สร้างเว็บไซต์แบบง่ายๆด้วย wordpress ที่ไม่รู้เรื่องไอทีมากมายก็ทำได้



ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านเขียนเว็บไซต์นั้นข้ามๆไปเลยนะครับ เพราะกระทู้นี้ไม่ใช่การเขียนเว็บไซต์ แต่เป็นการมีเว็บไซต์ง่ายๆแบบไม่ต้องไปจ้างใครทำ ซึ่งผมขอเป็นตัวแทนของหนึ่งในเจ้าของเว็บไซต์ ที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องเขียนโปรแกรมหรือเขียนเว็บไซต์แม้แต่นิดเดียวครับ แต่ก็สามารถมีเว็บเป็นของตัวเองได้ง่ายๆ ซึ่งคุณอยากจะมีเว็บไปทำไมนั้น เราไปดูขั้นตอนการมีเว็บก่อน พอมีเว็บแล้วคุณจะนำเว็บคุณไปทำอะไรค่อยว่ากันครับ ^^

จดโดเมน - โดเมนก็คือชื่อเว็บไซต์นั่นละครับ เป็นเหมือนบ้านเลขที่เว็บไซต์เรา ซึ่งจะซ้ำไม่ได้ เช่น ppantip.com เป็นต้น อธิบายดังนี้ pantip=ชื่อโดเมน / ส่วนจะเลือก .com หรือ .net หรือ .co.th หรือ .org หรือ .me ก็แล้วแต่ชอบเลยครับ วิธีเช็คโดเมนและจดโดเมน ค้นหาในกูเกิ้ลคำว่า "จดโดเมน" ได้เลยครับ มีขึ้นมาเพียบ (เลือกที่จดนิดนึงก็ดีนะครับ เพราะควรจะจดโดเมนและเช่าโฮสท์ที่เดียวกันเพื่อความสะดวก เรื่องโฮสท์เดี๋ยวหัวข้อถัดไป) ขั้นตอนนี้คุณลองนั่งนึกชื่อก่อนครับ แล้วนำไปเช็คดูว่ามีชื่อโดเมนซ้ำหรือไม่ ถ้าไม่ซ้ำแล้วคุณตัดสินใจใช้ก็ทำการติดต่อขอจดโดนเมนได้เลยครับ ส่วนมากจะอยู่ที่ 300 กว่าบาทต่อปี เป็นยอดค่าใช้จ่ายกลมๆ บวกลบแล้วแต่ที่ๆคุณไปจดโดเมน ไม่น่าเกิน 500 บาท (ส่วนตัวผมจดที่ 350 บาท/ปี)

โฮสติ้ง - ก็อย่างที่บอกในวงเล็บหัวข้อข้างบนละครับ ว่าควรเช่าโฮสท์ที่เดียวกับการจดโดเมน เพื่อความสะดวกในการติดต่อ (แต่อยากแยกก็แล้วแต่คุณ อาจจะหลายขั้นตอนยุ่งยากขึ้นสำหรับมือใหม่) ส่วนมากที่จดโดนเมนจะบริการให้เช่าโฮสท์ควบคู่กันครับ สะดวกสบายมาก โฮสติ้งคือสถานที่ซึ่งเก็บข้อมูลเว็บไซต์เราครับ เช่น บทความ / รูปภาพ / วีดีโอ ฯลฯ แรกเริ่มต้นควรใช้แชร์โฮสท์ไปก่อน เอาง่ายๆแชร์โฮสท์คือตัวเลือกที่ราคาถูกที่สุดต่อการเช่ารายปีนั่นละครับ ถ้าภายในหนึ่งปีเว็บไซต์คุณคนเข้าชมเยอะขึ้น ข้อมูลมากขึ้น คุณค่อยขยับขยายไปโฮสท์ประเภทอื่น อันนี้ค่อยว่ากัน แชร์โฮสท์จะอยู่ที่ประมาณ 700 บาท / ปี

