วัดพระธรรมกายเปลี่ยนแปลงรูปแบบเพื่อความอยู่รอด จาก(MLM)ขายบุญโจ่งแจ้งในอดีต ?

กระทู้คำถาม
จากปัญหาวัดพระธรรมกาย พิษเรื้อรังของสังคมไทย (4)
posted on 20 Jan 2011 23:22 by abp-at-bdz in Buddhism
และสิ่งหนึ่งที่เราจะไม่กล่าวเสียก็ไม่ได้ นั่นก็คือนโยบายการเผยแผ่คำสอนของวัดพระธรรมกาย

เป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไปว่า พระไชยบูลย์และวัดพระธรรมกาย ได้นำกลวิธีการ "ขายตรง" มาประยุกต์ใช้ในการเผยแผ่คำสอน ซึ่งทำให้การเผยแผ่ีคำสอนของวัดพระธรรมกาย กลายเป็นลักษณะ "พุทธพาณิชย์" และนำผลเสียมาสู่พุทธศาสนาในประเทศไทยอย่างมหาศาล นับตั้งแต่ระบบ "ขายตรง" ของวัดพระธรรมกายถูกนำไปใช้มากขึ้นเรื่อยๆ

หากมองเพียงผิวเผินจากสื่อที่ทางวัดเผยแผ่ออกมาสู่สาธารณะ บรรดาสานุศิษย์ของวัดพระธรรมกายทั้งหลายก็ดูเหมือนพุทธศาสนิกชนทั่วๆ ไป ที่ใส่ชุดขาวเป็นระเบียบเรียบร้อย มีความสามัคคีพร้อมเพรียงกันเป็นอันมาก เป็นที่น่าอนุโมทนาของบรรดาพระมหาเถรานุเถระ และพึทธศาสนิกชนโดยทั่วไปที่ไม่ทราบเบื้องลึก-เบื้องหลัง ภายใต้เปลือกนอกที่ดูสวยหรูของวัดแห่งนี้

แต่หากมองดูดีๆ ลึกลงไปในภาพของความเป็นระเบียบเรียบร้อยนั้น มีกิเลสตัณหาของคนจำนวนมากที่ถูกระบบ "ขายตรง" ของทางวัดหล่อหลอม มากมายอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ระบบ "ขายตรง" ทำให้สังคมของชาววัดพระธรรมกาย เต็มไปด้วยการแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น มุ่งผลประโยชน์ที่ถูกล่อหลอกไว้เบื้องหน้า โดยไม่สนใจว่าตนเอง ครอบครัวและผู้อื่นจะได้รับความเดือดร้อนประการใด หรืออีกนัยหนึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า สังคมของวัดอื่นๆ ดูจะสงบสุขยิ่งไปกว่าสังคมของชาววัดพระธรรมกายเสียอีก

หากจะกล่าวถึงระบบ "ขายตรง" ที่วัดพระธรรมกายนำมาใช้ ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Multi-level marketing (MLM) ระบบนี้มีโครงสร้างเปรียบเสมือนรากแก้วและรากแขนง โดยมีบริษัทที่ทำการตลาดประเภทนี้เป็นลำต้นของต้นไม้ นักขายในระบบนี้ หากจะเปรียบเทียบก็คือส่วนรากของต้นไม้นั่นเอง รากหนึ่งๆ จะชอนไชลงไปในดิน เพื่อแตกแขนงกิ่งก้านสาขาออกมา เช่นกันกับนักขาย ที่พยายาม "แตกแขนง" ตนเองด้วยการชักชวนบุคคลอื่นๆ มาทำการขายจากตนต่อ ซึ่งนักขายนั้นจะได้ผลประโยชน์จากการชักชวนผู้อื่นมาทำการขายกับบริษัทนั้นด้วย ส่วนผู้ที่ถูกชวนมาทำการขายนั้น ก็จะ "แตกแขนง" ตนเองต่อๆ ไป อย่างไม่รู้จักจบสิ้น ซึ่งสุดท้าย ผู้ที่ได้ผลประโยชน์และ "รวย" จริงๆ ก็คือเจ้าของบริษัทนั้นนั่นเอง

ในกรณีของวัดพระธรรมกายก็เช่นกัน ขณะที่บริษัททั่วๆ ไปขายสินค้าต่างๆ ที่ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน แต่สินค้าของวัดพระธรรมกาย กลับกลายเป็น "บุญ" สิ่งที่เป็นนามธรรม แต่พุทธศาสนิกชนจำนวนมากเชื่อในการมีอยู่จริงของ "บุญ" นั้น

วัดพระธรรมกาย ใช้หลักพุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่และ "ทำการขาย" อย่างแยบยล คัมภีร์สำคัญต่างๆ ทางพุทธศาสนา มีพระไตรปิฎกเป็นต้น ถูกนำมากล่าวอ้าง ให้การโฆษณาขายบุญของตนน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น วัดพระธรรมกายใช้สื่อต่างๆ ในการ "อวดอ้างสรรพคุณ" ต่างๆ ของบุญที่จะได้รับ เช่นตัวอย่างชุดหนึ่งที่ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางผ่าน forward mail มีการอ้างถึง "เครื่องประดับสวรรค์" ที่เป็นรูปร่างลักษณะต่างๆ ตามลักษณะของการทำบุญด้วยวัตถุต่างๆ ในสมัยครั้งยังเป็นมนุษย์

