[CR] มอม เดอะมิวสิคคัล รีสเตจ : ความมหัศจรรย์ของละครเวที



"มอม" ประพันธ์โดยมรว.คึกฤทธ์ ปราโมทย์ เป็นเรื่องสั้นที่บรรจุอยู่ในหนังสือเรียนมัธยมที่นักเรียนเกือบทุกคนได้มีโอกาสอ่านและเข้าถึงเรื่องราวที่เล่าผ่านมุมมองของหมาบ้านที่ชื่อมอม ที่ทั้งชีวิตและหัวใจของมันมีไว้เพื่อมอบให้แก่นายของมันเพียงผู้เดียว โดยมีฉากหลังเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่2 ซึ่งผู้ประพันธ์เขียนเรื่องราวออกมาได้อย่างกินใจ และใช้ภาษาได้อย่างเรียบง่ายทว่างดงาม


ในครั้งนี้มอม ถูกนำมาดัดแปลงเป็นละครเวทีความยาวกว่า2ชั่วโมง ในมอม เดอะมิวสิคคัล รีสเตจ(เปิดการแสดงครั้งแรกเมื่อมค.59) กำกับละครโดย คุณสุวรรณดี จักราวรวุธ เขียนบทละครโดยดารกา วงศ์ศิริ ซึ่งดัดแปลงเรื่องราวได้อย่างเคารพต้นฉบับและถ่ายทอดความอารมณ์จากในหนังสือออกมาได้อย่างครบถ้วน แต่ในขณะเดียวกันก็มีการขยายความเพิ่มเติมจากเรื่องสั้น ซึ่งน่าเสียดายที่เรื่องราวในส่วนนี้กลับทำออกมาได้อย่างกระท่อนกระแท่นขาดความรื่นไหล ส่งผลให้ละครเวทีเรื่องนี้มีทั้งช่วงน่าเบื่อชวนหลับและช่วงที่ดีงามจนต้องปรบมือทั้งน้ำตา


มรว.คึกฤทธ์ ปราโมทย์ นั้นตั้งใจเขียนเรื่อง"มอม"ขึ้นมาให้ดูธรรมดาสามัญที่สุด หลายๆเหตุการณ์ตามเรื่องสั้นถูกกล่าวถึงเพียงผ่านๆเพื่อชี้ให้เห็นสภาพการใช้ชีวิตโดยทั่วๆไปของมอม แต่บทละครได้หยิบขึ้นมาโฟกัสและขยายความโดยที่สุดท้ายแล้วไม่ได้ส่งผลอะไรกับเนื้อเรื่องหลัก บางฉากถึงขั้นที่ว่าถ้าตัดออกก็ไม่มีผลอะไรกับละครเลย บางทีถ้าเล่าเรื่องแบบผ่านๆไปเหมือนในเรื่องสั้นน่าจะดีกว่า

ยกตัวอย่างเช่นฉากของมอมกับแก๊งหมาข้างถนน ที่คอยกลั่นแกล้งมอมตั้งแต่เด็ก จนในที่สุดมอมก็ฮึดสู้จนชนะหมาหัวหน้าแก๊ง ที่เราคาดหวังว่าหลังจากชัยชนะของมอม น่าจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของตัวละครและเนื้อเรื่องได้บ้าง แต่หนังกลับไม่ขยี้ตรงนี้ต่ออีกเลย จนสงสัยว่าจะมีฉากนี้มาเพื่ออะไร แถมต้องกุมขมับขั้นสุดเมื่อจบฉากนี้ปุ๊บ ก็เป็นฉากเปิดตัวสีนวล แล้วละครก็เปลี่ยนไปเป็นโหมดโรแมนติกทันที ทั้งๆที่ถ้าขยี้ประเด็นแก๊งหมาข้างถนนต่ออีกซักนิดน่าจะลงตัวกว่านี้


