แนวคิดการพัฒนาเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าของจีนในอนาคต : สิ่งที่ยังไม่มีในเรือดำน้ำ S26T

สืบเนื่องจากการลงภาพเปรียบเทียบเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าชั้น Yuan ของจีนรุ่นประมาณ 10 ปีก่อนเทียบกับเรือดำน้ำตะวันตกรุ่นอายุใกล้เคียงกันในเพจกัปตันนีโม แล้วมีบางคนทักว่าเป็นการให้ข้อมูลเปรียบเทียบแบบ “ไม่รอบด้าน” หรือ “ลำเอียง” และขอให้เปรียบเทียบเรือดำน้ำรุ่นใหม่บ้างนั้น เนื่องจากเรือดำน้ำชั้น Yuan ของจีนรุ่นล่าสุดแทบไม่มีข้อมูลเปิดเผยออกมาเลย มีเพียงภาพตัวเรือภายนอกที่เห็นบริเวณ Sail มีความโค้งมนมากขึ้น จึงขอนำเอาแนวคิดการพัฒนาเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าของจีนในอนาคตมาเปรียบเทียบให้เห็นว่าเหมือนหรือต่างจากเรือดำน้ำค่ายตะวันตกรุ่นปัจจุบันอย่างไรแทน


เวบไซต์ Sino Defence Forum เผยแพร่ภาพแนวคิดเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้ารุ่นใหม่ของจีนเมื่อปลายปี ค.ศ.2013 ซึ่งจากภาพจะเห็นข้อมูลว่าเป็นเรือดำน้ำขนาดระวางขับน้ำประมาณ 3,000 ตัน ที่มีรูปทรงตัวเรือดูทันสมัย ติดตั้งระบบ AIP ส่วนบริเวณท้ายเรือจะสังเกตเห็นว่าเป็นหางเสือแบบ X-Rudder และมีช่องสำหรับ Towed Array Sonar


ความคล้ายคลึงกับเรือดำน้ำชั้น Soryu ของญี่ปุ่น

ส่วนที่ดูคล้ายเรือดำน้ำชั้น Yuan รุ่นใหม่ล่าสุดในปัจจุบันคือรูปทรงของ Sail ที่ดูโค้งมน แต่ถ้าถาม Google จะบอกว่าภาพเรือดำน้ำดังกล่าวดูคล้ายเรือดำน้ำชั้น Soryu ของญี่ปุ่นมากกว่า ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับรูปทรงของเรือดำน้ำชั้น Soryu จะเห็นว่าแทบไม่มีความแตกต่างกันเลย ตั้งแต่บริเวณโดมหัวเรือที่มี “จมูก” ไปจนถึง Sail ที่โค้งมน และหางเสือ X-Rudder กับช่อง Towed Array Sonar จนกระทั่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตในเวบไซต์ Sino Forum ว่าภาพดังกล่าวอาจเป็นภาพปลอมที่เลียนแบบเรือดำน้ำชั้น Soryu ของญี่ปุ่น


โครงสร้างเรือดำน้ำแบบตัวเรือชั้นเดียว

นอกจากความเหมือนกับเรือดำน้ำชั้น Soryu แล้ว หากเรือดำน้ำในภาพเป็นแนวคิดการออกแบบเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้ารุ่นใหม่ของจีนจริงก็พอจะตรวจสอบรายละเอียดข้อมูลเพื่อศึกษาแนวโน้มการพัฒนาเรือดำน้ำของจีนได้ว่ามีทิศทางเป็นอย่างไร ซึ่งสิ่งแรกที่สังเกตได้ชัดคือข้อมูลบริเวณมุมขวาบนของภาพที่แสดงระวางขับน้ำบนผิวน้ำ 3,050 ตัน กับระวางขับน้ำใต้น้ำ 3,400 ตัน ซึ่งต่างกัน 350 ตัน หรือคิดเป็น 11.5% ของระวางขับน้ำบนผิวน้ำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเรือดำน้ำดังกล่าวเป็นเรือดำน้ำตัวเรือชั้นเดียว

