สอบถาม value investment ครับ เพิ่งเริ่มศึกษาเดือนเดียวจากหนังสือ เว็ป แต่ไม่รู้จะเริ่มปฏิบัติยังไง

ผมอยู่ที่อเมริกาเริ่มศึกษามาเดือนเดียว อ่านหนังสือ learn to earn, rich dad poor dad, random walk down wallstreet, one up on wallstreet, ตอนนี้กำลังอ่าน intelligent investor ไปบทหนึ่ง

พอจับหลักได้ว่าให้ลงทุนในบริษัทที่รากถานดี ถือยาวไม่สนใจตลาด เป็นหลัก แต่หนังสือพวกนี้มันเน้น สอน mindset เป็นหลัก ในโลกปฎิบัติ มีบริษัท จดทะเบียนเยอะแยะมากมายหลายพัน ผมจะไปศึกษาทุกบริษัทก็คงเป็นไปไม่ได้ แล้วผมจะรู้ได้ยังไงว่าควรไปศึกษารายละเอียดบริษัทไหนบ้าง แล้วคำว่าศึกษาบริษัทที่มีพื้นถานดี ต้องศึกษาจากไหน ในเวปของบริษัท หรือใน financial statement แล้วเราจะเอา financial statement มาจากเวปไหน นั่นหมายความว่าผมต้องศึกษาการอ่าน financial statement ให้เก่งด้วยใช่มันครับ

ตอนนี้ว่าจะเอาเงินไปลงทุนใน index mutual funds รอจนรู้เรื่องมากขึ้นก่อนค่อยมาเลือกหุ้นเอง

ขอบคุณครับ

คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
🎀🎀 Roadmap สำหรับ VI 🎀🎀

Cr. โดย สันติ สิงหวังชา

การเดินทางของคนที่ต้องการจะเป็น Value Investor ที่ประสบความสำเร็จได้นั้น ผมเชื่อว่าควรจะมี การวางแผน ตั้งเป้าหมาย และติดตามผล ….ในวันนี้ผมจะลองวาดภาพ Roadmap ของตัวผมเองทั้งที่ผ่านมาแล้ว และยังไปไม่ถึงให้ดูกันนะครับ

ในสมัยเริ่มต้นใหม่ๆ คงไม่ใช่ผมคนเดียวที่จะรู้สึกว่าการลงทุนแบบ VI นั้นยากไม่ใช่เล่น เพราะต้องรู้เรื่องมันสารพัดอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบัญชี ธุรกิจ การเงิน ฯลฯ การจะศึกษาหุ้นแต่ละตัวก็ใช้เวลาไม่น้อย หลายๆครั้งนั่งศึกษาหุ้นเป็น 10 ตัวก็ยังไม่เจอดีๆซักตัว
…อ่านงบการเงินก็ไม่ค่อยเป็น ข้อมูลจะหาจากไหน การเทรดหุ้นให้ดีจะทำอย่างไร ยิ่งคิดก็ยิ่งกลุ้ม …

แต่ผมก็พยายามที่จะศึกษาการลงทุนแบบ VI ต่อไป แม้จะมีเบื่อบ้าง ท้อบ้าง แต่พอมาถึงจุดนึงก็ได้รู้ว่า ที่เราลงทุนลงแรงไปมันคุ้มค่ามากเหลือเกิน …

step การศึกษาของผมแบบคร่าวๆเป็นแบบนี้ครับ

🍀 1. เริ่มต้นจากการศึกษาหาความรู้ในแนวทางการลงทุนแบบ VI เพื่อให้เข้าใจแนวคิดและวิธีการคร่าวๆ ช่วงนี้ผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับ VI แทบทุกเล่มที่หาได้ ซึ่งหนังสือหลายๆเล่มผมก็ได้เขียนถึงไปบ้าง แล้ว เช่น ตีแตก , One up on Wallstreet , วาทะของวอเรนบัฟเฟตต์, The Warren Buffett Way ฯลฯ เมื่ออ่านหนังสือพวกนี้ไปมากจะจะเข้าใจแนวคิดในการลงทุนแบบ VI มากขึ้น แต่สิ่งที่เป็นปัญหาของผมในวันนั้นหลังจากอ่านหนังสือ VI ไปได้หลายเล่มก็คือ ผมยังขาดความสามารถในการอ่านงบการเงิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในเป็น VI ที่ดีได้
(อ่านเพิ่มเติมได้ที่กระทู้ “มือใหม่อยากลงทุนหุ้นแนว VI ต้องอ่านหนังสืออะไรบ้างมาดูกันครับ”)

