Less is More ทำน้อย แต่ได้บุญมาก?

“ทำน้อยได้มาก  ทำมากยิ่งได้มาก”



ตามหลักกฎแห่งกรรมแล้วนั้น  การกระทำใดที่ไม่มีผลนั้นไม่มี  แม้การนอนเฉยๆ  ยังมีผลดีต่อสุขภาพเลย  การทำทานหรือการทำความดีอื่นๆ ก็เช่นกัน  จะมีผลเสมอแม้เราจะหวังหรือไม่

จากที่ฟังคำที่วัดพระธรรมกายสอนนั้น  ส่วนใหญ่มักจะมาคู่กันเสมอว่า “ทำน้อยได้มาก  ทำมากยิ่งได้มาก”  แต่จากการตัดคำที่ไม่สมบูรณ์จนทำให้เกิดความเข้าใจผิด  ดังนั้นเพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น  จึงอยากจะขอยกประเด็นเรื่อง “ทำน้อย ได้มาก”มาคุยก่อน จากนั้นจึงมาคุยประเด็น “ทำมาก ได้มากยิ่งขึ้น” หรือ “ทำมาก ยิ่งได้มาก”

ทำน้อย ได้มาก = ทำทานน้อย แต่ได้ผลมาก  
ทำมาก ยิ่งได้มาก = เมื่อยิ่งทำทานมาก ก็ยิ่งได้ผลมาก

ทำทานน้อยได้ผลมาก   สิ่งนี้มีสอนในพระไตรปิฏกหรือไม่?

ในกูฏทันตสูตร  ได้มีพราหมณ์ถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่องของการบูชายัญหรือการสร้างมหาทานที่ถูกหลัก พระพุทธองค์จึงทรงกล่าวถึง “หลักการวิธี ๓ และส่วนประกอบ ๑๖” จากนั้นพราหมณ์ได้ถามว่า มีไหมที่ใช้ทรัพย์น้อยกว่า  มีการตระเตรียมน้อยกว่า  และมีผลมากกว่า  มีอานิสงส์มากกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตอบว่า มี โดยในส่วนของการให้ทานนั้น มีหลักสำคัญ ๓ ประการที่จะทำให้ “ทำน้อยแล้วได้ผลมาก” คือ   เมื่อบริจาคทานอยู่   ไม่ควรคิดว่ากองโภคสมบัติใหญ่ของเรา ๑.จักหมดเปลือง ๒.กำลังหมดเปลืองไป และ ๓.หมดเปลืองไปแล้ว  ในเรื่องส่วนประกอบ ๑๖ นั้น คือคุณสมบัติของผู้ให้ทาน ๘ ข้อ ของผู้รับทาน ๔ ข้อ และผู้อนุมัติยินดีในทานอีก ๔ ข้อ



จะเห็นได้ว่าหลักการให้ทาน คือ การตัดความตระหนี่ออกจากใจ และไม่เสียดายทานที่ได้สละแล้ว ใน 3 ช่วงเวลาคือ ก่อนทำ ขณะทำ และหลังทำ  หรือพูดง่ายๆว่า ถ้าจะทำน้อยแล้วได้บุญมาก ต้องไม่เสียดายในทานนั่นเอง  นี่คือ ส่วนบริสุทธิ์ใจของผู้ให้  ที่ยินดีให้และไม่เสียดาย  ซึ่งก็เป็นมาตรวัดการตัดตระหนี่ได้  ถ้าเสียดายอยู่ ก็แปลว่า  ยังตัดตระหนี่ไม่ได้ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงให้วิธีการอื่นๆ ที่ทำน้อย  เตรียมน้อย  แต่ได้ผลมากอีก ในปัจจัยของผู้รับ คือ

ให้ถวายเจาะจงแด่บรรพชิตผู้มีศีล  พระอรหันต์  ท่านที่บรรลุอรหัตมรรค  
ให้มหาทานสร้างวิหาร  อุทิศแก่พระสงฆ์ผู้มาแต่ ๔ ทิศ  
และยิ่งไปกว่านั้นตัวผู้บริจาคทานเองเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส  ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ  เป็นผู้สมาทานศีล และการประพฤติธรรมให้ได้ฌานจนหมดกิเลส  ความบริสุทธิ์ของใจยิ่งมาก ก็ยิ่งได้บุญมาก



