เที่ยวไปใน พระบรมมหาราชวังกรุงศรีอยุธยา


ประวัติ
เมื่อ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1893 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ สร้างพระที่นั่ง 3 องค์ ได้แก่ พระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาท พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท และ พระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาท ในเขตวัดพระศรีสรรเพชญ์ในปัจจุบัน และ ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งมังคลาภิเษกมหาปราสาทและพระที่นั่งตรีมุขด้วย พระราชวังระยะแรกนี้ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ 7 พระองค์ เป็นเวลา 98 ปี

ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 1991 ทรงยกบริเวณพระราชวังเดิม ได้แก่ พระที่นั่ง 3 องค์นั้น ให้เป็นพุทธาวาส หรือก็คือวัดพระศรีสรรเพชญ์ แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระราชวังมาสร้างใหม่ทางด้านเหนือของพระราชวังเดิม ใกล้แม่น้ำลพบุรี คูเมืองด้านเหนือ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาทและพระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท เป็นพระที่นั่ง 2 องค์แรก

มีพระที่นั่งอีกองค์หนึ่งซึ่งสร้างในเขตนี้ แต่ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าสร้างในรัชสมัยใด ก็คือ พระที่นั่งมังคลาภิเษก หรือพระที่นั่งวิหารสมเด็จพระมหาปราสาท 3 องค์นี้ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ 16 พระองค์ เป็นเวลา 182 ปี

ในสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงขยายให้วังหลวงกล้างขวางมากขึ้นกว่าเดิม โดยให้เขตพระราชวังไปเชื่อมติดกับ วัดพระศรีสรรเพชญ์ แล้วก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาปราสาทเพิ่มอีก 2 องค์ คือพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ และ พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์

ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงสร้างพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ขึ้นเป็นที่ประทับอีกองค์หนึ่ง ดังนั้นวังหลวงสมัยอยุธยาตอนปลายมี พระมหาปราสาทรวมทั้งสิ้น ๖ องค์ เป็นที่ประทับของ พระมหากษัตริย์ 10 พระองค์ เป็นเวลา 137 ปี จนเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2310

พระบรมมหาราชวังในกรุงเทพมหานครนั้น ได้สร้างเลียนแบบพระบรมมหาราชวังในกรุงศรีอยุธยา
พื้นที่
พระบรมมหาราชวังระยะหลังนั้น มีป้อมรอบพระราชวัง 8 ป้อม ประตูน้ำ 2 ประตู ประตูบก 20 ประตู พระราชวังหลวงแบ่งออกเป็นเขตต่างๆ ดังนี้

บริเวณเขตพระราชฐานชั้นนอก ไกลๆคือเขตพระราชฐานชั้นกลาง

แบบแปลนพระราชวังโบราณในศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา องค์ใกล้สุดคือพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ และอีกพระที่นั่งองค์ใหญ่อีก ๒ องค์
เขตพระราชฐานชั้นนอก เป็นที่ตั้งของ พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ และส่วนราชการต่าง ๆ เช่น ศาลาลูกขุน ศาลหลวง ศาลาสารบัญชี เป็นต้น
เขตพระราชฐานชั้นกลาง เป็นที่ตั้งของพระมหาปราสาท 3 หลัง ได้แก่ พระที่นั่งวิหารสมเด็จ พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของคลังมหาสมบัติ โรงช้าง โรงม้า เป็นต้น
เขตพระราชฐานชั้นใน เป็นที่ตั้งของพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ โรงเครื่องต้น และที่อยู่ของฝ่ายใน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี
พระที่นั่งตรีมุข ในปัจจุบันพบเป็นซากฐาน เมื่อครั้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงให้สร้างพลับพลาตรีมุข เพื่อประกอบพระราชพิธีบวงสรวงบรรพกษัตริย์ในวาระที่พระองค์ครองราชย์ครบ 40 ปี เมื่อ พ.ศ. 2451 ซึ่งเป็นเวลายาวนานเท่ากับพระบรมไตรโลกนาถ แห่งอยุธยา
สวนไพชยนต์เบญจรัตน์ อันเป็นที่ตั้งของพระคลังมหาสมบัติ ได้แก่ คลังศุภรัตน์ คลังพิมาณอากาศ คลังวิเศษ โรงราชรถ คลังแสง เป็นต้น เช่นเดียวกับหอพระเทพบิดร และหอพระมณเฑียรธรรม
สวนองุ่น เป็นสวนหลวงประจำพระราชวัง มีตำหนักสระแก้ว ตำหนักสวนกระต่าย และตำหนักศาลาลวดตั้งอยู่ บริเวณนี้
วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดหลวงประจำพระราชวัง


พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเมื่อ พ.ศ. 2175 โดยสร้างเป็นปราสาทตรีมุขที่มุมกำแพงชั้นในของเขตพระราชฐานติดกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งศิริยโสธรมหาพิมานบรรยงก์"

ต่อมา สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงพระสุบิน (ฝัน) ว่า สมเด็จพระอมรินทราธิราชเสด็จลงมานั่งแทบพระองค์และตรัสให้ตั้งจักรพยุหแล้วจึงหายไป เมื่อพระองค์เสด็จออกขุนนางทรงตรัวเล่าพระสุบินให้โหราพฤฒาจารย์ทั้งหลายฟัง พระมหาราชครูปโรหิตโหราพฤฒาจารย์ทูลว่า พระนามพระที่นั่งศิริยโสธรมหาพิมานบรรยงก์ที่พระราชทานนั้นเห็นไม่ต้องนามสมเด็จพระอมรินทราธิราชซึ่งลงมาบอกให้ตั้งจักรพยุห ซึ่งจักรพยุหนี้เป็นที่ตั้งใหญ่ในมหาพิไชยสงคราม จึงขอให้นำนามจักรนี้ให้เป็นนามของมหาปราสาทว่า "พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์มหาปราสาท" สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงโปรดให้เปลี่ยนนามมหาปราสาทตามคำกราบบังคมทูลของโหราพฤฒาจารย์

พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์มีลักษณะเป็นปราสาทโถง มีสามชั้น สำหรับเป็นที่ประทับเพื่อทอดพระเนตรกระบวนแห่มหรสพ และการยกทัพพยุหยาตราผ่านบริเวณสนามไชยซึ่งอยู่หน้าพระที่นั่ง



หมวดหมู่พระที่นั่งวิหารสมเด็จ แต่เดิมเป็นพระที่นังมังคลาภิเษก สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงใช้รับราชทูตเมืองละแวก(กัมพูชา) สมเด็จพระเอกาทศรถทรงใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีประเวศพระนคร ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระที่นั่งถูกฟ้าผ่าจมไหม้เสียหายเกือบทั้งหมด พระองค์โปรดเกล้าให้รื้อและสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ขึ้นทดแทนใน พ.ศ. 2179 พระราชทานนามว่า พระที่นั่งวิหารสมเด็จ มีมุขหน้าและหลังยาว แต่มุขข้างสั้น ด้านซ้ายของพระที่นั่งมีโรงช้างเผือก

อีกมุขด้านทิศเหนือ

อีกมุมของพระที่นั่งองค์นี้

ข้างบนพระที่นั่ง


พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท คือพระที่นั่งองค์หนึ่งในเขตพระราชวังโบราณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างขึ้นโดยพระราขดำริของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองมาก เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจของราชอาณาจักรสยาม พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญของราชสำนักและเป็นที่รับแขกบ้านแขกเมืองของพระมหากษัตริย์ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รับราชทูต ฯลฯ แต่พระที่นั่งองค์นี้ถูกเผาทำลายลงทั้งองค์เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ จนในปัจจุบันเหลือแต่ฐาน และ กำแพงบางส่วนเท่านั้น

