Collocation & Colloquialism ปลุกความเป็น NATIVE ในตัวคุณ! (เนื้อหาภาษาอังกฤษที่มักถูกลืม)

What's good, bud?!
เป็นไงบ้าง ภาษาอังกฤษไปถึงไหนกันแล้วว

วันนี้ผมเอาความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ (แต่เป็นประโยชน์ต่อการฝึกพูดภาษาอังกฤษมาก) มาฝากเหมือนเดิม
เป็นเรื่องของวิธีการฝึกใช้ภาษาอังกฤษให้เหมือนกับ native speaker (เจ้าของภาษา)

ซึ่งการที่เราจะทำอย่างนั้นได้ เราก็ต้องรู้จักที่จะใช้ collocation และ colloquialism อย่างถูกต้องก่อนครับ
มาเริ่มกันเลยดีกว่า
____________________

Collocation คืออะไร
Collocation ถูกแปลเป็นภาษาไทยอย่างสวยงามไว้ว่า “คำปรากฏร่วม
ไปเจอคำนี้มาในขณะที่ผมกำลังอ่านบทความเกี่ยวกับ collocation ที่เขียนโดยคนไทย
จัดว่าแปลได้ไพเราะเลยครับ ไม่รู้เหมือนกันว่าใครเป็นคนแปลไว้

คำปรากฏร่วมเป็นอย่างไร?
คำปรากฏร่วม แปลไทยเป็นไทยอีกคือ ‘คำที่ถูกใช้ร่วมกัน เพื่อให้วลีนั้นๆ ฟังดูเป็นธรรมชาติ
(หรือฝรั่งเขาบอกว่า to sound correct)


มันคือ Fixed phrases (วลีตายตัว) นั่นแหละ ซึ่งถ้าหากเราเอาคำนี้ไปใช่กับคำอื่น มันจะฟังดูไม่เป็นธรรมชาติ
(ไม่เป็นธรรมชาติ คือ ฟังดูไม่เหมือนเจ้าของภาษา บางคนอาจคิดว่าไม่จำเป็น แต่ไม่ควรละเลยนะ)

เช่นเวลาที่เราจะพูดว่า “ปากเหม็น” เป็นภาษาอังกฤษ
เราก็ต้องใช้คำว่า 'bad breath' ไม่ใช่ smelly mouth หรือ stinky breath
จริงอยู่ที่ smelly และ stinky ก็แปลว่า 'เหม็น' เหมือนกัน และก็น่าจะสื่อความหมายกันได้เข้าใจดี

แต่เมื่อเจ้าของภาษาเขาไม่ใช้แบบนี้
เขาไม่บอกว่า 'you’ve got a smelly mouth'
แต่เขาบอกว่า 'you’ve got a bad breath'
เราก็ต้องตามเขาครับ
_______________

ถามว่าไม่ตามได้ไหม ขออินดี้ได้ปะ ไม่ได้อยากพูดเหมือนเจ้าของภาษา อยากพูดในสไตล์ของตัวเอง

ได้ครับ ไม่ตามก็ได้ มันก็อารมณ์เหมือนเวลาคนไทยทั่วไปใช้คำว่า
ข้าวเหนียว แต่เราดันใช้ว่า ข้าวหนึบ นั้นแหละครับ
ความหมายก็สื่อได้นะ 'เหนียว' กับ 'หนึบ' มันก็เหมือนกัน

แต่ความจริงคือ ในการสื่อสารเราต้องคำนึงถึงผู้รับสารของเราด้วย
เราจะใช้ศัพท์อินดี้ตามใจเราอย่างเดียวไม่ได้
เราต้องคำนึงว่าคำนี้ต้องใช้กับคำไหนเพื่อสื่อถึงสิ่งนี้ เพื่อที่จะให้ผู้รับสารเข้าใจสิ่งที่เราพูดออกไปได้อย่างชัดเจน  

