เที่ยวเก็บขยะกับกลุ่ม Trash Hero บนเกาะหลีเป๊ะ


หากพูดถึงเกาะหลีเป๊ะ ภาพของท้องทะเลสีฟ้าคราม หาดทรายทอดยาว และแนวปะการังที่สมบูรณ์คงเป็นภาพแรกที่หลายคนนึกถึงหรือเคยเห็นจากนิตยสารท่องเที่ยวและเว็บไซต์ต่างๆ มาหลายต่อหลายครั้ง ด้วยความสวยงามทางธรรมชาติเหล่านี้เอง ที่ทำให้บรรดานักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมุ่งหน้ามาอย่างล้นหลามบนเกาะเล็กๆ แห่งนี้

ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เกาะหลีเป๊ะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาก รีสอร์ตและร้านค้านับสิบผุดขึ้นตามริมชายหาดหรือแม้แต่บนเขา ถนนคนเดินถูกแปรสภาพให้ดูทันสมัยและมีร้านรวงต่างๆ เปิดเต็มริมสองข้างทาง ในช่วงกลางคืนถนนเส้นเล็กแห่งนี้จะคราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งหลาย ในเมื่อขึ้นชื่อว่า “มาพักผ่อน” ทุกคนจึงมาปรนเปรอให้ความสุขกับตัวเองเต็มที่

บนพื้นที่เล็กๆ ที่มีจำนวนคนอยู่อย่างมากมาย แน่นอนว่า สิ่งที่เกิดตามมานั้นก็คือ ปัญหาเรื่องขยะ ด้วยแสงแดดร้อนแรงที่เป็นธรรมดาของเมืองไทย จำนวนขวดพลาสติกจึงเพิ่มมากขึ้นกองเป็นพะเนินอยู่ในถังขยะเช่นเดียวกับบรรดาขวดและกระป๋องเบียร์ทั้งหลาย ในขณะที่หลายคนต่างคิดว่า นี่ไม่ใช่ปัญหาของตนเอง เพราะพวกเขาเป็นเพียงนักท่องเที่ยวที่มาเพียงแต่ไม่กี่วันก็กลับ แต่ถ้านักท่องเที่ยวทุกคนคิดแบบเดียวกัน อีกไม่ช้า เกาะหลีเป๊ะก็คงจะกลายเป็นเกาะกองขยะ ไม่ใช่เกาะสวรรค์ที่หลายคนหลงรักอีกต่อไป

เมื่อปีพ.ศ. 2556 ได้มีกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันปกป้องเกาะที่พวกเขารัก พร้อมกับตั้งชื่อว่า “Trash Hero” นำทีมโดยโรมัน ปีเตอร์ หนุ่มสวิสวัย 32 ปี พวกเขาทั้ง 17 คนเริ่มต้นเก็บขยะตามริมหาดและตั้งแต่นั้นมากลายเป็นว่า ทุกวันจันทร์ พวกเขาจะมารวมตัวกันที่หาดพัทยาเวลาสิบโมงเช้าเพื่อไปเก็บขยะ

จากความจริงที่ว่ามหาสมุทรทั่วโลกนั้นเชื่อมต่อกัน ปริมาณขยะที่ลอยอยู่ในทะเลทั่วโลกนั้นมีปริมาณถึง 100 พันล้านกิโลกรัม ทางกลุ่ม Trash Hero จึงไม่เพียงแต่ช่วยเก็บขยะที่มีบนเกาะหลีเป๊ะเท่านั้น แต่ยังช่วยเก็บขยะที่ลอยมาจากที่อื่นๆ อีกด้วย ซึ่งตามข้อมูลที่โรมันบอกนั้น ขวดพลาสติก 60 เปอร์เซ็นต์มาจากประเทศมาเลเซีย 20 เปอร์เซ็นต์มาจากประเทศไทย 10 เปอร์เซ็นต์มาจากอินโดนีเซีย และอีก 8 เปอร์เซ็นต์นั้นมาจากหมู่เกาะมัลดีฟส์ โดยข้อมูลเหล่านี้ไม่ต้องไปสืบค้นจากที่ไหน มีบ่งบอกตรงฉลากบนขวดพลาสติกอยู่แล้ว

