JJNY : บุคคลที่ไม่พึงปรารถนา ว่าด้วยการขับไล่ทูตตามหลักของกฎหมายระหว่างประเทศ

ผู้เขียน    ดร.ประพีร์ อภิชาตสกล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

จากกรณีที่เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นายกลิน เดวีส์ ได้เดินทางเข้าพบกับนายดอน ปรมัตถ์วินัยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ โดยได้เข้าหารือและกล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐาน สิทธิการแสดงความเห็น และการชุมนุม และมีการพูดถึงในประเด็นที่ไม่ได้มีการหารือกันมาก่อน อันนำไปสู่กระแสต่อต้านและการขับไล่ทูต ในวันนี้จะขอนำประเด็นนี้มาขยายความเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายการทูตให้เข้าใจดียิ่งขึ้น

ในกฎหมายการทูตนั้นได้มี อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตค.ศ.1961(Vienna Convention on Diplomatic Relations 1961) ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่วางกฎเกณฑ์ต่างๆเกี่ยวกับการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตไว้ และเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางทั่วไป

ตำแหน่งเอกอัครราชทูตนั้นในมาตรา 14 ของอนุสัญญาฉบับนี้ ระบุว่าเป็นหนึ่งในคณะผู้แทนทางการทูตซึ่งเอกอัครราชทูตจะมีฐานะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต (Head of mission) หน้าที่สำคัญของผู้แทนทางการทูตที่มีต่อรัฐผู้รับ (receiving state)หรือรัฐที่ไปประจำการอยู่คือ การส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างรัฐทั้งสองด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดหน้าที่สำคัญ 2 ประการคือ การไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในและการเคารพกฎหมายและข้อบังคับภายในของรัฐนั้นๆ

อย่างไรก็ตามแม้ว่าผู้แทนทางการทูตจะได้รับเอกสิทธิ์(Privilege) คือสิทธิพิเศษที่ได้แก่คณะผู้แทนทางการทูต และความคุ้มกัน (Immunities) ซึ่งเป็นเรื่องของการยกเว้นจากการบังคับของกฎเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ.1961 แต่ในบางกรณีเช่นการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในอันอาจส่งผลทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างรัฐ หรือการไม่เคารพกฎหมายภายในเช่น การค้ายาเสพติดโดยอ้างสิทธิจากการที่ตนเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูตจนกระทบกระเทือนถึงความมั่นคงระหว่างประเทศ รัฐผู้รับทูตนั้นอาจจะประกาศว่าผู้แทนทางการทูตคนใดเป็นบุคคลที่ไม่พึงปรารถนาได้ (persona non grata) เมื่อใดก็ได้ และเมื่อได้มีการประกาศแล้วถือว่าบุคคลนั้นๆไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ทางการทูตได้ และจะนำไปสู่การขับไล่(expulsion)ออกนอกประเทศได้ ตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต เช่น ในปี พ.ศ.2526 ในสมัยนายกรัฐมนตรีเปรม ติณสูลานนท์ ประเทศไทยเคยจับกุมตัวนายยบารีเชฟ (Barychev) เจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ของรัสเซียในฐานะที่ทำการจารกรรม(espionage)ในประเทศไทยโดยได้ประกาศตัวให้บุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลที่ไม่พึงปรารถนาและได้ส่งตัวกลับประเทศ หรือในกรณีอื่นเช่น ในปี พ.ศ. 2557 รัฐบาลของประเทศเวเนซูเอลาได้ขับไล่นักการทูตอเมริกันออกนอกประเทศฐานที่ยุยงปลุกปั่นนักศึกษาให้ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลทำให้เกิดความแตกแยกในประเทศ เป็นต้น

