รู้จักบล็อกเชน (Blockchain) เทคโนโลยีปฏิวัติสังคม


รู้จักบล็อกเชน (Blockchain) เทคโนโลยีปฏิวัติสังคม
ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

          วันนี้ดูเหมือนเราจะได้ยินชื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่เว้นแต่ละวัน และแทบทุกครั้งก็จะได้ยินสโลแกนเป็นสร้อยต่อท้าย เช่น "พลิกโลก!" "พลิกโฉม!" "ปฏิวัติวงการ!" ฯลฯล่าสุด หลายคนกำลังตื่นเต้นหรือกังวลกับ "พร้อมเพย์" (PromptPay) ระบบโอนเงินรูปแบบใหม่ที่ใช้เบอร์มือถือหรือเลขบัตรประชาชนผูกกับเลขบัญชีธนาคาร

          พร้อมเพย์ส่งผลให้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ หันมาสนใจกับคำว่า "ฟินเทค" (FinTech) ซึ่งเป็นคำเรียกรวมๆ ถึงการใช้ซอฟต์แวร์เป็นหลักในการให้บริการทางการเงิน บริษัทฟินเทคเกิดใหม่โดยมากตั้งใจจะ "คว่ำ" ระบบการเงินแบบดั้งเดิม

          ในบรรดาเทคโนโลยีฟินเทคทั้งหลาย ผู้เขียนคิดว่าไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นและทรงพลังมากกว่า "บล็อกเชน" (Blockchain) เทคโนโลยีเบื้องหลัง "บิตคอยน์" (Bitcoin) สกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ชื่อดัง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่รองรับว่าเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายในไทย

          บล็อกเชนสำคัญกว่าบิตคอยน์หลายเท่า เพราะมันเป็นมากกว่าฟินเทค แต่เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพจะ "ปฏิวัติสังคม" แทบทุกเรื่องและทุกระดับ!

          เศรษฐกิจและสังคมสมัยใหม่ของเราตั้งอยู่บน "ความไว้วางใจ" ระหว่างกัน (ว่าจะไม่มีใคร "เบี้ยว" ข้อตกลง) แต่เราต้องอาศัย "ตัวกลาง" จำนวนมากมายหลายรูปแบบในการทำให้เรามั่นใจ เช่น เราอาศัยธนาคารเวลาโอนเงิน อาศัยทนายเวลาเจรจาทำข้อตกลงทางการค้า อาศัยนายหน้าอสังหาริมทรัพย์เวลาหาซื้อบ้าน ฯลฯ

          บล็อกเชนมีศักยภาพที่จะทำให้ "ตัวกลาง" ทั้งหมดนี้ไร้ความหมาย! (ถ้าไม่ยกระดับตัวเองไปส่งมอบมูลค่าเพิ่มที่ซอฟต์แวร์ทำไม่ได้)

          กล่าวอย่างรวบรัดที่สุด บล็อกเชนคือ "ระบบการจัดการฐานข้อมูล" สำหรับการยืนยันตัวตน เคลียริ่งธุรกรรม สืบสาวร่องรอย และบันทึกความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ (เช่น สกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างบิตคอยน์) หรืออะไรก็ตามที่เปลี่ยนมือกันได้

          ระบบบล็อกเชนตั้งอยู่บน "บัญชีธุรกรรม" (ledger) อิเล็กทรอนิกส์ บัญชีนี้เก็บไว้ในเครือข่ายเครื่องคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ เรียกว่า "โหนด" (node) แต่ละโหนดมีสำเนาบัญชีธุรกรรมของตัวเอง บัญชีนี้จึงกล่าวได้ว่า "กระจายศูนย์" (distributed) เพราะมันถูกก๊อบปี้ไปอยู่ในทุกโหนดในเครือข่ายในเวลาจริง อัพเดตล่าสุดพร้อมกันตลอดเวลา