ประวัติ
ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ พระนครศรีอยุธยา กรุงศรีอยุธยาเป็นช่วงเวลาที่กำลังเจริญเติบโตเป็นมหานครขนาดใหญ่ พระองค์จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ย้ายพระราชวังที่ประทับซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือพระเจ้าอู่ทอง แห่งราชวงศ์อู่ทอง ไปสร้างใหม่ทางตอนเหนือติดกับกำแพงพระนคร และ แม่น้ำ ส่วนในเขตพระราชวังเดิมนั้นได้ทรงถวายให้เป็นเขตพุทธาวาส หรือวัดพระศรีสรรเพชญ์ในปัจจุบัน เป็นที่เข้าใจกันว่าพระที่นั่งองค์แรกที่สร้างขึ้นในพระราชวังหลวงแห่งใหม่ก็คือ พระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นระหว่างปีพุทธศักราช ๑๙๙๑-๒๐๓๑ โดยเป็นไม้ แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นอิฐทีหลัง

ครั้นถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ทรงพระกรุณาฯ ดำรัสสั่งให้เจ้าพระยากลาโหมเป็นแม่กองทำการปฏิสังขรณ์พระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาทซึ่งชำรุดอยู่นั้น และโปรดเกล้าให้ปิดทองส่วนยอดทั้งหมด

เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าได้ทำลายวัดวาอาราม รวมไปถึงวังหลวงทั้งหมด พระที่นั่งทุกองค์กลายเป็นซากปรัก ที่มิสามารถรื้อฟื้นได้อีก

หลังเสียกรุง
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระราชดำริที่จะฟื้นฟูกรุงเก่าขึ้นให้ดังเดิม ดั่งเช่นในสมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานีอยู่ โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาทเป็นปราสาทแรกขึ้นใหม่ บนรากฐานเดิมในวังหลวง เพื่อให้เป็นที่ประดิษฐานคำจารึกพระปรมาภิไธยพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยา แต่ก็ก่อสร้างไม่เสร็จ เนื่องจากสิ้นรัชกาลของพระองค์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้เก็บรักษาพระราชวังหลวงไว้เป็นหลักฐานทางโบราณคดี ตามแบบนานาอารยประเทศในตะวันตกที่เก็บรักษาสิ่งโบราณไว้ จึงโปรดเกล้าให้รื้อที่สร้างไว้ออก แล้วย้ายไปสร้างพระมหาปราสาทชั่วคราวเพื่อการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกแทน

ความงดงามในสายตาชาวต่างชาติ
คณะราชทูตลังกาได้กล่าวถึงความงามของพระปราสาทองค์นี้ไว้ว่า "เมื่อถึงเขตพระราชวัง เห็นปราสาทราชมณเฑียรที่ปิดทองอร่าม เจ้าพนักงานนำทูตานุทูตเข้าไปในพระราชวังผ่านประตู ๒ ชั้น ที่ประตูนั้นประดับประดาไปด้วยสีทอง เมื่อล่วงประตูชั้นที่สองเข้าไป ก็ถึงพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท สองข้างมุขเด็จพระที่นั่ง มีรูปภาพต่าง ๆ ตั้งไว้คือ รูปหมี ราชสีห์ รากษส โทวาริก นาค พิราวะยักษ์ รูปทั้งหลายเหล่านี้ปิดทองเหลืองอร่ามทั้งหมด ตรงรูปหมู่ขึ้นไปเป็นราชบัลลังก์ สูงประมาณ ๑๐ คืบ (พระที่นั่งบุษบกมาลา) ตั้งเครื่องสูงรอบราชบัลลังก์" จะเห็นได้ว่า พระที่นั่งองค์นี้นั้น มีพระที่นั่งบุษบกมาลา ซึ่งคล้าย ๆ กับ พระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร พระที่นั่งล้วนปิดทองทั้งองค์ งดงามมาก


ที่พระราชดำเนินขึ้นสำหรับพระมหากษัตริย์ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท

โรงช้างเผือกข้างพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท



พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเป็นปราสาทจตุรมุข ยกพื้นสูงกว่าพระที่นั่งองค์อื่นๆ สามารถมองเห็นข้ามกำแพงวังไปเห็นแม่น้ำ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตร กระบวนพยุหยาตราชลมารค และการซ้อมกระบวนยุทธ์ทางน้ำ เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต สมเด็จพระเพทราชาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมศพจากเมืองลพบุรีมาไว้ที่นี่



แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่