Laser VS IPL โดยนศ.ป.เอก วิศวกรรมการแพทย์ (เจ้าเก่า)


สวัสดีค่ะ ชาวพันทิพทุกท่าน
คุกกี้คนเดิม ที่เพิ่มเติมคือข้อมูลนะคะ 5555
วันนี้มีตอนใหม่มานำเสนอค่ะ เชื่อว่าคงถูกใจหลายๆคนที่กำลังสนใจอยู่
หลังจากเขียนไปชุดแรก มีคนสอบถามเรื่อง IPL กันเข้ามามากมาย รวมถึงเครื่องที่ทำที่บ้านหลายๆยี่ห้อด้วย
วันนี้มาส่งต่อให้เพื่อนๆทุกคนได้อ่านกันค่ะ

ก่อนอื่นอนุญาติชี้แจงข้อมูลเล็กน้อยค่ะ
คุกกี้เป็นนศ.วิศวกรรมการแพทย์ เรื่องงานวิจัยที่ทำจริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องที่เอามาให้อ่านกันในกระทู้นี้นะคะ
แต่เป็นเรื่องการศึกษารูปแบบพลังงานความร้อนและการดูดซับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากแสงเลเซอร์ค่ะ
ดังนั้นข้อมูลที่เอามาให้ทุกท่านได้อ่านกันจึงเป็นข้อมูลที่ได้ศึกษา รวบรวมขึ้นมาเอง นอกเหนือจากงานวิจัย
จุกประสงค์เพื่อนำความรู้มาเผยแพร่เป็นประโยชน์กับสาธารณชนค่ะ
ถ้ามีผิดพลาดประการใด หรือไม่ถูกใจท่านไหน ก็ขออภัยด้วยนะคะ
ติดตามได้ที่เดิมค่ะ
www.facebook.com/laserbycookie

Laser VS IPL

■IPL คืออะไร? ย่อมากจากอะไร?
IPL คือ แสงที่มีความเข้มสูง ย่อมาจากคำว่า Light pulse intensity

■คุณสมบัติที่ต่างไปจากแสงเลเซอร์คือ
1.IPL ให้กำเนิดแสงที่มีความยาวช่วงคลื่นหลายๆช่วงคลื่นออกมาพร้อมกันในเวลาเดียวกัน ในขณะที่เลเซอร์จะให้กำเนิดแสงแค่ความยาวคลื่นเดียว
2.แสงของ IPL เคลื่อนที่ไปในทิศทางที่แตกต่างกัน ใขขณะที่เลเซอร์เคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียว
3.IPL มีการกระเจิงแสงมาก ในขณะที่เลเซอร์แทบไม่มีกระกระเจิงเลย แสงพุ่งออกไปเป็นเส้นตรง

■ ช่วงความยาวคลื่นของ IPL อยู่ที่เท่าไหร่ ต่างกับเลเซอร์หรือไม่?
ช่วงคลื่นที่ IPL ปล่อยออกมาจะอยู่ประมาณที่ 515-1200 นาโนเมตร ซึ่งปล่อยออกมาหลายๆความยาวคลื่นพร้อมกัน ต่างกับเลเซอร์ที่ปล่อยออกมาแค่ความยาวคลื่นเดียว (ความยาวคลื่นของเลเซอร์ขึ้นอยู่กับตัวกลางในการผลิตแสง เครื่องเลเซอร์แต่ละชนิด ความยาวคลื่นไม่เท่ากัน)

■ แสง IPL ที่ปล่อยออกมาสามารถใช้ได้เลยหรือไม่?
แสงที่ปล่อยออกมา หากจะนำมาใช้จะต้องทำการกรองให้ได้ความยาวคลื่นที่ต้องการก่อน โดยมีอุปกรณ์พิเศษที่ทำหน้าที่คัดกรองแสงที่ไม่ต้องการออกไป นั่นคือ กระจกกรองแสงหรือเรียกศัพท์ทางเทคนิคว่า cutoff filter เมื่อผ่านการกรองแล้ว จะเหลือแสงแค่เฉพาะช่วงความยาวคลื่นที่ต้องการ จากนั้นแสงในความยาวคลื่นแค่เฉพาะช่วงที่เหลือนี้จะถูกส่งมายังผิวหนัง
**ถ้าหากไม่กรอง แล้วแสงทั้งหมดจะออกมาพร้อมๆกัน อาจทำให้อุณหภูมิที่ผิวหนังสูงขึ้นอย่างมาก และอาจทำให้เกิดการไหม้ได้