🍀 2. เมื่อพบจุดอ่อนของตัวเองเรื่องของการอ่านงบการเงิน ผม ก็เลยลอง load งบการเงินจากเวปไซต์ www.sec.or.th มาลองฝึกอ่านดู โดยช่วงแรกใช้หนังสือ ตีแตก ของ ดร.นิเวศน์ เป็นแนวทาง เพราะในหนังสือมีตัวอย่างการวิเคราะห์งบการเงินให้ดู จำได้ว่าตอนแรกผม load งบการเงินของบริษัทในกลุ่มหนังสือ สิ่งพิมพ์มาอ่าน เช่น se-ed aprint mati เพื่อที่จะได้ลองเอามาเปรียบเทียบได้ แต่กว่าที่ผมจะลองคำนวณอัตราส่วนต่างๆตามหนังสือตีแตกได้ ก็เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกัน เพราะแต่ละงบนี่กว่าจะทำเสร็จก็กินเวลาเป็นวันเหมือนกัน ผมเห็นท่าจะไม่ดี ก็เลยของไปหาหนังสือเล่มอื่นๆมาอ่านดู เผื่อจะได้ idea มากขึ้น ตอนนั้นก็เห็นหนังสือของ ดร.ภาพร (อ่านงบการเงินให้เป็น) วางอยู่ที่ se-ed ก็เลยลองซื้อมาอ่าน แรกๆก็อ่านเข้าใจยากอยู่บ้าง แต่ยิ่งพออ่านจบไปรอบนึงแล้วเรากลับมาดูงบการเงินใหม่ ก็เห็นได้ชัดเจนว่าสามารถทำความเข้าใจกับงบได้เร็วขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถวิเคราะห์ให้ทะลุปรุโปร่งได้เท่าที่ควร
ผมก็เลยไปหาซื้อหนังสือของ ดร.ภาพร เล่มอื่นๆมาอ่านเพิ่มเติมเรื่อยๆ (รู้สึกมีอยู่ 3-4 เล่ม) ยิ่ง อ่านมาเท่าไหร่ ยิ่งทดลองแกะงบการเงินมากขึ้นเท่าไหร่ ความเร็วในการอ่านงบก็เร็วขึ้นเท่านั้น ระหว่างนี้ผมก็ยังหาความรู้เพิ่มเติมจากงานสัมมนาของตลาดหลักทรัพย์ ตอน นั้นไปเรียนกับ อ.ธนเดช มหโภไคย ซึ่งสอนการอ่านงบได้เข้าใจง่ายดีมาก และยังสอนเรื่องการอ่านงบกระแสเงินสด (ซึ่งหาอ่านที่ไหนไม่ค่อยได้เท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะมีแต่หนังสือสอนอ่านงบดุลกับงบกำไรขาดทุน)

หลังจาก ผมเริ่มอ่านงบการเงินได้คล่องมากขึ้น ก็ทำให้ผมเลือกซื้อหุ้นที่มีคุณภาพดี มีความปลอดภัยได้สูงขึ้นจากการใช้งบการเงินช่วย ซึ่งงบการเงินที่ผมจะชอบดูนั้นก็คืองบย้อนหลังไป 3 ปี (ซึ่งใน 56-1 นั้นจะรวมตัวเลขย้อนหลังให้ 3 ปีอยู่แล้ว ก็ถือว่าสะดวกดี) เพื่อดูแนวโน้มของบริษัท นอกจากนี้ก็จะ load งบการเงินรายไตรมาสของปีล่าสุดทุกไตรมาสมาอ่านดู เพื่อดูแนวโน้มบริษัทในระยะสั้น (เพราะผมเคยเจ็บตัวมาแล้วกับหุ้น ไก่ ซึ่งมีรายได้ลดลงทุกไตรมาส ผมดูแค่งบปีเลยคิดว่าดี เพราะรวมรายได้ทั้งปีมันยังพอใช้ แต่หารู้ไม่ว่าไอ้ที่รายได้สูงๆน่ะมันตอนไตรมาสแรก พอไตรมาสต่อๆมารายได้มันลดลงเรื่อยๆ ก็พอจะบอกได้ว่าบริษัทอาจจะกำลังมีปัญหา)