“หัวใจหลักของเราคือ ทำให้ทุกอย่างง่าย พวกเรานัดเจอกันทุกวันจันทร์ เวลาเดิมและที่เดิม อาสาสมัครสามารถมาช่วยโดยไม่ต้องลงทะเบียน ขอแค่ให้มีใจอยากช่วยก็พอ เราต้อนรับทุกคน พวกเราทำให้การมาเกาะหลีเป๊ะเป็นหนึ่งในการท่องเที่ยวแนวเชิงนิเวศ ซึ่งมันก็ได้ผลมีนักท่องเที่ยวหลายคนกลับมา บางคนอยู่ต่ออีกอาทิตย์ เพื่อมาเป็นอาสาสมัครกับเราอีก มีอยู่ครอบครัวหนึ่งบอกกับเราว่า พวกเขาตัดสินใจอยู่ต่อก่อนที่จะมาถึงหลีเป๊ะก็เพราะโครงการของเรา”

สำหรับทีม Trash Hero นั้น สิ่งสำคัญอีกอย่างนอกจากเรื่องอาสาสมัครแล้ว ก็คือบรรดาสปอนเซอร์ทั้งหลายซึ่งพวกเขาไม่ได้หมายถึงเรื่องการบริจาคเงิน แต่เป็นการช่วยเหลือในเรื่องของอาหาร ผลไม้ และน้ำดื่มให้กับบรรดาอาสาสมัครที่มาช่วยเก็บขยะ ดูเหมือนว่า เกือบทุกคนไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็กหรือใหญ่ต่างก็ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี

“เคยมีรีสอร์ตแห่งหนึ่งโทรมาหาเราแล้วบอกว่า ให้มารับเงินสองพันบาทที่แผนกต้อนรับเพราะพวกเขาอยากช่วย พวกเราก็ไปนะ แต่ไปเพื่อบอกว่า ไม่ขอรับเงิน แต่ถ้าพวกเขาสามารถเปลี่ยนเป็นเรือหางยาวสำหรับการพากอาสาสมัครไปเก็บขยะบนเกาะอื่นหรือทำอาหารมาให้กับอาสาสมัครแทนจะดีกว่า เราจริงจังกับเรื่องนี้มาก เราทำทุกอย่างให้โปร่งใส มันสำคัญมากในการทำให้คนเชื่อว่า เราทำจากใจจริง ไม่ใช่เพื่อเงิน”

นอกจากเก็บขยะบนเกาะหลีเป๊ะแล้ว ในบางอาทิตย์พวกเขาก็จะนั่งเรือไปยังเกาะรกร้างใกล้เคียง เพื่อเก็บขยะที่มาติดตามริมหาดอีกด้วย และเพราะไม่มีคนอยู่นี่แหละ จึงทำให้มีขยะสะสมตามเกาะเหล่านี้มากมายจนถึงขั้นฝังลึกลงในผืนทราย อย่างบนเกาะราวีที่พวกเขาเคยอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 3 เดือน ทำความสะอาดกันวันละ 4 ชั่วโมง เพื่อเก็บขยะมากกว่า 20 ตันซึ่งถูกสึนามิเมื่อปี 2004 พัดจากมหาสมุทรอินเดียเข้ามากองกันที่ชายหาดบนเกาะแห่งนี้

หลังจากที่พวกเขาเริ่มโปรเจ็คมาได้หนึ่งปี ก็มีคนจากอ่าวนางติดต่อมาเพราะสนใจอยากทำแบบเดียวกัน หลังจากนั้น Trash Hero อ่าวนางจึงเกิดขึ้น จนถึงปัจจุบันเกิดกลุ่ม Trash Hero ในที่ต่างๆ 14 แห่งในประเทศไทยแล้ว รวมทั้งในต่างประเทศอย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กรุงปราก และนิวยอร์ค นอกจากนี้ ชุมชนชาวอูรัก ลาโว้ย คนท้องถิ่นบนเกาะหลีเป๊ะก็มีจัดกิจกรรมเก็บขยะในหมู่บ้านทุกวันอาทิตย์เช่นกัน

