สัพเพเหระธรรม ทำทานด้วยเงิน ๑ รูปี โดย Rainbow จาก หนังสือธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่ 38 ค่ะ

....สัพเพเหระธรรม....
จาก  หนังสือธรรมะใกล้ตัว  ค่ะ


ทำทานด้วยเงิน ๑ รูปี

โดย Rainbow

จาก  หนังสือธรรมะใกล้ตัว  ฉบับที่  38  ค่ะ



           ฉันอ่านหนังสือและชมวีดิทัศน์เกี่ยวกับการไปทัวร์สังเวชนียสถาน ๔ ตำบลที่อินเดีย มักจะเตือนเรื่องห้ามให้เงินแก่ขอทานซึ่งมีอยู่มากมายตามสถานที่เหล่านี้ ถ้าไม่ระวัง เห็นแล้วสงสารควักเงินให้ไปคนหนึ่ง ก็อาจจะถูกขอทานทั้งกลุ่มกรูเข้ารุมล้อมจนผู้ใจบุญถึงกับเจ็บตัวได้ ฉันจึงเตรียมใจในเรื่องนี้ไว้ก่อนเดินทาง ตั้งใจจะไม่ให้เงินขอทานในอินเดียเป็นอันขาด ยิ่งตัวฉันเล็กๆ อยู่ด้วย พอถูกขอทานรุมเพียง ๒-๓ คนก็มีหวังช่วยตัวเองไม่ได้แล้ว

           แต่พอฉันมีโอกาสมาพบขอทานในอินเดียด้วยตนเอง ทำให้มุมมองของฉันต่างไปจากเดิมอย่างไม่น่าเชื่อ นี่แหละน้า...ความคิดปรุงแต่งจากการอ่านจากตัวหนังสือ ช่างแตกต่างกับความจริงที่ไปพบเห็นมาด้วยตัวเองเสียจริงๆ

           ครั้งนี้ฉันมีโอกาสไปเจริญภาวนาที่พุทธคยาแห่งเดียว จึงพบเห็นแต่ขอทานบริเวณพระเจดีย์พุทธคยา ซึ่งอาจจะต่างกับเมืองอื่นๆ ที่นี่ส่วนมากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า ๑๐ ขวบ ร่างกายผ่ายผอมจากการขาดอาหาร
แววตาแห้งแล้งบ่งบอกว่าขาดความรักและความอบอุ่นในวัยเด็ก เดินกระจัดกระจายบนถนนระหว่างทางเดินจากประตูวัดป่าพุทธคยาที่คณะเราพัก จนถึงหน้าประตูพระเจดีย์ซึ่งมีระยะทางประมาณครึ่งกิโลเมตร เด็กๆ พวกนี้จะเข้ามาเดินใกล้ๆ ร้องเรียก “มาตา” บ้าง “อาจารย์” บ้าง แล้วแบมือร้องขอ “รูปี รูปี”

           ที่นี่เหรียญ ๑ รูปี (มีค่า ๐.๘๓ บาท) นั้นหายากนัก ตามร้านค้าถ้าเราขอให้เขาทอนเงินเป็นเหรียญหนึ่งรูปี เขาว่าไม่มี แม้แต่ร้านแลกเงินก็ไม่มีเหรียญ ๑ รูปีให้เรา ราวกับเป็นของสะสมหายากอย่างนั้นแหละ ภายหลังได้ข้อมูลมาว่า เขาเอาไปใส่ถุงขาย ถุงละ ๑๐๐ รูปี แต่ในถุงมีไม่ถึง ๑๐๐ เหรียญหรอก ผู้ซื้อไม่ได้นับจึงไม่ทราบว่า ผู้ขายเก็บค่าปากถุงไว้กี่เปอร์เซนต์ ธุรกิจขอทานก็ทำให้บางคนมีอาชีพจำหน่าย “ถุงรูปี” เป็นผลพลอยได้ เอ...สหภาพขอทาน (ถ้ามีนะ) น่าจะโวยวายว่าพวกนี้เอาเปรียบพวกขอทาน เพราะกลุ่มขอทานจะได้รับเงินบริจาคไม่ครบ ๑๐๐ รูปีตามจำนวนเงินของผู้ใจบุญที่ตั้งเจตนาไว้

