นมแม่เปรี้ยว นมแม่เค็ม ต้องหย่านมหรือไม่?

เกิดอะไรขึ้นกับนมแม่ เมื่อเจ้าตัวน้อยทำหน้าเบ้ ไม่ยอมกินนมเพราะ นมแม่เปรี้ยว นมแม่เค็ม มาหาสาเหตุของรสชาติที่เปลี่ยนไปของนมแม่พร้อมกันนะคะ

นมแม่เปรี้ยว นมแม่เค็ม ต้องหย่านมหรือไม่?

โดยปกตินมแม่จะมีรสชาติตามอาหารที่แม่กินเข้าไป หากคุณแม่กินอาหารที่หลากหลาย จะส่งผลให้เจ้าตัวน้อยกินอาหารได้หลากหลายเช่นเดียวกัน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นการสร้างนิสัยการกินที่ดีให้แก่คุณแม่ ซึ่งจะส่งผ่านไปยังเจ้าตัวน้อยที่กินนมแม่ด้วยค่ะ อย่างไรก็ตาม คุณแม่อาจเข้าใจว่า ถ้าอย่างนั้น การที่คุณแม่กินพริก นมแม่ก็จะเผ็ดตามไปด้วย ถ้าคุณแม่กินมะระ จะทำให้นมขม หรือหากคุณแม่กินเปรี้ยวหรือกินเค็ม อาจทำให้นมแม่เปรี้ยวและเค็มตามไปด้วยหรือเปล่า

เพจนมแม่แบบแฮปปี้ อธิบายไว้ว่า อาหารของแม่มีผลต่อรสชาติน้ำนมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม่‎ทานมะระ น้ำนมไม่ขมแบบมะระ แม่ทานพริก น้ำนมไม่เผ็ดแบบพริก แม่ทานเค็ม น้ำนมไม่เค็ม นมแม่ยังคงความหวานหอม คุณค่าครบถ้วน ในแบบฉบับของนมแม่ นอกจากไปฟรีซแล้วนมจะหืนค่ะ

นมแม่มีรสเปรี้ยวลูกกินได้ไหม?

สาเหตุที่นมแม่เปรี้ยว แสดงว่าคุณแม่มีเหงื่อเยอะ มักเกิดหลังจากคุณแม่เพิ่งออกกำลังกายมาใหม่ๆ แล้วมาให้เจ้าตัวน้อยเข้าเต้าทันที ร่างกายของคุณแม่จะผลิตกรดแล็กติกขึ้นมา ทำให้นมแม่มีรสเปรี้ยว แต่ไม่ได้หมายความว่านมเสียนะคะ ไม่จำเป็นต้องหย่านมค่ะ

แล้วถ้านมสต็อกเปรี้ยวล่ะ?
นมสต็อกเปรี้ยว คือ นมเสีย อาจเกิดจากคุณแม่ละลายนมแล้วตั้งทิ้งไว้นานเกินไป โดยปกตินมแม่สามารถตั้งไว้ในห้องที่ไม่เปิดแอร์ได้ 2 ชั่วโมง หากอุณหภูมิห้อง (25 องศา) สามารถวางไว้ได้นาน 6-8 ชม. นมแม่ที่ทานไม่หมด สามารถนำกลับไปแช่ตู้เย็นได้แต่ควรเปลี่ยนจุกสะอาด และควรทานให้หมดภายใน 24 ชม. หากคุณแม่ไม่มั่นใจว่านมจะเสียหรือเปล่า ให้ลองชิมน้ำนมก่อนที่จะให้ลูกดื่ม ถ้าน้ำนมไม่เปรี้ยว ไม่มีกลิ่นบูดคือไม่เสีย นมเสีย คือ ชิมแล้วมีรสเปรี้ยว และมีกลิ่นเหม็นบูด

ในกรณีที่คุณแม่นำนมสต็อกมาละลายทิ้งไว้ แล้วพบว่าน้ำนมแยกชั้น เป็นตะกอน หรือน้ำนมมีกลิ่นหืน เป็นเรื่องปกติไม่ใช่นมเสียหรือนมบูดแต่อย่างใด


คุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ อธิบายไว้ดังนี้

น้ำนมแยกชั้น ทุกส่วนประกอบของน้ำนมยังมีประโยชน์คงเดิม โดยชั้นบนสุดเป็นส่วนของไขมัน ที่มีดีเอชเอ เป็นตัวที่ทำให้น้ำหนักลูกขึ้นดี และไม่ทำให้ถ่ายบ่อยหรือถ่ายเหลวเกินไป ส่วนชั้นล่างสุดจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลักและมีน้ำตาลแลคโตสซึ่งเป็นแหล่งพลังงาน และช่วยขับสารสีเหลืองออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น เพียงนำขวดนมหรือถุงนมมาแกว่งเบาๆ ให้นมละลายเป็นเนื้อเดียวกันก็สามารถให้ลูกกินได้ตามปกติ แต่คุณแม่ต้องระวัง อย่าเขย่าแรง เพราะจะทำให้เซลส์เม็ดเลือดขาวแตก คุณค่าของน้ำนมจะลดลง

น้ำนมแม่มีกลิ่นหืน เกิดจากไขมันถูกย่อยสลายโดยน้ำย่อยไลเปสที่อยู่ในน้ำนม ยิ่งเก็บนานจะยิ่งเหม็นหืนมาก เป็นเรื่องปกติ ไม่จำเป็นต้องทิ้งนม

นมแม่มีรสเค็มเกิดจากอะไร?

น้ำนมลดลง

เมื่อลูกโตขึ้น กินข้าวเป็นอาหารหลักครบ 3 มื้อ กินนมเป็นอาหารเสริม เด็กบางคนกินนมแม่น้อยลง  แม่ไม่ได้ปั๊มกระตุ้น น้ำนมจึงลดลง หากน้ำนมจากเต้าถูกดูดน้อยลง หรือถูกระบายออกน้อยลง จะทำให้สัดส่วนของน้ำและแลคโตสในน้ำนมลดลง ทำให้นมมีรสเค็มหรือหวานน้อยลง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของการผลิตน้ำนมในช่วงใกล้หย่านม แม้ว่านมแม่จะเค็มในช่วงนี้ แต่นมแม่จะมีโปรตีนเพิ่มขึ้น ซึ่งโปรตีนถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันของลูก ที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อให้เจ้าตัวน้อยได้รับภูมิต้านทานเข้มข้นเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะหย่านมนั่นเอง



เต้านมอักเสบ

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นมเค็ม ได้แก่ คุณแม่มีอาการเต้านมอักเสบ รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์ รสชาติ อธิบายว่า นมของคุณแม่ที่มีเต้านมอักเสบจะมีรสอูมามิและรสเค็มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะคล้ายกับรสชาติของหัวน้ำนมที่เจ้าตัวน้อยเคยได้รับมาก่อน คุณแม่จึงไม่ควรกังวลเรื่องรสชาติของน้ำนม

การรักษาอาการเต้านมอักเสบ คุณแม่สามารถให้นมแม่ได้ตามปกติคุณแม่ โดยแนะนำให้นวดเพื่อเปิดท่อน้ำนม ก่อนหรือระหว่างการให้นมลูกจะช่วยน้ำนมไม่อุดตัน และให้นมด้านที่เต้านมอักเสบก่อนเพื่อช่วยระบายน้ำนมจากเต้านมข้างที่อักเสบซึ่งจะช่วยลดความเจ็บปวดและช่วยให้เต้านมด้านที่อักเสบยังคงสร้างน้ำนมอย่างต่อเนื่อง

ไม่ควรหยุดให้นม หรือปั๊มนม เพราะหากน้ำนมไม่ได้ถูกบีบหรือปั๊มออก การสร้างน้ำนมจะหยุด เต้านมจะปวดมากขึ้นและอาจทำให้เกิดเป็นฝีหนองได้

ไขข้อข้องใจเรื่องนมแม่เปรี้ยว นมแม่เค็มกันแล้วนะคะ คุณแม่สบายใจได้ทั้งนมแม่เปรี้ยว นมแม่เค็ม ถ้าเป็นนมสดๆ จากเต้า ไม่จำเป็นต้องหย่านมค่ะ น้ำนมแม่ มีประโยชน์จนหยดสุดท้าย

ที่มา
http://th.theasianparent.com/%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%A7-%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B9%87%E0%B8%A1-%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่