คุยกับพระนาง Shrek the Musical หลังเวทียังกะคนละคน



ใครหลายคนที่ชื่นชอบภาพยนตร์แอนิเมชั่นรางวัลออสการ์ Shrek ในปี 2544 คงแอบหวังว่า
ภาพยนตร์เรื่องนี้จะถูกนำมาทำเป็นละครเวทีบ้าง ซึ่งก็ได้สมใจ เมื่อดรีมเวิร์คสได้นำเรื่องราว
ความสนุกของ Shrek มาตีความและถ่ายทอดสู่ละครเวที สร้างสรรค์โดยทีมงานของ เดวิด ลินด์เซย์-อาแบร์
เจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ รับหน้าที่ดูแลเรื่องบทละครและคำร้อง และเจ้าของรางวัลโอลิเวอร์
อย่าง จานีน เทสโซรี รับผิดชอบเรื่องดนตรี คริส เบลีย์ ดูแลเรื่องท่าเต้น ทิม แฮทลีย์
ดีไซเนอร์ชื่อดังเจ้าของรางวัลโทนี่ รับหน้าที่ดูแลเรื่องฉากและเสื้อผ้า และกำกับการแสดงโดย สตีเฟ่น สโปซิโต

Shrek the Musical เปิดตัวครั้งแรกในฤดูร้อนปี 2551 ที่ฟิฟท์ อเวนิว เธียเตอร์ ในเมืองซีแอตเติล
ก่อนที่จะมาเปิดการแสดงที่บรอดเวย์ในวันที่ 14 ธ.ค. 2551 ละครเวทีเรื่องนี้เปิดแสดงมากกว่า 500 รอบ
ในระหว่างที่แสดงในบรอดเวย์ และเข้าชิงรางวัลโทนี่ ปี 2552 ไปถึง 8 รางวัล
และเป็นละครเวทีที่ทำรายได้สูงสุด 10 อันดับแรกในปี 2552 ต่อมา ก็ได้เปิดทำการแสดงทั่วประเทศ
โดยเริ่มต้นที่ชิคาโกในปี 2553 ก่อนจะก้าวไปแสดงในระดับโลกด้วยการเปิดการแสดงที่ลอนดอนในเดือน พ.ค. 2555






มาวันนี้ เป็นข่าวดีของพวกเราชาวไทย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ (หัวใจเด็ก) ที่ละครเวทีเรื่องนี้
จะมาเปิดทำการแสดงที่เมืองไทยในวันที่ 1-5 ก.ค. นี้ ณ โรงละครเมืองไทยรัชดาลัย
แต่ก่อนที่พวกเราชาวไทยจะได้ดูได้ชมละครเพลงเรื่องนี้ มาวันนี้ เป็นข่าวดีของพวกเราชาวไทย
ที่เราได้มีโอกาสพูดคุยกับสองนักแสดงนำคู่พระนางของเรื่อง ไคล์ ทิมสัน ผู้รับบท เชร็ค
และลินด์เซย์ เอสเทลี ดันน์ ผู้รับบท ฟีโอน่า แม้ว่าทั้งคู่จะไม่ใช่นักแสดงนำในแคสต์เดียวกับบรอดเวย์
หากได้รับคัดเลือกมาโดยเฉพาะสำหรับการแสดงนำในเวอร์ชั่นเวิลด์ทัวร์ ทั้งสองจะมาเผยถึงเรื่องราวชีวิต
บนเส้นทางละครเวที รวมทั้งสิ่งที่ได้จากตัวละครอย่างเชร็คและฟีโอน่า





