เรามาดูเรื่องราวอีกมุมนึงของคนม้งที่ได้ชื่อว่าพวกตัดไม้ทำลายป่ากันครับ

สวัสดีครับเพื่อนๆชาวพันทิปทุกคน ก่อนอื่นผมต้องบอกก่อนเลยครับว่าผมเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง พูดถึงคนม้งหลายคนนึกถึง กลุ่มค้ายาเสพติด พวกตัดไม้ทำลายป่า พวกชาวเขาไร้การศึกษา ฯลฯ เอาเถอะครับ จะนึกถึงอะไรก็ตามแต่วันนี้ผมมีเรื่องราวมาแชร์ให้เพื่อนๆได้อ่านกันนะครับ ข่าวการบุกรุกผืนป่าตัดไม้ทำลายป่าเผาป่าทำไร่เลื่อนลอยแน่นอนครับอยู่คู่กับคนม้งมานาน แต่วันนี้พอดีว่าผมเล่นเฟซบุคแล้วเข้าไปดูเรื่องราวในกลุ่มม้งไทยแลนด์ เป็นกลุ่มสำหรับคนม้งที่เข้ามาแชร์เรื่องราวข่าวสารต่างๆของคนม้งน่ะครับ ผมไปเจอบทความนึงของผู้ใช้เฟซบุคที่ชื่อว่า "ม้ง ท่อ" พี่คนนี้แกเป็นม้งที่จังหวัดสุโขทัยน่ะครับ ส่วนผมเป็นคนม้งเพชรบูรณ์ พอผมได้อ่านแล้วรู้สึกว่า เออเฮ้ยจากที่เรามองแต่เผ่าของเราว่าเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อนภูเขาหัวโล้น พอได้มาอ่านบทความนี้แล้วทำให้รู้ว่าเหรียญมันย่อมมีสองด้านเสมอ ถูกมองว่าเป็นผู้กระทำโดยที่เจ้าตัวก็รู้ดีแต่บอกใครไม่ได้พูดไปก็เป็นภัยกับตัวเอง ต่อไปนี้จะเป็นบทความที่ผมได้อ่านแล้วเอามาแชร์นะครับ เพื่อนๆมีความเห็นอย่างไรก็แสดงความคิดเห็นได้นะครับ ผมเคารพในการแสดงความคิดเห็นของทุกคนเสมอ สวัสดีครับ ^_^


จำได้ว่าน่าจะช่วงก่อนปี 2530 ที่หมู่บ้านผม ห่างจากตัวเมืองประมาณ 20กว่ากีโลเมตร ตอนนั้นยังเด็ก หนังกลางแปลงกำลังบูม ในหน้าแล้ง หมู่บ้านจะเป็นทางผ่านของรถลากไม้ซุงที่ถูกกฎหมาย วิ่งกันวันละ 3-4 เที่ยว ทั้งกลางวัน กลางคืน วิ่งกันเป็นปี ๆ จนถนนดินมีฝุ่นหนาเกือบถึงหัวเข่า จนรถเครื่อง หรือจักรยานแทบจะไปไม่ได้เลยนะ ไม่ได้โม้................
......... รถสาลี่ลากไม้ ชื่อที่ฟังดูน่ารักน่าชังพวกนี้ เราเรียกกันว่า รถไม้ ก็มักจะมาจอดพักที่หมู่บ้าน แล้วขอให้ปู่ตีมีดให้ เพราะปู่เป็นคนตีเหล็ก โดยจะมีค่าตอบแทน คือแหนบของรถสิบล้อ ซึ่งใช้ตีมีดหรือจอบได้ดีมีคุณภาพเหลือเกิน........