           ฉันให้เงินขอทานตามมีตามได้ ไม่ถึงกับไปแลกเงินรูปีเป็นถุงมาแจก ถ้าได้เหรียญรูปีมาก็เก็บไว้แจกขอทาน เห็นเด็กๆ พวกนี้เหมือนๆ กันไปหมด ไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง พอเหรียญหมดแล้วก็แล้วกัน และต้องแอบๆ ให้ ราวกับทำเรื่องผิดกฎหมายบ้านเมืองก็ไม่ปาน ความจริงกลัวถูกกลุ่มขอทานรุมล้อมตามคำเตือนนั่นเอง

           วันแรกๆ เราต้องทำเป็นคนใจจืดใจดำด้วยความแข็งใจ เดินก้มหน้าดุ่มๆ ไม่กล้ามองหน้าและสบตา แต่พอเห็นทุกวันก็ชักชิน ความสงสารพวกเขาก็ลดตามไปด้วย เห็นเขาเป็นส่วนหนึ่งของถนนสายนั้นไป พี่ในทีมคนหนึ่งเกิดสงสารเด็กตาดำๆ ขึ้นมา ก็เลยปิ๊งไอเดียซื้อลูกกวาดมาแจกเด็ก ปรากฎว่าพอแจกไปได้ ๒-๓ คน ก็ถูกเด็กวิ่งกรูมาล้อมหน้าล้อมหลังขอลูกกวาดกัน พี่เขาตกใจก็เลยโยนลูกกวาดไปให้ทั้งถุง แล้วโกย...

           ตอนค่ำวัดไทยพุทธคยาจะเปิดประตูรั้ววัดต้อนรับผู้จรจัดในบริเวณนั้นมารับอาหารเย็นกันในบริเวณวัด นั่งกันเรียบร้อยเป็นแถวพร้อมด้วยจานข้าววางอยู่ตรงหน้า อาหารนั้นนอกจากช่วยลดความหิวโหยแล้ว ยังให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายในยามที่อากาศหนาวแสนทารุณในยามค่ำคืน ดังภาพที่นำมาแสดง ฉันเห็นแล้วได้แต่ร่วมอนุโมทนาบุญกับเจ้าภาพผู้มาแสวงบุญทั้งหลาย ภาพนี้บอกเรื่องราวได้ดีกว่าที่ฉันจะหาตัวหนังสือใดๆ มาบรรยาย

           วันหนึ่งเรามีรายการนั่งรถบัสไปเมืองราชคฤห์ เพื่อนมัสการพระคันธกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้า บนยอดเขาคิชฌกูฏ และเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยนาลันทา พวกเราออกจากวัดแต่เช้า ทางโรงครัวจัดข้าวห่อให้มาทานกันในรถ ข้าวผัดห่อใหญ่จนฉันกับพี่ที่นั่งเก้าอื้ติดกันแบ่งกันทานสองคนห่อเดียวก็อิ่มแล้ว จึงมีข้าวผัดเหลือไว้ห่อหนึ่ง

           พอรถจอดให้เราลงไปชม “คุกพระเจ้าพิมพิสาร” ฉันเห็นมีขอทานกรูกันมายืนขอเงินที่ประตูรถ กลุ่มนี้เป็นผู้หญิงมีเด็ก ๆ รวมอยู่ด้วย ฉันเดาว่าเป็นแม่ลูกกัน ฉันจึงหยิบข้าวห่อที่ยังไม่ได้เปิดออกห่อนั้น ยื่นให้หญิงขอทานคนหนึ่งที่ยืนขวางประตูรถอยู่ เธอรับห่อข้าวไปแบบไม่เต็มใจ และยังคงแบมือร้องขอ “รูปี รูปี” ต่อไปไม่หยุด เธออาจจะไม่รู้ว่าห่อกระดาษนั้นเป็นห่อข้าวผัดหน้าไข่ดาวก็ได้นะ ฉันมองเธอจากหน้าต่างรถ เห็นเธอเอาห่อข้าวไปวางไว้ใต้ต้นไม้ แล้วเดินขอรูปีจากผู้คนที่เดินชมสถานที่แถวนั้นต่อไป ไม่เสียเวลาแม้แต่เปิดดูห่อข้าวถุงนั้น ดูแล้วเขาช่างซื่อตรงต่อชั่วโมงทำงานเสียจริงๆ