          ไม่มีเซิร์ฟเวอร์ของใครเป็น "เจ้าของ" บัญชีธุรกรรมแต่เพียงผู้เดียว

          บัญชีธุรกรรมนี้แตกต่างจากบัญชีทั่วๆ ไป ตรงที่มันบันทึกธุรกรรมทุกรายการตั้งแต่บัญชีนี้ถือกำเนิดมาเลยทีเดียว ไม่ว่าจะกี่สิบหรือกี่ร้อยล้านธุรกรรม จึงเป็นที่มาของคำว่า "เชน" (chain หรือห่วงโซ่) ใน "บล็อกเชน"

          เกิดอะไรขึ้นเวลาที่มีธุรกรรมใหม่? ก่อนอื่น มันจะเข้าสู่เครือข่ายบล็อกเชนในรูปที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน (unconfirmed) ทุกโหนดจะรับรู้ว่า มีธุรกรรมใหม่เกิดขึ้นแล้วนะ โหนดประมวลผลแต่ละโหนดจะจัดธุรกรรมนี้ให้อยู่ในรูปของ "บล็อกข้อมูล" (block ใน "บล็อกเชน")



          ต่อมาโหนดประเภท "นักขุด" (miner) จะประยุกต์ใช้สมการคณิตศาสตร์ชั้นสูงเข้ากับข้อมูลในบล็อก แปลงให้มันเป็น "ลายเซ็น" อิเล็กทรอนิกส์เพื่อความปลอดภัย เรียกว่า "แฮช" และเอาแฮชมาต่อท้ายบล็อกเชน นอกจากนี้ยังเอาแฮชจากบล็อกสุดท้ายในเชนที่ก่อนจะถึงบล็อกปัจจุบัน มาสร้างแฮชใหม่เช่นกัน แฮชจึงเปรียบเป็น "ครั่งผนึกจดหมาย"- ถ้าเปลี่ยนข้อมูลในบล็อกเพียงตัวอักษรตัวเดียว แฮช ก็จะเปลี่ยนไปทั้งหมด ในแง่นี้แฮชจึงช่วย "ยืนยัน" ว่าธุรกรรมล่าสุดเกิดขึ้นจริง และยืนยันว่าธุรกรรมหลังจากนี้ทั้งหมดถูกต้องด้วยเช่นกัน



          สมมุติว่าเราอยากจะ "ปลอม" ธุรกรรม ด้วยการเปลี่ยนแปลงในบล็อกที่อยู่ในบล็อกเชนอยู่แล้ว แฮชของบล็อกนั้นก็จะเปลี่ยนไป ถ้าหากใครลองเช็กความถูกต้องด้วยการประยุกต์ใช้สมการคณิตศาสตร์ คนคนนั้นก็จะพบทันทีว่าแฮชนี้แตกต่างจากแฮชของบล็อกที่อยู่ในบล็อกเชน ฉะนั้นจึงรู้ได้ทันทีว่าอันนี้เป็นของปลอม

          การผลิตแฮชนี้ในภาษาบล็อกเชนเรียกว่า การสร้าง "proof of work" หรือเรียกชื่อเล่นว่า "การขุด" (mining) เหมือนขุดเหมือง ทำให้โหนดที่เน้นทำหน้าที่นี้ได้ชื่อว่า "นักขุด" หรือ (miner) และเป็นวิธีที่ทำให้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ล้วนๆ สามารถสร้าง "ความไว้วางใจ" ให้เกิดขึ้นสำหรับธุรกรรมทุกธุรกรรมได้ โดยไม่ต้องมีสถาบันตัวอย่างอย่างเช่นธนาคารเข้ามาเกี่ยวข้องเลย