จากจุดเริ่มต้น สู่การเดินทางผ่านละครเวที เรามักพบว่า พ่อแม่ คนใกล้ชิด รวมถึงวัฒนธรรม
คือต้นแบบการดำเนินชีวิตให้กับคน อาชีพ พฤติกรรม วิธีคิด
เป็นสิ่งกล่อมเกลาเป็นรากฐานของอาชีพในอนาคต
เช่นเดียวกับนักแสดงทั้งสอง ที่ผูกพันกับละครเวทีมาตั้งแต่เกิด
ไคล์ วัย 22 ปี เกิดมาในครอบครัวที่เป็นมิวสิคัล ทั้งพ่อและแม่ เป็นผู้จัดการในละครเวทีต่างๆ
ตั้งแต่เขาเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา เขาก็เริ่มเล่นละครเวที นับแต่นั้นเป็นต้นมา
เขาก็ได้พบว่าตัวเองชอบในสิ่งเดียวกันกับพ่อแม่ เป็นเหตุผลให้เขาเลือกเรียนด้านศิลปะการแสดง
และละครเวทีเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เพิ่งได้แสดงหลังเรียนจบ สำหรับลินด์เซย์ วัย 23 ปี
ความหลงใหลละครเวทีได้เริ่มพัฒนามาจากการเรียนยิมนาสติกและชื่นชอบการเต้นตั้งแต่
3 ขวบ กระทั่งเลือกเรียนด้านการแสดง จากนั้นก็มีคนเห็นแววชักชวนให้เธอเล่นละครเวที
และมีเป้าหมายอยากเป็นดาวเด่นของบอร์ดเวย์


“สำหรับเด็กจบใหม่อย่างผม ได้มีโอกาสเดินทางไปเล่นละครเวทีตามประเทศต่างๆ ทำให้ได้เห็นวัฒนธรรมใหม่ๆ
ซึ่งมันไม่มีประสบการณ์อะไรที่ดีไปกว่านี้อีกแล้ว ทำให้เราได้เจอคนในแวดวงเดียวกันและมากความสามารถด้วย
แต่ก่อนไม่เคยคิดว่าจะชอบการเดินทางเพราะมันทำให้เราได้เห็นอะไรใหม่ๆ เยอะมาก อย่างมาที่ประเทศไทย
เราได้เรียนรู้ภาษา เรียนรู้คำทักทาย คำขอบคุณ รวมทั้งการไหว้ และที่สำคัญที่สุด อาหารไทย ผมชอบอาหารไทยมาก โดยเฉพาะผัดไทย”

ทั้งสองเล่าว่า Shrek เป็นภาพยนตร์ที่พวกเขาโปรดปรานมาตั้งแต่เด็ก ชอบอย่างไรก็ยังชอบอย่างนั้น
ก่อนหน้าที่จะได้รับบท เขาทั้งสองต้องทำการแคสติ้ง ทั้งร้อง ทั้งเต้น และเล่นทุกอย่างตามบท
ลินด์เซย์ เล่าว่า เมื่อได้รับบทเจ้าหญิงฟีโอน่า มีอยู่ฉากหนึ่งที่เจ้าหญิงฟีโอน่าจะต้องแปลงร่างเป็นยักษ์เขียว
เป็นฉากที่เธอต้องใช้เวลาอันจำกัดเปลี่ยนชุดอย่างรวดเร็ว และเข้าฉากมาร้องเพลงและเต้นอีกครั้ง นับเป็นฉากที่เธอบอกว่าเหนื่อยมาก



ลินด์เซย์ เผยว่า เธอศึกษาการเล่นบทฟีโอน่าจาก คาเมรอน ดิแอซ และสั่งสมประสบการณ์จากการดูนักแสดงหลายๆ
คนที่อยู่ในบอร์ดเวย์ แล้วก็ออกแบบฟีโอน่าในแบบฉบับของตัวเธอเอง ขึ้นมา ส่วนไคล์ ในฐานะนักแสดง
เขาให้ความสำคัญกับการเคารพต่อบทเป็นอันดับแรก ด้วยการพยายามศึกษาคาแรกเตอร์จริงๆ เป็นอย่างไร
และพัฒนาตัวเองให้เป็นแบบนั้น จากนั้นจึงเติมเทคนิคเข้าไป