           ทางเดินขึ้นเขาคิชฌกูฏนั้น มีขอทานนั่งเป็นระยะๆ ส่วนมากเป็นผู้หญิง ฉันให้ไปคนละ ๑ รูปีจนหมดเหรียญ แล้วจึงเหลือบไปเห็นนักแสวงบุญคนหนึ่งกำลังแลกเหรียญรูปีกับหญิงขอทานข้างทาง ฉันเห็นห่อผ้าของเธอยังมีอยู่อีกหลายเหรียญ เลยเอาธนบัตร ๑๐ รูปีไปขอแลกเหรียญกับเธอบ้าง เธอก็นับให้ ๑๐ เหรียญแล้วยื่นส่งให้ ซึ่งฉันไม่ได้คาดหวังว่าเธอจะให้ฉัน ๑๐ เหรียญเลย ความซื่อตรงในการทำธุรกิจแลกเงินกับเธอครั้งนี้ ทำให้ฉันไม่มองเธอเป็นขอทานที่ต่ำต้อยอีกต่อไป เลยหยิบให้เธอไป ๑ เหรียญ แล้วเดินจากไปด้วยความรู้สึกดีๆในการทำทานด้วยเงิน ๑ รูปี เช้าวันนั้นระหว่างเดินขึ้นเขา ฉันมีความสุขในการให้ขอทานคนละ ๑ รูปี จนหมดเหรียญที่แลกมา

           พอขึ้นไปถึงยอดเขาหน้าคันธกุฎีของพระพุทธองค์ วันนั้นเราไปถึงสายมากแล้ว แดดเริ่มร้อน ผู้คนมานั่งกันอยู่มากมายแออัดไปหมด มีอาบังคนหนึ่งรี่เข้ามาบอกให้พวกเราถอดรองเท้า แล้วหยิบไปจัดวางไว้เป็นระเบียบ แล้วยื่นดอกบัวทำด้วยผ้าให้หนึ่งดอก ชี้ให้เดินไปตามทางกั้น ฉันนึกในใจว่าคงเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลสถานที่คอยจัดระเบียบให้ผู้เข้าชมได้เดินกันทั่วถึง พอฉันเห็นที่ตั้งบูชา ก็ก้มลงกราบพร้อมกับวางดอกบัวที่ถือมาด้วย มีอาบังอีกคนชี้ไปที่ถาดใส่เงิน บอกใบ้ให้ทำบุญ ฉันก็หยิบธนบัตรใบละ ๑๐๐ รูปีวางไว้บนถาด ยังไม่ทันเงยหน้า ก็เห็นมือดำๆ ของอาบังยื่นมาหยิบเงินของฉันสอดไว้ข้างใต้ เหลือแต่ธนบัตรใบละ ๑๐๐๐ รูปีวางเรียงรายข้างบนให้เห็น ฉันเห็นอาบังทำอย่างนี้ในรายต่อไป

           พอถอยออกมานั่งด้านนอก จึงรู้ว่าอาบังพวกนี้ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ดูแลสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ พฤติกรรมส่อความทุจริต ถ้าเป็นของทางการเขาคงจะตั้งเป็นตู้บริจาคใส่กุญแจไว้ดอกใหญ่ ให้ผู้แสวงบุญหยอดเงินด้วยความศรัทธา อย่างที่ฉันเห็นในพระเจดีย์ พอเห็นจิตตนเองเริ่มมัวหมอง ฉันก็รีบปัดความคิดปรุงแต่งที่เป็นอกุศลออกจากใจทันที นั่งทำใจสงบ สวดอิติปิโสไปสามจบ

           ตั้งแต่ลงจากเขาคิชฌกูฏวันนั้น ฉันเห็นขอทานริมทางมีศักดิ์ศรีมากกว่าอาบังพวกนี้เสียอีก เขาขอตรงๆ ไม่ได้หลอกลวงผู้ให้ เขามีสิทธิ์ขอ เราจะให้หรือไม่ให้ก็ได้ เดินตื้อจนเหนื่อยแล้วเขาก็ไปขอคนอื่นต่อไป ได้บ้างไม่ได้บ้าง ตลอดเวลา ๑๐ วันที่ฉันพักอยู่ที่นี่ ไม่เคยได้ข่าวว่าใครถูกพวกขอทานทำร้ายเลย นอกจากรำคาญที่โดนพวกเขาเดินตื้อ ข่าวฉกชิงวิ่งราวซึ่งมองแล้วโอกาสเอื้ออยู่มากก็ไม่มี ถ้าเขามารุมล้อมฉันสัก ๓-๔ คน ทำให้ฉันตกใจ กระชากกระเป๋าเงินแล้ววิ่งหนีไปย่อมทำได้ไม่ยาก แม้แต่ข่าวนักท่องเที่ยวถูกล้วงกระเป๋าขณะเดินเพลินเลือกซื้อของตามริมถนนก็ไม่เคยปรากฏ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำกับนักท่องเที่ยวในเมืองใหญ่ๆ ทุกประเทศทั่วโลก แต่กลุ่มเราก็ระวังตัวกัน ผู้หญิงมักจะไม่เดินไปไหนนอกวัดคนเดียว แม้ว่าเขาจะยากจนอดอยากแทบจะไม่มีอาหารกิน เขาก็ไม่ผิดศีลข้ออทินนา*(ลักทรัพย์)กัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชมเชยไม่น้อย จนวันหลังๆ พอฉันชักชินกับสถานที่แล้ว พอถึงคราวจำเป็นฉันก็เดินกลับวัดคนเดียวได้ โดยไม่หวาดกลัวขอทานแถวนั้นทำอันตรายอีกต่อไป