อ๊ะๆ.. แต่ช้าก่อนครับ ถึงจุดนี้คุณต้องเช็คครั้งสุดท้าย ว่าโฮสท์ติ้งนั้นๆมีบริการ CMS หรือไม่ ถึงตรงนี้มือใหม่ไม่ต้องงงครับว่า CMS คืออะไร? ให้รู้เบื้องต้นแค่ว่า CMS คือโครงสร้างเว็บไซต์ครับ

และ wordpress ก็คือ CMS ชนิดหนึ่ง รวบรัดเลยละกัน เราแจ้งโฮสท์ติ้งเลยว่าต้องการให้โฮสติ้งติดตั้ง CMS ให้เราด้วย ซึ่งติดตั้งฟรีนะครับ ย้ำว่า ฟรี (จริงๆติดตั้งเองก็ได้นะ แต่มือใหม่ใช้บริการโฮสติ้งติดตั้งให้เถอะ)

*หมายเหตุ* ทั้งโดเมนและโฮสท์นั้น จึงรวมค่าเช่าประมาณ 1,050 / ปี อันนี้คืออัตราต่ำสุดที่มีในตลาด ส่วนตัวผมคิดว่าเราคนไทยก็ใช้บริการโฮสติ้งของไทยดีกว่าครับสำหรับมือใหม่ มีปัญหาคุยภาษาไทยติดต่อง่ายดี และเลือกนิดนึงนะครับ ค้นหาประวัติโฮสติ้งที่เราตัดสินใจจะเช่าดีๆ ว่ามีเคยปัญหามั๊ย เปิดมานานหรือไม่ ซับพอร์ตดีหรือไม่ เว็บล่มบ่อยหรือไม่ ล่มแล้วแก้ไขเร็วมั๊ย เป็นต้น วิธีเช็ค ก็นำชื่อโฮสท์ติ้งที่เราจะใช้บริการไปหาในกูเกิ้ลนั่นละครับ ประวัติเคยดีประวัติเคยเสียจะปรากฏเอง โดยโฮสติ้งส่วนใหญ่จะมีบริการ direct admin ให้เราด้วย โดยจะส่งชิ้อผู้ใช้กับรหัสผ่าน (user / password) มาให้ทางอีเมลที่เราเช่าโฮสติ้งนั่นละครับ

(ให้รู้ไว้เบื้องต้นแค่นี้ก่อนสำหรับมือใหม่ ไม่ต้องไปสนใจมันมาก เมื่อคุณสร้างเว็บไซต์เสร็จสมบูรณ์100%แล้วคุณค่อยไปหาข้อมูลของไดเรคแอดมินและซีเอ็มเอสเพิ่มเติมว่าคืออะไร?)

และเมื่อคุณเข้าเว็บไซต์คุณที่ใช้เวิร์ดเพลสในฐานะแอดมิน จะต้องเข้าด้วย url นี้นะครับ นั่นคือ

www.ชื่อโดเมนของคุณ.com/wp-admin/

และจะปรากฎหน้าจอดังภาพข้างล่าง..



นี่คือไกด์ไลน์คร่าวๆนะครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นก่อนจะมาถึงจุดนี้ มันมีขั้นตอนยิบย่อยเล็กๆน้อยๆอีกเยอะแยะตอนเริ่มใช้ครั้งแรก ผมก็ความจำลางเลือนจึงไม่ขอลงดีเทลในขั้นตอน ซึ่งผมเชื่อว่าคนจะทำเว็บต้องมีความมุ่งมั่นหาข้อมูลเพิ่มเติมในระดับนึงละครับ ขั้นตอนมีในกูเกิ้ลมากมาย ผมไม่อยากแนบลิ้งไปไหนทั้งสิ้นครับ เดี๋ยวโดนข้อหาโฆษณา ก็ถิอซะว่ากระทู้ผมเป็นแรงฮึดให้สร้างเว็บไซต์ก็แล้วกัน ไปต่อกันเลยครับ

