ภาษาไทย เเค่ไหนถึงจะเรียกว่าวิวัฒนาการและเเค่ไหนถึงจะกลายเป็นวิบัติ

กระทู้คำถาม
คือสงสัยเกี่ยวภาษาครับ สมัยนี้เกิดคำแปลกๆใหม่ขึ้นมาก็เยอะแยะเลย อยากรู้ว่าแบบไหนถึงจะเรียกว่าวิวัฒ แบบไหนถึงเรียกว่าวิบัติครับ
เช่น บ่องตง  น่ามคาญ  เจ็บจุงเบย   ลัง(ย่อมาจากกำลัง)  9ล9 มันเยอะจนยกตัวอย่างไม่ถูก


ปล. อาจจะมีบางคนพิมพ์ว่า แค่พิมพ์ตามแบบเดิมให้มันถูกก็พอ มาเปลี่ยนมันทำไม ในมุมมองผมคิดว่าภาษามันไม่หยุดนิ่งมันเปลี่ยนไปตามการเวลา และน่าสนใจ ถ้ามันสื่อเเล้วเข้าใจตรงกัน  ก็น่าจะลองเปิดรับเเล้วลองใช้ดู
ปล2. ที่ภาษาเปลี่ยนไปตามกาลเวลาน่าจะเป็นเพราะทำให้มันใ้ช้ง่ายขึ้นด้วยหรือป่าวครับ ???
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 1
ตัวอย่างที่ยกมา เช่น บ่องตง จุงเบย เรามองว่าเป็นแค่คำที่ฮิตกันชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็จะค่อยๆ หายไปเอง ช่วงที่ฮิตกันมากๆ ก็จะมีคนบางส่วนรำคาญ กรณีแบบนี้คำแรกที่เราจำได้คือ "กิ๊บเก๋ยูเรก้า" (วัดอายุมาก) ตอนนั้นเราอยู่ประถม จำได้ว่าตอนนั้นก็มีคนบ่นเหมือนที่มีคนบ่นพวก บ่องตง จุงเบย ตั้ลล้ากกก อะไรพวกนี้เป๊ะเลย (ส่วนคำที่ฮิตกันมากช่วงนี้น่าจะเป็นคำว่า "มีความ..." ซึ่งเราเชื่อว่าอีกสักพักก็จะหายไปเหมือนกัน)


ส่วนวิวัฒนาการ มันต้องเป็นการค่อยๆ เปลี่ยนที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป นึกตัวอย่างชัดๆ ไม่ค่อยออกเหมือนกัน นึกออกแต่ถ้าอ่านหนังสือเก่าๆ ไม่ต้องย้อนไปถึงสมัยอยุธยาหรือต้นรัตนโกสินทร์ขนาดนั้นก็ได้ แค่ประมาณฉบับพิมพ์ครั้งแรกของสี่แผ่นดิน บ้านทรายทอง หรือนิยายของดอกไม้สด ตัวสะกดก็จะต่างจากปัจจุบัน อย่างคำว่า เป็น-เปน ก็-ก้อ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงเปลี่ยน เปลี่ยนตั้งแต่ตอนไหน

ถ้าเอาที่พอจะนึกออกว่าตอนเด็กๆ กับตอนนี้ไม่เหมือนกัน ก็อย่างคำว่า เพิ่ง เดี๋ยวนี้ราชบัณฑิตยสถานอนุญาตให้สะกดได้สองแบบ คือ เพิ่ง หรือ พึ่ง (เช่น พึ่งกินข้าวมา ยังอิ่มอยู่เลย เดี๋ยวนี้ก็ถือว่าไม่ผิด) จำได้ว่าเมื่อก่อนสะกดได้ว่า เพิ่ง แบบเดียว แต่การออกเสียงมักจะออกเสียงว่า พึ่ง คาดว่าก็คงอนุโลมการสะกดให้เป็นไปตามการออกเสียงอย่างที่นิยม

หรืออีกกรณี ที่เรามองว่าอาจใช้ได้กับคำว่าภาษาไม่ตายตัว ก็อย่างคำว่า ทาน ที่นิยมพูดกันในความหมายว่า กิน ถ้าจะเอาตามพจนานุกรมเป๊ะๆ คำคำนี้ไม่ได้มีความหมายว่า กิน แต่โดยทั่วไปก็เข้าใจกันว่าเป็นคำย่อมาจาก รับประทาน ซึ่งแปลว่ากิน ซึ่งคำว่ารับประทาน เดิมทีก็อาจมีความหมายที่ไม่ได้เหมือนปัจจุบันเป๊ะๆ แต่การที่ผ่านกาลเวลามาจนหมายถึง กิน ในปัจจุบัน อันนี้ก็น่าจะถือว่าเป็นวิวัฒนาการของภาษาได้

หรืออย่างคำสแลงตามยุคสมัยอย่างที่พูดถึงตอนแรกสุด ถ้าบางคำเกิดขึ้นมาแล้วใช้แพร่หลายกันไปเรื่อยๆ ไม่ได้เลิกใช้หายไป ก็จะกลายเป็นคำที่ใช้กันทั่วไปโดยไม่มีใครรู้สึกว่าแปลก แบบนี้ก็คงเป็นวิวัฒนาการเหมือนกัน


ส่วนภาษาวิบัติ ส่วนตัวเราไม่ค่อยใช้คำนี้ แต่ในมุมมองเราเราคิดว่ามันคือการใช้ภาษาโดยไม่รู้จักกาลเทศะ ภาษาแชท ภาษาที่สะกดให้ผิดเพี้ยนเพื่อสื่ออารมณ์หรือเพื่อความสะดวกในการพิมพ์ หรือเพราะคิดว่าเท่ ถ้าเอาไปใช้ในวาระที่ไม่ควรใช้ภาษาแบบนั้น เช่น เขียนรายงาน จดหมายสมัครงาน ก็ผิดกาลเทศะ และจะถูกมองว่าเป็นภาษาวิบัติ (หลายคนที่ใช้จนติดมักอ้างว่า ถึงเวลาต้องใช้ให้ถูกก็สะกดแบบที่ถูกต้องได้ บางคนก็ทำได้จริง แต่อีกหลายคนก็ใช้ติดจนแยกไม่ออกแล้วว่าโอกาสไหนควรใช้ภาษาอย่างไร แบบนี้เราก็ถือว่าวิบัติ)

กับอีกปัญหาที่พบมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลังนี้ คือคนไทยสะกดคำไม่เป็น ผันวรรณยุกต์ไม่ถูก อันนี้เรามองว่าเป็น "ปัญหา" ปัญหาในการเรียนการสอนภาษาไทยตั้งแต่ชั้นประถม มันไม่ใช่แค่วิบัติ เพราะเราแน่ใจว่าคนที่สะกดผิดส่วนมากไม่ได้ตั้งใจสะกดให้ผิดเพราะคิดว่าเท่หรือน่ารัก หรือเพราะอะไรก็ตาม แต่ผิดเพราะไม่รู้ว่าที่ถูกต้องสะกดอย่างไร


ภาษาจำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ที่จะ "เข้าใจตรงกัน" หลักเกณฑ์นี้เปลี่ยนแปลงได้เสมอ แต่ก็ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยอมรับทั่วกันด้วย ถ้าใครอยากเปลี่ยนอยากใช้อย่างไรก็ใช้เอาตามใจชอบ มันก็จะไปสู่จุดที่ "เข้าใจไม่ตรงกัน" ค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่