......... ยอมรับว่ายุคนั้น หมู่บ้านยังมีการถางป่า ป่าที่ไม่มีต้นไม้ใหญ่เหลือแล้ว เพื่อปลูกข้าว, ข้าวโพด ประมาณหลังคาละ 2-3 แปลง คือเป็นการทำหมุนเวียน หนึ่งแปลงก็ทำสักสองสามปี พอดินเริ่มเสื่อม ก็ไปทำแปลงต่อไป และต่อไป ใช้เวลาประมาณ ห้าปี หกปี เราก็จะเวียนกลับทำถึงแปลงเก่าที่เดิมที่เริ่มจะฟื้นฟู มีต้นไม้เล็ก ๆ ขึ้น มองไกล ๆ เหมือนผืนป่า คุณภาพดินก็จะดีขึ้น แบบนี้เองมั้ง ที่ภาษาทางการเรียกว่า "การทำไร่เลื่อนลอย"......
........... ไม่กี่ปีให้หลัง รถลากไม้หมดไป เพราะทางการปิดป่า ก็จะมีคนลักลอบทำไม้มาใหม่จากต่างถิ่นไม่ใช่ม้ง คราวนี้ขับแค่รถปิคอัพนิสสัน big m ใช้เลื่อยยนต์ยี่ห้อเรียกคล้ายดนตรีสมัยใหม่ พวกนี้ตัดแต่ต้น ไม้มะค่า ต้นขนาดหลาย ๆ คนโอบ และทอน เฉือนกันตรงนั้น เป็นแผ่นใหญ่ลายไม้สวยงาม กว้างประมาณวา ยาวสองวา บรรทุกกันครั้งละแผ่น เดาว่าเอาไปทำโต๊ะกินข้าว สำหรับคนมีตังต์ มีสีเท่านั้น ถึงตอนนี้ยังนึกเสียดาย ทำไมตอนนั้น ม้งเราน่าจะค้าขายไม้แบบนั้นบ้าง ไม่งั้นคงจะรวยกันไปแล้ว ..แต่คนในหมู่บ้านก็ไม่มีใครสนใจ เพราะลำพังแค่รักษาที่ดินของตัวเองไม่ให้รกเป็นป่า ก็เหลือกำลังแล้ว จึงปล่อยให้คนต่างถิ่น มาถางป่ากันอย่างเมามัน จนมีเรื่องเล่ามากมาย เช่นมีกรณีผัวเมียชาวเมืองไปถางป่า แล้วเจ้าหน้าที่มาจับ เขาขัดขืน และหนีจึงถูกยิงตายหมด ทุกวันนี้ก็ยังเห็นมีศาลเพียงตา ใครผ่านมาก็บีบแตร นัยว่าขอให้เดินทางปลอดภัย......
........... เมื่อก่อนเรื่องการถางป่า ต้องยอมรับว่าทุกคนไม่ว่าม้ง หรือใครถ้าอยู่ติดป่า ก็ย่อมต้องถางป่า เหมือนคนอยู่ติดทะเล ก็ย่อมต้องหาปลา กินปลา แต่ที่น่าจะต่างกัน คือคนเมืองเขาจะถางป่าตรงนั้นสร้างบ้านอยู่กันตรงนั้นเลย ที่ใครที่มัน จึงทำให้ดูเหมือนเขาอาศัยอยู่ตรงนั้นมานาน ไม่ได้รุกล้ำไปไกล แต่คนม้งเรา จะอยู่กันเป็นหมู่บ้าน แล้วออกไปทำไร่ห่างเป็นหลาย ๆ กีโล และสร้างแค่ เพิงหมาแหงนมุงหญ้าคา คนภายนอกจึงดูเหมือนเลื่อนลอย รุกล้ำใหม่ ๆ และตัวอย่างเช่น ม้งบ้านผมมีประมาณ 30 หลังคาเรือน เทียบกับคนไม่ใช่ม้งนับไม่ถ้วน ที่ดินหัวโล้นนับพัน นับหมื่นไร่ กลับมีคนบอกว่า 90% เพราะม้งทำ จึงน่าจะเข้ากับสำนวนไทยที่ว่า "พูดพล่อย ๆ ".............
............ ข้อเท็จจริงคือ ม้งเราเลิกถางป่ามานานแล้ว ไม่ฟันธงว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ (ฉะนั้นม้งที่ยังทำให้ ไม่ร้อยเปอร์เซนต์ ก็ควรจะเลิกเพื่อเห็นแก่ม้งส่วนใหญ่ด้วยเถิด ขอเต๊อะ น่า นะ) คิดว่าส่วนใหญ่ หนุ่มสาวสมัยนี้ ถางป่าไม่เป็นแน่ เผลอ ๆ แค่ใช้ไปตัดกิ่งมะม่วงหลังบ้านยังยากเลย...........
