสองลำความเร็วจี๋ขนาดนั้น เรายังทำได้เลย ขุดหลุมช้าๆหลุมหนึ่งไปชนอีกหลุมหนึ่งที่อยู่กับที่นิ่งๆเนี้ย ไม่ยากครับ (ใครอยากรู้ว่าทำไง หลังไมค์มาล่ะกัน)



ที่มา – BP

ใช้แท่นเจาะ 2 แท่น (Development driller 1 กับ Development driller 2 – ชื่อเรือแท่นเจาะฯน่ะครับ) ขุดไล่ๆกันลงไป



ที่มา – BP

มีเรือ Discover enterprise ลอยอยู่ข้างบนคอยเก็บคอยกำจัดน้ำมันที่ลอยขึ้นมา การขุดหลุมสองหลุมนี้ไม่ใช่ว่ามาขุดทีหลังนะครับ เริ่มขุดกันตั้งแต่ต้นเลย ลำแรกขุดวันที่ 2 พฤษภาคม ลำที่สอง วันที่ 16 พฤษภาคม (เหตุเกิดวันที่ 20 เมษายน 2510) ถือว่าเร็วมาก ทำไมต้องขุดพร้อมกัน 2 หลุม 1. คือเผื่อหลุมหนึ่งมีปัญหา ขุดไปไม่ถึง หรือ 2 คำนวนแล้วว่า อัตราการไหลและความดันที่อัดจากหลุมเดียวไม่พอที่จะกดความดันและอัตราการไหลของหลุมต้นเหตุได้

ในกรณีของ MC252 ผมคิดว่าเป็นกรณีแรกมากกว่าครับ พูดง่ายๆ กันเหนียว ว่างั้นเถอะ เพราะถ้าหลุมแรกไปไม่ถึง ต้องมาขุดหลุมที่สอง ก็ต้องเสียเวลานับหนึ่งใหม่ ขุดมันไปไล่ๆกันน่ะดีแล้ว

มีเกร็ดเล็กน้อยมาเล่าให้ฟังว่า ในยามฉุกเฉินที่จำเป็นต้องขุดหลุม relief แบบนี้นั้น เป็นข้อตกลงระหว่างบริษัทน้ำมันว่า ถ้าแท่นขุดของใครใช้ขุดหลุมได้ (ความลึก น้ำลึก ฯลฯ) อยู่ใกล้ที่สุด จะต้องหยุดการขุดหลุมของตัวเองแล้วให้บริษัทน้ำมันที่กำลังเดือนร้อนเช่าแท่นขุดนั้นทันที

พอเราขุดอีกหลุมไปชนหลุมเจ้าปัญหาแล้ว เราก็ปั๊มซีเมนต์จากหลุมใหม่ลงไปปิดที่ต้นเหตุ คือชั้นหินกักเก็บเลย … จบข่าว

ไม่เห็นใช้ well control ที่อุตส่าห์ลากยาวมาเล่าให้ฟังเลย 555 เอาน่า รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม ก็จะได้เห็นว่าการควบคุมหลุมน้ำมันหลุมก๊าซเนี้ยมันไม่ง่าย เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์

ไม่มีตอนต่อไปให้ติดตามแล้วครับ พฤ. ที่ 29 กย.นี้ก็ไปดูหนังกันได้เลยครับ ยิ้ม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่