และเมื่อล็อคอินเข้าเรียบร้อย เจ้าของเว็บไซต์จะเรียกหน้าควบคุมนี้ว่า "หลังบ้าน" ซึ่งคุณจะเปลี่ยนหน้าตาเว็บไซต์(ธีม) / จะเพิ่มความสามารถเว็บไซต์(ปลั๊กอิน) / จะเขียนบทความ / จะอัพรูป / อัพวีดีโอ ฯลฯ ก็สุดแล้วแต่ละครับ หน้าตาจะเป็นอย่างนี้ (นำรูปประกอบมาจากเว็บไซต์ผมเองครับ ซึ่งเพิ่มธีม และมีปลั๊กอินเยอะแล้ว)



คราวนี้ เราไปเปรียบเทียบหน้าตาเว็บไซต์มุมมองผู้เข้าชม กับมุมมองเจ้าของเว็บไซต์กันครับ สังเกตแถบดำคำสั่งข้างบนภาพขวาครับ ว่าผู้ใช้ทั่วไปไม่มีฟังชั่นนี้ แต่เจ้าของเว็บไซต์มี ซึ่งนั่นคือระะบบควบคุมจัดการเว็บไซต์นั่นละครับ



เอาละ ย้อนกลับมาเรื่องเวิร์ดเพลส ว่าทำเช่นใดจึงจะมีหน้าตาสวยงาม และฟังชั่นที่ต้องการ เริ่มเลยคืออธิบายง่ายๆก่อนว่า เวิร์ดเพลสตั้งต้นคือ โครงสร้างครับ เปรียบเสมือนร่างโคลนนิ่งที่ตัดต่อพันธุกรรมกึ่งคนกึ่งไซบอร์ค เบ้าหน้าไม่มีรายละเอียด แก้ผ้าล่อนจ้อน และอวัยวะภายในเป็นของโคลนนิ่งเดิมๆ จึงมาถึงประโยชน์ของธีมและปลั๊กอิน

ธีมฟรี คือสิ่งที่ฉาบหน้าตาโคลนนิ่งตัวนี้ให้เปลี่ยนไป และเปลี่ยนฟังชั่นอวัยวะภายในเล็กๆน้อยๆด้วยโดยไม่จำเป็นต้องใส่ปลั๊กอินเพิ่มเติม ธีมฟรีมีมากมายให้เลือก แต่ของฟรีมันไม่ค่อยสวย ฟังชั่นไม่ค่อยเยอะ จึงอาจต้องพึ่งปลั๊กอินฟรีและไม่ฟรีมาเสริม และโคลนนิ่งพันธุกรรมที่เรียกว่าเว็บไซต์ ก็เริ่มเก่งกาจขึ้น หน้าตามีรายละเอียดแตกต่างกันแล้ว แต่ยังคงมีรูปแบบเหมือนๆกันเพราะมันของฟรี ซึ่งจะถึงขั้นสุดยอดหน้าตาโคตรดีฟังชั่นล้ำๆ ต้องธีมเสียเงิน

ธีมเสียเงิน หรือ จ้างเขียนธีม อันนี้สุดแล้วแต่จินตนาการเลยครับ โดยผู้ชำนาญการเขียนโค้ด จะเขียนธีมมาขายผู้ทำเว็บไซต์ด้วยเวิร์ดเพลสมากมาย แล้วแต่จุดประสงค์เว็บไซต์นั้นๆ เช่น ถ้าเป็นบล็อกเกอร์เขียนบทความภาพยนตร์อย่างผม ผมก็ต้องการธีมแบบอ่านสบายตา ลูกเล่นธีมที่เกี่ยวข้องกับจุดประสงค์เว็บไซต์ผม คือ สนับสนุนการอ่านให้ง่ายที่สุด และหน้าตามันต้องสวยแตกต่างจากธีมอื่นๆ (เว็บผมโหลดช้านิดหน่อยทางมือถือ แต่ก็ยอมเพื่อแลกกับฟังชั่นและความสวยงาม ประกอบด้วยธีมเสียเงิน รวมถึงปลั๊กอินฟรีและไม่ฟรี)

