[CR] ดาดฟ้าคอนกรีตรั่วซึม

ถึงฤดูฝนกันอีกแล้วครับ  ปัญหาหงุดหงิดกวนใจเจ้าของบ้านที่อยู่คู่กันมาทุกยุคทุกสมัย มักจะหนีไม่พ้นเรื่อง "การรั่วซึมของน้ำฝน"

      การหาตำแหน่งรั่วซึม & การแก้ไขให้ถูกจุดนั้นก็มักจะเป็นปัญหาเช่นกัน เพราะพบเสมอว่าแก้ไขกี่ทีก็ไม่หายขาด บ่อยครั้งซ้ำร้ายบางทีซ่อมไปซ่อมมากลายเป็นช่อง/รูโหว่เพิ่มขึ้นทำให้น้ำไหลรั่วซึมเข้ามาได้มากกว่าเดิมเสียอีก ยิ่งบ้านไหนที่มีดาดฟ้าหรือหลังคาคอนกรีตแล้วนั้น การรั่วซึมดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ และยังสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุอีกด้วย ซึ่งมีวิธีป้องกันและแก้ไขแตกต่างกันไป

       สำหรับดาดฟ้าคอนกรีตหล่อในที่ หรือ “Flat Slab Deck” นี้  มีข้อดีคือ ได้พื้นที่ใช้งานเพิ่มบริเวณดาดฟ้า และยังดูเหมาะกับบ้านทรงกล่อง Modern Style อีกด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น ในขั้นตอนการออกแบบ & ก่อสร้างควรคำนึงถึงการป้องกันเรื่องรั่วซึมอย่างได้มาตราฐาน เพื่อช่วยลดปัญหาดังกล่าวในภายหลัง ซึ่งหากทิ้งไว้เรื้อรัง ก็จะค่อยๆบ่อนทำลายพื้นโครงสร้างจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ทันแล้ว
               

กรณีสร้างบ้านหรืออาคารใหม่ :

       การป้องกันการรั่วซึมให้ได้ประสิทธิภาพนั้นคือ “การก่อสร้างที่ถูกวิธี”  ทั้งนี้พื้นดาดฟ้าไม่ควรจะใช้ระบบพื้นสำเร็จเพราะจะเกิดการรั่วซึมระหว่างรอยต่อได้ ควรเลือกใช้พื้นชนิดหล่อในที่ (การเทคอนกรีตลงในไม้แบบโดยมีการเสริมเหล็กไว้ภายในแบบที่จะทำการหล่อ) โดยควรมีความหนาประมาณ 12-15 ซม. เพื่อให้มีความทึบน้ำมากพอ & ช่วยหน่วงน้ำฝนไหลลงท่อระบายน้ำได้หมด ก่อนที่จะมีการซึมลงบริเวณด้านล่างซึ่งอาจจะทำความเสียหายให้แก่ฝ้าเพดานและวัสดุตกแต่งชั้นล่าง ตลอดจนสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่พื้นที่ใช้งานด้านล่าง นอกจากนี้การที่มีน้ำซึมเป็นระยะเวลานานๆ อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนจากความชื้นในคอนกรีตที่ส่งผลให้เหล็กภายในเป็นสนิม ซึ่งหากเราหล่อคอนกรีตบางเกินไป อาจส่งผลให้เหล็กเสริมในพื้นเป็นสนิมและขยายตัวเบ่งขยายตัวดันพื้นดาดฟ้าคอนกรีตเกิดการแตกกะเทาะได้ นอกจากนี้ต้องมีการผสมน้ำยากันซึมในคอนกรีตที่เทในปริมาณที่พอดี & เทได้อย่างเนื้อแน่น (ไม่มีโพรงอากาศในปูน) และหากเป็นไปได้ควรเทคอนกรีตอย่างต่อเนื่องกันทั้งผืน

          
แนะนำอ่านบทความ : "น้ำยากันซึม" ในงานพื้นคอนกรีต สามารถป้องก้นการรั่วซึมหรือความชื้น ได้จริงเสมอไปหรือ ? >>  http://ppantip.com/topic/34611693

      สิ่งที่สำคัญเป็นลำดับถัดมาคือ ควรออกแบบให้ดาดฟ้ามีความลาดเอียงไปสู่ท่อระบายน้ำ เพื่อช่วยให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพสมบูรณ์ ไม่มีน้ำนอง/น้ำขังเหลืออยู่ภายหลังฝนตก โดยจะต้องกำหนดไว้ตั้งแต่ตอนทำแบบและก่อสร้าง > ตามปกติพื้นบริเวณดาดฟ้าควรมีความลาดเอียงอย่างน้อย 1 : 200 (หมายความว่าในระยะ 200 ม. ระดับจะต้องลดลง 1 ม. หรือ 10 ม. ลดลง 5 ซม.)  สำหรับท่อระบายน้ำบริเวณดาดฟ้า (Roof Drain) ควรใช้ขนาดใหญ่ ชนิดที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 3 นิ้ว & ควรมีมากกว่า 2 จุด (หรือจัดทำท่อระบายน้ำล้นเผื่อไว้ด้วย) เพื่อช่วยระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกันนั้นควรเลือกใช้ฝาครอบท่อชนิดหัวกะโหลกเพื่อป้องกันเศษขยะและใบไม้ที่อาจจะเข้าไปอุดตันได้ รวมทั้งต้องติดตั้งฝังท่อ Sleeve ไว้เลยขณะเทพื้นคอนกรีตร่วมด้วยครับ

