[CR] ปักกิ่ง นครแห่งความหลัง ตอนที่ 2 : พระราชวังต้องห้ามในม่านพญามังกร

ปักกิ่ง นครแห่งความหลัง ตอนที่ 1 : เหินฟ้าสู่อู่อารยธรรมอันยิ่งใหญ่ http://ppantip.com/topic/35102691
ปักกิ่ง นครแห่งความหลัง ตอนที่ 3 : พระราชวังต้องห้ามในม่านพญามังกร   http://ppantip.com/topic/35106096/
ปักกิ่ง นครแห่งความหลัง ตอนที่ 4 : อี้เหอหยวน ความงามที่แม้แต่เทพยดายังต้องเหลียวมอง http://ppantip.com/topic/35113470
ปักกิ่ง นครแห่งความหลัง ตอนจบ : ปักกิ่งแบบจับฉ่ายรวมมิตร รังนก วัดลามะ สวนดอกไม้ ย่านเฉียนเหมิน และโอนิซึกะที่ฮ่องกง http://ppantip.com/topic/35122578/


สถานที่ในความฝันของใครหลายคนรวมทั้งผม สถานที่ซึ่งกระแสธารแห่งประวัติศาสตร์อันยาวนานไหลผ่าน สถานที่สุดท้ายซึ่งประกาศศักดาอันยิ่งใหญ่ของแมนจูและฮั่นก่อนถึงคราวล่มสลาย สถานที่ต้องห้ามซึ่งเมื่อร้อยปีก่อน คนธรรมดาสามัญไม่มีทางเฉียดเข้าใกล้ สถานที่ซึ่งเป็นทั้งปฐมบทและปัจฉิมบทของราชชวงศ์ชิง ราชวงศ์ของชนเผ่าที่เคยได้ชื่อว่าเป็นอนารยชนแต่ได้ปกครองชนที่ยิ่งใหญ่อย่างฮั่น

ใช่แล้วครับ ผมจะพาท่านไปเยือนพระราชวังต้องห้าม หรือนครต้องห้าม Forbidden City หนึ่งในพระราชวังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

สำหรับผม ผู้เคยได้ไปเยื่อนพระราชวังแวร์ซายส์ นครรัฐวาติกัน ปราสาทนครวัด-นครธม ต้องขอบอกว่าพระราชวังต้องห้ามมิได้เป็นรองสถานที่เหล่านั้นเลย ที่นี่เป็นพระราชวังที่เต็มเปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์ มีความสมบูรณ์ เมื่อได้ไปเยือนแล้วเสมือนกับได้นั่งยานเวลาย้อนไปในอดีตนับร้อยนับพันปี เหมือนกับว่าอดีตมาเต้นเร่า ๆ อยู่ตรงหน้าเลยทีเดียว

ที่นี่ยิ่งใหญ่อลังการ  ครอบคลุมพื้นที่ 720,000 ตารางเมตร อาคาร 800 หลัง มีห้องทั้งหมด 9,999 ห้อง มีพระที่นั่ง 75 องค์ หอพระสมุด ห้องหับต่างๆอีกมาก รวมทั้งยังมีสวน ลานกว้าง ทางเดินเชื่อมกันโดยตลอด มีคูและกำแพงที่สูงถึง 11 เมตร ล้อมรอบ ใช้ระยะก่อสร้างประมาณ 14 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 1949 จนถึง พ.ศ. 1963

พระราชวังต้องห้ามตั้งอยู่บนหัวใจปักกิ่ง (the heart of Beijing) นักดาราศาสตร์ชาวจีนโบราณสร้างให้ที่ตั้งนี้เป็นเครื่องหมายแห่งจักรวาล

การก่อสร้างพระราชวังต้องห้ามใช้ช่างฝีมือกว่าหนึ่งแสนคน คนงานมากกว่าหนึ่งล้านคน ไม้ที่ใช้เป็นไม้หนามมู่ เป็นไม้เนื้อแข็งชั้นดี เอามาจากมณฑลซื่อชวน กว่างตง และยูนาน ส่วนไม้ซุงขนมาจากซื่อชวน เจียงซี เจ๋อเจียง ส่านซี และฮูนาน การตัดและการขนย้ายเป็นเรื่องสุดโหด ไม้เมื่อตัดแล้ว จะต้องทิ้งไว้บนเขาอย่างนั้น รอให้น้ำป่าหลากทะลักพัดมันลงมาเอง จากนั้นจึงค่อยบรรทุกขึ้นเรือมาปักกิ่ง

หินที่ใช้ในการก่อสร้าง นำมาจากฟ่างซาน การขนย้ายต้องจ้างชาวไร่ ขาวนา ในการขนย้ายหินถึง 2,000 คน หินแต่ละก้อนยาว 10 เมตร กว้าง 3 เมตร หนา 1.6 เมตร หากเคลื่อนย้ายผ่านภูมิภาคที่เป็นน้ำแข็ง ต้องราดน้ำลงไปเพื่อให้น้ำแข็งละลาย เมื่อมาถึงปักกิ่ง ต้องใช้ม้าและล่อลากหินเป็นพันๆ ตัว

อิฐนำมาจากหลินจิ้ง ในมณฑลซานตง การสร้างต้องใช้อิฐมากกว่าสิบล้านก้อน เพื่อใช้ปูพื้นพระราชวัง และขั้นตอนในการปูพื้นมีกรรมวิธีกว่ายี่สิบขั้นตอน แต่ละพื้นที่ใช้เวลาปูพื้นร่วมปี

(ข้อมูลจาก wikipedia)

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1

      เรื่องราวต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายที่นี่
            - ซูสีไทเฮาเข้ามาในพระราชวัง ในฐานะนางสนมกำนัลต่ำต้อยที่ไม่มีใครรู้จัก
            - ซูสีไทเฮาได้รับการแต่งตั้งเป็นพระนางพันปีหลวง มีอำนาจควบคุมราชอาณาจักรจีน เป็นคนแต่งต้งและอยู่เบื้องหลังจักรพรรดิถึง 3 องค์
            - ผ่านสงครามในประวัติศาสตร์ ทั้งสงครามฝิ่น สงครามกับอังกฤษ-ฝร่งเศส กบฎไท่ผิง กบฎนักมวย เกือบถูกเผาวอดวาย แต่พระราชวังต้องห้ามก็ยืนหยัดท้ายทายกาลเวลา และคงสภาพสมบูรณ์มาได้จนถึงทุกวันนี้
            - ปูยี จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน พระราชสมภพที่นี่ ประทับที่นี่ ถุกปลดเป็นสามัญชนที่นี่ ก่อนจะต้องเสด็จจรจากพระราชวังของพระองค์ และสุดท้ายต้องทำงานเป็นเพียงคนดูแลสวน ที่อยู่ภายนอกพระราชวัง
            - ผู้คนมากมายถูกประหัตประหาร มียศ ขึ้นสู่อำนาจ เสื่อมอำนาจ มากมายมหาศาลตลอดระยะเวลาห้าหกร้อยปีของพระราชวังแห่งนี้

           ผมอยู่ที่นี่ประมาณ 4-5 ชั่วโมงพยายามเดินดูให้ครบทุกซอกทุกมุม ประตูทุกประตู ตำหนักทุกตำหนัก แต่ก็ยังไม่ครบ ไม่เต็มอิ่ม หมดเวลาเสียก่อน ได้แต่สัญญากับตัวเองว่า จะกลับมาอีกครั้งในคราวหลัง


ชื่อสินค้า:   ปักกิ่ง Beijing
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่