เราควรเลือกใช้อินเทอร์เน็ตบ้านแบบไหนดี ถึงจะเหมาะสม ทั้งในส่วนของราคาและการใช้งาน

คราวที่แล้วเขียนถึงเรื่องข้อมูลของ xDSL และ FTTx ไป ซึ่งมีส่วนของเทคนิคไปหน่อย หลายๆ คนอาจไม่สนใจหรือไม่เข้าใจ อันนี้ก็ขอชี้แจงนะครับ ว่าข้อมูลที่เขียนไว้ไม่ต้องไปซีเรียสมากสำหรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตบ้านทั่วๆ ไป แค่อยากให้ทราบว่าที่เราบ่นๆ ว่าอินเทอร์เน็ตช้าบ้างอะไรบ้าง จริงๆ แล้วเราได้ความเร็วจริงในการใช้งานคำนวณเป็น Megabyte เท่าไหร่ เพราะมีคนเคยบ่นว่าโหเน็ต 100 เม็กทำไมช้าจัง ส่วนใหญ่ก็เพราะไม่เข้าใจระหว่าง Megabit per second กับ Megabyte ครับ

สำหรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตบ้าน ส่วนใหญ่จากประสบการณ์ผมแบ่งเป็นประเภทไว้ได้แบบนี้นะครับ
-    เซิร์ฟ (เล่น) อินเทอร์เน็ตอย่างเดียว เช่น เปิดเว็บไซต์ต่างๆ โซเชียล สืบค้นข้อมูล ฯลฯ อาจมีการโพสต์คลิปวิดีโอตัวเองหรือแชร์คลิปนิดหน่อย
-    ดาวน์โหลด/อัพโหลด แชร์ไฟล์ อันนี้สายโหลดบิต ก็จะแบ่งได้อีกสองประเภทย่อยคือ โหลดบิตในประเทศกับโหลดบิตต่างประเทศ
-    รีโมทคอมพิวเตอร์ ส่วนใหญ่จะตั้งรีโมทไว้เพื่อเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์กับที่ทำงาน เผื่อกลับมาทำที่บ้าน จะมีทั้งแค่ Remote Desktop เพื่อดึงไฟล์งานมาทำที่บ้าน และควบคุมหรือตรวจสอบหน้าจอของเราที่ทำงานว่ามีใครมาใช้ตอนเราไม่อยู่หรือไม่ ส่วนหนึ่งอาจทำการ Remote เพื่อแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ให้กับผู้อื่นด้วย
-    ดู Streaming หรือ IPTV ในกรณีนี้บางคนที่มีงบฯ อาจต่อเพิ่มอีกวงจรหนึ่งต่างหาก ซึ่งจะแยกจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วไป แต่ส่วนใหญ่ก็จะรวมกันไว้ในวงจรเดียวกัน

ประเภทแรก: ใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว
ส่วนใหญ่ครอบครัวหนึ่งๆ ไม่เกิน 4-5 คน ต่ออุปกรณ์ทั้ง PC และ Wi-Fi รวมกันไม่ถึง 10 อุปกรณ์ โดยใช้ Wi-Fi Router ที่ทางผู้ให้บริการนำมาติดตั้งให้ แบนด์วิดธ์หรือความเร็วที่ใช้รวมๆ กันแล้วไม่เกิน 10Mbps ครับ เพราะทางผู้ให้บริการจะมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า Caching หรือ Buffer เป็นอุปกรณ์ที่ทำให้ลดปริมาณการเชื่อมต่อออกต่างประเทศโดยตรง เช่น เว็บไซต์ Microsoft อยู่ที่มาเลเซีย ถ้าเราเข้าเว็บไซต์นี้ Router ก็จะชี้เส้นทางไปยังมาเลเซียหากไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าวมาช่วย แต่ถ้ามีอุปกรณ์ดังกล่าว การเข้าถึงเว็บไซต์ต่างประเทศก็จะเร็วขึ้น และประหยัดแบนด์วิดธ์เชื่อมต่อต่างประเทศได้ในส่วนของผู้ให้บริการ
ดังนั้นครอบครัวที่มีขนาด 4-5 คน ใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว ผมว่า ADSL ขนาด 20/4Mbps หรือ VDSL และ DOCSIS ราคาไม่เกิน 800 ก็เพียงพอแล้วครับ