สีนวลก็เช่นกัน ตามเรื่องสั้นถูกกล่าวถึงเพียงแค่2-3ประโยค เพื่อชี้ให้เห็นว่ามอมก็เป็นหมาตัวผู้ธรรมดาๆตัวนึงเหมือนที่ผู้อ่านเห็นแถวๆบ้าน ที่มักหนีออกจากบ้านไปติดหมาตัวเมีย แต่ละครนำมาขยายความเพิ่มเติมเพื่อเปิดโอกาสให้มีฉากโรแมนติกและใส่เพลงให้ร้องไปอีก2-3เพลง ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่ได้มีผลอะไรกับเนื้อเรื่องมากขนาดที่ต้องไปให้ความสำคัญขนาดนี้


สาเหตุเดียวที่คิดออกว่าจะขยายความส่วนของแก๊งหมาข้างถนนและสีนวลไปทำไม ก็น่าจะเพื่อเปิดโอกาสให้มีโชว์การเชิดหุ่นหมาและสร้างความบันเทิงในการโชว์ในทุกๆซีนที่ปรากฎนั่นเอง ซึ่งก็ยอมรับอีกเหมือนกันว่าการโชว์ทุกซีนของเหล่าหมาข้างถนนทำออกมาได้สนุกเพลิดเพลินบางฉากพูดได้เลยว่าออกแบบการแสดงออกมาได้ยอดเยี่ยมมากโดยเฉพาะฉากการต่อสู้ของมอมและหัวหน้าแก๊งหมาข้างถนนนั้นเรียกได้เลยว่าทำออกมาดีสุดๆ

อีกหนึ่งความบกพร่องของบทละครนั้นคือการวางคาแรกเตอร์ของตัวละคร ที่ออกมาเป็นละครมากเกินไปจนขาดมิติ ขาดเลือดเนื้อของความเป็นปุถุชน เพราะนายและนายผู้หญิงนั้น ดูจะเรียบร้อย พูดเพราะ และดูโลกสวยเกินกว่าความเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่แถวตลาดย่านประตูน้ำ และเกินความเป็นละครเรื่องมอมที่ทุกอย่างที่เราเห็นควรต้องเป็นอะไรที่จับต้องได้เหมือนที่เราเห็นในชีวิตประจำวัน จึงกลายเป็นภาระของนักแสดงเองที่ต้องสร้างเลือดเนื้อและใส่ชีวิตให้ตัวละคร ซึ่งน้ำมนต์ ธีรนัยน์ ณ หนองคาย สามารถเอาตัวรอดไปได้ แต่ที่ตายคาเวทีไปเลยคือโบกี้ จิตรคุปต์ สุนทรศิลป์ชัย ในบทของ"นาย"


ตัวละคร"นาย" นั้นไม่เพียงแต่จะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของมอม แต่ต้องเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของนายผู้หญิงและหนู(ภรรยาและลูก) ด้วยเช่นกัน แต่โบกี้กลับแสดงได้ไร้พลัง บนเวทีนั้นโบกี้ตัวเล็ก ผอมบาง หน้าตาอ่อนเยาว์และสวยคมเกินภรรยาและดูไม่น่าใช่ภาพหนุ่มกทม.วัยกลางคนทั่วไปตามท้องตลาดในสมัยนั้น และการการแต่งหน้าให้ขาวใสปากแดงยิ่งทำให้เหมือนนักร้องK POP นุ่งผ้าแพรมากกว่าจะเป็นนายของมอม


หากแต่ลักษณะภายนอกนั้นไม่ใช่ปัญหาอะไรหรอกถ้าบทและนักแสดงทำให้เชื่อได้ แต่โบกี้กลับไม่พยายามใส่เลือดเนื้อให้ตัวละครตัวนี้ ทำไปเพียงที่บทกำหนด(ซึ่งบทก็มีปัญหาอยู่แล้ว) ทำให้นายดูเหมือนหลุดออกมาจากท่านชายซักวังนึงในนิยายประโลมโลก ที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี สุภาพบุรุษ หล่อสมาร์ทเจือรอยยิ้มเบาๆบนใบหน้าอยู่ตลอดทั้งเวลาพูด เดิน กินข้าว แต่พอฉากที่เจ๊กขายขวดมารับซื้อของเก่าในบ้าน ก็ไปไล่เจ๊กทำท่ารังเกียจ ซึ่งโบกี้แสดงไปตามบทแบบทื่อๆอีกแล้ว ทำให้ฉากนี้มีปัญหาทันที เพราะเจ๊กขายขวดแสดงได้มีมิติและสมจริงจนเราไม่รู้สึกว่าเค้าน่ารักเกียจตรงไหน การที่นายไปไล่เค้ามันเลยขัดกับบุคลิกที่ดูโอบอ้อมก่อนหน้านี้ไปโดยปริยาย