           ภายหลังฉันได้ข้อมูลจากเพื่อนแขกชาวอินเดียที่ทำงานในบริษัทเดียวกันเพิ่มเติมว่า ขอทานในอินเดียนั้นมีไม่น้อยที่เป็นมืออาชีพ (Professional Beggar)** พวกนี้ไม่ได้ยากจนจรจัดไร้ที่อยู่อย่างที่เราคิดหรอก ขอทานเป็นอาชีพประจำตระกูลก็มี ถ่ายทอดอาชีพนี้ต่อๆ กันไป อาชีพนี้ทำได้ทุกวัย ที่ฉันพบนั้นแม้แต่ตัวแดงๆ เพิ่งเกิดแม่ก็อุ้มมาขอทานด้วย ยิ่งร่างกายพิการไม่สมประกอบด้วยแล้วจะเพิ่มคะแนนสงสาร เพิ่มรายได้ให้แก่อาชีพนี้มากขึ้น เขายังบอกว่าขอทานส่วนมากจะต้องจ่ายค่า “พื้นที่” แก่เจ้าถิ่นในการประกอบอาชีพนี้ด้วย

           กลับจากอินเดียครั้งแรกนี้ ฉันมองว่าขอทานเป็นอาชีพสุจริต ผู้ให้มักจะให้ด้วยความเต็มใจ ผู้แสวงบุญหลายๆ คนก็เตรียมแลกเงินไปแจกอยู่แล้ว ไม่มีการบังคับ ข่มขู่ หลอกลวงจากผู้ขอ จะว่าไปแล้วเขาเปิดโอกาสให้นักแสวงบุญได้ทำทานกันอย่างไม่จำกัด มองดูแล้วขอทานเป็นอาชีพที่เหน็ดเหนื่อยมีความอดทนเป็นเลิศ คงจะทำงานกันทุกวัน ไม่มีวันหยุดวันลา เชื่อว่าคงไม่มีสวัสดิการใดๆ จากรัฐ ทำงานอยู่กลางแดดกลางฝน เนื้อตัวสกปรก กินนอนขับถ่ายอยู่ข้างถนนซึ่งเต็มไปด้วยฝุ่นมูลฝอยต่างๆ คนไม่มีกรรมดำติดตัวหนักหนาสาหัสคงไม่เกิดมามีอาชีพนี้แน่นอน

           จะว่าไปแล้วภาพขอทานในอินเดียนี่แหละทำให้พวกแสวงบุญอยากทำบุญทำทานกันมากขึ้น เพื่อจะได้มีเสบียงไว้เลี้ยงตัวในการเดินทางครั้งต่อไป ลดความเสี่ยงที่จะมาเกิดใหม่ในสภาพชีวิตที่แสนจะลำเค็ญเฉกเช่นขอทานในอินเดียหรือในประเทศใดก็ตาม ฉันได้แต่หวังว่าความชื่อสัตย์สุจริตของพวกเขาในชาตินี้ นำพาให้เขาพ้นจากอาชีพขอทานในชาตินี้หรือในชาติต่อไป


ดอกไม้นานาของขวัญนานาซื้อของ

* สนใจอ่านเรื่อง “เบญจศีล” ได้ที่เว็บนี้ http://larndham.net/index.php?showtopic ... 4&st=0#top

** สนใจเรื่องอาชีพขอทานในอินเดียอ่านเรื่อง “Interviews with Poverty: The Begging Profession” by K.L. Kamat
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่