ประเภทที่สอง: ใช้งานดาวน์โหลด/อัพโหลด แชร์ไฟล์ต่างๆ

กลุ่มที่ใช้งานแบบนี้ส่วนใหญ่จะเน้นการโหลดบิต แชร์ไฟล์เป็นหลัก มีบางส่วนที่ดาวน์โหลดไฟล์งานจากที่ทำงานมาทำที่บ้านแล้วอัพโหลดกลับไปยังที่ทำงานเมื่อทำเสร็จ ถ้าเป็นประเภทแรกส่วนใหญ่จะเปิดคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้ตลอด 24 ชั่วโมง หรืออย่างน้อยก็จะเปิดคอมฯ ไว้ตลอดเวลาที่ตัวเองอยู่บ้าน จะปิดก็ต่อเมื่อออกไปทำงานหรือไปธุระนานๆ สำหรับประเภทหลังเมื่อดาวน์โหลดเสร็จก็จะทำงานจนเสร็จแล้วค่อยอัพโหลดกลับไปยังที่ทำงาน ซึ่งทั้งสองประเภทนี้จะมีการใช้งานแบนด์วิดธ์ในช่วงดาวน์โหลดค่อนข้างสูงในขณะทำการดึงไฟล์มาไว้ที่คอมฯ ของตัวเอง ระยะเวลาในการดาวน์โหลดก็จะขึ้นอยู่กับความเร็วอินเทอร์เน็ตที่เราสมัครใช้งานไว้ และความเร็วและอัตราการแชร์ของไฟล์ต้นทาง ในกรณีการดาวน์โหลดบิต ส่วนใหญ่ไฟล์ต้นทางจะอยู่ที่เซิร์ฟเวอร์ ซึ่งคนที่โหลดบิตจะทราบดีว่าไฟล์นั้นมีคนปล่อยอยู่กี่คน IP ของไฟล์ต้นทางเป็น IP ประเภทไหน นอกจากนั้น ตัวโปรแกรมดาวน์โหลดบิตก็จะแจ้งสถานะแบนด์วิดธ์ของไฟล์ที่กำลังดาวน์โหลดว่าได้เท่าไหร่ ณ เวลาดาวน์โหลด ซึ่งหน่วยจะเป็น Byte ไม่ใช่ bit และเมื่อดาวน์โหลดเสร็จสมบูรณ์แล้วก็จะทำการแชร์ให้คนที่ต้องการดาวน์โหลดไฟล์เดียวกันต่อไป ซึ่งสถานะการใช้งานจะใช้งานอัพโหลดแทน
สำหรับคนที่ดาวน์โหลดบิตต่างประเทศ อันนี้จะได้ความเร็วหรือแบนด์วิดธ์น้อยกว่าค่าจริง เนื่องจากต้องเชื่อมต่อไปยังเซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศผ่านผู้ให้บริการที่เราใช้อยู่ ซึ่งความเร็วที่ได้ก็จะต้องดูว่าอัตราการเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ต้นทางนั้นได้เท่าไหร่ บวกกับขนาดไฟล์ที่ต้องการดาวน์โหลด ส่วนใหญ่ผู้ใช้งานประเภทนี้อาจไม่ใช้อินเทอร์เน็ตบ้านในการดาวน์โหลด/อัพโหลด เนื่องจากความเร็วไม่เพียงพอในการใช้งาน อาจไปเช่าพื้นที่ Hosting สำหรับด้านนี้โดยเฉพาะ และทำการดาวน์โหลดไฟล์จาก Hosting ที่เช่าไว้มาลงคอมฯ ตัวเองต่อไป

ในส่วนผู้ใช้งานที่ดาวน์โหลดไฟล์จากที่ทำงานมาทำที่บ้าน หากเป็นไฟล์ขนาดใหญ่มากๆ เช่นวิดีโอไฟล์ หรือไฟล์ภาพความละเอียดสูง ช่วงเวลาที่ดาวน์โหลดอาจไม่ค่อยมีปัญหาเนื่องจากค่าดาวน์โหลดที่ผู้ให้บริการให้จะสูงกว่าค่าอัพโหลด จะพบปัญหาเวลาอัพโหลดงานกลับไปยังบริษัท ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าการดาวน์โหลดหลายเท่า
ดังนั้นกลุ่มผู้ที่ใช้งานประเภทนี้ควรใช้ FTTx ที่มีความเร็ว 100/10Mbps เป็นหลัก เนื่องจากจะได้ความเร็วที่พอสมควรในการทำการดาวน์โหลด/อัพโหลด และคอมฯ จะได้ไม่ทำงานหนักเกินไปนัก

