คุณกิน "ฮาลาล" ได้มั้ย กินแล้วรสชาติเปลี่ยนมากหรือเปล่า?



#หยุดใช้อำนาจข้ามเขต
...หนึ่งคำถามที่มันค้างคาอยู่ในใจผมอยู่ และทำให้รู้สึก “ท้อ” ที่สุดตั้งแต่ทำเพจมา มันติดอยู่ในใจตั้งแต่ปีที่แล้ว หลังจากวันนั้นผมแทบไม่อยากเคลื่อนไหวหรืออัพเดทใดๆ ในเพจชนพุทธฯ เลย  ซึ่งถ้าเป็นคำถามจากการนั่งคุยกันแค่ 2-3 คนปกติธรรมดา ผมคงไม่คิดอะไรมาก แต่คำถามนี้มันกลับเกิดขึ้นในเวทีเสวนาแห่งหนึ่ง ที่มีทั้งผู้เห็นต่าง ประมาณ 6 คน และ กลุ่มตัวแทนของ “ชาวพุทธ” อีกประมาณ 10 กว่าคน
....ในขณะที่ผมกำลังแลกเปลี่ยนประเด็นด้วยคำถามที่ว่า “KFC ที่เข้าไปเปิดในบิ๊กซี ปัตตานี ทำไมต้องบีบให้ KFC ออกจากพื้นที่” ซึ่งได้รับคำตอบจากกลุ่มผู้เห็นต่างว่า “อาหารไม่ฮาลาล (ไม่ถูกหลักศาสนาอิสลาม) แล้วให้คนมุสลิมมาเป็นพนักงานขายอีกด้วย” ผมจึงถามต่อว่า “แล้วทำไม พวกคุณไม่บอกพวกคุณเองว่า อาหารไม่ฮาลาล ไม่ต้องมากิน และไม่ต้องมาเป็นพนักงานขายด้วย เพราะคนพุทธ และคนอื่น เขากินได้ ไม่ผิด” แต่คำตอบก็ยังคงยืนยันว่าไม่ให้ขายในพื้นที่
...จนประเด็นเริ่มแตกไปถึง การนั่งรับประทานอาหารร่วมโต๊ะระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมว่า ...ทำไม ต้องรังเกียจ “เมนูหมู” ของพวกเรา ทำไมนั่งร่วมโต๊ะกันไม่ได้ เพราะต่างก็กินกันคนล่ะภาชนะ ช้อน, ถ้วย, ชาม, เราก็แยก แต่ทำไมถ้านั่งโต๊ะเดียวกัน กับพี่น้องมุสลิมใน 3 จชต. เราต้องยก “เมนูหมู” นั้นออกไป ถ้าไม่ยกออกถือว่าไม่ให้เกียรติคนมุสลิม หรือเวลาจะนัดเลี้ยงนัดสังสรรค์ ถ้ามีเพื่อนมุสลิม เราต้องไปนั่งร้านที่เป็นร้านมุสลิมเท่านั้น คือ เราไม่สามารถทำให้รวมกันได้เลยหรือ???
....ผมพูดในเวทีเสวนาวันนั้นว่า “ผมเป็นคนไทยพุทธ พวกผมกินหมู พวกผมเลี้ยงหมา พวกคุณก็ต้องยอมรับพวกเราให้ได้ ทั้งอาหารการกิน และการใช้ชีวิต” เมื่อแยกภาชนะกัน ก็ต้องนั่งกินโต๊ะด้วยกันได้ พวกท่านไม่กินหมูเพราะผิดหลักศาสนาอิสลาม อันนี้พวกเรารู้ดี และพวกเราก็คงไม่บ้าตักเนื้อหมูไปยัดปากพวกท่าน
...ผมเลยลองเสนอว่า...ถ้าอย่างนั้นทั้ง โรงแรม ร้านอาหารต่าง เราทำเป็น 2 ครัว เหมือนสมัยก่อน ที่เวลาคนพุทธจัดงานแต่ง งานบวชหรืองานศพ แล้วถ้าอยากเชิญญาติ หรือเพื่อนพี่น้องที่เป็นมุสลิมมาร่วมงานด้วย ชาวพุทธก็จะต้องไปหาแม่ครัวมุสลิม มาทำครัว ทำอาหารแยกกัน 2 ครัว คนพุทธคนมุสลิม จึงสามารถมาร่วมงานกันได้ ร่วมแสดงความยินดีกันได้ เป็นต้น
ถ้าโรงแรม ก็สร้างห้องครัว 2 ห้อง ภาชนะก็แยกวางเป็น 2 ชุด ที่ไม่ห่างกัน แต่โต๊ะนั่งทานอาหารไม่ต้องแยกฝั่ง ใครอยากนั่งด้วยกันก็นั่ง ใครไม่อยากนั่งรวมกับชาวพุทธที่กินเมนูหมูก็แยกโต๊ะออกไป แต่ไม่ใช่แยกเป็นห้องครัวไทยพุทธ ห้องครัวไทยมุสลิม ซึ่งคำตอบในข้อเสนอเรื่องนี้ ผู้เห็นต่างบอกว่า “ก็น่าสนใจ...แต่ไม่แน่ใจว่าเราจะสามารถทำได้จริงแค่ไหน?”
