พันธมิตรธุรกิจ "ทีโอที-เอไอเอส"


คอลัมน์ หมายเหตุประเทศไทย: พันธมิตรธุรกิจทีโอที-เอไอเอส
ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2559

          ในที่สุดแผนเจรจาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ ระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับบริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือเอดับบลิวเอ็น ในเครือเอไอเอส ก็จบลงอย่างแฮปปี้เสียที หลังจากยืดเยื้อมาเกือบ 2 ปี แม้กระทั่งการประชุมบอร์ดทีโอทีครั้งล่าสุดก็มีกระแสข่าวลือว่าทีโอทีอาจจะยื้อเวลาส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความข้อกฎหมายซ้ำอีก

          แต่สุดท้ายแล้วบอร์ดทีโอทีก็ตัดสินใจเด็ดขาดยอมเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับเอไอเอส

          คุณมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที เผยว่า ที่ประชุมบอร์ดเห็นชอบให้ทีโอทีลงนามในสัญญาทดลองระบบทางเทคนิค และทดสอบการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรคมนาคม ในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่คลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ เป็นเวลา 6 เดือน โดยเอไอเอสต้องจ่ายค่าทดลองให้เดือนละ 300 ล้านบาท

          ก็ดีแล้วครับที่ไม่เอาข้อกฎหมายมาเป็นเงื่อนไขประวิงเวลาอีก

          เพราะก่อนหน้านี้ทีโอทีกับเอไอเอสได้ลงนาม บันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) การเป็นพันธมิตรธุรกิจ ไปตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.2559 และได้ส่งร่างแผนการดำเนินงานให้ อัยการสูงสุด และ คณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบรายละเอียดและผลประโยชน์ตอบแทนไปแล้ว

          ทั้งอัยการและกฤษฎีกาเห็นว่า การทำสัญญาเป็นพันธมิตรธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ ระหว่างทีโอทีกับเอไอเอส จะไม่ติดขัดข้อกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

          ต่อมาช่วงปลายเดือน เม.ย. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีหนังสือตอบข้อหารือของทีโอทีว่า การเป็นพันธมิตรธุรกิจดังกล่าวไม่เข้าข่ายต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ แต่ถือเป็นการดำเนินการปกติในทางธุรกิจ เพราะไม่มีการมอบคลื่นความถี่ หรือทรัพย์สินอื่นใดของรัฐ ให้เอกชนเป็นผู้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียว

          ที่สำคัญเป็นการดำเนินการในลักษณะเดียวกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่เหมือนที่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ร่วมดำเนินการกับ กลุ่มบริษัททรู ซึ่งกฤษฎีกาเคยมีความเห็นไว้แล้วในความเห็นกฤษฎีกาเลขที่ 774/2556 จึงไม่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

          นอกจากนี้ กสทช. ก็เคยมีหนังสือยืนยันตอบกลับทีโอทีเช่นกันว่า หากการทำสัญญาพันธมิตรได้ดำเนินการในลักษณะเดียวกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ กสท กับกลุ่มทรู กสทช.ก็จะพิจารณาในแนวทางเดียวกัน

          พิจารณาความเห็นของหน่วยงานต่างๆแล้ว ปัญหาข้อกฎหมายไม่มีอะไรที่น่ากังวลใจ

          หรือถ้ามองในแง่ผลประโยชน์ตอบแทนและความอยู่รอดทางธุรกิจ การเป็นพันธมิตรธุรกิจครั้งนี้จะทำให้ทีโอทีมีรายได้จากการเช่าใช้เสาโทรคมนาคมอย่างน้อยปีละ 3,900 ล้านบาท และในอนาคตหากมีการลงนามสัญญาหลักอีก 4 สัญญา ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกราว 10,000 ล้านบาท

          รายได้ส่วนนี้จะช่วยพลิกฟื้นสถานะของทีโอทีซึ่งประสบภาวะขาดทุนทางธุรกิจมาตลอด เพราะด้วยความอุ้ยอ้ายเทอะทะและศักยภาพขององค์กร ทีโอทีทำธุรกิจแข่งกับเอกชนไม่ได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคนี้สภาวะการแข่งขันรุนแรงมาก สิบกว่าปีที่ผ่านมาทีโอทีหารายได้เข้ารัฐด้วยการเก็บค่าต๋งสัญญาสัมปทานเท่านั้น

          คิดถูกแล้วที่ไม่ลากเกมต่อไปอีก มิฉะนั้นไม่เพียงทีโอทีเสียประโยชน์ ภาครัฐก็จะเสียโอกาสไปด้วย.


แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2559 (หน้า 5)
ภาพประกอบจาก : MarketingOops.com
http://www.marketingoops.com/news/biz-news/tot-ais/

แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  tot AIS Mobile Operator การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่