ปุ้ม-พงษ์พรหม" โต้ "แกรมมี่" เปิดเพลงจากยูทูบไม่ต้องจ่าย เรียกร้องคืนสิทธิ์ให้เจ้าของผลงาน


ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Pongprom Snitwong Na Ayuthaya โดย ณัฐพล บุญปาสาน

จากประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันมานานหลายปีว่าการเปิดเพลงในร้านอาหาร สถานประกอบการ ถือว่าใช้เพลงในเชิงพาณิชย์และต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่ จนมาถึงกรณีล่าสุด เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีร้านกาแฟเปิดเพลงจากยูทูบแล้วโดนจับข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์เพลง ซึ่ง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เจ้าของลิขสิทธ์เพลงบอกว่าเป็นการเข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ในมาตรา 27-31 ในลักษณะของการเผยแพร่สู่สาธารณะโดยไม่ได้รับการอนุญาต

"ปุ้ม-พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา" ศิลปิน นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ชื่อดัง ซึ่งเคยทำงานในแกรมมี่ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นต่อกรณีนี้ว่า

"เรื่องของเรื่อง ที่เป็นประเด็นคือ ′เปิดจาก YouTube′ ซึ่ง.. กลไกมันคือ GMM ได้รายได้จากยูทูปอยู่แล้วทุกครั้งที่มียูสเซอร์เปิด เท่ากับยูสเซอร์แต่ละคน ช่วยให้แกรมมี่มีรายได้ตรงนี้ ความหมั่นไส้ถ้ามันเกิดขึ้น คือต่อไปนี้เจอคอนเทนต์ของ GMM เมื่อไหร่ เขาไม่คลิ๊กเลย คอนเทนต์นี้ก็เน่าตายไปในที่สุด ดีไหมล่ะ ฟังเพลงฝรั่งเลยครับ ขอแนะนำ.. คุณเพียงแค่สร้าง Play List ก่อน เลือกแต่เพลงฝรั่งและเพลงที่ไม่มีปัญหา แล้วก็แบนยิ้มให้หมดค่ายเพลงพวกนี้ เวลาเปิดก็เปิดจาก Play List จะได้ไม่ติดเพลงอื่นของมัน

ผมเองก็เป็นเจ้าของคอนเทนต์พวกนั้นนะ แต่การที่ร้านอาหารหรือร้านที่ไม่ได้หากินกับเพลง หรือประมาณว่า เจ้าของร้านเขาก็เปิดเพลงฟังไปด้วยขณะที่ขายของซึ่งเป็นสินค้า "อย่างอื่น" น่ะ ไปคิดไล่จับปรับเขา มันเป็นเรื่องทุเรศ จะมาพูดว่า ส่งเสริมการขาย ได้ไง? ตัวอย่างเช่นร้านขายไอโฟนนะ เปิดเพลงแกรมมี่แล้วจะช่วยให้ไอโฟนขายได้หรือ? คิดอะไรนี่? ขณะที่สถานีวิทยุต่าง ๆ ทำแบบเดียวกันคือละเมิดสิทธิ public perform แต่ถามว่าสถานีวิทยุจ่ายไหม? ไม่! ลองไปเก็บเขาสิ เขาไม่เปิดเพลงให้ เพลงจะดังหรือ? ทั้งที่สถานีวิทยุ ใช้เพลงหาประโยชน์เป็นสินค้าเพื่อหารายได้จากค่าโฆษณา อันนี้ตรงกว่าร้านค้าที่ไปหาเรื่องเขาอีก.. แล้วนี่ล่ะ.. สถานีวิทยุของ GMM เปิดเพลงแล้วจ่ายค่า public perform ให้ไหม? ไม่จ่ายเช่นกัน! เพราะถ้าจ่าย ผมก็ต้องได้ใช่ไหม แต่ไม่เคยได้ครับ นับตั้งแต่ GMM มีวิทยุเอง Hot Wave Green Wave โน่นนี่ กี่สิบปีแล้ว เปิดเพลงที่ผมแต่งไปกี่ครั้งแล้ว จ่ายไหม? ไม่! จะพูดจาสวยหรูมีหลักการ ก็อย่าเลือกปฏิบัติ ทำให้มันเท่าเทียมสิ! YouTube ก็ไม่ต่างกับสถานีวิทยุ ใช้คอนเทนต์เป็นตัวดึงดูดเพื่อขายโฆษณา เขาถึงจ่ายให้เจ้าของคอนเทนต์ public perform นั้น

คือด่าไอ้คนที่มันขโมยจริงๆ ก็ว่าไปอย่างนะ เช่นไอ้พวกเทปผีซีดีเถื่อน.. ท่านพูดมาเหมือนเห็นใจชะตากรรมพวกผมหรือคนที่สร้างสรรค์เพลงเหลือเกิน "ไปขโมยเขา คุณไม่เห็นใจนักแต่งเพลงหรือ?.." โห ผมน้ำตาเกือบไหลน่ะ.. ถ้าพวกท่านเห็นใจพวกผมจริงๆ นะครับ พวกท่านก็คืนสิทธิผู้ประพันธ์ให้พวกผมสิครับ ท่านจะได้ไม่ขึ้นชื่อว่าขโมยเหมือนที่ท่านด่าคนอื่น ได้ไหมล่ะ? เพราะท่านไม่ได้เป็นคนแต่งซะหน่อย ทำไมสิทธิไปอยู่กับท่านล่ะ พิลึกไหม?

ทั้งหมดนี่น่ะ คุณห่วงแต่กำไรของคุณ ห่วงการขาดทุนกำไร เพราะที่ลงทุนไปน่ะคุณได้คืนหมดแล้ว แต่เวลาคุณออกปกป้องผลประโยชน์ของพวกคุณ พวกคุณก็เอาพวกผมมาอ้างทุกที แหกตาดูให้ดีสิ คนที่รวยสะดือปลิ้นมันพวกผมหรือพวกคุณ ถ้าจริงใจนะ สักวันลองแจงมาหน่อย ที่จัดเก็บน่ะ เก็บจากไหนได้บ้าง? แล้วแบ่งพวกผมเท่าไหร่? ไปปรับใครเขาน่ะ ได้มาเป็นหมื่นเป็นแสน มาที่พวกผมเท่าไหร่? เก็บ public perform น่ะ คุณได้เท่าไหร่? พวกผมได้เท่าไหร่? อยากรู้มานานแล้ว เอาแบบแถลงข่าวมีสื่อมวลชนรับรู้ก็ยิ่งดีนะ"

ข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1467339669
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่