ขุนพันธ์ (2016) กับโจทย์ความ Exotic ของหนังไทย (?)

แม้จะเป็นเรื่องของบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงๆ ในอดีต แต่หนังก็ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าไม่ได้สร้างมาเพื่อเป็นสารคดี แต่เป็นหนังที่พยายามจะเล่าอย่างครบรสและดึงอารมณ์คนดูให้เพริดกระเจิงไปกับวีรกรรมอันผาดโผนของ “ขุนพันธ์” -เจ้าหน้าที่ตำรวจอาคมกล้าที่ถูกย้ายไปประจำการในดินแดนอันตรายและสิ้นหวัง อันเนื่องมาจากสภาพบ้านเมืองที่บอบช้ำสุดขีด ประชาชนผู้ยากจนจึงหันเหไปเป็นโจรและเริ่มปล้นฆ่ากันนับแต่นั้น

โดยส่วนตัวไม่มีปัญหากับกลิ่นความเป็นคาวบอยหรือหรือการแบ่งฝั่งขาวดำคนร้ายคนดี นอกจากนี้ บางจังหวะหนังยังให้อารมณ์ Exotic อยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะฉากการใช้อาคมพรางตาของตัวละคร หรือความเชื่อและวิถีปฏิบัติของคนในชุมชนนั้นๆ บางประการ น่าเสียดายที่องค์ประกอบทั้งหมดนี้สะเปะสะปะอยู่ในตัวหนังมาก และไปไม่สุดในสักทาง นับตั้งแต่การตั้งคำถามต่อหน้าที่ของตัวเองของขุนพันธ์ว่า ทำไมโจรถึงอยากเป็นโจรแล้วทำไมเขาถึงอยากเป็นตำรวจอยู่



จริงๆ ถ้าหนังมันเดินหาคำตอบตามที่ขุนพันธ์ตั้งคำถามไว้ที่ห้านาทีแรกตอนต้นเรื่อง ทุกอย่างน่าจะออกมาลงตัวกว่านี้มาก แต่พอหนังพุ่งเป้าจะแฟนตาซีตัวละครและใส่ทุกอย่างที่หนัง Exotic สักเรื่องควรจะมี ก็เหมือนผู้กำกับมีไอเดียงอกเยอะแยะไปหมดแล้วตัดใจทิ้งไม่ลงสักอันเลยยัดใส่หนังมาทั้งพวง ส่วนตัวคิดว่าถ้าจะขายความแปลกใหม่หรือดิบ ลำพังเน้นไปที่การใช้คาถาอาคมของตัวละครอย่างเดียวก็น่าจะกินขาดแล้วในแง่ความสนุก แต่ยังมีความ “เยอะ” อีกหลายอย่างที่ใส่เข้ามาในหนังอย่างฟุ่มเฟือยและฟุ้งเฟ้ออยู่เกือบอีก 30 นาทีอันเปล่าประโยชน์

ฉากบู๊ซึ่งหลายคนคงคาดหวังไว้เยอะนั้น ที่จริงทำได้ไม่เลวเลยทีเดียว ใครจะปฏิเสธฉากดวลปืนอันดุเดือดระหว่างเจ้าหน้าที่และโจรได้ลง หรือฉากตะบึงห้อม้าข้ามทุ่งกว้างสุดเฉียบ แต่ก็น่าเสียดายอีกเช่นกันที่หลายครั้งที่ฉากการต่อสู้ไม่สมจริง-ไม่ได้เป็นปัญหาที่ความเก่งกาจเหนือมนุษย์ของตัวละคร (หรือความเป็นฮีโร่ฮอลลีวู้ด) แต่เป็นปัญหาของหนังเองที่ไม่สามารถทำให้คนดูรู้สึกเชื่อหรืออินได้ว่าตัวละครเก่งกาจพอจะทำอย่างนั้นได้