คาแรกเตอร์ของมอมเองก็เกือบไม่รอดเช่นกัน เพราะถูกวางให้เป็นหมาเชื่อง โลกสวย และมีความเป็นLoser(คนอ่อนแอ ขี้แพ้) ดูแล้วเหมือนหมาซักตัวในการ์ตูนดีสนีย์มากกว่า"มอม"ตามเรื่องสั้นที่ดูจะก๋ากั่นกว่านี้เยอะ แต่ต้องยกความดีความชอบให้น้องกาย ทรงสินธ์ ศิริคุณารัศม์ ที่มอบการแสดงที่มีเสน่ห์ที่สุด กายทำให้มอมกลายเป็นหมาตัวนึงที่เราเชื่อได้เลยว่าเนี่ยแหละมอม มอมที่เป็นหมาโลกสวยและไม่จำเป็นต้องเหมือนมอมในเรื่องสั้น ทุกครั้งที่กายยิ้มเราเห็นมอมยิ้ม ทุกครั้งที่กายเศร้าเราเห็นมอมเศร้า เราสัมผัสได้ถึงหัวใจของมอมผ่านสีหน้าและการแสดงของกาย มากกว่าที่บทละครและบทเพลงพยายามเขียนให้เราเข้าใจความรู้สึกของมอมเสียอีกจนอดคิดไม่ได้ว่า จริงๆแล้วบทละครใช้วิธีบรรยายความคิดของมอมผ่านบุคคลที่3(เป็นบทพูดหรือบทเพลงก็ได้) น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการใช้บทสนทนาและการร้องเพลงผ่านตัวละคร ที่บางครั้งก็ทำให้ละครยิ่งเย่นเย้อมากเกินไปจนน่ารำคาญ


อันที่จริงนอกเหนือจากบทแล้ว งานด้านอื่นๆอยู่ในระดับที่ยอดเยี่ยม หุ่นเชิดทุกตัวมีรายละเอียดที่สมจริง การออกแบบท่าทางของนักแสดงในการเชิดหุ่นทำได้อย่างดี และนักแสดงทุกคนที่แสดงเป็นหมาก็ทำหน้าที่ได้ดีมากและรับรู้ได้เลยว่าต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก นี่แหละความมหัศจรรย์ของละครเวที เห็นอยู่ชัดๆว่ามีคนมาเชิดหุ่น แต่เราเชื่อเลยว่านี่คือหมาที่มีเลือดเนื้อและหัวใจจริงๆ เพราะทั้งคนและหุ่นนั้นได้หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวอย่างสมบูรณ์
เทคนิคต่างๆก็ทำได้อย่างดีเยี่ยม ละครใช้แสงสีช่วยสร้างอารมณ์ได้อย่างสร้างสรรค์โดยเฉพาะการเล่าเรื่องราวในโลกของคนก็จัดแสงไฟแบบนึง แต่พอเล่าเรื่องราวในโลกของหมาก็จะจัดไปอีกแบบนึง ทำให้ผู้ชมหลุดเข้าไปอยู่ในโลกทั้ง2ใบได้อย่างกลมกลืน ถือว่าออกแบบมาอย่างดีและงัดศาสตร์ด้านละครเวทีมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ


ฉากต่างๆดูเรียบง่ายแต่กลับช่วยเสริมบรรยากาศของละครออกมาได้อย่างดี แต่ที่ขัดใจมากที่สุดเห็นการฉายภาพบนฉากหลังที่ใช้อย่างพร่ำเพื่อ โดยเฉพาะ2ฉากที่ขัดใจมากๆ คือฉากที่เปลี่ยนจากมอมตอนเด็กมาเป็นมอมวัยหนุ่ม ที่ละครใช้การฉายภาพนาฬิกาบนฉากหลังเพื่อสื่อถึงวันเวลาที่ผ่านไป เทคนิคนี้บอกได้เลยว่าเชยเฉิ่มมาก อีกฉากคือตอนท้ายเรื่องที่มอมคิดถึงช่วงเวลาที่ผ่านมา ละครใช้วิธีฉายภาพเงาของมอมกับนาย นายผู้หญิง และหนู ผ่านช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งมันจะกินใจและทรงพลังกว่านี้มากถ้านำนักแสดงจริงๆออกมาแสดงกันสดๆและใช้เทคนิคการจัดแสงช่วยให้คนรู้ว่านี่คือการรำลึกของมอม
เพลงที่แต่งโดยคุณไก่ สุธี แสงเสรีชน นั้นไพเราะแต่ก็ไม่ได้ติดหูอะไรมากนักในโลกของคน แต่กลับยอดเยี่ยมมากๆสำหรับเพลงในโลกของหมา เพราะขุดความคิดสร้างสรรค์มาใช้อย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นการหยิบเสียงเห่าหอนของหมามาเรียงเป็นเมโลดี้ หรือการผสมผสานดนตรีหลากหลายแนวทั้งR&B,Blues, Rock คละเคล้ากันไปในแต่ละเพลง เสริมส่งอารมณ์ของเพลงในขณะนั้นได้ดี


และคนที่ต้องชื่นชมที่สุดเห็นจะเป็นผู้กำกับละคร คุณสุวรรณดี จักราวรวุธ ที่ทำละครเรื่องนี้ออกมาได้อย่างดีงาม ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะได้เห็นละครเวทีของไทยที่มีเนื้อเรื่องและบรรยากาศเรียบง่ายใช้เทคนิคการสร้างที่ไม่จำเป็นต้องอลังการงานสร้างอะไรมาก แต่กลับดูยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ คุณสุวรรณดีและทีมงานมาพร้อมความคิดสร้างสรรค์และกล้าที่จะทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำหุ่นเชิดมาใช้ในส่วนของการแสดงหลักนั้น ไม่คิดเลยว่าจะได้เห็นอะไรแบบนี้ในละครเวทีบ้านเราแถมทำได้ยอดเยี่ยมซะด้วย


สิ่งสุดท้ายที่จะขอกล่าวถึงคือฉากจบ ซึ่งพูดได้เลยว่าทำออกมาได้ตรงกับจินตนาการตอนที่ผมอ่านหนังสืออย่างมากถึงมากที่สุด ฉากนี้เป็นฉากที่เรียบง่ายมากๆฉากนึง แต่อารมณ์และความรู้สึกมาเต็ม ภาพทั้งหมดทั้งความคิด ความรู้สึก ห้วงอารมณ์ต่างๆของมอม หลั่งไหลเข้ามาในสมองของผู้ชมเพียงแค่เห็นฉากง่ายๆฉากนี้เท่านั้น นาทีนั้นผู้ชมหลายคน พร้อมใจกันหลั่งน้ำตา น้ำตาที่ไม่รู้เรียกว่าน้ำตาแห่งความสุขหรือความเศร้าดี เพราะความรู้สึกทั้งหมดนั้นได้หลอมรวมเข้ากันเป็นนึงเดียวจนแยกจากกันไม่ได้เสียแล้ว


สิ้นสุดฉากนี้ ก็ปรากฎข้อความที่ถอดมาจากย่อหน้าสุดท้ายของบทประพันธ์ และถือเป็นสัญญาณของการปิดม่านการแสดงละครเวทีเรื่องนี้อย่างสมบูรณ์


"คืนหน้าร้อนวันนั้น ถ้าหากมีใครเดินมาตามถนนราชวิถีตอนดึกประมาณสักตีสองครึ่งจะได้เห็นชายคนหนึ่งรูปร่างสูงผอมเสื้อผ้าขาดวิ่น เดินช้าๆ อยู่ข้างถนนอย่างอ่อนระโหยโรยแรงข้างๆตัวมีหมาตัวผู้รูปงามตัวหนึ่ง ปากคาบกิ่งไม้ คอตั้งหางเชิดวิ่งตามเขาไปด้วยความเบิกบานสุดขีด"

ชื่อสินค้า:   มอม เดอะมิวสิคคัล รีสเตจ
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่