แม่เล้า ค้ากาม ฯลฯ นำเงินมาสร้างวัด ทำบุญ ฯลฯ พระภิกษุ รู้อยู่ ......... จะติดคุกไหมครับ ?

[๗๑๔] ดูกรอานนท์ ก็ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณานี้มี ๔ อย่าง ๔ อย่าง
เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก
บางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก บางอย่างฝ่ายทายกก็ไม่
บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์ บางอย่างบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก ฯ
             [๗๑๕] ดูกรอานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่าย
ปฏิคาหกอย่างไร ดูกรอานนท์ ในข้อนี้ ทายกมีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหก
เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์
ฝ่ายปฏิคาหก ฯ
             [๗๑๖] ดูกรอานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์
ฝ่ายทายกอย่างไร ดูกรอานนท์ ในข้อนี้ ทายกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก
ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก
ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ฯ
             [๗๑๗] ดูกรอานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่าฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหก
ก็ไม่บริสุทธิ์อย่างไร ดูกรอานนท์ในข้อนี้ ทายกก็เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก
ปฏิคาหกก็เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่าฝ่ายทายกก็ไม่
บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์ ฯ
             [๗๑๘] ดูกรอานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก และฝ่าย
ปฏิคาหกอย่างไร ดูกรอานนท์ ในข้อนี้ ทายกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม ปฏิคา-
*หกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก
และฝ่ายปฏิคาหก ฯ
             ดูกรอานนท์ นี้แล ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา ๔ อย่าง ฯ
             [๗๑๙] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว
ได้ตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ต่อไปอีกว่า
                          (๑) ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี
                          เชื่อกรรมและผลแห่งกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล
                          ทักษิณาของผู้นั้น ชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ฯ
                          (๒) ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส
                          ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล
                          ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ฯ
                          (๓) ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส
                          ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล
                          เราไม่กล่าวทานของผู้นั้นว่า มีผลไพบูลย์ ฯ
                          (๔) ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรม
                          และผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล เรากล่าวทาน
                          ของผู้นั้นแลว่า มีผลไพบูลย์ ฯ
                          (๕) ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใส
                          ดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในผู้ปราศจาก
                          ราคะ ทานของผู้นั้นนั่นแล เลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย ฯ

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=9161&Z=9310



จากพระสูตรนี้ นะครับ ผมเข้าใจว่า กรณีที่ คนบางคน เอาเงินบาป มาทำบุญ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว เป็นเรื่องปกติครับ
แต่ผมยังค้นไม่พบว่า พระพุทธเจ้า ตรัสสั่งห้าม ไม่ให้พระรับทานนั้น หรือ ปรับอาบัติพระภิกษุ เลยนะครับ หากท่านใดพบ กรุณานำมาแสดงด้วยครับ

ทีนึ้ เมื่อผมนำมาพิจารณาเทียบเคียงกับ กรณี วัดใหม่ยายแฟง

https://th.m.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%9C%E0%B8%A5
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หญิงนางหนึ่งชื่อ แฟง มักเรียกกันว่า ยายแฟง เป็นเจ้าสำนักโสเภณีชื่อ "โรงยายแฟง" อยู่ที่ตรอกเต๊า ถนนเยาวราช มีศรัทธาในพุทธศาสนา จึงชวนหญิงโสเภณีในสำนักของนางเอารายได้จากการค้าประเวณีมาลงขันกันสร้างวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2376

ในงานสมโภชวัด ยายแฟงนิมนต์ขรัวโต ซึ่งต่อมาได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) มาเทศน์ฉลอง หวังจะให้เทศน์สรรเสริญคุณงามความดีของนางในครั้งนี้ต่อที่ชุมชน แต่ขรัวโตเทศน์สั่งสอนว่า ทำบุญเอาหน้า แม้จะเป็นบุญใหญ่ ก็ได้บุญน้อย นอกจากนี้ ขรัวโตยังว่า เงินของยายแฟงได้มาโดยไม่บริสุทธิ์ ยายแฟงจึงได้บุญไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยเปรียบเปรยว่า "ในการที่เจ้าภาพได้จัดการทำบุญเช่นนี้นั้น เป็นการทำบุญที่มีเบื้องหลังอยู่หลายประการ เป็นเหตุให้เหมือนกับว่า ในเงินทำบุญหนึ่งบาทนั้น ยายแฟงจะได้อานิสงส์เพียงแค่สลึงเฟื้องเท่านั้น"

วัดนี้ เดิมไม่ได้ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า "วัดใหม่ยายแฟง" และนับตั้งแต่สร้าง ก็ได้เปิดทำสังฆกรรมต่อมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่ราชสมบัติแล้ว ลูกหลานของยายแฟงจึงบูรณะ และขอพระราชทานนามวัดจากพระมหากษัตริย์ ก็โปรดให้ว่า "วัดคณิกาผล" แปลว่า วัดที่สร้างขึ้นจากผลประโยชน์ของนางคณิกา คือ นางโสเภณี