ฉากชกกันบนรถไฟนี่น่าผิดหวังมาก มีความเป็น Oldboy (2003) ฉบับทำได้น่าไม่สมจริงกว่ามากๆ ผสมกับ Skyfall (2012) ซึ่งติดปัญหาใหญ่และเป็นปัญหาหลักของหนังไทย-ปัญหาเรื่องซีจี



อย่างไรก็ดี การแสดงของนักแสดงหลักอย่างอนันดา, กฤษดา สุโกศล แคลปป์ และสน-สนธยา ชิตมณีนั้น ก็อยู่ในข่ายดีมากทีเดียว แต่ก็ดูเป็นไม่กี่ตัวละครที่สอบผ่านเรื่องแอ็คติ้ง เพราะขณะที่พวกเขาหนีตายและเหลือกลานอยู่กลางดงกระสุนนั้น ตัวประกอบคนอื่นๆ กลับแสดงได้ในระดับน่าผิดหวัง ถึงขั้นที่พูดจาท่ามกลางความเป็นตายด้วยท่าทางเหมือนนั่งอ่านหนังสือพิมพ์อยู่หน้าบ้านวันหยุด

กฤษดา สุโกศล แคลปป์ หรือน้อย วงพรู ในบทโจรยะลู นับเป็นอีกการแสดงที่น่าสนใจของเขา เพราะหนังใส่ความซับซ้อนทางจิตใจของยะลูไว้ค่อนข้างมากและกฤษดาก็ “เก็บ” รายละเอียดได้ไม่มีตกหล่น เป็นโจรที่ดูหลุกหลิก คุกคามและสั่นประสาทในเวลาเดียวกัน ติดอย่างเดียวคือ ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง คงเพราะเจ้าตัวพูดไทยไม่ค่อยชัดด้วย



ในขณะที่โจรยะลูถูกออกแบบมาให้ดูคุกคามเช่นนั้น ตัวละครโจรคนอื่นๆ ในเรื่องกลับดูน่าผิดหวังและน่ารำคาญมาก ไม่เข้าใจว่า จะเป็นคนใจร้ายใจดำกันแบบนิ่งๆ ไม่ได้เหรอ ทำไมต้องเล่นหน้าเล่นตา ตาเหลือกตาพองตลอด ถ้าใครเคยเห็นแอ็คติ้งตัวร้ายหนังแอ็คชั่นเกลื่อนๆ สักเรื่องน่าจะนึกออก ถอดแบบมาแบบนั้นโดยเฉพาะรองตัวร้ายที่สักหน้า ดูไปก็เพลียหัวใจไป

อีกคนที่เล่นได้พิลึกมากๆ คือแฟรงค์ เดอะ สตาร์ ในบทหลวงโอฬาร ไม่รู้ผู้กำกับไปบรีฟเขาให้แสดงแบบนั้นหรือเปล่า แต่รวมๆ แล้วคือโฉ่งฉ่างมาก ก็มองไม่ออกว่าถ้าได้ขนาดนี้ทำไมใครต่อใครก็มองไม่ออกวะว่ามันเลว

อย่างไรก็ดี หนังพยายามบอกว่าปัญหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้นนั้นมาจากนักการเมืองเลวและข้าราชการขาดความศรัทธา-แต่ตัวละครอย่างหลวงโอฬารกลับถูกขับให้เด่นและเป็น “นักการเมืองขายชาติ” ท้ายที่สุดก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะผลิตความคิดซ้ำไปซ้ำมาว่านักการเมืองนั้นโลภ โกง โดยที่หนังอาจจะลืมสะกิดเตือนไปว่า พ้นไปจากนี้แล้ว พื้นฐานความบอบช้ำของประเทศเองคือข้าราชการ และองคาพยพอื่นๆ ซึ่งฉุดรั้งอยู่จนทุกวันนี้

ฝากบล็อก-เพจ สำหรับติดตามข่าวสาร-แลกเปลี่ยนกันนะคะ
Page: https://www.facebook.com/llkhimll
Blog: http://llkhimll.wordpress.com/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่