เรียนรู้ตัวเองจาก Shrek แน่นอนว่า ตัวละครใน Shrek ทั้งภาพยนตร์และละครเวที เกิดจากจินตนาการของนักวาดภาพ
เดอะ นิวยอร์กเกอร์ ที่วาดเป็นหนังสือนิทานสำหรับเด็ก การทำให้เหล่าตัวละครมีชีวิตขึ้นมาได้จริงๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย นั่นคือสิ่งที่
ไคล์และลินด์เซย์ ได้เรียนรู้ตัวละครอย่างเข้าใจ และเมื่อได้เข้าถึงบทบาท ตัวนักแสดงก็ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างไปกับตัวละครตัวนั้นๆ ด้วย

ไคล์ ผู้รับบท เชร็ค เผยถึงความลำบากกับเครื่องแต่งกายที่จะต้องแปลงร่างเป็นยักษ์สีเขียวว่า
มีแต่ตากับฟันของตัวเองเท่านั้นที่โผล่ออกมา นอกเหนือจากนั้นคือเครื่องแต่งกายที่มีโครงสร้างใหญ่มาก
รองเท้าและเครื่องแต่งกายทุกอย่างสูงเพิ่มขึ้น 4 ฟุต เพื่อให้ตัวสูงใหญ่เหมือนในภาพยนตร์จริงๆ
ด้วยอุณหภูมิที่ถูกจำกัด จึงไม่สามารถทำอะไรได้มาก และอยู่ในภาวะขาดน้ำได้ง่าย




“ฉากแรกจะเปิดตัวด้วยตัวละครยักษ์ร่างใหญ่สีเขียวกำลังเอาหนังสือบังหน้า แต่พอได้จังหวะหนึ่ง
หนังสือก็เปิดเผยหน้าตัวละครตัวนั้นที่จะทำให้เด็กๆ ตกตะลึงที่ได้เห็นเชร็คตัวจริงจากในการ์ตูนที่เขาดู
นั่นเป็นความรู้สึกที่ทำให้ผมอยากแสดงต่อ จากเด็กในโรงละครที่ถูกล้อว่าสูงกว่าคนอื่น ผมรู้สึกว่าต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง
เพื่อให้คนอื่นยอมรับ เมื่อได้เข้าสู่วงการแล้วได้เดินทางไปทำการแสดงในที่ต่างๆ ทั่วโลก
ทำให้ผมรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว และตัวของเชร็คเองก็สะท้อนให้ผมได้เห็นตัวเองมากขึ้น
ในเพลง Who I'd be ที่ทำให้เราในที่สุดแล้ว เราก็ปฏิเสธตัวเองในสิ่งที่เป็นไม่ได้
เหมือนที่เชร็คเองก็เรียนรู้ว่าไม่ว่าจะอย่างไร เขาก็คือยักษ์ตัวเขียวๆ อยู่ดี และลินเซย์
เธอก็ได้เรียนรู้จากตัวละครเจ้าหญิงฟีโอน่าไม่ต่างกัน “ฉันได้เรียนรู้ว่า เราให้อภัยคนอื่นได้ทุกวัน
เราก็ต้องให้อภัยตัวเองได้ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะคนเราทำผิดพลาดกันได้ เราจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้เมื่อเราได้ให้อภัยตัวเอง”


การได้เรียนรู้และยอมรับในสิ่งที่ตัวเราเป็น เป็นสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้อย่างไม่จบสิ้นตลอดทั้งชีวิต และละครเวทีเรื่องนี้
ก็เป็นอีกหนึ่งการแสดงที่ทำให้ได้เรียนรู้ว่า การยอมรับตัวเองผ่านความสนุกสนานของการแสดงอันมหัศจรรย์มากครั้งนี้นั่นเอง




ที่มา www.posttoday
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่