ที่ผ่านมาเรือดำน้ำชั้น Ming, Song และ Yuan ของจีนใช้ต้นแบบตัวเรือ 2 ชั้นจากเรือดำน้ำชั้น Romeo ของโซเวียต และเรือดำน้ำชั้น Kilo 877/636 ของรัสเซีย ซึ่งความแตกต่างหลักของเรือดำน้ำตัวเรือ 2 ชั้น กับเรือดำน้ำตัวเรือชั้นเดียว คือขนาดของถัง Main Ballast Tank ซึ่งส่งผลต่อความแตกต่างระหว่างระวางขับน้ำบนผิวน้ำกับระวางขับน้ำใต้น้ำ โดยเรือดำน้ำตัวเรือ 2 ชั้นจะมีขนาดถัง Main Ballast Tank คิดเป็นประมาณ 25-35% ของระวางขับน้ำบนผิวน้ำ หมายความว่าระวางขับน้ำใต้น้ำของเรือดำน้ำตัวเรือ 2 ชั้น จะใหญ่กว่าระวางขับน้ำบนผิวน้ำประมาณ 25-35% ตัวอย่างเช่น เรือดำน้ำชั้น Kilo 636 มีระวางขับน้ำบนผิวน้ำ 2,350 ตัน กับระวางขับน้ำใต้น้ำ 3,000 ตัน หรือต่างกันประมาณ 27% ในขณะที่เรือดำน้ำตัวเรือชั้นเดียวจะมีขนาดถัง Main Ballast Tank เล็กกว่า คิดเป็นประมาณ 10-15% ของระวางขับน้ำบนผิวน้ำ ตัวอย่างเช่น เรือดำน้ำ Type 209/1400 มีระวางขับน้ำบนผิวน้ำ 1,450 ตัน กับระวางขับน้ำใต้น้ำ 1,600 ตัน หรือต่างกันประมาณ 10%


ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจีนมีความต้องการจัดซื้อเรือดำน้ำชั้น Lada หรือ Amur ซึ่งเป็นเรือดำน้ำตัวเรือชั้นเดียวรุ่นแรกของรัสเซีย แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งจากสถิติที่จีนมักจัดซื้อเรือดำน้ำรัสเซียมาก่อนที่จะผลิตเรือดำน้ำรุ่นใหม่ของจีนเอง (เช่น การจัดซื้อเรือดำน้ำชั้น Kilo 877 ก่อนจะมาเป็นเรือดำน้ำชั้น Song กับการจัดซื้อเรือดำน้ำชั้น Kilo 636 ก่อนจะมาเป็นเรือดำน้ำชั้น Yuan) ประกอบกับภาพแนวคิดเรือดำน้ำในอนาคตของจีน สามารถสรุปได้ว่าจีนกำลังมีแนวคิดในการพัฒนาจากเรือดำน้ำตัวเรือ 2 ชั้น ที่มีความคล่องตัวต่ำกว่าเนื่องจากต้องแบกมวลน้ำทะเลในถัง Main Ballast Tank ไปกับเรือด้วยจำนวนมาก รวมถึงขนาดตัวเรือภายนอกที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้มีแรงต้านน้ำเพิ่มมากขึ้น ไปเป็นเรือดำน้ำตัวเรือชั้นเดียวที่มีความคล่องตัวมากกว่า นอกจากนี้จากข้อมูลระวางขับน้ำใต้น้ำ 3,400 ตัน ในเรือดำน้ำรุ่นใหม่ของจีน แสดงให้เห็นว่าขนาดและมิติภายนอกมีความใกล้เคียงกับเรือดำน้ำชั้น Yuan ในปัจจุบัน แต่การปรับไปใช้โครงสร้างตัวเรือชั้นเดียวจะช่วยให้มีพื้นที่ใช้สอยภายในตัวเรือเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี เรือดำน้ำชั้น Yuan รุ่นใหม่ล่าสุดของจีนยังคงใช้โครงสร้างตัวเรือ 2 ชั้น และยังไม่มีข้อมูลว่าจีนมีความคืบหน้าในการพัฒนาเรือดำน้ำแบบตัวเรือชั้นเดียวไปมากน้อยเพียงใด แต่จากการพัฒนาเรือดำน้ำชั้น Lada ซึ่งเป็นเรือดำน้ำตัวเรือชั้นเดียวรุ่นแรกของรัสเซียตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อนที่ประสบปัญหาและต้องยกเลิกการผลิตในที่สุดเพื่อไปพัฒนาแบบเรือดำน้ำชั้น Kalina แทน ซึ่งคาดว่าการพัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบและสร้างเรือดำน้ำตัวเรือชั้นเดียวไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ (ในขณะที่การออกแบบเรือดำน้ำค่ายตะวันตกในปัจจุบันใช้โครงสร้างตัวเรือชั้นเดียวกันหมดแล้ว) และจีนคงต้องใช้เวลาไม่น้อยรัสเซียคือไม่น้อยกว่า 20 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ไม่สามารถจัดซื้อเรือต้นแบบจากรัสเซียมาทำการ Reverse Engineering ได้