ส่วนผู้ที่ไม่ได้ทำเว็บไซต์เป็นบล็อกเกอร์แบบผม แต่ทำเว็บไซต์ขายสินค้า ธีมที่เอื้อเรื่องพวกนี้ก็มีเยอะครับ มีระบบตะกร้า ระบบโอนเงินผ่านธนาคาร และอีกมากมาย ลองศึกษาดูครับ ผมก็ไม่เคยทำเว้บไซต์ขายของ เลยไม่รู้รายละเอียดมากนัก

ซึ่งธีมเสียเงินจะอยู่ราวๆ $49 เป็นอย่างน้อย แต่ยังมีผู้เขียนโค้ดเวิร์ดเพลสบางคนรับจ้างเขียนธีมตามสั่งครับ ซึ่งจะแพงขึ้นกว่าเดิม แต่เขียนครั้งเดียวคุ้ม เพราะเราไม่ต้องไปหนักปลั๊กอินเลย เขียนโค้ดใส่เข้าไปในธีมตรงๆ เช่น ตัวนับคนอ่านบทความ / ลิ้งหรือวิดเจ็ตไปที่โซเชี่ยลมีเดียต่างๆเช่นเฟซบุค,ทวิตเตอร์,ยูทูป, และอีกมากมายตามสั่ง


ปลั๊กอินทั้งฟรี และ ไม่ฟรี อันนี้มีมาเพื่อเสริมสิ่งที่ขาดไป เช่น ธีมฟรีไม่มีวิดเจ็ตโซเชี่ยลมีเดีย เราก็ต้องติดปลั๊กอินวิดเจ็ตโซเชี่ยลมีเดียต่างๆ หรือเขียนโค้ดความสามารถต่างๆยัดเข้าธีมตรงๆเลยก็ได้ ถ้าเก๋าพอ 555+

ตัวอย่างวิดเจ็ตนับจำนวนโซเชี่ยลมีเดีย และวิดเจ็ตนับจำนวนคนอ่านบทความจากเว็บไซต์ผม


*หมายเหตุ* ธีมที่ดีที่สุด คือธีมที่พึ่งปลั๊กอินน้อยที่สุดหรือไม่ต้องพึ่งเลย เพราะปลั๊กอินคือตัวทำให้เว็บไซต์หนักโหลดช้าครับ

สรุป :  จะเป้็นเว็บไว้ลงรูปถ่าย ไดอารี่ เขียนนิยายเก็บไว้ หรือลงคลิป มันดีกว่าบล็อคฟรีแน่ๆครับ เพราะบล็อคฟรีก็เหมือนไปขอเค้าอยู่ เค้าไม่พอใจจะเตะเราตอนไหนก็ได้ ลูกเล่นก็แทบไม่มี หน้าตาจืดๆไม่น่าเข้าไปเยี่ยมชม ว่าแล้วมาสร้างเว็บไซต์เองดีกว่า ประโยชน์ของการมีเว็บไซต์คือบ้านหลักเราครับ เราอาจจะเรียกลูกค้าหรือผู้ติดตามจากโซเชียลมีเดีย เช่นเฟซบุค ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่ถ้าวันนึงกระแสเปลี่ยน เฟซบุคล่มสลายไป มีโซเชียลตัวอื่นขึ้นมาแทนที่ เราก็ใช้โซเชียลตัวใหม่นั้นส่งคนเข้าบ้านหลักเราได้เหมือนเดิมครับ

จบครับ สวัสดีครับ อมยิ้ม17
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่