สวนสัตว์เป็นสถานทีที่ดีที่สุดที่จะศึกษา'สันดาน'ของมนุษย์



บทความ : สวนสัตว์คือสถานที่ที่ดีที่สุดที่จะศึกษาสันดานของมนุษย์
ผู้เขียน : คุณ วินทร์ เลียววาริณ
cr . : https://www.facebook.com/winlyovarin/photos/a.1502062586736369.1073741826.1501588676783760/1731422430467049/?type=3&theater




สองวันก่อนมีข่าวแปลกๆ ข่าวหนึ่ง เกิดขึ้นที่สวนสัตว์กรุงซานติอาโก ประเทศชิลี ชายคนหนึ่งเขียนจดหมายลาตายแล้วไต่ลงไปในกรงสิงโต สิงโตก็พุ่งใส่ เจ้าหน้าที่จึงปลิดชีพสิงโตสองตัวเพื่อช่วยชายคนนั้น

คำถามคือคุ้มไหมที่แลกชีวิตสัตว์กับคนที่ไม่อยากอยู่แล้ว

คำถามที่น่าสนใจกว่าคือ สัตว์มีค่าน้อยกว่าคนใช่ไหม

ปี พ.ศ. 2552 บันทึกบนหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็นห้วงเวลาที่คนไทยเกิดอาการเห่อลูกหมีแพนด้าน่ารักซึ่งถือกำเนิดในแผ่นดินไทยจนกลายเป็น 'แพนด้าฟีเวอร์' ไปทั้งประเทศ ผู้คนหลั่งไหลไปถ่ายรูปลูกหมีน่ารัก สารเอสเอ็มเอสท่วมท้นจอโทรทัศน์ ไปรษณียบัตรตั้งชื่อลูกหมีนับล้านแผ่นเดินทางจากทุกสารทิศ ล่าสุดบริษัทโทรทัศน์เคเบิลแห่งหนึ่งเปิดโทรทัศน์ช่องใหม่เป็นรายการเรียลิตี้แพนด้า โทรทัศน์ช่องนี้แสดงภาพน่ารักของหมีแพนด้าแม่ลูกผ่านกล้องวงจรปิดตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง

การเปิดโอกาสให้ผู้ชมเห็นภาพลูกหมีน่ารักอย่างใกล้ชิดเพียงแค่กดปุ่มรีโมต คอนโทรล อีกทั้งสามารถแสดงความเห็นผ่านเอสเอ็มเอสหน้าจอ คงจัดว่าเป็นการแสดงความรักของมนุษย์ต่อสัตว์ที่น่าเอ็นดู หากไม่ใช่เพราะจุดเล็ก ๆ จุดหนึ่งที่อาจทำให้คนรักสัตว์ไม่น้อยตะขิดตะขวงใจ นั่นคือภาพแพนด้าแม่ลูกผ่านชีวิตแต่ละวันในกรงเหล็ก !

ในปีเดียวกันนี้ ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯจัดธีมการตลาดโดยตกแต่งห้างเป็นป่า นำต้นไม้และสัตว์ป่าขนาดเล็กหลายชนิดมาประดับประดา ผสมผสานเสียงน้ำตกกับเสียงสิงสาราสัตว์ (ปลอม) รกครึ้มสวยงามแลดูเหมือนป่าทึบแอฟริกา เรียกลูกค้าได้ชะงัด บรรดาคนเดินห้างก็ถ่ายรูปกับสัตว์ป่าและฉากกันอย่างเพลิดเพลินเจริญใจ

มันก็คงจัดว่าเป็นแผนการตลาดที่ประสบความสำเร็จ หากไม่ใช่เพราะจุดเล็ก ๆ จุดหนึ่ง นั่นคือท่าทางของสัตว์ป่าเหล่านั้นดูหงอย และตกใจกลัวกับสภาพ 'ป่าติดแอร์' ที่พวกมันไม่คุ้นเคย ผสมกับการที่ผู้คนรายล้อมและแสงแฟลชวูบวาบเป็นระยะ ๆ