ลองมาดูตัวอย่างการใช้ collocation แบบผิดๆ กันครับ
ป้าๆ ขอข้าวหนึบด้วย 10 บาท” (เป้งพูดขึ้นขณะรับไก่ย่างจากคุณป้าร้านขายไก่ย่างประจำซอย)
เอาไรนะหนู
ข้าวหนึบอ่ะป้า ข้าวหนึบ 10 บาท
ไอ้หนูเห็นป้าเป็นเพื่อนเล่นเหรอ จะเอาอะไร
โถวป้าไม่อินดี้อ่ะ เออๆ ข้าวเหนียว 10 บาท

พอจะเห็นปัญหาเวลาที่เราใช้ collocation ผิดคู่หรือยัง เราอาจคิดว่าความหมายมันชัดเจนน่าจะสื่อถึงกัน
แต่มันอาจจะยากต่อการตีความสำหรับผู้ฟัง

เพราะผู้รับสารอาจจะคิดว่าผู้พูดหมายถึงสิ่งอื่น (ป้าร้านไก่ย่างอาจคิดว่า ‘ก็ในเมื่อคนทั่วไปเรียก ข้าวเหนียว แต่ไอ้หนุ่มนี้เรียกข้าวหนึบ เอ๊ะหรือมันจะสื่อถึงข้าวอื่น หรือมันตั้งใจจะกวนโอ้ยเรา’)

ก็ในเมื่อคนทั่วไปเรียก 'ข้าวเหนียว' เวลาที่เราไปเรียกต่างจากคนอื่นนั้น
คนที่ฟังเราก็อาจจะคิดว่าเราไม่ได้หมายถึงสิ่งที่คนทั่วไปเขาหมายถึง
แม้ว่า หนึบ มันจะมีความหมายเหมือนกับ เหนียว ก็ตาม

มาดูตัวอย่างอื่น
หินอ่อน: marble (คนไทยไม่พูดว่า หินนุ่ม, หินนิ่ม และฝรั่งก็ไม่เรียกว่า solf rock)
หินอ่อนเป็น fixed phrase จะไปใช้คำว่าหินนุ่มก็ไม่ได้

ในภาษาอังกฤษเช่น
ลมแรง: strong wind (ไม่ใช่ forceful wind, powerful wind, หรือ heavy wind)
เพราะ Strong wind เป็น fixed phrase ต้องใช้คู่กันแบบนี้ตลอด

ที่ยกตัวอย่างมาให้เปรียบเทียบ เพราะอยากให้เราเข้าใจอารมณ์ของฝรั่งเวลาเราใช้ผิด
_____________________

มาเข้าเรื่อง
Collocation แบ่งออกเป็น 7 ชนิดหลัก
1. Adverb + adjective
    - Completely satisfied: พอใจอย่างยิ่ง (ไม่ใช่ downright satisfied)

2. Adjective + noun
    - Fast food (ไม่ใช่ quick food)

3. Noun + noun
    - (a) Round of applause: การตบมือ (ไม่ใช้ a circle of applause)

4. Noun + verb
    - Lions roar: สิงโตคำราม (ไม่ใช้ lions shout)

5. Verb + noun
    - Do homework: ทำการบ้าน (ไม่ใช้ make homework)
    - Commit a crime: ก่อคดี (ไม่ใช้ make a crime หรือ do a crime)

6. Verb + expression with preposition
    - Burst into tears: ปล่อยโฮ, ร้องไห้ (ไม่ใช้ blow up in tears)

7. Verb + adverb
    - Wait patiently: รออย่างใจเย็น (ไม่ใช้ wait calmly)

หวังว่าคงจะพอเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของ collocation นะครับ

เหนือสิ่งอื่นใด ทุกคนอย่าลืมเข้า google ไปหาอ่านกันเพิ่มเติม
เพราะผมเห็นว่ามีหลายบทความดีๆ เกี่ยวกับ collocation ที่คนไทยเขียนขึ้น ลองไปหาอ่านดูนะ

(ปล. Collocation มาจากคำว่า Co ที่แปลว่า ร่วมกัน
มา + กับคำว่า location ที่แปลว่า สถานที่
แล้วเติม L เข้าไประหว่างกลาง ก็จะได้ Collocation ก็แปลว่า คำที่ปรากฏร่วมกัน นั่นเองครับ)

