[CR] สันติบนความต่าง...

สันติบนความต่าง...
ขอเกริ่นนำสักนิดนะครับ วันนี้ก็จะมาพาท่องเที่ยวสถานที่สำคัญๆ กันคร่าวๆ ของชาวฝั่งธนกันนะครับ
คือกรุงธนบุรี หรือที่ชาวบ้านๆ เรียกกันฝั่งธนนี่แหละครับ ผมเกิดมาก็ 29 ปีแล้ว
เป็นเด็กฝั่งธนมาตั้งแต่เกิด แต่...ไม่เคยได้สัมผัสสิ่งสำคัญหลายๆอย่างในประวัติศาสตร์ชาติไทย
อะไรเลย ด้วยความที่แค่เกิดมาวิ่งเล่น ไปเรียน ทำงาน จนวันนึงได้มีโอกาสในช่วงวันหยุด
เพื่อนผมได้จัดกิจกรรมขึ้นมาด้วยหัวข้อ หัวข้อนึงว่า “สันติบนความต่าง” คำเนี่ย
มันเป็นคำที่บ่งบอกว่า แหล่งตรงนี้ สถานที่ตรงนี้ ไม่ได้มีแค่ชาวพุทธอยู่กันนะ แต่...
มันเป็นแหล่งที่รวมภาษาบ้าน ก็เรียกกัน ไทย แขก จีน ฝรั่ง ซึ่งมันเป็นวัฒนธรรมที่อยู่รวมกันที่อาศัย
และพักพิงอยู่ร่วมกันมาเป็นเวลากว่า 240 กว่าปี ซึ่งมันทำให้เห็นว่า ชุมชนตรงนี้
สถานที่เหล่านี้ เขาอยู่กันมาแบบพี่ๆ น้องๆ ถึงจะแตกต่างกันแค่ศาสนาและวัฒนธรรมความเป็นอยู่
แต่มันไม่ได้สร้างความแตกแยกให้กับพวกเขาแม้แต่สักนิดนึงเลย...
บางคนก็ชอบมาถามว่า “แขกเขาวัดได้หรอ” ผมไม่ใช่ผีนะครับ 55 55+

เอาหละครับเราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับสถานที่ต่างๆในประวัติศาสตร์กัน
ในช่วงเวลาทัศนศึกษาแบ่งออกเป็น 2 Part นะครับผม
ช่วงเช้า เป็นการเดินเท้าเยี่ยมชมศาสนสถานต่างๆ
ช่วงบ่าย เป็นการล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาและเยี่ยมชมศาสนสถาน 2 ฝั่งแม่น้ำ
โดยเริ่มต้นจาก โบสถ์ซางตาครูส - สะพานสาทร - คลองบางกอกน้อย



สถานที่แรกที่จะไปทำความรู้จักกันนะครับ

1.วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร
วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร สร้างในสมัย กรุงศรีอยุธยาพื้นที่วัดเดิมเป็นของโบราณมีมานานสำหรับเมืองธนบุรี คำคนแก่เก่า ๆ เป็นอันมากเรียกว่า วัดเจ้าขรัวหง แลว่ากันว่าจีนเจ๊สัวมั่งมี บ้านอยู่กะดีจีน สร้างขึ้นไว้แต่ในครั้งโน้น
ย้อนไปในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร ถือเป็นวัดที่มีสำคัญอย่างมาก นอกจากตั้งติดกับพระบรมราชวังที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ในปีพุทธศักราช ๒๓๑๔ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงเป็นเอกอุปถัมภก บูรณปฏิสังขรณ์ วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร เป็นการใหญ่ และทรงสร้อยนามวัดอย่างเป็นทางการว่า วัดหงษ์อาวาสวิหาร







2.มัสยิดต้นสน
มัสยิดต้นสน หรือ กุฎีบางกอกใหญ่ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า กุฎีใหญ่ เป็นมัสยิดซุนนีย์ที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร
สร้างตั้งแต่ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา มีอายุประมาณ 400 กว่าปีได้และเป็นศาสนสถานที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีศาสนกิจฝังศพ เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ (หมุด) นายทหารคู่พระทัยและโปรดเกล้าฯ
ให้ปฏิสังขรณ์และพระราชทานที่ดินขยายพื้นที่จากเดิมที่เจ้าพระยาราชวังสันเสนีย์ (ม๊ะหูด) บุตรเจ้าพระยารามเดโชชัย
สร้างไว้ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มุสลิมชีอะฮ์ก็ได้ใช้มัสยิดต้นสนในการปฏิบัติศาสนกิจทั่วไป เป็นเหมือนพี่กับน้องกันมาตลอด
แม้แต่การใช้กุโบรร์ร่วมกันในการฝังศพ และที่ฝังศพนี้ ยังมีหลุมฝังศพจุฬาราชมนตรีถึง 9 ท่าน ฝังอยู่ด้วย
ซึ่งทำให้เห็นว่าความสัมพันธ์ของพี่น้องชีอะห์และซุนนีย์สมัยก่อนนั้นเปรียบเสมือนพี่น้องญาติมิตรกันมาโดยตลอด
และภายในมัสยิดนั้นงานสถาปัตยกรรมต่างๆ ยังมีการผสมผสานกันระหว่างเปอร์เซียและความเป็นไทยในการออกแบบมัสยิดอีกด้วย