ประเภทที่สาม: รีโมทคอมพิวเตอร์
ผู้ใช้งานประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นสายเทคนิค หรือผู้ที่ต้องตรวจสอบการทำงานคอมพิวเตอร์ในที่ทำงานเป็นหลัก บางส่วนจะต้องแก้ไขปัญหาการใช้งานคอมพิวเตอร์ให้กับผู้อื่นโดยการทำการ Remote Desktop เพื่อควบคุมและสั่งการจากเครื่องของตัวเอง ซึ่งอัตราแบนด์วิดธ์ที่ใช้งานขึ้นอยู่กับลักษณะการ Remote เป็นหลัก ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องใช้แบนด์วิดธ์สูงมากนัก แต่ต้องการความเสถียรในการเชื่อมต่อเป็นหลัก
ผู้ใช้งานประเภทนี้จึงควรเลือกผู้ให้บริการที่ไม่มีปัญหาในการเชื่อมต่อบ่อยมากนัก (หลุดบ่อย) เนื่องจากจะทำให้งานทำอยู่ล่าช้าออกไป หรือต้องทำการเชื่อมต่อใหม่ทุกครั้งที่อินเทอร์เน็ตหลุด
ความเร็วในการใช้งานจะขึ้นอยู่กับจำนวนคอมพิวเตอร์ปลายทางที่ทำการรีโมทไป แต่ส่วนใหญ่จะทำการรีโมททีละเครื่องเท่านั้น ในการทำการรีโมทจะใช้ค่าอัพโหลดเป็นหลัก เนื่องจากเราทำการเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ปลายทาง ส่วนค่าดาวน์โหลดจะใช้ก็ต่อเมื่อเรารีโมทเพื่อดึงไฟล์ลงมายังคอมพิวเตอร์ของเราเท่านั้น สามารถเลือกใช้ได้ทั้ง ADSL ทั่วไปหรือ FTTx ครับ ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้งาน

ประเภทที่สี่: ดู Streaming หรือ IPTV
ประเภทนี้ต้องทราบก่อนว่าเราต้องการเชื่อมต่อกับทีวีหรือคอมพิวเตอร์จำนวนกี่เครื่อง จะได้คำนวณแบนด์วิดธ์ใช้งานได้เหมาะสม โดย Streaming หรือ IPTV ที่คุณภาพ Full HD จะใช้แบนด์วิดธ์ประมาณ 4-6 Mbps ต่อการเชื่อมต่อ 1 ช่องสัญญาณหรือ 1 อุปกรณ์ หากเป็นการรับชม Streaming หรือ IPTV ความละเอียด 4K ต้องใช้อย่างน้อยประมาณ 16Mbps ในการเชื่อมต่อ 1 ช่องสัญญาณหรือ 1 อุปกรณ์เพื่อที่จะสามารถรับชมได้โดยไม่เกิดอาการกระตุกหรือสะดุด แต่ในการใช้งานจริงควรมี 20-25Mbps สำหรับการรับชมขนาด 4K เนื่องจากอาจมี Buffer ในระหว่างทำการรับชม Streaming หรือ IPTV ครับ
ดังนั้นควรเลือกใช้ FTTx ในการใช้งานครับ หรืออย่างน้อยต้องเป็น VDSL หรือ DOCSIS ขนาดไม่น้อยกว่า 50Mbps เพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีครับ

สำหรับผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าเราใช้งานแบบไหนมากน้อยกว่ากัน ผมแนะนำให้เลือกแพ็คเกจธรรมดาทั่วๆ ไปก่อนครับ ลองใช้งานดูซัก 2-3 เดือนก่อนว่าเพียงพอหรือไม่ เพราะถ้าไม่เพียงพอเราไปขอเพิ่มแบนด์วิดธ์หรืออัพสปีดได้ภายหลังครับ แต่ถ้าเราสมัครแพ็คเกจสูงแล้วไม่สามารถลดได้นะครับ เพราะติดสัญญา 12 เดือน