ไหนๆ collocation แล้ว ก็มารู้จักญาติห่างๆ ของ collocation เลยละกัน ซึ่งก็คือ Colloquialism
_______________

Colloquialism หรือ colloquial expression (หรือ colloquial phrase) แปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า ภาษาพูด

หมายถึง คำหรือวลีที่ใช้ในการพูดที่ไม่เป็นทางการ
(an informal word or expression that is more suitable for use in speech than in writing)
ก็คือคำที่ฝรั่งเขาใช้กันในภาษาพูด ใน everyday conversation แต่เขาไม่ใช้เชิงทางการนั่นเอง  
และแน่นอนว่าไม่ใช้สำหรับเขียน essay หรืองานอื่นๆ

ถ้าถามว่า colloquialism (อ่านว่า เคอะ-โลว-ควิ-เออะ-ลิ-เซิ่ม) เหมือนกับ slang ไหม ก็คงจะตอบว่า คล้ายกัน ครับ
ทั้งคู่เป็น informal และเป็น spoken language ทั้งคู่

แต่ว่า slang จะมีความเป็น Informal มากกว่า colloquialism
เพราะ slang มันจะเป็นคำเฉพาะกลุ่มมากกว่า

ส่วน colloquialism จะถูกใช้กันอย่างกว้างขวางและถูกจัดว่ามีความ standard มากกว่า
ตัวอย่าง colloquialism ที่ใช้กันอยู่ทุกวันได้แก่
ในระดับคำ
- Gonna
- Ain't

ในระดับวลี
- What's up? (เราอาจ what's up กับเพื่อนแต่ไม่ what's up กับผู้ใหญ่)
- Eat my dust. (กินขี้ฝุ่นของฉันซะ (คิดภาพเวลาเราขับรถแซงใครแล้วฝุ่นตลบใส่เขา อารมณ์ประมาณว่าจะโชว์เหนือ))

ในระดับประโยค (colloquial ในระดับประโยคก็คือพวก คำสุภาษิต คำคม อะไรพวกนี้นะครับ ภาษาอังกฤษเรียนว่า aphorism: คำพังเพย, คติพจน์)
- I wasn't born yesterday. (ฉันไม่ได้เกิดเมื่อวานนะ ที่นายจะมาหลอกกันง่ายๆ , ฉันไม่ใช้เด็กเมื่อวานซืนนะ)
- Put your money where your mouth is. (มาช่วยออกตัง/ลงทุนหน่อยดิ๊ อย่าเอาแต่พูดว่าจะช่วยๆ)

ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นครับ เปรียบเหมือนกับเป็น Introduction ให้ทุกคนรู้จักไว้
_____________________

สรุป
- Collocation คือคำที่ต้องอยู่คู่กันตลอดเช่น Strong wind, zero tolerance, saving time, do the shopping ถ้าจะสื่อความหมายแบบนี้ต้องใช้คู่คำศัพท์นี้เท่านั้น
- colloquialism คือภาษาพูดในชีวิตประจำวัน ใช้พูดกับเพื่อน ฝึกไว้ภาษาอังกฤษเราจะเป็นธรรมชาติมากขึ้น

กระทู้นี้ผมเพียงอธิบายความหมายความสำคัญ ๆ ให้ทุกคนเข้าใจ กับตัวอย่างนิดหน่อย อยากให้เพื่อน ๆ ไปหากันเพิ่มเติมด้วยนะ
ไปดูตัวอย่าง วิธีใช้งาน หรือไปอ่านคำนิยามมันเพิ่มเติมได้ก็จะดีมากครับ

'ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างในวันนี้ รู้มากกว่าเมื่อวานนี้ก็พอ'
รู้ภาษาอังกฤษมากขึ้นทุกวันที่: www.facebook.com/MyFathersAnEnglishMan (Page: พ่อผมเป็นคนอังกฤษ)
Stay knowledge-hungry
JGC.
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่