          
          

       การหล่อพื้นคอนกรีตในบริเวณที่ต้องเผชิญกับความชื้นมากๆ อย่างพื้นดาดฟ้า & พื้นห้องน้ำ นั้น แม้จะมีการผสมน้ำยากันซึมลงไปในเนื้อคอนกรีตอยู่แล้ว และเข้าใจผิดว่าจะสามารถป้องกันการรั่วซึมได้ตลอดไป ซึ่งความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากน้ำยาเองก็มีอายุการใช้งานจำกัด ทั้งยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เสื่อมสภาพเร็วขึ้นอย่างเช่น แสงแดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดรอยแตกร้าวในเมื่อไหร่ยิ่งทำให้เกิดโอกาสรั่วซึมได้ง่ายมาก ดังนั้น เพื่อให้การป้องกันการรั่วซึมมีประสิทธิภาพมากขึ้นควรทำระบบกันซึมเพิ่มเติมครับ ซึ่งมีทั้งแบบแผ่นยาง & แบบน้ำยากันซึม ระบบกันซึมเหล่านี้นอกจากจะช่วยป้องกันการรั่วซึมแล้ว ยังช่วยปกป้องพื้นผิวของดาดฟ้าคอนกรีตจากแสงแดดได้ด้วย โดยแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน อาทิเช่น

      >>  แบบเป็นแผ่นสำเร็จรูปมาปูปิดทับ : มีกรรมวิธีในการติดตั้งหลักๆ อยู่ 2 วิธี คือแบบที่มีกาวอยู่ในตัวเอง และแบบที่ต้องใช้ความร้อนเพื่อให้แผ่นรองพลาสติกใต้แผ่นละลายเป็นกาวเหลวยึดติดกับแผ่นหลังคาคอนกรีต หรือที่เรียกกันว่า “แผ่นกันซึมชนิด Bitumen”  เหมาะสำหรับพื้นที่กว้างโล่ง ไม่มีเหลี่ยมมุมหรือซอกหลืบมาก เพราะการเข้ามาเก็บงานของระบบนี้ทำได้ยากกว่าระบบทา และหากการเก็บงานไม่ดีพอจนเกิดการรั่วซึมนั้น มีโอกาสสูงที่จะต้องรื้อทำใหม่

      

       >>  แบบเป็นของเหลวนำมาพ่นหรือทา : มักใช้กับงานดาดฟ้าทั่วๆไป และสำหรับดาดฟ้าที่มีซอกมุมมาก แบบชนิดนี้ราคาจะย่อมเยากว่าชนิดแรกค่อนข้างมาก และสามารถดำเนินการโดยช่างทั่วๆไปได้ ไม่ได้เครื่องมืออะไรเป็นพิเศษ ที่นิยมกัน อาทิเช่น Acrylic Polymer หรือ Polyurethane หรือที่เราได้ยินผ่านหูเสมอๆว่า "รูฟซีล / Roof Seal" > อนึ่งในบางรุ่น/บางยี่ห้อยังมีประสิทธิภาพในการลดรังสีความร้อนจากแสงอาทิตย์ ทำให้ลดการส่งผ่านความร้อนลงสู่ห้องชั้นล่างได้ ทำให้อุณหภูมิลดลงได้ & ประหยัดพลังงานเครื่องปรับอากาศได้อีกด้วย

           
                                      

       ท้ายนี้หวังว่าทุกท่านคงจะพอเข้าใจถึงวิธีป้องกันการรั่วซึมของดาดฟ้าคอนกรีต สำหรับผู้ที่จะสร้างบ้านใหม่ขอแนะนำให้ป้องกันไว้ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบเลยจะดีที่สุด ส่วนบางท่านที่กำลังประสบปัญหาเรื่องการรั่วซึมจากดาดฟ้าอยู่นั้น สามารถติดตามอ่านวิธีตรวจสอบและแก้ไขได้ในลำดับต่อไปครับ

แนะนำดูคลิปขั้นตอนการทำงาน TOA Roof Seal >>  https://www.youtube.com/watch?v=LklS7TxP6dY
      
ชื่อสินค้า:   หลังคาดาดฟ้า
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่