เสริมในส่วนของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบ้านเชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi และใช้งานกับโทรศัพท์หรือแท็บเบล็ตนะครับ
ปัจจุบันการใช้งานผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์หรือแท็บเบล็ต รวมถึงโน้ตบุค ซึ่งผมเรียกรวมๆ ว่า Mobile Device นั้น มีผู้ใช้งานส่วนใหญ่จะบ่นเรื่องที่ทำไมเชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi แล้วยังช้า บางที 3G 4G ยังเร็วกว่า อันนี้ขอให้ตรวจสอบเบื้องต้นกันก่อนนะครับ ว่าการใช้งานในบ้านมีการเชื่อมต่อพร้อมกันกี่อุปกรณ์ application ที่ใช้งานต้องใช้แบนด์วิดธ์มากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นพวก Facebook Live อันนี้ใช้แบนด์วิดธ์สูงนะครับ กินแบตเครื่องมากด้วย หรือพวก Video Call, Facetime พวกนี้ก็จะใช้แบนด์วิดธ์มากเป็นธรรมดาอยู่แล้ว เนื่องจากต้องส่งข้อมูลเป็นภาพและเสียงพร้อมๆ กัน
สมมติว่าในบ้านมีสมาชิก 4-5 คน ใช้อินเทอร์เน็ต ADSL 20/4Mbps แล้วใช้ Facebook Live พร้อมๆ กัน 3 เครื่อง อันนี้แบนด์วิดธ์ขาอัพโหลดไม่พอแน่ครับ เพราะการ Live 1 ช่องสัญญาณอาจใช้ปริมาณแบนด์วิดธ์อัพโหลดจากโทรศัพท์ไม่น้อยกว่า 512KBps ครับ ถ้าคำนวณความเร็วอัพโหลด 4Mbps เป็น MBps ก็จะได้เท่ากับ 0.5MBps หรือ 512KBps เท่านั้นครับ ก็เท่ากับ 1 ช่องสัญญาณการทำ Live แล้วครับ

ปัจจัยอีกปัจจัยหนึ่งที่หลายคนอาจมองข้ามคือ spec ของ Mobile Device ที่เราใช้งานอยู่ว่าเพียงพอหรือไม่นะครับ ยิ่งถ้าใช้งานพวก Live หรือ Streaming ผ่านโทรศัพท์หรือแท็บเบล็ต การใช้ CPU และ RAM ของเครื่องก็จะสูงตามไปด้วย รวมถึงแบตเตอรี่ที่จะหมดเร็วมาก หากเครื่องของเรามี CPU ความเร็วไม่เพียงพอหรือ RAM น้อย การใช้งานก็จะเกิดอาการสะดุด กระตุกหรือบางทีแฮงค์ไปเลยก็ได้ครับ
ถ้าใครอยากทราบ spec เครื่องของเราว่าประสิทธิภาพเท่าไหร่ ให้ดาวน์โหลดแอพฯ antutu มาทำการ benchmark เครื่องครับ เสร็จแล้วเค้าจะมีค่าเป็นคะแนนเทียบระหว่างอุปกรณ์ของเรากับอุปกรณ์ประเภทเดียวกันในยี่ห้อและรุ่นอื่นๆ ครับ

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นอีกคือระยะห่างจากอุปกรณ์ Access Point กับตัวอุปกรณ์ Mobile Device ต่างๆ ซึ่งในบางจุดอาจไกลหรืออยู่ในจุดอับสัญญาณ ทำให้การใช้งานไม่ไหลลื่นหรือมีอาการสะดุดได้ครับ

วิธีตรวจสอบเบื้องต้น: ให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นพวก Speedtest หรือ Network Analyzer ซึ่งเป็นแอพฯ ฟรี มีทั้ง android และ IOS มาลองทดสอบดูก่อนว่าได้ความเร็วเชื่อมต่อระหว่าง Mobile Device กับ Access Point เท่าไหร่ หากใช้งานพร้อมกันหลายอุปกรณ์ควรทำการทดสอบพร้อมๆ กันครับ จะได้รู้ว่าความเร็วที่เราสมัครใช้งานอยู่เพียงพอหรือไม่

ครั้งหน้าจะเขียนถึงข้อแตกต่างระหว่าง xDSL และ FTTx ในเชิงผู้ใช้งานให้อ่านกันนะครับ

แนะนำติชมได้ครับ

summersoltice (มือใหม่หัดเขียน)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่