🍀 3. พอเราซื้อหุ้นมาแล้ว หรือมีหุ้นที่เล็งจะซื้อไว้ในใจแล้ว บางครั้งเราซื้อหุ้นมาไม่นาน หุ้นมันวิ่งขึ้นไปก็ดีใจ คิดว่าตัวเองเก่งเลือกหุ้นได้ถูก แต่พอครั้งไหนซื้อหุ้นปุ๊บแล้วมันวิ่งลงปั๊บ ก็คิดว่าบริษัทอาจจะมีปัญหา พาลคิดไปเองว่าตัวเองเลือกหุ้นไม่ดี …. เป็นอย่างนี้อยู่บ่อยๆ สภาพจิตใจก็เริ่มแย่ อารมณ์ตัวเอง ถูกราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นลงรายวันพาให้แกว่งไปอยู่ตลอดเวลา คิดแล้วก็เลยว่าต้องหาที่พึ่งทางใจ ด้วยการกลับไปอ่านหนังสือ VI ในข้อ 1 ใหม่อีกรอบให้หมด ก็ได้ใจความว่า“เราไม่จำเป็นต้องซื้อหุ้นได้ราคา ต่ำที่สุดเสมอไป ขอให้ซื้อหุ้นได้ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าก็โอเคแล้ว” หรือคำพูดของ Buffett ที่บอกว่า “ถ้าไม่สามารถทนเห็นราคาหุ้นลดลงกว่า 50% ได้ ก็อ่านคิดที่จะเล่นหุ้น” ทำให้ผมคิดได้ว่าการที่ราคาหุ้นมันวิ่งขึ้นลงนั้น มันเป็นเรื่องของ demand (แรงซื้อหุ้น) และ supply (แรงขายหุ้น) ดังนั้นการขึ้นลงของหุ้นในระยะสั้นไม่ได้บอกว่าบริษัทนั้นมันดีหรือไม่ดีอย่างไร คิดได้แบบนี้ก็ทำให้สภาพจิตใจเริ่มดีขึ้น เวลาหุ้นขึ้นก็ไม่หยิ่งผยองคิดว่าตัวเก่ง หรือเวลาหุ้นลงก็ไม่มานั่งกลุ้มใจ เอาเวลาไปศึกษาติดตามธุรกิจของหุ้นที่เราถือดีกว่าเอาเวลามานั่งดูราคาหุ้นรายวัน
Fหนังสือที่ช่วยให้ผมผ่านจุดนี้ไปได้อีกเล่มนอกจากหนังสือ VI ก็คือหนังสือ “จิดวิทยาการลงทุน” ช่วยทำให้เข้าใจแนวคิดของคนในการลงทุนได้มากขึ้น และเคล็ดลับอย่างหนึ่งที่ผมได้มาจากการผ่านพ้นกำแพงนี้ไปได้ก็คือ “จง ลืมราคาต้นทุนที่เราซื้อหุ้นมาให้หมด (รวมถึงราคาในอดีตทั้งหมด)” เพราะตัวเลขราคาเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้คนเกิดกับดักทางจิตวิทยาได้ง่าย เช่น คนส่วนใหญ่ไม่ชอบขายหุ้นถ้าราคาหุ้นต่ำกว่าราคาทุน เพราะจะรู้สึกว่าตัวเองขาดทุน แต่สำหรับผมถ้าผมคิดว่าหุ้นตัวดังกล่าวไม่ดี และมีโอกาสที่ราคาจะต่ำลงไปอีกยังไงผมก็ขาย ราคาทุนไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจทั้งสิ้น ถ้าคิดได้แบบนี้แล้ว ผมว่าเส้นทาแห่งความสำเร็จก็เข้าใกล้มาอีกขั้น

หลังจากที่ เรามีความรู้ในเรื่องของแนวคิดการลงทุนแบบ VI รวมกับความรู้ในการอ่านบัญชี หรือการวิเคราะห์จากตัวเลข ท้ายสุดก็คือเรื่องของจิตวิทยาการลงทุน ผมก็เชื่อว่านักลงทุนท่านนั้นๆก็น่าจะมีความพร้อมระดับนึงในการลงทุนให้ตลาดหุ้นแล้ว ….