สาธุชนหรือศิษย์วัดพระธรรมกายก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีโอกาสได้ให้ทานก็ทำแบบไม่เสียดายตามหลักการในพระไตรปิฏก   และเลือกสร้างมหาทานสร้างวิหาร เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ทั่วโลกได้ใช้ในงานพระพุทธศาสนา  ยิ่งไปกว่านั้นสาธุชนวัดพระธรรมกายยังถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก รักษาศีลและปฏิบัติธรรมเป็นปกติ สม่ำเสมอ เหมือนในพระไตรปิฏก  ที่ว่าการทำทานน้อยได้บุญมากนั้น ขึ้นอยู่กับผู้ให้ ผู้รับ และวัตถุทานที่บริสุทธิ์ ซึ่ง ๓ ปัจจัยนี้ ถ้ายิ่งบริสุทธิ์ ผลแห่งการทำทานก็ยิ่งได้มากตามไปด้วย

ทำบุญมากได้มาก

ประเด็นส่วนใหญ่ของผู้ได้รับสื่อที่ไม่เป็นกลางนั้น  มักจะโดนชี้นำให้เห็นว่าวัดพระธรรมกายสอนให้ทำบุญมาก  จนบางครั้งมากเกินกว่าที่ใครบางคนคิด  และเกิดความสงสัยว่า “ทำมาก ได้มาก” มีจริงหรือในพระไตรปิฏก   จึงอยากจะขอยกตัวอย่างในพระไตรปิฏกอีก ๓ เรื่อง  เพื่อให้เห็นว่า  ในกาลก่อนก็มีบุคคลที่ทำทานอย่างอุกฤษฏ์  เพราะเขาทำมากจึงได้มาก  ซึ่งการทำมากมิใช่หมายถึงแต่ปริมาณทรัพย์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ว่าทำสุดตัว สุดหัวใจที่ตนมี คือ มากสำหรับคนๆนั้น  ที่แบบเป็นใครก็ต้องลังเล เสียดายจะให้ดีหรือไม่ให้ดี จะทำดีหรือไม่ทำดี  แต่ตัวอย่างด้านล่างนี้  เป็นบุคคลที่ตัดใจ ตัดตระหนี่ไม่เสียดาย  ไม่เสียใจ  ให้ทานเสร็จ  โล่ง ความตระหนี่ หลุดหมด เช่น



เรื่องนายติณบาล ที่เอาเสื้อผ้าตัวเองไปขาย ให้ได้เข็มและด้ายมาถวายอย่างปลื้มอกปลื้มใจ  ตัวเองต้องเอาใบไม้ห่อกาย  ใครมองก็จะบอกว่าทำทานจนตัวเองเดือดร้อน แต่เขาไม่อายที่จะทำเพราะเขาคิดถึงความคุ้มค่าในชาติเบื้องหน้า



พระเวสสันดร  ที่ให้ทานได้แม้แต่บุตรธิดาตัวเอง  ใครมองก็เห็นว่า  เป็นคนไม่ปกติหรือป่าว  ลูกตัวเองทำไมถึงให้คนอื่นได้  แต่สิ่งที่พระองค์ทำ คือ มิได้หวังผลในชาตินี้ แต่หวังผลโพธิญาณในชาติเบื้องหน้า



เรื่องนางรับใช้ถวายอาหารทั้งหมดของตนแก่พระ แต่พระขอรับแค่ครึ่งนึง นางบอกว่า  อย่าโปรดข้าพระองค์เพียงชาตินี้ แต่จงโปรดข้าพระองค์ไปตลอดกาลนานเถิด  คือ ถ้าใครเห็นก็อาจจะว่าได้ว่า จะบ้าเหรอ ไม่มีจะกินแล้วยังถวายทานจนหมดตัว แต่นางหวังผล ชีวิตที่ดีกว่าในโลกหน้า ชาติหน้า  ส่วนคนรวยที่ทำทานมากมายอย่างนางวิสาขา อนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านทำในปริมาณมากจริง ในการสร้างบุพผาราม และ วัดพระเชตวัน  ซึ่งใช้งบประมาณไม่น้อยหลายล้านโกฏิ  และท่านก็ได้ผลมากอันเป็นทิพย์จริง  ซึ่งท่านทั้ง ๒ เป็นพระโสดาบัน  เป็นต้นแบบของมหาเศรษฐีผู้เป็นพระโสดาบันในกาลก่อน  ที่ควรเอาเป็นแบบอย่าง



