กลกลวงโครงสร้าง "ทีโอที"

กระทู้ข่าว

กลกลวงโครงสร้าง "ทีโอที"
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 องศา ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559

          ปัญหาการปรับโครงสร้างของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ยิ่งนานวัน ยิ่งเผยให้เห็นความบกพร่อง ความไร้ประสิทธิภาพ และเป้าหมายที่ซ่อนเร้น มากกว่าความต้องการเห็นองค์กรนี้เจริญก้าวหน้า ตัวอย่างที่สะท้อนความเหลวแหลกที่เกิดขึ้น

          เห็นได้จาก คำสั่งของ พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ประธานบอร์ด ทีโอที ได้สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสิ้นสุดสัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถือของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2558 จนถึงขณะนี้แต่ยังไม่มีการส่งมอบกุญแจและไม่ให้เจ้าหน้าที่ทีโอทีเข้าพื้นที่สถานีฐาน เพื่อควบคุมการทำงานของทรัพย์สินภายในสถานีฐาน และไม่ให้ทีโอทีร่วมบริหารโครงข่ายโทรคมนาคมทำให้ทีโอทีเสียโอกาสตรวจสอบข้อมูลและจำนวนลูกค้าทั้งหมดที่ค้างในระบบ รวมทั้งเสียโอกาสตรวจสอบจำนวนเลขหมายลูกค้าทีโอที ที่ย้ายไปอย่างผิดกฎหมาย เพื่อนำมาคำนวณความเสียหายในการฟ้องคดีกับเอไอเอส โดยให้รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ประธานบอร์ดทราบโดยเร็วที่สุด

          การตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นผลจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ส่งหนังสือมาถึงทีโอที เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้ตรวจสอบความจริงถึงสาเหตุที่ผู้บริหารไม่ดำเนินการให้เอไอเอสส่งมอบกุญแจ และส่งเจ้าหน้าที่ไปยังสถานีฐานต่างๆ รวมถึงการบริหารโครงข่าย ซึ่งเท่ากับว่าบอร์ดทีโอทีไม่รักษาผลประโยชน์ขององค์กร

          จะว่าไปแล้ว สตง.ไม่ได้ส่งหนังสือมาแค่ครั้งนี้ครั้งแรก แต่เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมาได้ส่งหนังสือมาถามแล้วครั้งหนึ่งแต่กลับไม่มีการเร่งรัดแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังไม่สนใจแม้พนักงานจะรวมตัวกันร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีทีก็ตาม จนกระทั่ง สตง.ได้ส่งหนังสือมาอีกครั้งหนึ่ง จึงเกิดกิจกรรมเข้าจังหวะ เต้นตามหนังสือ สตง.

          ผลปรับโครงสร้างฟ้าแลบ
          ก่อนหน้าบอร์ดชุด พล.อ.สุรพงษ์ โครงสร้างทีโอทีมีการแบ่งเป็น 13 สายงาน และมีการตั้งคณะกรรมการเตรียมการรองรับการให้บริการตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนิน กิจการบริการโทรศัพท์มือถือระหว่างทีโอทีและเอไอเอส ตั้งแต่ วันที่ 29 ส.ค. 2554 ในสมัยที่ 'อานนท์ ทับเที่ยง' เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยแต่งตั้งสอดคล้องกับสายงานตามโครงสร้างที่มีอยู่ 13 สายงาน มีคณะทำงานทั้งสิ้น 19 คน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะหมดสัญญากับเอไอเอสด้วยซ้ำ

          นอกจากนี้ในช่วงที่ 'อานนท์' พ้นจากตำแหน่ง และ 'มนต์ชัย หนูสง' มารักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก็ได้แต่งตั้งผู้ทำงานเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2555 อีก 3 คน รวมถึงเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการในคณะทำงาน จากตำแหน่งผู้จัดการส่วนจัดการงานด้านเทคนิคที่ 2.1 เป็นผู้จัดการส่วนอำนวยการสายงานประสิทธิผลองค์กร รวมถึงเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้การนำเสนอแผนต่างๆต้องขอความเห็นชอบจากกรรมการผู้จัดการใหญ่ หมายถึง อย่างน้อยตั้งแต่ปี 2555 เรื่องการเตรียมการหมดสัญญาเอไอเอส 'มนต์ชัย' เป็นคนหนึ่งที่น่าจะรู้เรื่องดีที่สุด