....ผมจึงเปรียบเทียบให้เห็นว่า...โต๊ะกับข้าวก็เหมือนพื้นที่ใน 3 จังหวัด ที่เรามีทั้งคนพุทธและคนมุสลิมอยู่ด้วยกัน แค่การใช้ชีวิตปกติสามัญบนโต๊ะอาหารเล็กๆ เรายังนั่งร่วมกินข้าวด้วยกันไม่ได้ แล้วกับเรื่องที่ใหญ่กว่านี้เราจะอยู่ร่วมกันได้เช่นไร?
...จนมีผู้ชายคนนึงตอบแทนมุสลิมในวงเสวนาในวันนั้นว่า...”ก็พวกเขาเคร่งครัดไง แล้วคุณล่ะ...คุณกินฮาลาลได้มั้ย กินแล้วรสชาติเปลี่ยนมากหรือเปล่า?” ชายคนนั้นขอให้เปลี่ยนเรื่อง และบอกว่าถ้าเรามามัวนั่งถกเถียงกันในประเด็นเล็ก แบบนี้ก็ไม่สามารถก้าวไปแก้ปัญหาที่ใหญ่กว่าได้
...เมื่อจบคำพูดจากชายคนนั้น ผมจึงเริ่มได้คำตอบ และเก็บคำถามที่เหลือพับเก็บเข้ากระเป๋า แล้วนั่ง
....และได้แต่คิดในใจว่า...ถึงพวกคุณจะร่างโครงการใหญโตแค่ไหน หรือมีแผนการที่เรียบเรียงเป็นตัวอักษรที่สวยหรูเพียงใด แต่ถ้าคนในพื้นที่ยังใช้ชีวิตประจำวันอยู่ร่วมกันยังไม่ได้ แค่เรื่องกินข้าวยังยังมีอคติ นั่งกินโต๊ะเดียวด้วยกันไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าอย่างอื่นจะทำได้ง่ายๆ เพราะทัศนะคติของคนบางกลุ่มยังปลูกฝังให้เกลียดชังกัน อิสลามคือคุณไม่กินหมู แต่ถ้านั่งกินกับคุณ เราชาวพุทธต้องไม่กินหมูไปด้วย
....หลักศาสนาอิสลามใช้กับอิสลามด้วยกันเองถือว่าถูกต้อง แต่ถ้านำมันมาใช้กับชาวพุทธด้วยนั้น ถือเป็นการใช้ #อำนาจข้ามเขต เกินไปหรือเปล่า? เป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพผู้อื่นเกินไปหรือไม่?
และถ้าเราไม่เอาเมนูหมูออกจากโต๊ะ นั้นคือเราไม่ให้เกียรติท่านใช่หรือไม่? แต่ท่านเคยคิดย้อนกลับไปมั้ยว่า #ท่านรังเกียจอาหารการกินของผู้อื่นว่ามันสกปรก ก็เท่ากับว่าท่านก็ไม่ให้เกียรติคนกินด้วยเหมือนกัน
.....และในเวทีเสวนาในครั้งนั้นมันทำให้ผมเกิดคำถามว่า นี่พวกเรามาในฐานะตัวแทนที่จะเป็นปากเสียงให้คนพุทธจริงหรือ?? เพราะมันยังมีอีกหลายเรื่องที่พูดเหมือนเราลืมจุดยืน ลืมความเป็นตัวตน ลืมถึงวิกตที่กำลังเกิดกับชาวพุทธ ว่าทุกวันนี้พวกเราโดนเบียดให้มายืนอยู่ขอบหน้าผาแล้ว และหากขาเราไม่มั่นคงพอ เราก็ไม่อาจหยัดยืนอยู่ต่อได้ เพราะเพียงแค่เขาผลักเบา เราอาจร่วงลงสู่เหวลึกไปทันที
ซึ่งเรื่องราวมันยังมีมากกว่านี้ ถึงขั้นที่ว่าผมกับพี่ต๋อง (วิษณุ รัตนหิรัญ คนที่เดินเท้าจากสายบุรีมากรุงเทพฯ) หลังจากผมเจอเรื่องแบบนี้ในเวทีเสวนา ส่วนพี่ต๋องเจอในเวทีย่อยหลังจากเหตุการณ์ของผม บ่ายวันหนึ่งเรานั่งคุยกันที่วัดแห่งหนึ่งใน อ.สายบุรี แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสิ่งที่พบเจอกันมา ในเวทีที่เรียกว่าทำเพื่อชาวพุทธ ซึ่งสิ่งที่เป็นเหมือนกันคือ “พวกเรารู้สึกท้อ” กับสิ่งที่เจอจากคน “ไทยพุทธ” ของเราเอง ถึงขั้นที่เราคิดกันว่า ถ้าเป็นแบบนี้เราเปลี่ยนศาสนาให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเสียดีกว่า อย่าไปสู้อะไรอีกเลย เราคงสู้กรุงคนที่มีทุน มีงบไม่ได้หรอก ปล่อยให้พวกเขาสู้ตามแนวทางของพวกเขาแล้วกัน 3 จชต. จะหลงเหลือ “พุทธศาสนา” เอาไว้ให้ลูกหลานได้ยึดเหนี่ยวจิตใจอีกหรือไม่ ก็สุดแล้วแต่บุญแต่กรรมก็แล้วกัน
ต้องกราบขออภัยที่ผมระบายยาวไปหน่อย คือมันอึดอัดและเป็นความคิดที่ยังวนเวียนอยู่ในหัวมาจนทุกวันนี้ ใครทนอ่านสิ่งที่ผมเพ้อจนจบ ก็ขอขอบพระคุณมากครับ
.........#โอปปาติกะ

**ที่มาจากเพจ ชน"พุทธ"กลุ่มน้อย ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่