ระบบ AIP แบบ Fuel Cell

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งของภาพแนวคิดเรือดำน้ำในอนาคตของจีนคือระบบ AIP บริเวณกลางลำ ซึ่งมีหน้าตาเหมือนกับภาพระบบ AIP แบบ Kristall-27E ในเรือดำน้ำชั้น Amur ของรัสเซีย ที่เป็นระบบ AIP แบบ Fuel Cell ที่ใช้การทำปฏิกริยาเคมีระหว่างก๊าซไฮโดรเจน (บรรจุขวดขนาดเล็กสีเขียวในภาพ) กับก๊าซออกซิเจน (บรรจุในรูปออกซิเจนเหลวถังขนาดใหญ่) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งอาจเป็นแค่การลอกเลียนแบบภาพโดยไม่มีความหมายอะไร หรืออาจหมายถึงแนวคิดของจีนในการพัฒนาระบบ AIP แบบ Fuel Cell แทนการใช้ระบบ AIP แบบ Sterling Engine ที่ใช้ในเรือดำน้ำชั้น Yuan ในปัจจุบัน ซึ่งระบบ AIP แบบ Fuel Cell มีข้อดีคือใช้ปฏิกริยาเคมีแทนการสันดาป ทำให้ไม่มีส่วนเคลื่อนไหวในการแปลงพลังงานจากการเผาไหม้เป็นพลังงานกลแบบ Sterling Engine จึงมีความเงียบมากกว่า และให้ประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า แต่ความยุ่งยากของระบบ AIP แบบ Fuel Cell คือการใช้เทคโนโลยีสูงกว่า และต้องมีการเก็บก๊าซไฮโดนเจนอย่างปลอดภัย ซึ่งหากมีการรั่วไหลภายในเรือดำน้ำซึ่งไม่มีการระบายอากาศก็อาจทำให้เกิดการระเบิดได้ และยังไม่มีความชัดเจนอีกเช่นกันว่าจีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีระบบ Fuel Cell และการเก็บก๊าซไฮโดรเจนไปถึงขั้นไหนแล้ว รวมทั้งในขณะที่จีนกำลังพัฒนาระบบ AIP เรือดำน้ำค่ายตะวันตกก็กำลังมีแนวโน้มการพัฒนาก้าวกระโดดไปอีกขั้นในการใช้เทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบลิเธียมที่ให้พลังงานมากกว่าเพื่อทดแทนการใช้แบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด เช่น เรือดำน้ำชั้น 218SG ของสิงคโปร์ หรือเรือดำน้ำบางแบบมีการใช้แบตเตอรี่ลิเธียมทดแทนระบบ AIP ไปเลย เช่น เรือดำน้ำชั้น Soryu รุ่นใหม่ของญี่ปุ่น

ระบบ AIP ในภาพแนวคิดเรือดำน้ำแบบใหม่ของจีน


หางเสือแบบ X-Rudder
ข้อสังเกตสุดท้ายคือหางเสือรูปตัว X หรือ X-Rudder ซึ่งอาจเป็นการลอกแบบมาจากภาพต้นฉบับเรือดำน้ำชั้น Soryu หรืออาจเป็นแนวคิดการพัฒนาใหม่ที่ยังไม่เคยมีใช้ในเรือดำน้ำจีนมาก่อน โดยเรือดำน้ำทุกแบบของจีนในปัจจุบันใช้หางเสือรูปกากบาททางตั้งที่มีความง่ายในการใช้งาน ในขณะที่หางเสือแบบ X-Rudder จะมีมีประสิทธิภาพสูงกว่าและให้ความคล่องตัวได้ดี แต่ความยุ่งยากในการใช้งานและต้องใช้เทคโนโลยีการควบคุมที่สูงกว่า ซึ่งเรือดำน้ำที่ใช้หางเสือแบบนี้ได้แก่ เรือดำน้ำชั้น Soryu ของญี่ปุ่น, เรือดำน้ำชั้น Walrus ของเนเธอร์แลนด์, เรือดำน้ำชั้น Västergötland, Gotland และ A26 ของสวีเดน, เรือดำน้ำชั้น Collins ของออสเตรเลีย, เรือดำน้ำชั้น 212A ของเยอรมนี และเรือดำน้ำชั้น 218SG ของสิงคโปร์


สรุป
จากภาพแนวคิดการพัฒนาเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้ารุ่นใหม่ของจีน มีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นเพียงการนำเอาภาพเรือดำน้ำสมัยใหม่หลายๆ แบบมาตัดต่อประกอบกันตามที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตในเวบไซต์ Sino Defence Forum หรืออาจเป็นการแสดงแนวโน้มและทิศทางการพัฒนาเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าของจีนทั้งในด้านโครงสร้างตัวเรือและเทคโนโลยีภายใน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนกำลังพยายามไล่ตามเทคโนโลยีเรือดำน้ำของค่ายตะวันตกในหลายด้าน แต่จากการเปรียบเทียบเทคโนโลยีเรือดำน้ำรุ่นใหม่ของจีนในปัจจุบัน (เท่าที่หาข้อมูลได้) ยังคงมีความแตกต่างกับเทคโนโลยีเรือดำน้ำตะวันตกอย่างมีนัยสำคัญ และคงต้องใช้เวลาอีก 10-20 ปีเป็นอย่างน้อยกว่าจะตามทันเทคโนโลยีตะวันตกในปัจจุบัน

อ้างอิง   กัปตันนีโม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่