🍀 4. ทักษะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือทักษะในการวิเคราะห์ธุรกิจ มองถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรม ผลกระทบจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เมื่อเราเห็นว่าค่าเงินบาทแข็งขึ้น บริษัทอะไรจะได้ประโยชน์ บริษัทอะไรจะเสียประโยชน์ เมื่อเกิดภาวะโลกร้อนขึ้น บริษัที่ขายเครื่องดื่ม และบริษัที่ขายแอร์ก็น่าจะได้ประโยชน์ แรกๆผมเองก็ไม่ค่อยเห็นถึงความสัมพันธ์ของปัจจัยแวดล้อมต่อบริษัทต่างๆใน ตลาดหุ้นซักเท่าไหร่ แต่ยิ่งผมนั่งศึกษาธุรกิจของบริษัทต่างๆมากขึ้น อ่านหนังสือมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น 56-1, annual report, หนังสือพิมพ์ หรือ Pocket Book ต่างๆ

นอกจากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัย แวดล้อมต่อตัวบริษัท เรายังจะต้องสามารถวิเคราะห์ถึงความสามารถของบริษัท ข้อเด่นข้อด้อย ความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่ง เพราะบางครั้งเราวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกได้ว่าธุรกิจกลุ่มไหนจะได้ประโยชน์ แต่การเลือกหุ้นในธุรกิจนั่นๆ ก็จำเป็นต้องสามารถวิเคราะห์แบบภายในได้เช่นกัน…

ในระยะแรกๆ ของการลงทุน ผมเองก็ไม่ค่อยรู้เรื่องในแต่ละอุตสาหกรรมเท่าไหร่ …ในช่วงแรกๆของการเล่นหุ้นผมพยายามศึกษาธุรกิจโฆษณา เนื่องจากสนใจลงทุนในบริษัทโฆษณา แรกๆก็ไม่เข้าใจว่าโครงสร้างรายได้เป็นอย่างไร ปัจจัยแห่งความสำเร็จคืออะไร แนวโน้มของบริษัทเป็นอย่างไร พอศึกษาไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งมีความเข้าใจมากขึ้น ต่อมาผมก็หันมาสนใจกับหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ก็ทำให้รู้ว่าเราจำเป็นต้องเข้าใจว่าบริษัทนั้นมีการผลิตโดยเน้นเครื่องจักร ที่ทันสมัยเป็น Automatic หรือว่าเป็นการผลิตที่เน้นการใช้แรงงาน ซึ่งธุรกิจทั้ง 2 ประเภทก็จะมีความสามารถในการลดต้นทุนที่แตกต่างกันและมี Key Success Factor ที่แตกต่างกัน ฟังๆดูอาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจ ยาก แต่ยิ่งผมศึกษาการทำธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆกันมากเท่าไหร่ ความรู้ของผมก็กว้างขึ้นเรื่อยๆ ขอบเขตความสามารถก็กว้างขึ้น ทำให้ใช้เวลาน้อยลงในการทำความเข้าใจหุ้นแต่ละตัว เนื่องจากการลงทุนแบบ VI ทีดีจำเป็นต้องเข้าใจในธุรกิจที่ลงทุน การขยายขอบเขตความรู้ของตัวเองออกไป ทำให้ผมคว้าโอกาสที่ผ่านมาได้มากขึ้น หุ้นที่แต่เดิมไม่เคยคิดจะสนใจ ก็เข้ามาอยู่ในกรอบความสนใจ เมื่อมีปัจจัยอะไรที่ให้โอกาสกับหุ้นตัวนั้นๆ ผมก็ซื้อหุ้นได้ทัน และเร็วกว่าคนอื่นๆ ผลตอบแทนก็ยิ่งมากขึ้นๆ

ทักษะ ในข้อนี้ของผมเองก็ยังคงอยู่ในวงจำกัด ยังมีอีกหลายธุรกิจที่ผมยังมองว่ายากเกินที่ผมจะเข้าใจ เช่น การเกษตร แบงค์ อสังหา ฯลฯ ทำให้ผมไม่สามารถที่จะลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ได้ .. แต่ผม ก็หวังว่ายิ่งผมใช้เวลาอยู่ลงทุนนานขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น อ่านมากขึ้น ขอบเขตความรู้ของผมก็จะกว้างขึ้น และในอนาคต ตัวเลือกในการลงทุนก็จะมากขึ้น ผลตอบแทนคงจะดีขึ้นตามลำดับ …. ขั้นตอนนี้แม้จะใช้เวลานานมาก เพราะเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ผลเชื่อว่าเป็นทักษะที่สำคัญในอันดับต้นๆของการลงทุนให้สำเร็จ