          แต่เมื่อบอร์ดพล.อ.สุรพงษ์ เข้าทำหน้าที่ มีการปรับโครงสร้างใหม่ รื้อโครงสร้างเดิมเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ เป็นแบบเมทริกซ์ แขวนลอยผู้บริหารไปอยู่ 6 แท่งธุรกิจที่กลวงโบ๋ และ 7 สายงานที่ลักลั่นมีปัญหาในการปฎิบัติ

          พร้อมกับที่ ธันวา เลาหศิริวงศ์ บอร์ดทีโอที นั่งรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที ได้ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 27 ม.ค.2558 ยกเลิกคณะกรรมการเตรียมการรองรับการให้บริการตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนิน กิจการบริการโทรศัพท์มือถือระหว่างทีโอทีและเอไอเอส ที่ตั้งมาตั้งแต่ปี 2554 แล้วตั้งกรรมการชุดใหม่ มี 'มนต์ชัย' ที่ตอนนั้นเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เป็นประธานคณะกรรมการ พร้อมทั้งปรับรายชื่อคณะทำงานใหม่ให้สอดคล้องกับโครงสร้างองค์กรใหม่ที่ 'ธันวา' มั่นใจว่าโครงสร้างแบบใหม่นี้จะทำให้องค์กรเดินหน้าได้

          "ล่วงเลยมาจนถึงวันที่ 18 พ.ค. 59 สตง.ส่งหนังสือจี้บอร์ดเรื่องเอไอเอส ในเวลาที่ มนต์ชัย เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตัวจริงจนประธานบอร์ดต้องสั่งให้ทีโอทีตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง หมายถึงให้ มนต์ชัยสอบมนต์ชัยเองอย่างนั้นเหรอ หรือถ้าจะให้โปร่งใส ไม่เล่นพรรคเล่นพวก ก็เอาหน่วยงานภายนอกเข้ามาตรวจสอบจะดีกว่า หรือไม่"

          ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกรณีการหมดอายุสัญญาร่วมการงานของ เอไอเอส ทำให้เห็นปัญหาการปรับโครงสร้างที่ชัดเจนที่สุด ความอลหม่านในการทำงานที่เกิดขึ้นเพราะโครงสร้างเดิมที่มีอยู่ 13 สายงานนั้น มีผู้รับผิดชอบในการทำงานอยู่แล้ว การตั้งคณะทำงานชุดแล้วชุดเล่า ทั้งการยกเลิกและแต่งตั้งใหม่ จึงทำให้งานสะดุด ไม่เดินหน้าไปไหนเพราะ 13 สายงานเดิม มีสายงานกฎหมาย และบริหารผลประโยชน์ และสายงานธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่มีระดับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ดำรงตำแหน่ง และกำลังเดินหน้าเรื่องสัญญา ดูแลอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทำร่วมกับเอไอเอสได้อยู่แล้ว

          โดยสายงานกฎหมาย และบริหารผลประโยชน์ มีฝ่ายที่อยู่ ภายใต้สายงานนี้ 4 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายบริหารผลประโยชน์ที่ 1, ฝ่ายบริหาร ผลประโยชน์ที่ 2, ฝ่ายการลงทุนและพัฒนาธุรกิจ และฝ่ายพัฒนาบริษัทในเครือ นอกจากนี้ยังมีสำนักกฎหมาย ที่มีระดับผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ดำรงตำแหน่ง โดยมีฝ่ายอยู่ภายใต้สำนักนี้ 4 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายคดี, ฝ่ายบังคับคดี และคดีล้มละลาย, ฝ่ายสัญญา และฝ่ายนิติการ

          ขณะที่สายงานธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีสำนักอยู่ภายใต้การดูแล 5 สำนัก คือ สำนักอำนวยการโทรศัพท์เคลื่อนที่, สำนักการตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่, สำนักการเงินและบัญชีโทรศัพท์เคลื่อนที่, สำนักเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ และสำนักพัสดุและกฎหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่