“พวกเขามาบอกเราว่า พวกเขาอยากทำบ้าง พวกเราก็เลยเอาถุงขยะไปให้พร้อมกับบอกให้วางถุงขยะไว้ที่ริมถนนใต้ต้นไม้แล้วจะมีรถบรรทุกมาเก็บไปเอง เมื่อก่อนพวกเขาใช้วิถีเผาขยะกัน เพราะเป็นวิธีที่พวกเขาถูกสอนและทำมาตั้งแต่อดีต สำหรับชาวบ้าน ในเริ่มแรกมันสำคัญที่จะให้พวกเขารู้ก่อนว่า ขยะอะไรเผาได้หรือเผาไม่ได้ก่อน ส่วนเรื่องการสอนถึงขยะรีไซเคิล เรายังไม่ไปถึงตรงนั้น”


ในเมื่อทีมงานมาถึงถิ่นเริ่มต้นของ Trash Hero เลยขอร่วมเป็นอาสาสมัครสักหน่อย แต่ก่อนที่จะถึงวันจันทร์ซึ่งเป็นวันนัดรวมพลเก็บขยะ ทางกลุ่ม Trash Hero ยังมีโครงการทำถังขยะไม้ไผ่ โดยค่าทำขยะเหล่านี้ได้รับเงินบริจาคจากบรรดารีสอร์ตต่างๆ รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่มีใจอยากช่วยเหลือ และเพื่อเป็นการขอบคุณสำหรับสปอนเซอร์เหล่านี้ ทางทีม Trash Hero จะทำการเพ้นท์ชื่อลงบนถังขยะเหล่านี้ ก่อนจะช่วยกันนำไปวางตามจุดต่างๆ บนเกาะหลีเป๊ะ โดยในทุกวันจะมีคนมาเก็บขยะตามถังขยะเหล่านี้อีกด้วย

พอถึงวันจันทร์ พวกเรามารวมตัวกับทีม Trash Hero และอาสาสมัครคนอื่นอีกครั้ง บนหน้าหาดพัทยาเวลาสิบโมงเป๊ะ ซึ่งจากที่สังเกตดูมีคนมาราวๆ 30 คนได้ เกินกว่าครึ่งเป็นชาวต่างชาติ ทั้งมาเดี่ยว มาคู่ หรือทั้งครอบครัว ส่วนคนไทยที่มานั้นเป็นอาสาสมัครจากรีสอร์ตและร้านอาหารบนเกาะหลีเป๊ะ รวมทั้งหนุ่มทหารจากสอ.รฝ. (หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง) มาช่วยอีกด้วย

หลังจากที่โรมันประกาศว่า วันนี้จะเก็บขยะบนเกาะหลีเป๊ะ ก็เริ่มแจกถุงขยะสีดำให้คนละถุงพร้อมถุงมือ จากนั้นกิจกรรมเก็บขยะของเราเริ่มขึ้น ระหว่างทางพวกเราเจอขยะข้างทางนับไม่ถ้วน มีทั้งขวดเบียร์ ขวดพลาสติก เศษถุงขนม เศษเหล็ก รองเท้าแตะ หรือแม้แต่อานมอเตอร์ไซค์ บางพื้นที่เป็นที่รกร้าง เพราะเจ้าของพื้นที่ไม่ทำอะไรและไม่ให้คนนอกเข้าไป สุดท้ายก็กลายเป็นที่ทิ้งขยะ ถามว่า ร้อนมั๊ย บอกเลยว่า ร้อนและเหนื่อยมาก แต่เมื่อได้เห็นทีมงาน Trash Hero และอาสาสมัครคนอื่นตั้งใจกับการเก็บขยะด้วยหน้าตายิ้มแย้ม คนเหล่านี้ทำแบบนี้ทุกวันจันทร์โดยไม่ได้ค่าจ้างตอบแทน แต่พวกเขาทำเพราะอยากให้เกาะที่พวกเขารักสะอาด แถมเมื่อได้เห็นเด็กฝรั่งผมทองวัย 7 – 8 ขวบก้มลงเก็บขยะอย่างขะมักเขม้น ผู้ใหญ่อย่างเราก็รู้สึกละอายไม่ใช่น้อย ประสบการณ์ครั้งนี้ ทำให้เข้าใจเลยว่า ถ้าเราไม่ลงมือทำเอง ก็คงไม่เห็นความสำคัญและอาจจะยังทำตัวเป็นนักท่องเที่ยวที่เห็นแก่ตัวคนเดิม

