อุปกรณ์ที่ติดตั้งในห้องน้ำ เช่น ตะแกรงวางสบู่ ราวตากผ้า ที่ยึดกระดาษทิชชู่ มันมีโอกาสจะเป็นสนิมได้เร็วแค่ไหนครับ

ผมซื้อคอนโดใหม่ เพิ่งโอนห้องไปไม่ถึงเดือน ยังไม่เคยได้ไปอาบน้ำหรือค้างที่ห้องเลย แล้วมีโอกาสได้เข้าไปในห้องน้ำ

เจอคราบสนิทเต็มไปหมด ตั้งแต่ลูกบิดประตูห้องน้ำ ทั้งด้านในห้องน้ำและด้านนอก ราวตากผ้า ตัวยึดทิชชู่ สายฝักบัวด้านที่ต่อจากท่อน้ำประปาเข้าตัวเครื่องทำน้ำอุ่น(ด้านจากเครื่องทำน้ำอุ่นมาที่ฝักบัว เงาสว่างสวยไม่สนิมแม้แต่น้อย)

การติดตั้งอุปกรณ์ไม่ได้บกพร่องอะไร แค่แปลกใจทำไมมันมีสนิมขึ้นเร็วจัง ผ่านไปไม่ถึงเดือน ทั้งที่วันตรวจรับห้องก็มาดูด้วยตนเอง ไม่เห็นมีสนิมเลย
เลยขอถามช่าง หรือ ผู้รู้ครับ ว่าเหตุการณ์แบบนี้เราขอเขาเปลี่ยนอุปกรณ์ได้ไหม หรือมันควรจะเป็นสนิมเป็นเรื่องปกติของวัสดุในห้องน้ำครับ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
อุปกรณ์ในห้องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นฝักบัว สายฉีดชำระ ก๊อกน้ำ ฯลฯ เมื่อใช้ไประยะหนึ่ง หลายคนอาจสังเกตเห็นว่าเกิดสนิมหรือรอยคราบด่างดำขึ้น ทั้งที่ดูแลรักษาเป็นอย่างดี อีกทั้งผลิตภัณฑ์ที่เลือกใช้ก็มีคุณภาพได้มาตรฐาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ขั้นตอนหรือกระบวนการดูแลรักษาอาจมีบางอย่างผิดพลาดได้ ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้อุปกรณ์ในห้องน้ำเกิดสนิมหรือรอยคราบด่างดำนั้น มีดังนี้

1. การทำความสะอาดพื้นด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำ  จะเกิดไอระเหยของน้ำยาที่มีฤทธิ์เป็นกรดค่อนข้างรุนแรง หลังจากที่ราดน้ำยาล้างห้องน้ำแล้ว ช่วงที่ปล่อยน้ำยาทิ้งไว้ 5-10 นาทีก่อนทำการขัดพื้นห้องน้ำนั้น ผู้ใช้มักจะปิดประตูห้องน้ำไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้กลิ่นไอระเหยของน้ำยาไหลออกมารบกวนหรือทำอันตรายต่อสุขภาพของคนในบ้าน ซึ่งไอระเหยที่เกิดจากการกัดทำลายคราบสกปรกของน้ำยาล้างห้องน้ำทุกชนิด นอกจากจะขจัดคราบสกปรกแล้ว ยังกัดทำลายผิวโครเมียมหรือผิวเคลือบของอุปกรณ์ภายในห้องน้ำด้วย หากทิ้งไว้โดยไม่ทำความสะอาด

2. สภาพน้ำที่มีคลอรีนผสมในปริมาณสูง โดยเฉพาะการใช้น้ำประปาที่อยู่ใกล้ทะเล จะมีการผสมสารคลอรีนค่อนข้างมาก เพื่อทำความสะอาดและปรับสภาพน้ำให้เหมาะสมกับการอุปโภค ซึ่งคลอรีนจะเป็นตัวที่ก่อให้เกิดคราบด่างดำหรือรอยด่างดำบนผิวโครเมียมได้ง่าย หลังจากใช้งานไปได้ราว 2-6 เดือน

จากสาเหตุดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้หลายท่านเกิดความสงสัยว่า มีวิธีการที่จะช่วยยืดอายุการใช้งานอุปกรณ์ในห้องน้ำให้ใช้งานได้นานขึ้นหรือไม่ คำตอบคือมี ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

1. หลังจากทำความสะอาดพื้นของห้องน้ำแล้ว ต้องทำความสะอาดผลิตภัณฑ์อื่นที่ติดอยู่ในระดับใกล้เคียงกับพื้นห้องน้ำด้วย เช่น วาล์ว เปิด-ปิดน้ำ (สต๊อปวาล์ว) ชุดอุปกรณ์สายฉีดชำระ ฯลฯ โดยราดน้ำทำความสะอาดหลายๆ ครั้ง เพื่อล้างไอระเหยของน้ำยาล้างห้องน้ำที่เกาะอยู่บนพื้นผิวของอุปกรณ์ในห้องน้ำเหล่านั้นให้หมดจด  

2. ทุกสัปดาห์ หรือ 2 สัปดาห์ ใช้น้ำส้มสายชูผสมน้ำเปล่าในอัตราส่วน 1:3 เช่น น้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำเปล่า 3 ช้อนโต๊ะ  จากนั้นใช้แปรงสีฟันที่ไม่ใช้แล้ว จุ่มชโลมทำความสะอาดขัดที่ผิวของอุปกรณ์ในห้องน้ำเบาๆ  จนสะอาดและล้างออกด้วยน้ำเปล่าอีกรอบ

3. หลังจากนั้น เช็คด้วยผ้าแห้ง และเคลือบผิวด้วยน้ำยาเคลือบผิวโครเมียมที่หาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป เช่น ครีมทำความสะอาดผลิตภัณฑ์ของเฮเฟเล่รหัสสินค้า 485.95.999 หรือสามารถใช้น้ำยาเคลือบสีรถยนต์แทนได้ แต่อาจมีราคาสูงเล็กน้อย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่