          แต่เมื่อมีการปรับโครงสร้างใหม่เป็นรูปแบบเมทริกซ์ คือตั้งตามกลุ่มโครงสร้างธุรกิจเพื่อเอาใจคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เป็น 7 สายงานและ 6 แท่งธุรกิจ ความวิบัติจึงเกิด อย่างสายงานกฎหมายถูกเปลี่ยนเป็นสำนักกฎหมาย เพื่อขึ้นตรงกับกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ คือ 'ธันวา' ในสมัยนั้น และยุบฝ่ายสัญญา และฝ่ายนิติการ เป็นฝ่ายเดียวคือฝ่ายสัญญาและนิติการ ขณะที่ฝ่ายบริหาร ผลประโยชน์ที่ 1 และ ที่ 2 ถูกยุบรวมเป็นฝ่ายบริหารผลประโยชน์ฝ่ายเดียวภายใต้สำนักบริหารทรัพย์สิน ที่เปลี่ยนไปอยู่ภายใต้สายงานการเงิน และบริหารทรัพย์สิน

          ขณะที่สายงานธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่มีแต่ชื่อ แต่ไม่มีสำนักหรือฝ่ายอยู่ภายใต้รวมถึงผู้บริหารด้วย เหลือแค่เพียงฝ่ายพัฒนาโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งอยู่ภายใต้สำนักพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ และฝ่ายปฏิบัติการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งอยู่ภายใต้สำนักปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยทั้ง 2 สำนักนี้อยู่ภายใต้ สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ที่ดำรงตำแหน่งโดย 'มนต์ชัย' ในสมัยนั้น

          'การโยกย้ายสายงานที่เกี่ยวข้องที่เคยทำงานเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว กระจายไปคนละทิศคนละทางจึงทำให้คนทำงานไขว้เขว ทำงานไม่ถูก งานไม่เดิน เกิดความไม่ต่อเนื่อง จนทำให้เกิดผลเสียตามมา เป็นเพราะการปรับโครงสร้างแบบเมทริกซ์นั่นแหละ'

          ธุรกิจมือถือย่อยยับ
          แหล่งข่าวจากทีโอที กล่าวว่า เห็นได้ชัดเมื่อสายงานธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ถูกยุบเหลือ แค่ฝ่าย 2 ฝ่าย สิ่งที่กระทบทันทีคือสัญญาเช่าที่ทำกับเอกชนในการติดตั้งสถานีฐาน 3Gกว่า 580 ไซต์ ภายใต้งบประมาณการลงทุนจำนวน 2,400 ล้านบาท ที่ลงไปเมื่อปี 2552 ปัจจุบันสถานีฐานถูกถอนเกือบหมด เพราะไม่มีการต่อสัญญาเช่าที่ดิน เพราะเมื่อโครงสร้างเปลี่ยนแบบกะทันหัน คนก็ถูกโยกย้ายไปคนละทิศคนละทาง คนใหม่ไม่รู้ว่าต้องต่อสัญญา หรือไปเอาสัญญาที่ไหน ทำให้ในที่สุดสัญญาณเช่าถูกยกเลิก เช่น ตอนนี้ชุมสายสถานีฐานที่ ทีโอทีติดตั้งที่บิ๊กซีถูกปิดหมดแล้ว ทำให้ทีโอทีไม่มีสัญญาณในการ ให้บริการ

          รวมทั้งเมื่อไม่มีสายงานที่ส่วนกลางคือกรุงเทพฯเป็นแม่ทัพใหญ่ ทีมภูมิภาคซึ่งต้องการความรู้จากสายงานธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก็ต้องสะดุด และทีมภูมิภาคก็ไม่กล้าเดินหน้าทำอะไรต่อ เพราะไม่มีความรู้ใหม่ๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการอบรมจากส่วนกลาง ผลที่ตามมาจึงพังทั้งระบบทั่วประเทศ

          'ถามว่าถ้าไม่ใช่พนักงานทีโอทีที่ใช้งาน ทีโอทีมีลูกค้าโทรศัพท์มือถือคนอื่นหรือไม่ ต้องบอกว่าธุรกิจนี้ของทีโอที ได้พังหมดแล้ว ไม่แน่ใจว่ามีลูกค้าเหลือถึงหลักแสนรายหรือไม่ หากเปรียบเทียบกับก่อนปรับโครงสร้างเป็นเมทริกซ์ ทีโอทีมี MVNO 6 ราย ขอเลขหมายจากสำนักงานกสทช. มา 2 ล้านเลขหมาย ทีโอทีมีอยู่เดิม 3 ล้านเลขหมาย รวมเป็น 5 ล้านเลขหมายที่ทีโอทีจะสามารถทำตลาดได้ แต่ตอนนี้พูดได้คำเดียวว่า พังพินาศ'