กิจกรรมของ Trash Hero ไม่ได้จบลงแค่การเก็บขยะทุกวันจันทร์เท่านั้น เพราะแค่เก็บอย่างเดียวคงไม่พอ พวกเขาจึงคิดไอเดียเรื่องขวดน้ำพกพาขึ้นมา เพื่อให้ผู้คนหันมาใช้แทนการซื้อน้ำขวดพลาสติก เพื่อลดปริมาณขวดพลาสติก

“ขวดของเราทำจากสแตนเลส โชคร้ายที่เราหาโรงงานที่ผลิตในเมืองไทยไม่ได้ก็เลยต้องสั่งมาจากประเทศจีน ต้นทุนอยู่ที่ขวดละ 100 บาท ซึ่งพวกเราก็ขายให้ร้านค้าต่างๆ ในราคา 100 บาทเช่นกัน ไม่ได้กำไรอะไรเลย จากนั้นร้านค้าสามารถเอาไปขายในราคาขวดละ 200 บาท แต่พวกเขาจะต้องเตรียมที่กดน้ำสะอาดไว้ที่ร้าน เพื่อให้คนที่ใช้ขวดนี้ได้มากดน้ำกินฟรีด้วย”


นอกจากขวดน้ำแล้ว ทาง Trash Hero ยังได้ทำถุงผ้าออกมาจำหน่าย เพื่อลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก รวมทั้งโครงการในการสอนเด็กตามโรงเรียน โดยเริ่มจากเด็กๆ ในโรงเรียนบนเกาะหลีเป๊ะก่อน

“มันสำคัญมากที่จะสอนเรื่องพวกนี้กับเด็กๆ เพราะในอีก 15 ปีข้างหน้า พวกเขาจะไม่ทำแบบเดียวกับที่พ่อแม่เคยทำ จะไม่เผาขยะ เลิกใช้ขวดและถุงพลาสติก เพราะพวกเขารู้ถึงผลกระทบเป็นอย่างดี เด็กๆจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ บางครั้งเราก็มีเด็กๆ จากทั้งโรงเรียนมาช่วยเก็บขยะด้วย”
แน่นอนว่า ทั้งขวดน้ำ ถุงผ้า และเสื้อยืดของ Trash Hero สำหรับแจกเด็กๆ และให้อาสาสมัครนั้นล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงินทั้งนั้น ซึ่งหากใครสนใจก็สามารถบริจาคเงินได้ โดยในเว็บไซต์ของ Trash Hero จะมีรายละเอียดเรียบร้อยว่า เงินบริจาคเหล่านี้จะนำไปใช้ทำอะไรบ้าง ไม่ต้องห่วงว่า เงินที่คุณบริจาคจะหายสาบสูญแบบไม่รู้ชะตากรรม

“สำหรับพวกเรา เรื่องของอาสาสมัครเป็นสิ่งสำคัญ ถึงแม้ว่า คุณอาจจะมาร่วมเก็บขยะกับพวกเราไม่ได้ แต่เราก็ยังต้องการอาสาสมัครด้านอื่นด้วย อย่างกราฟฟิคดีไซเนอร์ โซเชียล มีเดีย ถ่ายภาพ หรือด้านพีอาร์ มาร์เก็ตติ้ง อะไรก็ตามที่คุณสามารถแบ่งเวลามาช่วยเหลือพวกเราได้”

จากวันแรกที่พวกเขาเริ่มเก็บขยะจนมาถึงทุกวันนี้ กลุ่ม Trash Hero ได้ช่วยเก็บขยะที่ถูกพัดมาจากมหาสมุทรอินเดียไปแล้วทั้งสิ้นราว 100,000 กิโลกรัม ทำให้เกาะหลีเป๊ะและบริเวณทั่วอุทยานแห่งชาติตะรุเตากลายเป็นพื้นที่ที่ถือว่า สะอาดที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยก็ว่าได้

ติดตาม itchy magazine เพิ่มเติมได้ที่ http://itchymag.com" rel="nofollow" >้http://itchymag.com https://www.facebook.com/itchymagazine/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่