🍀 5. ความสามารถในอ่านคน : หลายๆคนอาจจะงงๆว่ามันเกี่ยวอะไรกับการลงทุน …ผมเชื่อว่าหุ้นที่ดีจะต้องประกอบไปด้วย 3 ประการหลัก คือ 1. บริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่ดี 2. บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันที่ดี 3. บริษัทมีผู้บริหารที่ดี ทักษะในข้อที่ 4 จะสามารถตอบโจทย์ข้อ 1 และ 2 ได้ แต่การที่จะตอบคำถามเรื่องผู้บริหารนั้นผมว่าจำเป็นที่จะต้องอ่านคนออก …สิ่งที่ผมต้องการสำหรับผู้บริหารคือความเก่ง ขยันและซื่อสัตย์ ซึ่งการตั้งคำถาม การพูดคุย หลายๆครั้งจะทำให้เราพอที่จะสามารถตีความได้จากบุคคลิก ลักษณะ และการตอบคำถาม

แรกๆ senseในการอ่านคนของเราอาจจะไม่มากเท่าไหร่ แต่ยิ่งเรามีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารหลายๆคน บ่อยๆ เราจะเริ่มจับทาง และมีเซ้นส์ในการอ่านคนที่ดีขึ้นได้ ผู้บริหารบางคนจะชอบโม้เกินจริง บางคนจะชอบพูดแบบ conservative ไว้ก่อน ผู้บริหารชอบปิดบังสิ่งที่ไม่ดีเอาไว้ในใจไม่ยอมพูด บางคนนี่ก็เชื่อคำพูดเค้าไม่ได้เลย เราจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจลักษณะของผู้บริหารแต่ละคน … หลายครั้งเราก็ต้องตั้งคำถามให้เห็นวิสัยทัศน์ วิธีการแก้ปัญหา … แผนการดำเนินการในอนาคต ซึ่งจะทำให้เราทราบได้ว่าผู้บริหารนั้นเก่ง หรือขยันหรือไม่อย่างไร …

การเสริมความรู้ในทักษะ ด้านการอ่านผมสามารถพัฒนาได้ด้วยการพูดคุยกับผู้บริหารหลายๆท่าน และติดตามผลงานของพวกเขาว่าเป็นอย่างที่พูดหรือไม่ ฝึกตั้งคำถามที่สามารถบ่งบอกได้ถึงความสามารถ หรือความซื่อสัตย์ เช่น ผมมักจะชอบถามผู้บริหารว่าเค้ามีปัจจัยอะไรที่เป็นเรื่องที่กังวลเกี่ยวกับ ธุรกิจอยู่บ้างหรือว่า หรือมีอะไรที่ห่วงทำให้นอนไม่หลับ … ผู้บริหารที่ซื่อสัตย์จะมักจะตอบตรงๆถึงสิ่งที่เค้าเป็นกังวลอยู่ ในขณะที่ผู้บริหารที่ไม่ค่อยซื่อเท่าไหร่ แม้มีเรื่องอยู่ ก็มักจะปิดบังเอาไว้ไม่ยอมพูด อาจจะตอบว่าไม่มี หรือไม่ก็เฉไฉไปเรื่องอื่น เพราะคนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยชอบพูดในเรื่องร้ายๆ ต่อธุรกิจตัวเอง มักจะพูดแต่เรื่องดีๆ (ไม่ได้ใช้ได้ 100% นะครับ แต่เท่าที่ลองๆดู การใช้คำถามนี้ถามผู้บริหารก็จะได้คำตอบที่อ่านผู้บริหารได้พอสมควร) นอกจากนี้บางครั้งผู้บริหารที่ตอบถึงปัญหาแบบตรงๆ บางครั้งผมก็จะเจอผู้บริหารที่บอกถึงปัญหาที่กังวล ข่าวร้าย แต่ในขณะเดียวกันก็บอกถึงทางแก้ไข หรือแผนการที่จะป้องกันไว้ด้วย … พวกนี้ผมว่ามักจะเป็นผู้บริหารที่จะมีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ข้อ คือเก่ง ขยัน และซื่อสัตย์ …

นอกจากการพูดคุยกับผู้บริหารบ่อยๆ แล้วผมยังชอบที่จะหาหนังสือเกี่ยวกับจิตวิทยาการอ่านอยู่เรื่อยๆ ลองไปหาหนังสือของ เดวิด เจไลเบอร์แมน มาอ่านดูนะครับ .. เห็นเขียนไว้หลายเล่ม อ่านๆไปผ่านๆ บางครั้งเราสามารถนำความรู้เหล่านี้ที่ได้มาใช้โดยไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ ..
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่