ซึ่งจะเห็นได้ว่า จากทั้งสามเรื่องแรก หากเป็นบุคคลที่ ๓ มองอาจจะรู้สึกว่า ทำเกินไปหรือป่าว ทำไมถึงทำขนาดนั้น ผิดปกติรึป่าว จนอาจจะคิดไปถึงบ้าหรือป่าว  แต่นั่นคือ การสร้างทานบารมี  ที่ตัดตระหนี่อย่างยิ่งยวด  ที่ทำได้ยาก  ยากยิ่งกว่าการทำทานทั่วไป  และก็อาจจะเป็นไปได้ที่เราไม่เข้าใจพวกเขา  เพราะว่าเราเอาความคิดของเราไปใส่กรอบการกระทำของคนอื่น  ซึ่งเราก็ไม่เคยถามพวกเขาเลยว่า  เขาสุขดีไหมหนอที่ทำเช่นนั้น เต็มใจไหมหนอ ดีใจไหมหนอ  และในความเป็นจริงเขามีสิทธิที่จะตัดสินใจ เลือกทำในสิ่งที่เขาคิดว่า คุ้มกับชีวิตเขา  ซึ่งคิดไม่เหมือนเรา  เขาให้ความสำคัญเรื่องชาติหน้า หรือเรื่องอนาคต มากกว่าปัจจุบัน  ซึ่งบางทีอาจจะมองไม่ออกว่ามีคนประเภทนี้เยอะเหรอ



อาจจะยกตัวอย่างง่ายๆ อีกอย่าง  ที่เห็นกันได้ทั่วไป  คนบางคนเก็บเงินยอมกินน้อยๆ ใช้น้อยๆ เพื่อเก็บเงินไว้เพื่ออนาคต และคนบางคนก็คิดว่าสบายๆ หาได้ก็ใช้ไปเต็มที่ ไม่เก็บ  เขาทั้งสองมีสิทธิที่จะเลือกแนวการดำเนินชีวิตของตัวเอง   ซึ่งคนบางส่วนอาจจะรู้สึกว่าคนประเภทแรกเป็นพวกอุกฤษฏ์เกินไป   การที่คนเราคิดไม่เหมือนกัน ไม่ได้หมายความว่าคนที่คิดต่าง เขาผิด หรือ คิดผิด เขาแค่คิดผิดไปจากเราเท่านั้นเอง   หากเราลองเปิดใจกว้าง  ยอมรับกับคนกลุ่มนึงที่คิดต่าง  คุณก็จะรู้สึกว่าศิษย์วัดพระธรรมกายไม่ใช่เป็นพวกแปลก  แต่เพียงแค่พวกเขาคิดต่างจากเราเท่านั้นเอง  และหากเป็นห่วงพวกเขาเสียดายทรัพย์แทนพวกเขา ก็อย่าทำเลย เพราะในพระไตรปิฏกเองก็สอนให้ผู้ทำทานอย่าได้เสียดาย ผู้ที่เห็นก็อย่าได้เสียดายแทน  เพราะไม่ถูกหลักคำสอนเลย



จากที่ไปฟังคำสอนและอ่านหนังสือวัดพระธรรมกายมา  เขาสอนว่า ทำน้อยได้มาก  และสอนว่าขนาดทำน้อย ยังได้มาก  แล้วทำมากจะไม่ได้มากได้อย่างไร จริงไหม?

เรื่องสำคัญที่ชาวพุทธต้องรู้ ทำน้อย แต่ได้บุญมาก?

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่