คลองบางหลวง หรือ คลองบางกอกใหญ่


3.มัสยิดบางหลวง
มัสยิดแห่งหนึ่งที่ดูจะแปลกไปจากมัสยิดอื่นทั่วๆ ไป เพราะเป็น มัสยิดทรงไทย ที่ผสมกลมกลืนศิลปะของ ไทย จีน และฝรั่ง
มาผสานเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างงดงามและลงตัวและหากพูดถึงมัสยิดบางหลวง ก็ไม่อาจที่จะไม่พูดถึงชุมชน คลองบางหลวง
ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในชุมชนเก่าแก่ ที่ชาวไทยมุสลิมกลุ่มใหญ่มารวมตัวกันอยู่บริเวณปากคลองบางหลวง (ถนนอรุณอมรินทร์ตัดใหม่)
โดยชุมชนมุสลิมที่นี่ได้ก่อร่างสร้างชุมชนมาพร้อมๆกับการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ มีบรรพบุรุษของชาวชุมชนเป็นแขกจาม
(ชาวมุสลิมจากอาณาจักรจัมปาในเขมร ที่เข้ามาเป็นกองอาสาจาม) และแขกแพ (ปลูกแพอยู่) ที่อพยพมาจากอยุธยาเมื่อคราวกรุงแตก






5.ศาลเจ้าเกียนอันเกง
บางคนถ้าใครที่เคยไปแล้วอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตาศาลเจ้าแห่งนี้กันบ้างนะครับ เพราะศาลเจ้าแห่งนี้
ได้เคยถ่ายทำละครหลายเรื่อง เรื่องที่คนน่าจะดูกันเยอะน่าจะเป็นเรื่องเลือดมังกรนะครับผม ซึ่ง
เป็นศาลเจ้าที่สร้างขึ้นโดยคนจีนที่ตามเสด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ปากคลองบางหลวง
หรือคลองบางกอกใหญ่ทางฝั่งตะวันออกครั้นเมื่อเจ้าพระยานิกรบดินทร เจ้าสัวโต ต้นสกุลกัลยาณมิตร อุทิศที่บ้าน
กับซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อสร้างวัดกัลยาณมิตร ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3
ชาวจีนจากมณฑลฮกเกี้ยน ตำบลเจียงจิว และจัวจิว ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของ สกุลตันติเวชกุล และ สกุลสิมะเสถียร
ได้เดินทางมากราบไหว้ที่ศาลเจ้าทั้งสองนี้ ครั้นแลเห็นชำรุดทรุดโทรมหนักก็ไม่คิดที่จะซ่อมแซม
แต่ได้ร่วมกันรื้อศาลเจ้าทั้งสองแต่เดิมนั้นลง แล้วสร้างศาลเจ้าใหม่ ในที่เดิมเป็นศาลเดียว แต่จะอัญเชิญเจ้าพ่อโจวซือกง
และเจ้าพ่อกวนอูไปประดิษฐานที่ใดไม่ปรากฏ ส่วนศาลเจ้าที่สร้างใหม่ได้เปลี่ยนองค์พระประธานเป็นเจ้าแม่กวนอิม
และชื่อศาลเจ้าแห่งนี้ เป็นชื่อที่ใช้ติดต่อสืบมาจนปัจจุบันว่า “ศาลเจ้าเกียนอันเกง”