■ cutoff filter คืออะไร?
cutoff filter คือ อุปกรณ์ช่วยกรองแสง ให้เหลือแต่ในช่วงความยาวคลื่นที่ต้องการ ระบบ filter ที่ใช้กับเครื่อง IPL มีสองชนิดคือ Dielectric filter และ Fluorescent filter

■ IPL ใช้ cutoff filter แล้วเลเซอร์ต้องใช้หรือไม่?
คำตอบคือ เลเซอร์ให้กำเนิดแสงแค่ความยาวคลื่นเดียว ซึ่งต่างกับ IPL ที่ให้กำเนิดออกมาพร้อมกันทีเดียวตั้งแต่ 515-1200 นาโนเมตร จึงไม่มีความจำเป็นที่เลเซอร์จะต้องใช้ cutoff filter กรองอีก เพราะมีแค่คลื่นเดียว

■สิ่งที่ต้องพิจารณาในการรักษาด้วย IPL คือ
1.ใช้ cutoff filter กรองที่ความยาวคลื่นช่วงไหน (ความยาวแต่ละช่วง เหมาะกับการรักษาโรคแต่ละโรคต่างกัน)
2.พลังงานเท่าไหร่
3.pulse mode แบบไหน
4.delay time (ช่วงเวลารอระหว่างแต่ละพัลส์) คือเท่าไหร่
*ตรงนี้ถ้าเราไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็ไม่ต้องกังวลนะคะ แพทย์จะเป็นผู้ปรับค่าให้เหมาะสมกับเราตามประสบการณ์การรักษาของแพทย์ค่ะ

■IPL สามารถใช้รักษาได้อย่างไร? มีกลไกอะไรบ้าง?
ถึงแม้ว่าคุณสมบัติของคลื่นแสงจาก IPL จะมีความแตกต่างจากเลเซอร์ แต่กลไกการทำงานมีลักษณะเดียวกัน
สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ ตอนที่9 ค่ะ
link: https://web.facebook.com/laserbycookie/posts/915413195224595

■IPL สามารถใช้รักษาอะไรได้บ้าง?
IPL สามารถใช้รักษาโรคหรือปัญหาทางผิวหนังได้อย่างหลายหลาย เพราะมีหลายความยาวคลื่นในแสงเดียว แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ชนิดของกระจกกรองแสง (cutoff filter) ให้ถูกต้องเหมาะสมกับข้อบ่งชี้สำหรับปัญหาแต่ละชนิด โรคที่ IPL สามารถรักษาได้คือ
ความผิดปกติของสีผิว (pigmentary disorder), ความผิดปกติของหลอดเลือด (vascular lesions), การทำให้อ่อนเยาว์ขึ้น (photorejuvenation), การรักษาโดยวิธีโฟโตไดนามิก (photodynamic therapy), แผลเป็น (scars), การกำจัดขน
***จะขอเน้นในเรื่องของ การรักษาความผิดปกติของเม็ดสีผิวและเรื่องการกำจัดขนนะคะ เนื่องจากมีคนถามถึงเครื่อง IPL ที่สามารถรักษาได้เองที่บ้านได้ ซึ่งเครื่องนี้เค้าเคลมว่าสามารถรักษาฝ้ากระ และกำจัดขนได้ค่ะ

■■■■ การใช้ IPL รักษาความผิดปกติของสีผิว ■■■■
■ความผิดปกติสองสีผิวมีกี่แบบ?
ความผิดปกติสองสีผิวมีสองแบบค่ะ
1.รอยคล้ำที่เกิดจากเมลานิน(เม็ดสี)ที่สะสมมากกว่าปกติในผิวหนังชั้นนอก (epidermis) epidermal pigmentary disorders
ไดแก่ freckles กระ, solar lentigo กระแดด, epidermal type melasma ฝ้าชนิดตื้น
2.รอยคล้ำที่เกิดจากเมลานิน(เม็ดสี)ที่สะสมมากกว่าปกติในผิวหนังชั้นใน (dermis) dermal pigmentary disorders
ได้แก่ Nevus of Ota ปานดำ, acquired bilateral nevus of Ota-like macules กระลึก, dermal type melisma ฝ้าลึก