ประเด็น ก็คือ

1 ในสมัยนั้น ธุรกิจ การค้ากาม ไม่ผิดกฏหมาย แต่ผิดธรรม หริอไม่ ผมไม่แน่ใจ(วณิชชสูตร)
แต่สรุปก็คือ แม้ได้บุญน้อย แต่ยายแฟง ก็ได้บุญ พระก็ไม่ได้ผิดอะไร นะครับ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔
อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

๗. วณิชชสูตร
             [๑๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ ประการนี้ อันอุบาสกไม่พึง
กระทำ ๕ ประการเป็นไฉน คือ การค้าขายศาตรา ๑ การค้าขายสัตว์ ๑ การ
ค้าขายเนื้อสัตว์ ๑ การค้าขายน้ำเมา ๑ การค้าขายยาพิษ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
การค้าขาย ๕ ประการนี้แล อันอุบาสกไม่พึงกระทำ ฯ

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=4838&Z=4843

2 แต่ถ้าเป็นสมัยปัจจุบัน ยายแฟงต้องติดคุกแน่ๆ ส่วนพระ ผมไม่แน่ใจครับ ว่าผิดกฏหมายด้วยหรือไม่ ?

กล่าวคือ พระท่านก็ทราบดีอยู่ ว่ายายแฟงทำธุรกิจอะไร
และเมื่อทั้งๆที่รู้อยู่แบบนี้ การรับข้าวของเงินทอง ทำนุบำรุง รักษา ก่อสร้าง วัด ฯลฯ และ จตุปัจจัยไทยธรรมต่างๆ จะผิด หรือไม่ ?

ผิดข้อหา รับของโจร ไหม ?
ผิดข้อหา ฟอกเงิน หริอไม่ ?

3 กรณียายแฟง นั้นคือ พระ รู้อยู่ว่า ยายแฟง เอาเงินอะไรมาทำบุญ นะครับ
ในทางธรรม อาจถือว่าเป็นเงินไม่สะอาด แต่ในทางกฏหมาย(สมัยนั้น) ถือว่าไม่ผิด

สรุป ก็คือ ในส่วนของพระ ไม่ผิดทั้งทางโลกทางธรรม(แม้ รู้อยู่)
แต่ถ้าเป็นในสมัยปัจจุบันหละ ท่านทั้งหลาย มีความเห็นว่าอย่างไรครับ ?

ส่วนกรณีของวัดพระธรรมกาย อาจดูแปลกไปสักหน่อย

ประการแรก การบอกว่า วัดพระธรรมกาย มีความผิดฐาน รับของโจร มันจะขัดแย้งกับการดำเนินคดีในครั้งแรก ที่ระบุว่าผิดฐาน ยักยอกทรัพย์
เพราะ กรรมเดียวกัน จะมาบอกว่า มีความผิดในฐานที่แตกต่างกัน ได้อย่างไร ? อันนึ้ผมสรุป หลังจากอ่านฎีกา มาแล้วนะครับท่าน

พูดอธิบายง่ายๆ ก็คิอ กรรมอันเดียวกันนั้นน่ะ จะมาบอกว่า วัดพระธรรมกาย ยักยอกเองด้วย และ รับของโจรด้วย ไม่ได้ครับ
ถ้าจะบอกว่าผิด(ในสองฐานความผิดนี้) สามารถระบุได้เพียงว่า ผิดฐานใดฐานหนึ่ง เท่านั้น
ดังนั้น ปัญหาจึงมีอยู่ว่า การถอนฟ้องคดียักยอกในครั้งแรก แล้วมาฟ้องใหม่ในคดีรับของโจร ในกรรมเดียวกันนั้น
ย่อมจะเป็นการฟ้อง ที่ขัดแย้งตัวเอง เป็นการฟ้องซ้ำ ซึ่งผิดหลักกฏหมาย ครับท่าน

ประการที่สอง วัดพระธรรมกาย จะทราบได้หรือไม่ว่า ทรัพย์นั้น ได้มาโดยผิดกฏหมาย ?

เรื่องนี้ ยาก นะครับ
ที่ว่ายาก ก็คือ ยากสำหรับ ดีเอสไอ เพราะว่า ภาระหน้าที่ในการพิสูจน์เรื่องนี้ เป็นของ ดีเอสไอ ไม่ใช่ สำนักวัดพระธรรมกาย ครับ(อ้างฎีกา)
และที่ยากที่สุด ก็คือ การที่เคยไปฟ้องเขาในความผิดฐานยักยอก ในคราวแรกนั่นแหละ ที่จะส่งผลให้ ไม่สามารถพิสูจน์ได้เลยว่า เขารับของโจร

ดังนั้น ผมจึงเห็นว่า สิ่งที่น่าหนักใจ สำหรับสำนักวัดพระธรรมกาย จึงไม่ใช่ การต่อสู้คดีในชั้นศาล
หากแต่เขากลัวถูกกลั่นแกล้ง จับถอดผ้าเหลือง อย่างไม่เป็นธรรม ด้วยแท็กติคทางกฏหมาย ในชั้นสอบสวน (ดีเอสไอ) เสียมากกว่า
ท่านทั้งหลาย มีความเห็นว่าอย่างไร บ้างครับ

อนุโมทนา ครับท่าน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่