ย่อมมีปฏิกิริยาต่อต้านจากองค์กรเกี่ยวกับการทารุณสัตว์ ทว่าเสียงต่อต้านแผ่ว ๆ ก็ถูกกลบหายไปด้วยเสียงของผู้ใหญ่ในหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้สัมภาษณ์ว่า เขามองไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหาอะไร นี่เป็นการทำให้ประชาชนเรียนรู้ชีวิตป่าได้อย่างดียิ่ง อีกประการหนึ่ง สัตว์เหล่านี้ก็อยู่ในกรงแค่สิบวันเท่านั้นเอง และอยู่ในห้องแอร์เย็นสบายด้วย

ภาพพ่อแม่พาเด็ก ๆ ไปดูสัตว์ในกรง ดูเผิน ๆ เหมือนการปลูกฝังให้เด็กรักสัตว์ตั้งแต่เล็ก แต่มองในภาพกว้าง กลับเป็นการปลูกฝังทัศนคติและค่านิยมว่าสัตว์เป็นเพียงของเล่นอย่างหนึ่งเท่านั้น

ค่านิยมนี้เองที่ทำให้โลกเต็มไปด้วยสวนสัตว์ที่ไร้คุณภาพและตลาดสัตว์ป่าซึ่งไม่นำพาวิธีการได้ 'สินค้า' มาตามความต้องการของตลาด

ในปี 2554 สวนสัตว์เชียงใหม่ประชาสัมพันธ์ดาราตัวใหม่ หมีขาวขั้วโลก โดยให้เหตุผลว่า สภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลาย หมีขาวกำลังไร้ที่อยู่ สวนสัตว์จึงเป็นทางแก้ปัญหา ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว กล่าวคือช่วยทั้งหมีขาวและสวนสัตว์ !

รายงานวิจัยทั่วโลกยืนยันว่า การนำหมีขาวมาเลี้ยงในสวนสัตว์เป็นการทำร้ายหมีมากกว่าช่วย หมีทั้งหมดที่นำมาไว้ในสวนสัตว์มีอาการป่วยทางจิตและซึมเศร้า เพราะหมีขาวต้องอาศัยในพื้นที่เย็นจัด และมีพฤติกรรมท่องพื้นที่กว้างถึงห้าหมื่นตารางกิโลเมตร มิพักเอ่ยถึงการถูกนำมาขังในคุกร้อนเมืองไทย สวนสัตว์ในยุโรปจึงเลิกการขังหมีขาวโดยสิ้นเชิง

นักเขียนเรื่องตลกอเมริกัน อีแวน อีซาร์ เคยกล่าวขำ ๆ ไว้ว่า "สวนสัตว์คือสถานที่ดีที่สุดที่จะศึกษาสันดานมนุษย์"

สันดานของมนุษย์เราก็คือ เมื่อเรารักสิ่งใดก็ต้องเก็บมันไว้เป็นของตนเอง รักนกก็จับมันมาขังในกรง รักสัตว์ป่าก็จับมันมาขังในกรง รักใครก็ต้องการให้เขาหรือเธอเปลี่ยนนิสัยให้ตรงใจตนเอง บริโภคนิยมยิ่งทำให้เรามองทุกอย่างเป็นวัตถุที่ไม่มีเลือดเนื้อชีวิตจิตใจและซื้อขายได้ไปทุกที

มันสะท้อนให้เห็นว่า เราต่างหากที่อยู่ในกรงของความมืดบอดทางปัญญา

แผนการตลาดซึ่งเล่นกับความน่ารักของสัตว์ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เรามีสวนสัตว์ในห้างสรรพสินค้ามานานหลายสิบปี เรามีกิจกรรมบันเทิงประเภทช้างเตะฟุตบอล ไปจนถึงช้างเร่ร่อนในเมืองกรุง เหล่านี้เป็นภาพที่สังคมถูกยัดเยียดจนเคยชินไปแล้ว

ภาพหมีแพนด้าแม่ลูกนั่งนอนบนพื้นซีเมนต์แห้งกร้านรายล้อมด้วยลูกกรงเหล็กพร้อมอาหารเสิร์ฟถึงที่ อาจดูน่ารักในสายตาของคนจำนวนมาก แต่ในมุมมองของนักอนุรักษ์สัตว์ มันกลับเป็นภาพที่ชวนสลดหดหู่ที่สุดภาพหนึ่งในโลก แพนด้าแม่ลูกก็ดูไม่ต่างจากอาชญากรที่ถูกจำจอง ไม่ว่าเราจะจำลองบ้านของมันให้ดูเหมือนธรรมชาติเพียงไร หรือจะยืนยันผ่านเอสเอ็มเอสสักล้านหนว่า เรารักพวกมันมากแค่ไหน เช่นเดียวกับภาพสัตว์ในกรงกลางห้างสรรพสินค้าที่ถูกบังคับให้ถ่ายรูปกับฝูงชน