............... จะว่าไปแล้ว ม้งเราก็ปรับตัวไปเยอะเหมือนกันเมื่อเรามีลูกหลานมากขึ้น แต่ที่ดินเท่าเก่า จึงต้องทำที่เดิมซ้ำ ๆ ตลอดปี ดินที่เสื่อม ก็อัดปุ๋ย โรคระบาด ก็อัดยา บ้านเรือนก็หันมาใช้อิฐ ใช้ปูน และที่เห็นกันบ่อย ๆ คือซื้อที่ จากคนในเมือง........
.............. แต่ น่าจะยัง ยังไม่พอ ม้งที่อยู่ป่าเขา ทำไร่สวน คงต้องคิดให้เยอะ ว่าจากนี้จะอยู่กันยังไง ถึงแม้บ้านเมืองนี้ จะเรียกว่าเมืองเกษตรกรรม แต่ความจริงแล้วคนเมืองหรือม้งก็ถูกจำกัดที่ทำมาหากินมานานแล้ว ไม่สามารถเพิ่มได้มากกว่านี้ วันดีคืนดี มีป้ายอาญาสิทธิ์มาปักเปรี้ยง ว่านี่เป็นเขตป่าสงวน เป็นอุทยานแห่งชาติ ห้ามรุกล้ำ ห้ามนำอะไรออกไป แม้น้ำผึ้งหยดเดียวก็ไม่ได้...... แน่นอนทุกคนต้องเชื่อ ไม่มีใครถาม ไม่มีใครสงสัย อุทยานมาได้ไง ใครตัดสิน ทำไมที่นี่เป็น แต่ที่โน่นไม่เป็น เขาเอาอะไรมาวัดกันหนอ.. เอาความน่าสนใจ ความอุดมสมบูรณ์หรือ ตกลงม้งเรา อยู่ในที่สมบูรณ์ หรือมันยังคงสมบูรณ์เพราะเราอยู่... ทำไมถึงมองแต่เขาหัวโล้น ทั้งที่พื้นราบไม่มีไม้ซักกะต้น... ทำไมวิจารณ์ต้นน้ำลำห้วยที่ไหลริน แต่ปลายแม่น้ำใหญ่ที่เน่าเสีย กลับไม่มีใครใส่ใจ...........
............... ถึงเวลาเราต้องตระหนัก และคิดให้จริงจัง สอนลูกหลานให้เรียนสุง ๆ เพราะความจริง ตึกอุตสาหกรรมเท่านั้นที่ขยายได้ไม่สิ้นสุด หรือเป็นข้าราชการ เป็นตำรวจได้ยิ่งดี ไม่งั้น ม้งเราก็คงต้องปรับตัวแบบที่เห็น คือลงมาค้าขายตามตลาดนัด ขายสินค้าที่ระลึกตามจุดท่องเที่ยว ขายไก้ทอดหาดใหญ่ตามทางเท้า...........
................คิดดูแล้วก็งง ได้ยินคนแก่เล่าว่า สมัยห้า-หกสิบปีที่แล้ว รอบ ๆ เมือง หรือตีนดอยก็มีสัตว์ มีป่าอุดมสมบูรณ์แล้ว แต่ดันพากันไปอยู่สุดดอย พอมายุคนี้ ตีนดอยป่าหาย แต่ทางการเขาเรียกว่าเจริญ มีถนนใหญ่ ตึกแถวร้านค้า มีรีสอร์ท ที่ดินมี นส3. แต่พวกเราที่อยู่สุดดอย .. อย่างมากก็ที่ สปก. แถมรอบ ๆ ยังเหลือป่าให้ติดไฟ จนโดนด่าหน้าแล้งทุกปี...เฮ้อ...คิดแล้ว วัยรุ่นเซ็งว่ะ......
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่