เจ๋ง! สองสามีภรรยาไม่มีนาแต่ปลูกข้าวในถังพลาสติกมีกินทั้งปี

วันนี้ (6 ก.ย.) ที่บ้านเลขที่ 18 หมู่ที่ 3 ตำบลนาพญา อ.หลังสวน จ.ชุมพร ผู้สื่อข่าวพบกับ นายอรรถพล สินสุภา อายุ 55 ปี และนางจำเรียง สินสุภา อายุ 55 ปี ทั้งสองเป็นสามีภรรยากัน และเป็นอดีตข้าราชการครู ได้ใช้บริเวณหน้าบ้านแปรสภาพเป็นนาปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ในถังน้ำพลาสติกสีดำจำนวนหลายร้อยลูกตั้งเรียงรายเป็นแนวกว้างประมาณครึ่งไร่ ปลูกมานานกว่า 4 เดือน จนใบเขียวขจีออกรวงชูช่ออยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวชุมพร - สองสามีภรรยาอดีตข้าราชการครูไอเดียเจ๋งสุดๆ แปรสภาพหน้าบ้านเป็นนาปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ในถังน้ำพลาสติก พอกินตลอดทั้งปี

นางจำเรียง เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้ลาออกจากข้าราชการครูเพื่อมาดูแลคุณแม่วัย 93 ปี ทำให้มีเวลาว่างมากขึ้น จึงหันมาทำสวนผสม และปลูกพืชผักเพื่อบริโภคในครอบครัว โดยยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ตนมีแนวคิดอยากจะปลูกข้าวไว้กินเอง แต่ด้วยไม่มีแปลงนา และแหล่งน้ำจึงทดลองปลูกข้าวกับถังพลาสติกขนาดเบอร์ 18 ซึ่งใหญ่กว่าถังหิ้วปูนประมาณ 1 เท่าตัว โดยได้นำเมล็ดพันธุ์ข้าวไรซ์เบอรี่จากเพื่อนมา 1 กำมือ เพื่อเพาะเมล็ดพันธุ์ และทดลองปลูกไปในตัวซึ่งปรากฏว่าได้ผลดี

จากนั้นเริ่มปลูกจริงเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยนำซังปาล์มที่ทิ้งจากการเพาะเห็ดฟางมาผสมกับมูลไก่ และน้ำหมักชีวภาพนำมาผสมกับหน้าดินแล้วมาคลุกเคล้าให้เข้ากันมาใส่ลงไปในถังพลาสติกและใส่น้ำแช่ขังไว้ค่อนถัง รวมจำนวน 400 ถัง ตั้งเรียงวางห่างกันประมาณ 1 ฝ่ามือ แล้วนำต้นพันธุ์ข้าวไรซ์เบอรี่ลงไปปลูก ปรากฏว่า ต้นข้าวมีการแตกหน่อได้ดีมาก โดยที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ย หรือสารเคมีใดๆ ใช้เพียงน้ำหมักชีวภาพฉีดตอนช่วงข้าวตั้งท้องเท่านั้น

หลังจากที่ข้าวเริ่มออกรวงก็ทำหุ่นไล่กาแบบชักรอกเลื่อนไปมาเพื่อไล่นก และเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจะได้ข้าวเปลือกประมาณกว่า 20 ถัง ซึ่งเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในครอบครัวได้ทั้งปี และที่ผ่านมา มีชาวบ้าน และชาวต่างชาติรู้ข่าวได้มาดู และขอดูถ่ายรูปเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เชื่อว่าทุกคนสามารถปลูกที่บ้านไว้กินในครอบครัวเองได้ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่สำคัญนอกจากจะได้ข้าวที่ปลอดสารเคมีแล้ว ทุกคนในครอบครัวยังมีส่วนร่วม สร้างความรัก และความอบอุ่นในครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย

ที่มา: http://m.manager.co.th/South/detail/9590000089836

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  เกษตรกรรม ภาคใต้ ข่าวออนไลน์ เกษตรอินทรีย์
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่