■IPL สามารถรักษารอยคล้ำแบบไหนได้บ้าง? และรอยคล้ำจะหายไปถาวรเลยหรือไม่?
การรักษาด้วย IPL มักจะได้ผลเฉพาะรอยคล้ำชนิดที่เกิดจากเมลานินสะสมมากกว่าปกติในผิวหนังชั้นนอก คือพวกกระและฝ้าตื้นๆ เพราะ IPL สามารถกำจัดได้แค่เซลล์หนังกำพร้าที่มีเม็ดสีเมลานินผสมอยู่ (melanin containing keratinocyte) แต่ไม่สามารถกำจัดเม็ดสีเมลานิน หรือเซลล์เมลาโนไซต์ (Melanocyte)ได้โดยตรง จึงทำให้เซลล์เมลาโนไซต์ยังคงสร้างสีเมลานินขึ้นมาใหม่ เราจึงต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับทา whitening และครีมกันแดด เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

■หลังการรักษาด้วย IPL จะมีอาการอย่างไรบ้าง?
ภายหลังการรักษา บริเวณผิวหนังที่ทำการรักษาจะมีลักษณะแดงระเรื่อ ผู้รับการรักษาอาจมีอาการหน้าแดงและรู้สึกร้อนเล็กน้อยหลังการรักษาและจะหายไปเองประมาณ 20-30 นาที รอยคล้ำจะมีสีเข้มขึ้น ตกสะเก็ดและค่อยๆหลุดไป (เซลล์หนังกำพร้าที่มีเม็ดสีเมลานินผสมอยู่ถูกทำลายและหลุดออกไป) หลังจากหลุดไปรอยคล้ำจะจางลง (รอยคล้ำบางตำแหน่งอาจแค่จางลง แต่ไม่หายไปทั้งหมด)

■ควรทำบ่อยแค่ไหน?
ควรทำการรักษาติดต่อกันหลายครั้งจึงจะได้ผลดี โดยเฉลี่ยประมาณ 3-5 ครั้ง ห่างกันทุก 3-4 สัปดาห์

■ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง?
อาการระคายเคือง แสบแดง อาการไหม้ ตกสะเก็ด รอยคล้ำหรือรอยด่างขาว และแผลเป็นนูน ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้หากทำการรักษาไม่ถูกวิธี


■■■ การกำจัดขน (treatment of unwanted hair) ■■■

■กลไกของการกำจัดขนด้วย IPL
กลไกของการกำจัดขนด้วย IPL เป็นกลไกเดียวกันกับเลเซอร์ สามารถอ่านได้ที่ตอนที่9ค่ะ
Link: https://web.facebook.com/laserbycookie/posts/915413195224595
■ผลข้างเคียงที่พบเพิ่มเติมจากการกำจัดขนด้วยเลเซอร์และ IPL?
ภาวะรูขุมขนอักเสบ folliculitis
ภาวะมีขนเพิ่มมากขึ้น paradoxical hypertrichosis (เป็นเพราะบางช่วงความยาวคลื่นสามารถกระตุ้นการเจริญของเส้นขนได้)

■IPL เจ็บมั้ย?
เจ็บน้อย คล้ายๆกับหนังยางดีดเบาๆ อยู่ในระดับที่ทนได้
*คนผิวขาวสามารถใช้พลังงานได้สูงกว่า ร้อนกว่า จึงมักจะเจ็บกว่า

■เทคนิคการใช้
1.ก่อนรักษาด้วย IPL ควรเช็ดเครื่องสำอางให้หมด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
2.ควรสวมแว่นเพื่อป้องกันแสง IPL เพื่อป้องกันอันตรายต่อดวงตา
3.Cooling gel ใช้สำหรับทำให้อุณหภูมิของผิวหนังเย็นลง (Cooling gel ที่ใช้แล้ว ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ)
4.เมื่อทำการรักษาปริเวณหน้าผาก ขมับ และบริเวณกระดูกกราม ควรปรับพลังงานลดลงเนื่องจากผิวหนังในบริเวณนี้ค่อนข้างบาง จึงอาจทำให้ไหม้ได้ง่าย
5.หลังการรักษาควรเกิดรอยแดงขึ้นเล็กน้อย และบริเวณรอยคล้ำควรมีสีเข้มขึ้น หากไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ควรปรับค่าการทำงานของเครื่องให้สูงขึ้นทีละเล็กน้อย จนเกิดการเปลี่ยนแปลงหลังการรักษา เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ชัดเจน

Cr: เลเซอร์ผิวหนังในเวชปฏิบัติ, ศ.นพ.วรพงษ์ มนัสเกียรติ



แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่