          เนื่องจากบล็อกเชนมีขนาดมหึมาเพราะบันทึกธุรกรรมทั้งหมดตั้งแต่ครั้งแรกจนปัจจุบัน นั่นแปลว่าแฮกเกอร์ที่อยากจะแฮ็กบล็อกเชนจะต้องใช้พลังประมวลผลสูงมาก มากกว่าโหนดครึ่งหนึ่งของบล็อกเชนทั้งหมดรวมกัน ซึ่งก็เป็นไปได้ยากเพราะมีต้นทุนสูงลิบ ด้วยเหตุนี้เครือข่ายบล็อกเชนจึงมีความปลอดภัยสูงยิ่ง

          วิธีสร้างแฮชของโหนด "นักขุด" ถูกออกแบบมาให้ใช้ทรัพยากร (พลังประมวลผล และไฟฟ้าที่ป้อนคอมพิวเตอร์) สูงมากและทำยาก แต่โหนดนักขุด (หรือพูดให้ชัดกว่าคือ คนหรือบริษัทที่เป็นเจ้าของโหนดนักขุด) ได้แรงจูงใจจากการได้ค่าธรรมเนียมหรือผลตอบแทนจากการสร้างแฮช ในกรณีของบิตคอยน์บล็อกเชน แรงจูงใจนั้นอยู่ในรูปของบิตคอยน์ 25 หน่วย ซึ่งจะออกใหม่เป็น "รางวัล" ให้กับโหนดนั้นๆ

          การได้บิตคอยน์เป็นรางวัล นอกจากจะสร้างแรงจูงใจให้คนช่วยกันดูแลระบบให้มีความปลอดภัยแล้ว ยังเป็นวิธีเพิ่มปริมาณเงินในระบบแบบ "กระจายศูนย์" คือไม่มีธนาคารกลางคอยตัดสินใจ ทุกอย่างเกิดจากโค้ดคอมพิวเตอร์ล้วนๆ

          แถวเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งขึ้นเพื่อ "ขุด" บล็อกเชน (mining) ของแชนด์เลอร์ กั๋ว (Chandler Guo) ผู้ก่อตั้ง BitBank ในจีน

          ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นแปลว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถสร้าง "ความไว้วางใจ" ให้กับธุรกรรมทุกประเภท จาก "โค้ดคอมพิวเตอร์" ที่ทำงานประสานกันอย่างเป็นระบบ ไม่ต้องอาศัย "ตัวกลาง" หรือการตัดสินใจใดๆ ของ "คน" นอกจากนี้ การที่บล็อกเชนบันทึกประวัติศาสตร์ตั้งแต่ธุรกรรมครั้งแรกเริ่ม เท่ากับเป็นการสร้างและเรียกร้อง "ความโปร่งใส" ชนิดสุดขั้วจากทุกฝ่ายที่อยากทำธุรกรรม

          ในเมื่อข้อมูลแทบทุกรูปแบบวันนี้สามารถแปลงให้อยู่ในรูปข้อมูลดิจิทัล บล็อกเชนจึงสามารถใช้สำหรับรองรับกิจกรรมที่แตกต่างหลากหลายได้มากมาย เพราะกิจกรรมแทบทุกชนิดในชีวิตของคนเราตั้งอยู่บนการแลกเปลี่ยนจากคนอื่น ฉะนั้น บล็อกเชนจึงสามารถรองรับการซื้อขายหลักทรัพย์ ตราสาร สินเชื่อ ที่ดิน บ้าน สินค้า เอกสารยืนยันความถูกต้อง รวมทั้งข้อตกลงต่างๆ ด้วย ในทางที่เร็วกว่า ง่ายกว่า และถูกกว่าวิธีที่เราคุ้นเคยอย่างมหาศาล ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าบล็อกเชนจะช่วยปรับปรุงคุณภาพของระบบประชาธิปไตยและการศึกษาได้ด้วย!.


แถวเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งขึ้นเพื่อ “ขุด” บล็อกเชน (mining) ของ แชนด์เลอร์ กั๋ว (Chandler Guo) ผู้ก่อตั้ง BitBank ในจีน


แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 (หน้า 4)
ภาพประกอบจาก http://thaipublica.org/2016/07/blockchain-revolution/
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่