6.วัดซางตาครู้ส, โบสถ์ซางตาครู้ส หรือ วัดกุฎีจีน
กระทั่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้อิสรภาพจากพม่าได้สำเร็จ และได้ทำพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว
คุณพ่อกอรร์ (Corre) ซึ่งลี้ภัย ไปอยู่ประเทศเขมรจึงได้เดินทางกลับมายังเมืองบางกอกในวันรุ่งขึ้น
คุณพ่อกอรร์ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และได้รับการต้อนรับอย่างดี พระองค์ได้ประทานเงิน  20 เหรียญ (กษาปณ์)
กับเรือหนึ่งลำ แก่คุณพ่อ และยังสัญญาจะพระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งสำหรับสร้างวัด คุณพ่อกอรร์จึงตั้งชื่อที่ดินผืนนี้ว่า “ค่ายซางตาครู้ส”
เพื่อระลึกถึงวันที่ได้รับพระราชทานที่ดิน ซึ่งตรงกับวันฉลองเทิดทูนไม้กางเขน และคุณพ่อกอรร์ก็ได้จัดสร้างวัดน้อยชั่วคราวขึ้นหลังหนึ่งบนที่ดินผืนนี้
พร้อมกับตั้งชื่อวัดนี้ว่า  “วัดซางตาครู้ส” ถ้าใครที่ไปก็อย่าลืมแวะชิมขนมชื่อดังของที่นี่นะครับผม “ขนมฝรั่งกุฎีจีน”
รูปในโบถส์ซางตาครูสอาจจะน้อยไปนิดนะครับ เนื่องจากภายในตัวโบสถ์ได้มีการประกอบพิธีกันอยู่ เลยเก็บภาพมาได้เล้กน้อย



พักเบรคทานข้าวกันสักแปปแล้วเราเดินทางกันต่อใน Part 2 ช่วงบ่ายโดยการล่องเรือกันนะครับ







7.มัสยิดกูวติลอิสลาม หรือมัสยิดตึกแดง
เมื่อได้เข้ามาถึงตัวมัสยิด รู้สึกได้ถึงความร่มรื่น และสบายตามาก ด้วยความที่ตัวมัสยิดอยู่ริมน้ำและอากาศระบายถ่ายเทได้ดี
และโทนสีในตัวมัสยิดเย็นๆ ทำให้ความรู้สึกหลังจากรับประทานอาหารเที่ยงมาเริ่มตาหย่อนๆ แทบอยากจะเอนกายลงนอน
มัสยิดนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้เชิงสะพานพุทธฯ ซึ่งแต่เดิมตึกแดงคือสำนักงานพระคลังสินค้าของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ
สมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้บริจาคเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ให้กับมุสลิมในชุมชนนี้ ด้วยเห็นว่ามุสลิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้ไม่มีมัสยิดสำหรับปฏิบัติศาสนกิจ
ต้องเดินทางไปที่มัสยิดบ้านสมเด็จ ซึ่งหนทางสมัยนั้นเต็มไปด้วยป่าสะแก มัสยิดนี้จึงเริ่มสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2402
สำหรับมุสลิมที่เคยมีบทบาทในด้านการปกครองจากชุมชนนี้ คือ นายเล็ก นานา อดีต รัฐมนตรี นายอารีย์ วงศ์อารยะ
อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ บอล อธิป นานา
รวมถึงซอยนานาในปัจจุบันก็เป็นของต้นตระกูลนานาด้วยนะครับผม




8.ขันลงหินบ้านบุ
ชุมชนบ้านบุ ละแวก วัดสุวรรณาราม ชุมชนที่มีบ้านเรือนอาศัยกว่า 100 หลังคาเรือน ครั้งหนึ่งเป็นย่านที่ทำ ขันลงหิน
หรือ "ขันบุ" มาตั้งแต่โบราณ เรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า บรรพบุรุษของชาวบ้านบุ มีอาชีพทำขันลงหินตั้งแต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา
หลังจากที่เสียกรุง พระเจ้าตากสินได้กอบกู้เอกราชแล้วย้ายเมือง ทำให้ชาวบ้านจากกรุงศรีฯได้อพยพมาตั้งหมู่บ้านยังทำเลนอกคลองคูเมืองราชธานี
เมื่อ พ.ศ.2310 ติดกับวัดสุวรรณาราม (วัดทอง) ซึ่งเป็นวัดที่มีมา ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จากศิลปะการทำขันลงหินอันรุ่งโรจน์
เสียงทุบทองเคยดังกังวานทุกหลังคา  แต่วันนี้ กลับเหลือผู้ที่ยังสืบทอดมรดกทำขันลงหินจากกรุงศรีอยุธยาเพียงหลังคาเดียว คือ
"ขันลงหินบ้านบุ เจียม แสงสัจจา"





สิ้นสุดการเดินทางในกิจกรรมวันนี้ของเรากันเรียบร้อยนะครับขอปิดท้ายด้วยรูปสุดท้ายรูปผู้ร่วมเดินทางทั้งหมดนะครับผม


Special Thank
- คุณน้าธีระนันท์ ช่วงพิชิต เป็นวิทยากรผู้ให้ความรู้ต่างๆมากมายที่ไม่เคยรุ้มาก่อน
- คุณลุงทำเนียบ วิทยากรผู้อาวุโสอีกท่านนึงในด้านสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์
- ศาสนสถานทุกที่ ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
- เพื่อนร่วมเดินทางทุกท่าน
- Thank Wikipedia สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
ชื่อสินค้า:   แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวย่านกรุงธนบุรี
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่