ถ่ายทอดโอลิมปิก 2016 ป่วน! ทีวีดิจิตอลร้องกสท.จ่าย 150ล.ให้สิทธิ์ทีวีพูลกลุ่มเดียว

ถ่ายทอดโอลิมปิก 2016 ป่วน! ทีวีดิจิตอลร้องกสท.จ่าย 150ล.ให้สิทธิ์ทีวีพูลกลุ่มเดียว- ผิดวัตถุประสงค์

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า จากกรณีบอร์ด กสท. มีมติเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 อนุมัติเงินจำนวน 150 ล้านบาท ภายใต้กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) เพื่อร่วมสนับสนุนการถ่ายทอดสดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2016 ตามที่โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) หรือ ทีวีพูล ร้องขอมา ภายใต้เงื่อนไข 1.ทีวีดิจิตอลทุกช่องจะได้สิทธิในการถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิก 2016 2.ทีวีดิจิตอลทุกช่องสามารถใช้ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบางช่วงบางตอน (ฟุทเทจ) ของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2016 ได้ และ 3.ในการถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิก 2016 ต้องมีการออกอากาศโฆษณาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอล ในอัตรา 2.30 นาทีต่อชั่วโมง แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทรท. มีหนังสือแจ้งมายัง กสท. ขอยกเลิกการเชื่อมต่อสัญญาณการอนุญาตให้สถานีโทรทัศน์ที่ไม่ใช่สมาชิก ทรท. ร่วมถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาด้านลิขสิทธิ์ จากการที่อาจผิดสัญญาที่ทำไว้กับผู้ให้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในข้อหาที่มีการนำลิขสิทธิ์ไปหาประโยชน์เพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม บอร์ด กสท. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ยังคงมติเดิมตามที่ ทรท. ร้องขอ

น.ส.สุภิญญากล่าวว่า ล่าสุดผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจึงมีหนังสือมายัง กสท. โดยตั้งข้อสังเกตการทำงานของ กสท. ที่อนุมัติเงินให้ ทรท. จำนวน 150 ล้านบาท น่าจะเป็นการดำเนินการที่ผิดวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. ที่ว่าเป็นการการส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพรายการและผู้ชมหันมาชมโทรทัศน์ดิจิตอลมากขึ้น ประกอบกับหากพิจารณาแล้ว สมาชิกของ ทรท. ได้แก่ ช่อง 3, ช่อง 5, ช่อง 7, ช่อง 9, ช่องเอ็นบีที และไทยพีบีเอส ล้วนแล้วแต่เป็นช่องที่มาจากระบบทีวีอนาล็อกเดิม ฉะนั้นการใช้เงินจากกองทุน กทปส. จึงน่าจะให้สิทธิระบบดิจิตอลเพื่อการถ่ายทอดสดโอลิมปิกในสัดส่วนการออกอากาศถ่ายทอดสดกีฬามากกว่าระบบอนาล็อก รวมทั้งให้สิทธิถ่ายทอดสดกีฬาที่ทีมชาติไทยเข้าแข่งขันทุกประเภทแก่สถานีโทรทัศน์ดิจิตอล ซึ่งเป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการทั่วไป หรือมัสต์แครี่ “จากหนังสือโต้แย้งนี้ ดิฉันจะเสนอเรื่องให้บอร์ด กสท. พิจารณา แต่ยังไม่ทราบว่ากระบวนการส่งเรื่องนี้จะทันเข้าที่ประชุมบอร์ดในสัปดาห์ใด”

ข่าว มติชน : http://www.matichon.co.th/news/157856
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่