ประดิษฐกรรมที่เรียกว่า 'สวนสัตว์' ปรากฏในโลกมานานหลายพันปีแล้วตามวังและคฤหาสน์ของผู้มีอำนาจ มีการทารุณสัตว์ในความบันเทิงรูปแบบต่าง ๆ สำหรับสวนสัตว์ปรากฏมานานหลายร้อยปีแล้วที่เวียนนา แมดริด ปารีส ลอนดอน นิวยอร์ก ฯลฯ สวนสัตว์กลายเป็นสถานบันเทิงแบบใหม่ หลายแห่งผนวกเอาละครสัตว์เข้าไปด้วย

นอกจากละครสัตว์แล้ว บางแห่งในประเทศที่เจริญแล้วยังแนะนำ 'สวนคน' ด้วย !

ในปี พ.ศ. 2449 สวนสัตว์บรองซ์ที่นิวยอร์กมีการจัดแสดงคนป่าในกรงขัง ชาวป่าผู้นี้มีนาม โอตา เบนกา (Ota Benga) เป็นชาวเผ่าปิกมีจากคองโก แอฟริกา เขาถูกขังคู่กับลิงชิมแปนซีและอุรังอุตัง ฝูงชนก็แห่ไปดูอย่างคับคั่งด้วย จุดขายของสวนสัตว์ที่ว่า โอตา เบนกา ก็คือตัวเชื่อมที่หายไป (missing link) ระหว่างลิงกับคน

โอตา เบนกา เป็นชาวเผ่าปิกมี บ้านเกิดอยู่ในป่าใกล้แม่น้ำกาไซ ครอบครัวของเขาถูกสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมด้วยกำลังของกษัตริย์ลีโอโปลด์ที่สองแห่งเบลเยียมซึ่งยึดครองคองโกในยุคนั้น ในปี 2447 หมอสอนศาสนาชาวอเมริกันนาม แซมมูเอล ฟิลลิปส์ เวอร์เนอร์ เดินทางไปแอฟริกาเพื่อจัดหาพวกปิกมีไปแสดงในงาน St. Louis World Fair เขาพบกับชายปิกมีผู้นี้ ในที่สุดก็หว่านล้อมพา โอตา เบนกา กับเพื่อนอีกแปดคนไปยังดินแดนแห่งโอกาส - 'สะหะรัดอะเมริกา' !

หลายเดือนถัดมา ชายปิกมีก็ปรากฏตัวที่สวนสัตว์บรองซ์ นิวยอร์ก โอตา เบนกา ในวัยยี่สิบสามกลายเป็น 'สัตว์' ตัวหนึ่งในสวนสัตว์ เขาแสดงการปีนป่าย การใช้ธนู ฟันถูกดัดแปลงให้มีลักษณะของสัตว์มากขึ้น

โชคดีของ โอตา เบนกา ที่ไม่ทุกคนในนิวยอร์กสนุกกับเรื่องไร้มนุษยธรรมแบบนี้ หลังจากที่มีคนต่อต้านมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า มันลดคุณค่ามนุษย์ลงอย่างน่าละอาย ในที่สุด โอตา เบนกา ก็ได้รับอิสระ แต่เขากลับบ้านไม่ได้ เขาได้เรียนหนังสือไม่นานแล้วทำงานในโรงงานยาสูบแห่งหนึ่ง เขามีความสามารถพิเศษคือไต่เสาสูงไปเก็บใบยาสูบโดยไม่ต้องพึ่งบันได

ผ่านไปเก้าปี กลายเป็นสัตว์จนตรอกในประเทศที่เขาไม่คุ้นเคย โอตา เบนกา ในวัยสามสิบสองก็ใช้ปืนพกที่ขโมยมาจ่อขั้วหัวใจตนเองแล้วลั่นไก ศพฝังในสุสานไร้ชื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่