ทั้งนี้ยังรวมไปถึงสื่อทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ที่วัดพระธรรมกายเน้นเรื่องทานมาก จนอาจจะกล่าวได้ว่า ประวัติของเศรษฐีผู้ร่ำรวยและใจบุญในสมัยพุทธกาลทุกท่าน วัดพระธรรมกายได้นำมาทำเป็น series และนำเสนอได้อย่างครบถ้วน ไม่มีขาดตกบกพร่อง ทั้งนี้ ก็เป็นกลวิธีในการ "ทำการขาย" ของวัดพระธรรมกาย โดยที่ผู้ชมอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำำไป ว่ากำลีงถูกขายบุญ

ในระบบขายตรงของบริษัทบางแห่ง มีการหลอกล่อและจูงใจนักขายด้วยผลประโยชน์ดีๆ ต่างๆ ที่ยากจะปฏิเสธ เช่นการได้ไปท่องเที่ยวพักร้อนในต่างประเทศ ความร่ำรวยเงินทอง ประกอบไปด้วยความสุขและความสำเร็จ

วัดพระธรรมกายก็เช่นกัน มีการหลอกล่อจูงใจสานุศิษย์ในระยะสั้นด้วย "พระของขวัญ" สำหรับผู้ที่สามารถชักชวนบุคคลภายนอกอื่นมาร่วมกิจกรรมบุญอันใดอันหนึ่ง กรณีอันลือลั่นที่สุดเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา นั่นคือ "พระมหาสิริราชธาตุ" หรือ "พระดูดทรัพย์" ที่วัดพระธรรมกาย "อวดอ้างสรรพคุณ" อย่างเกินความเป็นจริง ผิดปรกติวิสัยที่วัดในพระพุทธศาสนาจะทำำการโฆษณาพระเครื่องที่วัดจัดสร้างเอง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ที่หลงเชื่ีอและร่วมทำบุญกับทางวัดเพื่อให้ได้พระของขวัญนั้นมา บางรายถึงขนาดทำให้ครอบครัวแตกแยกกัน เงินทองร่อยหรอ แต่ทางวัดก็ไม่รับผิดชอบในความเสียหายเหล่านี้ที่เกิดขึ้นเลยแม้แต่รายเดียว

ส่วนการหลอกล่ิอจูงใจในระยะยาว วัดพระธรรมกายได้ใช้ระบบจัดระดับชั้นของสาวก ในการล่อตาล่อใจให้สาวกมีความมุ่งมั่นในการชักชวนบุคคลภายนอกมาทำกิจกรรมร่วมกับทางวัด ซึ่งไม่ต่างอะไรกันกับบริษัทขายตรงหลายๆ บริษัท ผู้ที่ชักชวนคนหมู่มากให้ทำบุญกับทางวัดเป็นประจำสม่ำเสมอ หรือผู้ที่ทำบุญในจำนวนมากๆ ได้รับการยกย่องเชิดชูให้ปรากฏในหมู่สาวกซ้ำแล้วซ้ำอีก ขณะที่สาวกที่เปรียบได้กับ downline ชั้นล่างๆ ของระบบรากแก้ว-รากแขนง ไม่ได้รับการเหลียวแลจากทางวัดเลยแม้แต่น้อย ในสภาพความเป็นจริง

แต่ระบบขายตรงที่แข็งแกร่งของวัดพระธรรมกาย ทำให้เกิดการดูแลระหว่าง upline และ downline เป็นอย่างดี และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัดพระธรรมกายสามารถยืนหยัดอยู่ได้ และยังได้รับผลประโยชน์จากสานุศิษย์อย่างสม่ำเสมอ หากระบบขายตรงของวัดพระธรรมกายถูกทำลายลง คงไม่น่าแปลกใจ ที่วัดพระธรรมกายจะ "ล่มสลาย" และหมดอิทธิพลในการบ่อนทำลายพุทธศาสนาไปในที่สุด

ในปัจจุบัน เมื่อผู้คนจำนวนมากเริ่มมองเห็นถึงระบบขายตรงที่อยู่เบื้องหลังการคงอยู่ของวัดพระธรรมกาย จนสังคมไทยวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่วัดพระธรรมกายทำว่าเป็นการ "ขายบุญ" และกลายเป็น "พุทธพาณิชย์" อย่างเต็มรูปแบบ วัดพระธรรมกายได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบเพื่อความอยู่รอด จากการขายบุญอย่างโจ่งแจ้งในอดีต ก็แปรเปลี่ยนมาเป็นการ "ฟื้นฟูศีลธรรมโลก" ผ่านโครงการให้เปล่าหลากหลายรูปแบบ

ดังเช่นโครงการบวชต่างๆ หลากหลายโครงการ ทั้งสำหรับชายและหญิง ที่ทางวัดเน้นในเชิงปริมาณมาำกเป็นพิเศษ โดยผู้บวชไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ระบบขายตรง ก็ยังไม่จางหายไปจากวัดพระธรรมกาย การชักชวนพุทธศาสนิกชนให้มาร่วมโครงการ ก็กระทำโดย "บุคลากร" ของวัด ซึ่งก็เป็นกลุ่มเดียวกันกับที่อยู่ในระบบขายตรงที่เคยเป็นมาก่อน ทุกวันนี้ ไม่อาจจะกล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่าวัดพระธรรมกายเป็นวัดขายตรง แต่ว่าระบบขายตรง ก็ยังซ่อนรูป และฝังรากลึกในโครงสร้างของวัดพระธรรมกาย จนยากที่จะแยกออกได้ั
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ศาสนาพุทธ วัด
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่