เมื่อผู้แทนทางการทูตบุคคลใดถูกประกาศว่าเป็นบุคคลไม่พึงปรารถนาแล้ว ในมาตรา 9 ของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ.1961 กำหนดหลักเกณฑ์ว่า รัฐผู้รับก็จะติดต่อไปยังรัฐผู้ส่งทูตนั้นมา (sending state) ด้วยวิธีทางการทูตเพื่อให้เรียกตัวบุคคลดังกล่าวกลับประเทศ ถ้ารัฐผู้ส่งเพิกเฉยรัฐผู้รับอาจปฏิเสธที่จะยอมรับบุคคลเช่นว่านี้เป็นบุคคลในคณะผู้แทนทางการทูตได้ อย่างไรก็ตามในกรณีที่รัฐผู้รับได้ประกาศให้บุคคลในคณะผู้แทนทางการทูตเป็นบุคคลที่ไม่พึงปรารถนาและรัฐผู้ส่งไม่เรียกตัวกลับและหากอยู่ในช่วงที่สัมพันธภาพของทั้งสองประเทศไม่มั่นคงแล้ว ถือเป็นสิทธิของรัฐผู้รับที่อาจประกาศขับไล่นักการทูตนั้นให้เกิดทางออกนอกประเทศของตนภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือจับกุมตัวและนำไปส่ง

เมื่อกลับมาพิจารณาในกรณีของนายกลิน เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ซึ่งได้มีประเด็นที่ถกเถียงกัน คือ เรื่องมารยาททางการทูต กับความต้องการแสดงจุดยืนของสหรัฐอเมริกา

ในเรื่องมารยาททางการทูต ตามความเข้าใจของนักการทูตโดยทั่วไปน่าจะหมายถึง ความรู้ว่าสิ่งใดควรทำหรือควรหลีกเลี่ยง ซึ่งเป็นทักษะที่ควรมีในตัวนักการทูตที่จะจัดการกับคนหรือปัญหาที่ละเอียดอ่อน ความสามารถในการหลีกเลี่ยงที่จะทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจหรือกระทบความรู้สึกผู้อื่นโดยเฉพาะในบางสถานการณ์ การงดวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐผู้รับไม่ว่าจะเป็นเรื่องภายในหรือภายนอกประเทศ เป็นต้น จริงอยู่ที่เนื้อหาของนายกลิน เดวีส์พูดแสดงความกังวลเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพนั้นอาจจะกระทบต่อความรู้สึกของไทย แต่ในขณะเดียวกันการที่ทูตสหรัฐอเมริกาได้แถลงจุดยืนของตนในประเด็นสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน นั้นประเด็นเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ประชาคมโลกนั้นสนใจและให้การยอมรับ ซึ่งไทยเองควรจะรับฟัง แม้ว่าเราอาจจะยังไม่พร้อมปฏิบัติตามหรือมีแนวทางการแก้ปัญหาของตัวเองก็ตาม

การที่มีกระแสออกมาให้มีการขับไล่ทูตนั้น ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า ความสัมพันธ์ของไทยกับสหรัฐอเมริกาที่มีมาอย่างยาวนานนั้นอยู่ในสภาวะที่เสื่อมโทรมลงจนถึงขนาดพูดคุยหรือเจรจาหารือกันไม่ได้อีกแล้วหรืออย่างไร เพราะการกระทำของนักการทูตจากที่ยกตัวอย่างมาแล้วนั้นการขับไล่ จะเกิดในกรณีที่มีการกระทำผิดที่ร้ายแรงจริงๆ การเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของรัฐในลักษณะที่ยุยง ปลุกปั่น ให้เกิดความวุ่นวายในประเทศนั้น การเป็นสายลับจารกรรมข้อมูล ภายใต้สัมพันธภาพที่ไม่มั่นคงของทั้ง 2 รัฐ เป็นต้น

สุดท้ายนี้หากคิดจะทำอะไร อยากให้ลองพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาที่มีมาอย่างยาวนานว่าถึงแม้จะเป็นความสัมพันธ์ที่กระทบกระทั่งกันในบางช่วง ราบรื่นบ้างลุ่มๆดอนๆ บ้าง แต่ยังดีกว่าสูญเสียมิตรภาพที่ดีไปอย่างถาวรหรือไม่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่