          แหล่งข่าวย้ำว่า ปกติแล้วทีโอทีไม่ได้เพิ่งมีการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งแรก แต่กระบวนการปรับโครงสร้างนั้นแต่ก่อนต้องใช้เวลา ต้องมีการทำประชาพิจารณ์กับพนักงาน ต้องมีเวลาในการโอนย้ายงานให้เรียบร้อย ไม่ใช่การปรับโครงสร้างแบบสายฟ้าแลบอย่างที่บอร์ดปัจจุบัน ทำเพื่อเขี่ยผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่ไม่ใช่พวกพ้องไปให้พ้นหน้า แขวนลอยให้กินเงินเดือนไปวันๆ โดยไม่มีงานให้ทำ

          นอกจากนี้ผลของการปรับโครงสร้างแบบฟ้าแลบ ยังพบว่าเป็นการบริหารงานบุคคลที่ล้มเหลวด้วยโดยบอร์ดและฝ่ายบริหารเองออกคำสั่งยกเลิกการพิจารณาคัดเลือกคนจากคุณสมบัติและการสอบอย่างที่เคยเป็นมา เปลี่ยนเป็นใช้การคัดเลือกโดยการแต่งตั้งแทน ยกตัวอย่างเช่น ตำแหน่งภาคขายและบริการภูมิภาคที่ 2.1 ซึ่งดูแลการขายภาคอีสานที่สร้างรายได้หลักให้กับทีโอที มีผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่เกษียณไปตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2558 แต่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีการแต่งตั้งใครเข้ามาแทน เพราะคนที่หมายหมั้นปั้นมือไว้ติดคดี มานั่งตำแหน่งนี้ไม่ได้ จนสุดท้ายบอร์ดก็ต้องเปลี่ยนคำสั่งเป็นการสอบแทนการแต่งตั้ง อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ยังไม่มีใครมาลงตำแหน่งนี้

          สำหรับโครงสร้างทีโอทีใหม่ล่าสุด ที่หลังจากเขี่ยคนพ้นทาง ก็กลับมาใช้โครงสร้างใกล้เคียงของก่อนคืนความสุขให้ประชาชน ตามมติบอร์ดเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2559 และจะประกาศใช้ในเดือน ก.ค.นี้ แต่ก็ยังเกิดคำถามว่า เป็นโครงสร้างเพื่อเอาหน้า คนร.อีกตามเคย หรือไม่ เพราะเหตุใดจึงมีหน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย เพราะธุรกิจนี้พังไปหมดแล้ว หรือหวังว่าจะตั้งไว้เพื่อเดินหน้าหาพันธมิตรทางธุรกิจซึ่งก็ไม่มีวี่แววที่จะทำได้เลยแม้แต่น้อย

          นอกจากนี้หน่วยธุรกิจไอดีซีและคลาวด์ก็ดูเหมือนจะตั้งขึ้นมาให้ครบตามหน่วยธุรกิจที่คนร.กำหนดเท่านั้น แต่ไม่มีการกำหนดรายละเอียดของการทำงานแต่อย่างใด

          การปรับโครงสร้างทีโอทีที่เกิดขึ้นในยุคบอร์ดพล.อ.สุรพงษ์ ทำให้เกิดคำถามคาใจมากมายว่าต้องการอะไรกันแน่ ต้องการเห็นองค์กรเติบโตอย่างมั่นคง หรือเป็นแค่เครื่องมือให้พวกที่เคยอยู่บนหิ้ง มาเรืองอำนาจ แล้วถีบคนที่ไม่ใช่พวกให้กระเด็นตกร่องไป เพราะผ่านไป 2 ปีทีโอที ไม่มีอะไรคืบหน้า โครงสร้างทำงานไม่ได้จริง ธุรกิจที่มีอยู่ถูกลบหายไปจากสารบบ

          ยังไม่นับข่าวลือต่างๆที่ตามมาหลังมีคนปล่อยข่าวว่าทีโอทีจะขายหุ้นบริษัทที่เข้าไปถือหุ้น พอบางบริษัทหุ้นตกก็เข้าไปช้อนหุ้น แล้วขายทำกำไร จนทำให้ผู้ใหญ่เริงร่า ไว้ใจให้บริหาร จนองค์กร ที่เคยอยู่ในระดับแถวหน้าอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เจริญฮวบๆ อย่างทุกวันนี้.


แหล่งข่าว
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 องศา ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559 (หน้า 53)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่